โดยดานุชัช บุญอรัญ 

ร้อยเอ็ด  – ชาวเขวาทุ่ง เรียกร้องให้ทหารแก้ไขปัญหาเนื่องจากไม่สามารถเข้าไปทำกินในที่ดินของตัวเองบริเวณเขตดอนหนองโมง-หนองกลางได้ เพราะถูกกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติขัดขวาง ขณะที่ทหารขอฟังความจากคู่กรณีเนื่องจากเป็นปัญหาที่ซับซ้อน

ประชาชนหมู่ที่ 8 บ้านเขลาทุ่ง แสดงโฉนดที่ดินของตนเองที่ไม่สามารถเข้าไป ทำประโยชน์ได้ (จากซ้ายไปขวา) นางสุภาพร ปัตสำราญ นายอครินทร์ จันทรังษี นางฉวีวรรณ สีดาขมพู (หลัง) นางสายฝน หนันดูน และนายสุชาติ ทรงแสง

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ศาลากลางหมู่บ้านเขวาทุ่ง ต.สระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด นายสุชาติ ทรงแสง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านเขวาทุ่ง นายอัครินทร์ จันทรังษี และชาวเขวาทุ่ง ได้รวมตัวกันยื่นหลักฐานร้องทุกข์ต่อ ร.ท.ศิลธรรม เสนาวัง ตัวแทนกองกำลังรักษาความสงบ จ.ร้อยเอ็ด  เขตพื้นที่ อ.ปทุมรัตต์ เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

หนังสือเรียกร้องระบุว่า ประชาชนหมู่ที่ 8 บ้านเขวาทุ่ง จำนวน 16 ครัวเรือนเข้าไปทำกินในที่ดินของตนที่ถือครองกรรมสิทธิ์ไม่ได้ตั้งแต่ปี 2539 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากถูกบุคคลซึ่งอ้างตัวเป็นกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ นำโดยนายทองคูณ สงมา และประชาชนจากหมู่ที่ 7 และ หมู่ที่ 17 บางส่วน ขัดขวางและข่มขู่ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ เขตดอนหนองโมง-หนองกลาง โดยอ้างว่าเป็นป่าสาธารณะประโยชน์

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ชาวเขวาทุ่งเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยชาวบ้านอ้างหลักฐานประกอบด้วยโฉนดที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 4 หมายเลขคดีแดง 2902/2549 ลงวันที่ 19 ก.ค. 2550  (พิพากษาให้ชาวเขวาทุ่งชนะคดี-ผู้เขียน)   จากนั้นชาวเขวาทุ่งพาผู้สื่อข่าวไปสำรวจยังบริเวณพื้นที่ที่เป็นปัญหาพบว่าเป็นพื้นที่ซึ่งล้อมรอบด้วยทุ่งนา มีสภาพรกร้างปกคลุมไปด้วยไม้ต้นเตี้ยและแนวหญ้า บางแห่งยังปรากฏให้เห็นร่องรอยของคันนาและสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว สภาพที่เห็นเกิดจากไม่มีใครเข้าไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2540

นายอัครินทร์ อายุ 44 ปี กล่าวว่า ที่ดินที่พวกตนครอบครองนั้นมีสภาพเป็นทุ่งนาสลับที่ดอน สำหรับเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวเขวาทุ่งไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินในที่ของตนได้ เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2539 โดยมีกลุ่มคนอ้างตัวเป็นเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน – ผู้เขียน) ซึ่งประกอบด้วยคนแปลกหน้าและชาวบ้านเขวาโคกที่อยู่ติดกันจำนวนหนึ่งได้เข้ามาติดต่อขอซื้อที่ดินจากชาวเขวาทุ่งราคาไร่ละ 2,500 บาท แต่ไม่มีใครขายให้ ภายหลังมีกลุ่มคนเข้าไปตั้งแคมป์ปักหลักอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยมีพฤติการณ์ขัดขวางไม่ให้ชาวเขวาทุ่งเจ้าของที่ดินเข้าไปในพื้นที่ กลุ่มผู้ขัดขวางอ้างว่า บริเวณหนองโมง-หนองกลางเป็นที่ป่าสาธารณะประโยชน์ และเมื่อชาวบ้านคนใดขัดขืนเข้าไป ก็จะถูกขับไล่ด้วยการยิงหนังสติ๊ก หรือปืนแก๊ป จนเกิดการฟ้องร้องกันขึ้นในเวลาต่อมา

นายอัครินทร์กล่าวอีกว่า การฟ้องร้องดำเนินขึ้นเมื่อปี 2539 และเมื่อปี 2540 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้กลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติหาหลักฐานมาแสดงว่าที่ดินดังกล่าวเป็นป่าสาธารณะ ต่อมา ปี 2550 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ประชาชนเข้าทำกินได้

“ในทางปฏิบัติก็ยังมีการข่มขู่จากฝั่งตรงข้ามเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ จนหลายครอบครัวเกิดความหวาดกลัวและต้องเลิกทำนาไป ปัจจุบันนี้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นสถานที่ต้องห้ามที่เจ้าของที่ดินไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์อะไรได้ ” นายอัครินทร์ย้ำ

นายสุชาติ ทรงแสง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านเขวาทุ่ง (คนขวาสุด) พร้อมด้วยลูกบ้านบอกเล่าเรื่องราวการถูกยึดครองที่ดินโดยนักอนุรักษ์ธรรมชาติตั้งแต่ปี 2539

นายสุชาติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 กล่าวว่า ปัญหาพิพาทและการใช้ความรุนแรงในที่ดินเขตดอนหนองโมง-หนองกลาง เรื้อรังมานานหลายปี ที่ผ่านมาเกือบทุกรัฐบาล ชาวเขวาทุ่งพยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ก็ติดขัดในขั้นตอนต่างๆ เนื่องจากชาวบ้านเองไม่มีความรู้ และเชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามมีกลุ่มเอ็นจีโอหนุนหลัง ล่าสุดตนจึงได้นำชาวบ้านไปยื่นหนังสือต่อทหาร เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา เพราะหวังว่าทหารอาจจะมีทางที่ช่วยให้ชาวเขวาทุ่งได้ที่ดินคืนมา ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย ซึ่งทหารบอกว่าจะให้ความช่วยเหลือ โดยจะลงมาติดตามปัญหาภายในพื้นที่เร็วๆ นี้

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง ร.ท.ศิลธรรม ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการยื่นเอกสารร้องเรียนได้รับคำตอบว่า

ขณะนี้ฝ่ายทหารกำลังดำเนินการโดยอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูล เนื่องจากต้องรับฟังความคิดเห็นจากคู่กรณีทั้งสองกลุ่ม และที่สำคัญคือเรื่องนี้มีรายละเอียดซับซ้อนกว่าที่เห็น จากการตรวจสอบพบว่ามีหนังสือจากกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย แจ้งให้ทำการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของชาวบ้านเขวาทุ่งบางส่วน (สืบเนื่องมาจากพื้นที่เขตดอนหนองโมง-หนองกลางถูกเสนอให้เป็นพื้นที่โฉนดชุมชนในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-ผู้เขียน) โดยเบื้องต้นประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นเรื่องคัดค้านแล้วเป็นเหตุให้การเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวมีผลระงับชั่วคราว ตนและคณะกำลังทำการประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายต่อไป

ดานุชัช บุญอรัญ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ประจำปี 2560 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print