โดย พีระ ส่องคืนอธรรม

(ต้นฉบับของบทความนี้เป็นภาษาอังกฤษ แปลโดยผู้เขียน)

“ด้วยการเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เขามิได้มุ่งหมายเพียงให้ผู้อ่านภาษาอังกฤษได้หยั่งเห็นชีวิตชาวไทย แต่ยังมุ่งมาดให้ความหมายแก่ชีวิตคนยากคนจนในชนบทของไทยด้วย เพื่อที่ว่า ‘คนเหล่านั้นจะได้ไม่ต้องเกิดมาบนโลกเพื่อจะอยู่ไปตามกะเยิม ทนทุกข์ แล้วล้มตายไปโดยเปล่าดาย’ ”

–โนเอ็ล โรว์, ในคำนำเสนอของหนังสือรวมเรื่องสั้นและข้อเขียน People of Esarn ของพีระ สุธรรม, ปี 1994 (พิมพ์ครั้งแรกปี 1987)

เบิงเบิ๋ง–คนอีสานทีเขียนหนังสือเป็นภาษาฝลั่ง!

คนอีสานประพันธ์งานเป็นภาษาอังกฤษแล้วมันวิเศษบ่อนใด๋เกาะ? คุณสมบัติพิเศษที่กล่าวขวัญกันของงานเขียนของคุณพีระ สุธรรม นี้ทำให้ฉันขมวดคิ้ว ฉันเองก็เป็นคนอีสานคนหนึ่งที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ–หมู่เราจะไปวิเศษวิโสปานนั้นได้จั่งใด๋!

นอกจากชื่อจะเหมือนฉันแล้ว พีระ สุธรรม ยังเดินเส้นทางคล้ายๆ กับฉันมาก่อนอยู่หลายช่วงเลี้ยว ชีวิตของเขาถูกหล่อหลอมขึ้นด้วยประสบการณ์การเคลื่อนไหวไม่อยู่ติดที่และการเป็นพลเมืองโลกเหมือนฉัน ตามหลังมาห้าสิบปี ฉันเดินเส้นทางชีวิตผ่านหมุดหมายคล้ายๆ กัน–ย้ายจากอีสานไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ จบมัธยมปลายจากโรงเรียนเดียวกัน ได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่างประเทศทำนองเดียวกัน สุดท้ายแล้วก็กลับมาถางทางการเขียนและการแปลวัฒนธรรมเหมือนๆ กัน

ที่บอกว่า “แปลวัฒนธรรม” ก็เพราะว่า ตัวงานของพีระนั้นทำหน้าที่ “แปล” ประสบการณ์และวิถีชีวิตของคนอีสานจากชนบทให้กลายเป็นรูปแบบของวรรณกรรม แต่ทว่าพอจะพูดถึงการแปลตัวภาษาจริงๆ พีระ สุธรรม กลับไม่อนุญาตให้งานเขียนของตนได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ถึงแม้ว่าการแปลเป็นภาษายุโรปต่างๆ นั้นเป็นไปได้โดยราบรื่น เหตุผลของพีระตามที่เขาเขียนไว้ในเว็บไซต์มีอยู่ว่า (ขอถือวิสาสะแปลนะฮะคุณพีระ)

“ไอเลือกภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางเพราะระเบียบวินัยของภาษานี้ และเพราะกระบวนการให้เหตุผลที่ภาษานี้สะท้อนให้เห็นเป็นขั้นๆ, ผิดจากภาษาไทยซึ่งไม่มีเครื่องหมายวรรคตอนและไม่มีตัวอักษรพิมพ์ใหญ่, สักแต่เอาคำไทยมาเรียงต่อๆ กันโดยไม่มีช่องไฟระหว่างคำ. ภาษาที่เราใช้สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจของเรา. ในแง่นี้ไอสามารถแลเห็นซึ่งการขาดไร้วินัยของตนเอง, เห็นจิตใจที่พิการ, ซึ่งถูกย่ำยีบีฑาจนไม่อาจฟื้นด้วยระบบการศึกษาแบบอำนาจนิยมและล้าสมัย, ระบบซึ่งเป็นกลไกที่ย่ำยีบีฑาจิตใจ ดัดมวลประชาให้ศิโรราบ, ไม่ปริปาก, และว่านอนสอนง่าย. คนพิการขาใช้ไม้เท้าค้ำยันเช่นไร, ไอก็ใช้ภาษาอังกฤษเช่นนั้น.”

พีระกล่าวถึงภาษาไทยว่าเป็นพลังที่กดขี่ข่มเหง ทำให้จิตใจเขาง่อยเปลี้ยเสียขา ฉันอนุมานว่าการเลี่ยงไม่ใช้ภาษาไทยเสียเลยคงต้องทำให้เขารู้สึกมีอำนาจควบคุมขึ้นมาบ้างละ โดยที่ไม่ต้องไยดีกับแบบแผนภาษาที่เขาถูกสอนมาโดยสถานศึกษาชั้นนำในกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่เขาจะมีทัศนคติเช่นนี้ (ฉันเองก็มีเพื่อนคนไทยไม่น้อยที่เลือกใช้ภาษาอังกฤษแทนด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน) แต่ที่แปลกไปในกรณีของพีระก็คือ ในขณะที่เขากล่าวถึงภาษาไทยในเชิงลบเช่นนี้ ในอีกด้านหนึ่งเขาก็กล่าวถึงภาษาลาวว่าเป็นสิ่งที่แสดงความเป็นอีสานแท้ที่เขาเขียนถึงในเรื่องแต่งทั้งหลาย น่าสนใจว่าพีระไม่เคยเรียกภาษาพูดนี้ว่า “ภาษาอีสาน” แม้แต่ครั้งเดียว–มันคือ “Lao” เสมอ

แต่ทว่าภาษาลาว เช่นเดียวกับภาษาไทย ก็ไม่ใช่ภาษาที่มีเครื่องหมายวรรคตอน (แต่ภาษาลาวฝั่งซ้ายหลังการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ก็เห็นมีการใช้จุลภาคกับมหัพภาคนะ) ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ หรือช่องไฟระหว่างคำเช่นเดียวกัน ในหนังสือรวมเรื่องสั้น People of Esarn มีประโยคภาษาลาวอยู่หนึ่งประโยคเท่านั้นที่ไม่ถูกแปลไปเป็นภาษาอังกฤษ ประโยคนั้นคือ “Our bor kai yang kong koy saeb eelee day!” (หน้า 46) ซึ่งดูทรงแล้วก็ไม่ใช่ประโยคที่มีระเบียบวินัยเท่าใดนัก สักแต่เอาคำมาเรียงต่อๆ กัน เครื่องหมายวรรคตอนก็ไม่มีทั้งๆ ที่เนื้อประโยคควรแบ่งเป็นสองตอน คือ (1) (เจ้าจะ)เอาบ่, ไก่ย่างของข้อย? และ (2) (มัน)แซบอีหลีเด้!

ที่เซอร์ไพร้ส์จริงๆ ก็คือ คุณพีระ สุธรรม ไม่ต้องการให้งานประพันธ์ของเขาถูกแปล(กลับ)เป็นภาษาลาว เหตุผลที่เขาให้ก็คือ หากจะแปลเป็นภาษาลาวแบบภาคอีสานเสียแล้ว มันก็จะผิดจุดประสงค์แต่เดิมที่เขา “ตั้งต้นเขียนเป็นภาษาอังกฤษสำหรับผู้อ่านนานาชาติ” ด้วยการให้เหตุผลนี้ ภาษาลาวจึงอยู่ฝั่งเดียวกับภาษาไทย ทั้งในแง่ของการบกพร่องคุณสมบัติในโครงสร้างภาษา อีกทั้งในแง่ของการที่ภาษาเหล่านี้มิอาจสมัครเป็นสมาชิกของสโมสรผู้อ่านนานาชาติด้วย

จึงเป็นการยากที่จะไม่คิดว่าภาษาลาวจะไม่ติดร่างแหคำประนามภาษาไทยของพีระไปด้วย ยากที่จะไม่คิดว่าเขามองภาษาพูดในภาคอีสานว่าเป็นภาษาที่ไร้ระเบียบวินัย เป็นภาษาที่ไม่คู่ควรจะเป็นสื่อกลางให้กับงานวรรณกรรมของเขาได้

* * *

“ความรักของเขาที่มีต่อวรรณคดีอังกฤษ ผนวกเข้ากับความอุทิศทุ่มเทที่เขามีต่อเพื่อนร่วมประเทศ ได้บันดาลให้เขาเกิดความมุมานะที่จะเป็นนักเขียน ที่มิเพียงแต่จะสร้างชื่อเสียงแก่ตนเอง แต่ยังเป็นนักเขียนชาวไทยผู้จะสามารถชักพาผู้อ่านภาษาอังกฤษให้เข้าไปถึงจิตวิญญาณของปวงประชาชนของประเทศไทยอีกด้วย”

–มิเชล โรลา, ในคำนำของหนังสือรวมเรื่องแต่ง Best: Siamese Drama and Other Stories from Thailand ของพีระ สุธรรม ตีพิมพ์ปี 1983

ในฐานะที่ฉันเป็นผู้อ่านงานภาษาอังกฤษของพีระที่บังเอิญพอจะนับเป็น “คนใน” อยู่ได้บ้าง ฉันไม่เห็นรู้สึกว่าได้เห็น “จิตวิญญาณของปวงประชาชน” อย่างที่โฆษณาไว้เลย ที่ฉันเห็นชัดกว่ากลับเป็นมือของศิลปินผู้โยงใยผูกเรื่องราวเหล่านั้นขึ้นมามากกว่า ฉันเห็นเวอร์ชั่นหนึ่งของตัวฉันเอง เห็น “นักเรียนนอก” ที่พยายาม “คืนกำไรให้ประชาชน” (หรือพูดแบบไทยๆ ก็ได้ว่า “ตอบแทนคุณแผ่นดิน”) ด้วยวิธีการประหลาดๆ ตามแบบฉบับของตัวเอง พีระกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในคำตามของหนังสือ People of Esarn ว่า

“สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นรวดเร็วเหลือเกินในเมืองไทยสมัยนี้. ถ้าเกิดไอยังล่องลอยอยู่สักแห่งในยุโรป, ใช้ชีวิตเยี่ยงชาวยุโรป, ไอก็คงจะไม่ได้ประสบสิ่งเหล่านั้น, คงจะเพียงได้ยินเสียงสะท้อนบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือจากรายการของบีบีซีในประเทศอังกฤษ. แหละเสียงสะท้อนนั้นไม่ดีพอสำหรับไอในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง. เมื่ออยู่ที่นี่แล้วไอก็เพียงต้องตื่นตัวและครุ่นคิดเรื่องบ้านเมืองด้วยตัวเอง, ถึงแม้ว่าสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินนั้นอาจทำให้ไอกลายเป็นคนที่มีแต่ความเคียดขมก็ตามที. ในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง, ไอไม่ควรเอาแต่คุดคู้อยู่ในรู, หรือตามสำนวนเขาว่า, เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่นำพาต่อสิ่งรอบข้าง. ตรงข้าม, ไอควรเป็น ‘ตาที่แลเห็น’, คอยเป็นผู้สังเกตการณ์.” (หน้า 99-100)

ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้สังเกตการณ์แล้ว ก็ย่อมเกิดการจัดวางระยะห่างระหว่างผู้สังเกตกับผู้ถูกสังเกต ก่อนข้อความข้างต้นนี้ไม่กี่หน้า พีระพูดถึงตัวเองว่าเป็น “ลูกของสองโลก–เป็นคนไทยและเป็นคนไทยที่กลายเป็นตะวันตก (a Thai and a Westernised Thai)” และกล่าวว่าเขามองประเทศด้วยสายตาของทั้งคนในและคนนอก เมื่อได้เป็นผู้สังเกตการณ์-ผู้เขียน ที่มิได้มีส่วนร่วมในชีวิตของคนอื่นๆ-ตัวละครแล้ว พีระก็สามารถตั้งตนเป็นพระเจ้าการละครผู้จัดเวทีสำหรับโศกนาฏกรรมแห่งอีสานได้

โศกนาฏกรรมเช่นนี้เหมาะเจาะกับรูปแบบการเล่าเรื่องแบบบุคคลที่สามมากที่สุด เหมือนละครเวทีที่ผู้ชมเข้าใจชะตากรรมของตัวละครดีกว่าตัวละคร รวมเรื่องสั้นเล่มแรกของพีระ Siamese Drama ก็ใช้กลวิธีเล่าเรื่องผ่านบุคคลที่สามเกือบทั้งหมด ละครชีวิตดำเนินไปต่อหน้าผู้อ่านโดยตัวละครไม่รู้ตัว จนกระทั่งจุดจบอันเป็นโศกนาฏกรรมของตัวละครก็จะส่งผลสะเทือนให้ผู้อ่านได้ข้อคิดเตือนใจสักอย่างเกี่ยวกับความยากแค้น การคดโกง ความโลภ การพลัดที่นาคาที่อยู่ ฯลฯ พูดอีกแบบก็คือ บทประพันธ์ได้ทำให้ผู้อ่านเข้าถึง “สารอันสัตย์จริง” ซึ่งพีระหวังไว้ว่า “แม้แต่ซุมพวกขี้ตั๋วะขี้โกง” ก็ต้องยอมรับในความจริง

[ลายเซ็นของพีระ สุธรรม ท้ายเล่มหนังสือเล่มหนึ่ง พร้อมข้อความปั๊มตรายางความว่า “ถ้าหากท่านชื่นชอบหนังสือเล่มนี้, ได้โปรดแนะนำหรือส่งให้มิตรสหายยืมต่อ, เพื่อประโยชน์แก่คนยากคนจนในอีสาน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย.” เข้าใจว่ารายได้จากการขายหนังสือจะนำไปเข้าสมสบทุนโครงการอาหารกลางวันของเด็กในชุมชน]

แม้ว่าตัวละครจะดูสมจริงราวกับถูกดึงมาจากโลกความจริง ชีวิตของพวกเขาก็ถูกจัดวางให้เป็นตัวแบบทางศีลธรรมโดยผู้ประพันธ์ผู้ทำหน้าที่สังเกตการณ์ คนกลายเป็น “วัตถุดิบ” สำหรับการเทศนา ข้อเขียนตอนหนึ่งของคุณพีระบนเว็บไซต์มีอยู่ว่า “นานๆ ที ไอเคยขับรถไป 600 กิโลเมตรจนถึงพัทยา. บันเทิงใจดีที่ได้สังเกตเบิ่งดูคนที่เป็นคือๆ กันกับ Salee, Nipa, Horst, Niels, Eric, Nicolai, Rosano, Tom, Dick และ Harry ไปมีส่วนร่วมในพิธิกรรมการใช้ชีวิตอันแอ็คทีฟของพวกเขา.”

ชื่อเหล่านั้นเป็นชื่อตัวละครในเรื่องแต่งของพีระเอง สี่ชื่อแรกปรากฏในเรื่องสั้นชื่อตามปกของหนังสือ Siamese Drama ซึ่งเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง Nipa และ Salee ผู้แรกเป็นมาดามหรือแม่เล้า ส่วนผู้หลังเป็นเด็กสาวจากอีสานผู้ต้องกลายมาเป็นเมียเช่า ส่วน Horst และ Niels เป็นชื่อลูกค้าบางคนของ Salee สมัยที่ทำงานที่พัทยา ดราม่าของเรื่อง Siamese Drama มิใช่สิ่งที่เกิดระหว่าง Nipa กับลูกค้าของนาง หากเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเป็นภัยระหว่าง Nipa กับ Salee. ด้วยความที่เป็นผู้ป้อนแรงงานใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมการโสเภณีในกรุงเทพฯ และพัทยา Nipa จึงกลายเป็นตัวแบบของคนไทยพวกที่สร้างความทรมานให้แก่คนจากชนบทภาคอีสานจำนวนมากมาย

แต่เมื่อดูใน People of Esarn หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มสอง เรากลับพบว่าเรื่องสั้นทั้งหมดถูกเล่าจากปากคำของตัวละครหลักของแต่ละเรื่องเอง กลวิธีนี้ต่างอย่างชัดเจนจากวิธีเล่าหลักใน Siamese Drama ซึ่งส่งผลให้การประณามสังคมไร้ศีลธรรมกลายเป็นเรื่องรอง กลายเป็นพื้นหลังให้กับเสียงเล่าประวัติชีวิตส่วนตัวและการประเมินความหมายชีวิตที่ผ่านมาของตัวละครแต่ละคน คณะตัวละคร-ผู้เล่าเรื่องในปากคำประวัติชีวิตเหล่านี้รวมวิถีที่หลากหลาย ตั้งแต่แม่ค้าขายส้มตำผู้อาศัยอยู่ในสลัมคลองเตย, เมียฝรั่งในเยอรมนี, มือปืนผู้สำนึกผิดเพราะได้รับใบสั่งให้ไปฆ่าผู้นำชุมชนที่เป็นคนดี, หรือแม้กระทั่ง drag queen ที่เคยถูกพ่อแม่ขายไปทำงานในซ่องแต่ยังน้อย

ต่างจากรวมเรื่องสั้น Siamese Drama รวมเรื่องสั้นเล่มที่สองนี้เปลี่ยนจุดสนใจหลักจากโศกนาฏกรรมความยากจนและการคดโกง ไปเป็นภาวะดีบ้างร้ายบ้างของบ้านเกิดและการกลับบ้าน ซึ่งเป็นประเด็นที่ตัวละครทุกตัวจะวกกลับมาพูดถึงตอนท้ายเรื่อง

แทนที่จะเป็นประพันธกรผู้รู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง พีระเลือกที่จะเจาะเข้าไปในจิตใจของตัวละครเพื่อจะเล่าเรื่องราวของพวกเขาออกมา การทำเช่นนี้สลายการแบ่งแยกตายตัวระหว่างผู้สังเกตการณ์และชาวบ้านผู้ทุกข์ทนออกไป ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้เอาใจตัวละครมาใส่ใจตัวเองโดยตรง ฉันทึกทักเอาว่าพีระก็คงรู้สึกทำนองเดียวกัน ว่าการเขียนด้วยวิธีนี้ เขาได้พยายาม “เอาใจตัวละครมาใส่ใจเขา” จริงๆ ไม่ว่าเส้นทางชีวิตของพวกเขาจะผิดแผกกันปานใด

เรื่องสั้นในเล่ม Siamese Drama ไม่ค่อยส่งผลสะเทือนใจต่อฉันเลย ในทางกลับกัน เรื่องสั้นทั้งหลายในเล่ม People of Esarn ทำให้ฉันรู้สึกติดหนึบตั้งแต่ต้นจนกระทั่งหลังอ่านจบ สารทางศีลธรรมก็ยังคงมีอยู่ แต่มักเป็นเพียงปูมของเรื่อง แทนที่จะเป็นปมของเรื่อง ด้วยการเล่าเรื่องแบบบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ตัวละครหลุดพ้นจากการต้องรับบทเป็นตัวแบบของความดีหรือความชั่วบางอย่าง (เช่น การเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ทางเพศ) ซึ่งมีไว้เพื่อถูกขับเคลื่อนและคลี่คลายโดยพล็อตเรื่อง

ชีวิตของตัวละครใน People of Esarn จึงมักจบแบบปลายเปิด นั่นคือจบแบบไม่จบ แต่ชีวิตยังโลดแล่นอยู่สักหนแห่งหนึ่งนอกหน้ากระดาษที่บันทึกปากคำของพวกเขาไว้ เราไม่รู้ว่าที่ไหนแน่–เหมือนชีวิตจริง นอกจากเรื่องสั้นแล้วหนังสือเล่มนี้ยังปิดเล่มด้วยชุดบทความสั้นที่พูดถึงปัญหาสังคมที่ตัวละครต่างๆ ได้ประสบมา ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ยิ่งเสริมความรู้สึกสมจริงให้กับเรื่องแต่งในเล่ม และยิ่งทำให้เราหวนคิดถึงชะตาชีวิตของพวกเขาหลังประโยคสุดท้ายของแต่ละคน พูดง่ายๆ ก็คือ สำหรับ People of Esarn แล้วฉันรู้สึกเป็นอิสระจากการชักใยสร้างโครงเรื่องของผู้ประพันธ์นั่นเอง

ว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว เรื่องสั้นของคุณพีระ สุธรรม ก็ไม่ได้มีความเป็นเอกลักษณ์หรือแปลกใหม่อะไรมากมายเมื่อเทียบกับงานประพันธ์ในยุคสมัยเดียวกันที่เขียนถึงดินแดนที่ราบสูงแห่งนี้ สิ่งเดียวที่ดูจะเป็นจุดเด่นของผลงานของพีระ ก็ไม่ใช่อะไรนอกจากตัวภาษาอังกฤษนั่นเอง นั่นน่ะสินะ แล้วการที่คนอีสานประพันธ์งานเป็นภาษาอังกฤษ มันวิเศษตรงไหนกัน?

ตั้งแต่ที่ฉันกลับไทยหลังจากการศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ ฉันได้เจอคนหลายคนทีเดียว–ซึ่งรวมนักเขียนวรรณกรรมด้วย–ที่แสดงความรู้สึกว่าตน “ต่ำต้อย” เพียงเพราะพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง (และฉันก็ได้เจอคนหลายคนอีกเหมือนกันที่รู้สึก “เหนือกว่า” คนอื่นเพียงเพราะว่าตนรู้ภาษาอังกฤษ) พูดถึงวงการนักเขียนวรรณกรรม ฉันเคยได้ยินจริงๆ ว่านักเขียนฝั่งภาคอีสานมองว่าพวกตนยังไปไม่ถึงจุดที่จะผลิตงานที่ดีที่สุดได้ เป็นเพราะว่าพวกตนไม่รู้ภาษาอังกฤษและเข้าไม่ถึงงานวรรณกรรมสำคัญของโลกอย่างนักเขียนภาคอื่นๆ ที่มีเครือข่ายกับนักแปลวรรณกรรมจากภาษาอังกฤษ บัดคราวฉันรู้ภาษาอังกฤษ ก็เกิดความคาดหวังว่าฉันจะใช้อภิสิทธิ์ตรงนี้ช่วย “ส่งออก” วรรณกรรมจากภาคอีสานไปยังเวทีสากล

พีระ สุธรรม เองก็อยู่ในตำแหน่งที่มีอภิสิทธิ์ในสังคมอีสานคล้ายๆ กัน ก่อนอื่นเขาเคลมความเป็นลูกอีสานด้วยถ้อยคำตามคำโปรยบนปกหลังของหนังสืออย่างน้อยสองเล่มที่เขาจัดพิมพ์เองว่า “พีระ สุธรรม เกิดในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ห่างไกลในอีสาน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย. เขาใช้ชีวิตช่วงวัยเด็กช่วยพ่อแม่ทำงานในท้องนา และเลี้ยงควายฝูงหนึ่ง.”

เมื่อเคลมรากเหง้าจากประสบการณ์วัยเด็กแล้ว เขาก็งวกไปเคลมความเป็นพลเมืองโลกด้วยการประพันธ์งานเป็นภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ ดูท่าว่าพีระอยากจะเอาเครดิตทั้งสองทาง ดังที่คำโฆษณา(ตัวเอง?)ต่อไปนี้เผยให้เห็น

“นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่เด็กชายตัวน้อยจากทุ่งนาแห่งอีสาน, พูดภาษาลาว–ภาษาถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จะสามารถฝ่าฟันความลำบาก, ความยากจน, ความพลิกผันทางการเมืองและเหตุการณ์สังหารหมู่ จนมาถึงจุดนี้, หลายปีให้หลัง, ที่เขาได้ส่งมอบผลงานของตนเองให้ผู้อ่านทั่วโลกได้สัมผัส, ผลงานที่เขาเขียนต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ, และปัจจุบันนี้ได้รับการแปลไปหลายต่อหลายภาษาแล้ว.”

–กรอบข้อความโฆษณาท้ายเล่ม People of Esarn, หน้า 144

นักเขียนอีสานคนหนึ่งๆ ต้องทำการใดบ้าง จึงจะได้รับการนับว่าเป็นนักเขียนที่สามารถเปิดให้นักอ่านทั่วโลกได้แนมเห็นจิตวิญญาณของอีสาน? ภูมิภาคนี้กับคนหลากหลายเชื้อชาติที่ถูกมองมาตลอดในกรอบของความขาดแคลน–ขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดอำนาจ ขาดความรู้ ขาดการพัฒนา–ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติหรือขาดเพราะต้องตกเป็นเบี้ยล่างของคนอื่น เพราะอย่างนี้แล้วปัจเจกคนไหนที่แสดงความสามารถและความมั่งมีที่ต่างไปจากกรอบเหล่านี้จึงอาจถูกชูขึ้นมาว่าเป็น “ช้างเผือก” เป็นข้อยกเว้นพิเศษ

จนป่านนี้เรายังไม่ได้บ่อนเซาะทำลายแนวคิดเรื่องช่วงชั้นในสังคมไทย ที่ให้ราคาคนอย่างฉันกับพีระซึ่งได้รับโอกาสไปเรียนต่อหรือไปท่องเที่ยว ณ ต่างประเทศด้วยเจตจำนงของเรา แต่กลับดูแคลนคนกลุ่มที่ตัดสินใจไปทำงานรับจ้างหาเงิน ณ ต่างประเทศด้วยเจตจำนงของเขา ถึงวันนี้คนอีสานก็มีประวัติการไปทำงานทั่วโลกมาหลายสิบปีแล้ว แต่ไฉนการพูดถึงแรงงานข้ามชาติโดยรัฐและสื่อกระแสหลักของไทยจึงมักจำกัดอยู่ในวาทกรรมของการตกเป็นเหยื่อและการไร้สิทธิไร้เสียง โดยไม่ค่อยมีการพูดถึงแง่มุมของการออกไปเสี่ยงโชค การรับรู้โลกกว้าง และการเป็นพลเมืองโลกบ้างเลย เสียงของประชาชนมีคุณค่าในตัวของมันเอง เรื่องราวของพวกเขาต้องไม่ถูกฟังข้ามๆ ไป แล้วให้ “ผู้แทนทางวัฒนธรรม” มาอัดเสียงทับแทน

ขอชี้แจงว่าฉันไม่ได้ติเตียนคุณพีระ สุธรรม ข้อหาที่เขาเลือกภาษาอังกฤษเป็นพาหนะของงานประพันธ์–ฉันเองก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และเห็นอยู่ว่าการเขียนต่างภาษาให้ความรู้สึกต่างกันจริง ทั้งคนอ่านก็สนใจต่างมิติกัน

ฉันต้องการจะเสนอว่ามันเป็นไปได้ที่จะคิดอีกแบบ คิดแบบที่ภาษาต่างๆ มีความเท่าเทียมกันกว่าแบบที่พีระคิด ถึงแม้ฉันอาจจะอ้างได้ตามหลักภาษาศาสตร์ของชอมสกี้ว่า ทุกๆ ภาษามีความเป็นระบบระเบียบและความเป็นเหตุเป็นผลทั้งนั้น ก็ต้องยอมรับว่ามุมมองต่อภาษาของพีระ (ภาษาอังกฤษมีเหตุผลและเป็นสากล, ภาษาไทยมีลักษณะอำนาจนิยมและไร้ระเบียบ, ภาษาลาวเป็นภาษาพูดที่จำกัดอยู่ในหมู่คนต่ำต้อยผู้มาจากชุมชนห่างไกล) มีพื้นฐานมาจากการใช้ภาษาเหล่านี้ตามจริง เราไม่เห็นการเขียนภาษาลาวอีสานในบริบทที่หลากหลายเท่าภาษามาตรฐาน และเราก็ไม่เห็นการยัดเยียดภาษาไทยมาตรฐานที่ถูกต้องอย่างในโลกภาษาอังกฤษซึ่งไม่มีองค์กรอย่างหลักสูตรภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการและสถาบันราชบัณฑิตยสถาน

แต่ประเด็นก็คือ ไม่ว่าจะภาษามนุษย์ภาษาไหนๆ ต่างก็มีศักยภาพเท่าเทียมกันหมด ที่จะพัฒนาให้ “มีเหตุมีผล” และ “เป็นสากล” เท่ากับที่ภาษาอังกฤษได้สั่งสมมาถึงวันนี้

การเขียนงานประพันธ์และการแปลภาษาทั้งทางวรรณกรรมและทางเทคนิค เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาที่ว่านี้ เมื่อมองดังนี้แล้ว การที่พีระปฏิเสธไม่ให้ผลงานของตนถูกแปลเป็นภาษาลาวนั้นชวนพิศวง การเขียนวรรณกรรมด้วยภาษา(พูด)ที่มิใช่ภาษามาตรฐาน ย่อมจะหนุนส่งให้ภาษานั้นๆ มีศักดิ์ศรีทางวัฒนธรรมสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ทั้งยังช่วยแพร่กระจายภาษานั้นๆ ข้ามพรมแดนทางชาติพันธุ์ไปด้วย ในเมื่อคนชาติพันธุ์ลาวจำนวนมากได้กลายเป็นคนพลัดถิ่น (diasporic) และกระจายไปอาศัยในนานาประเทศทั่วโลกสากลแล้ว ทำไมภาษาลาวถึงไม่มีสถานะเช่นนั้นบ้างล่ะ?

ที่คุณพีระ สุธรรม มองว่าภาษาต่างๆ ไม่เท่าเทียมกันนั้น ฉันถือว่าเป็นคำท้า ภาระที่ฉันต้องทำให้ลุล่วงจึงเป็นการยกระดับภาษาลาวอีสานผ่านการแปลวรรณกรรม และที่คุณพีระ สุธรรม มองว่าโลกมนุษย์แบ่งเป็นคนพื้นเมืองที่อยู่ติดที่ กับคน(ตะวันตก)ที่เป็นพลเมืองโลก ฉันก็ถือว่าเป็นคำท้าอีกข้อหนึ่ง ภาพหวังที่ฉันต้องไปให้ถึงจึงเป็นการเอาตัวทอดเป็นสะพานที่มีถนนสองทางระหว่างคนอีสานกับชาวต่างชาติ เพื่อที่ว่าทั้งสองฝ่ายจะได้มีโอกาสพูด, ฟัง, เขียน, อ่าน อย่างเท่าเทียม.

[ภาพถ่ายของพีระ สุธรรมผู้สวมรองเท้าโลฟเฟอร์ส กับบิดาของเขาในชุดม่อฮ่อม.]

image_pdfimage_print