โดยประเสริฐ คำเสียง ผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ประจำปี 2560 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด

สุรินทร์ – กำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ศรีณรงค์ ทวงสัญญาจากรัฐบาลหลังจากรอมา 9 เดือนแล้วเงินเดือนก็ยังไม่ขึ้น พร้อมบอกว่า มีงานเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาโดยต้องรองรับงานแทบทุกหน่วยงาน การประชุมเพิ่มขึ้นจากเดือนละครั้งเป็นกว่า 10 ครั้ง และยังถูกหักเงินเดือนไปจัดเลี้ยงให้ข้าราชการอีก

การประชุมประจำเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่หอประชุมใหญ่ที่ว่าการอำเภอศรีณรงค์ จ.สุรินทร์

 

นายทองดำ จันสนิท อายุ 52 ปี ผู้ใหญ่บ้านบ้านโนนคำ ต.หนองแวง อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ อดีตเคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2541-2552 และมาเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี 2555

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายทองดำ จันสนิท ผู้ใหญ่บ้านบ้านโนนคำ หมู่ 10 ต.หนองแวง อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า หลังจากพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2559 ว่า จะเพิ่มเงินเดือนให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมากว่า 9 เดือนแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะได้เงินเดือนขึ้น เมื่อตนไปถามกับนายอำเภอศรีณรงค์ นายอำเภอก็บอกว่า ยังไม่มีความชัดเจน เพราะต้องรอคำสั่งจากส่วนกลางว่าจะให้ขึ้นเงินเดือนหรือไม่ ถ้ามีคำสั่งลงมาแล้วอำเภอจะพิจารณาเพิ่มเงินเดือนให้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบขึ้นค่าตอบแทนให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ จำนวน 291,257 คน โดยเพิ่มวงเงินค่าตอบแทนตำแหน่งละ 5,000 บาท คิดเป็นภาระงบประมาณเฉลี่ย 803.87 ล้านบาทต่อปี แต่จะได้รับเงินเดือนแบบไม่ก้าวกระโดด เป็นการขึ้นปีละ 1 ขั้น โดยขึ้นอยู่กับการทำงาน

หากบางคนทำงานตามเกณฑ์ ไม่มีข้อผิดพลาดก็จะเพิ่มปีละ 1 ขั้น คือ 200 บาท แต่หากบางคนทำงานมีผลสัมฤทธิ์ดีเยี่ยมก็อาจได้เพิ่ม 2 ขั้น คือ 400 บาท ไล่จนเต็มเพดานที่ 25 ขั้นโดยผู้ที่จะได้เงินเดือนเพิ่ม 2 ขั้นนั้นจะได้รับติดต่อกันไม่เกิน 2 ปี และคำนวณแล้วจะต้องมีผู้ได้เงินเดือน 2 ขั้นไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนบุคลากร

นายทองดำกล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ จังหวัดสุรินทร์และอำเภอศรีณรงค์มีงานและกิจกรรมให้กำนันผู้ใหญ่บ้านทำเพิ่มขึ้น เช่น งานพัฒนาชุมชน งานเกษตรกรรม งานปศุสัตว์ งานของโรงพยาบาลศรีณรงค์ และงานของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อีกทั้งยังมีประชุมบ่อยขึ้นจากปกติประชุมประจำเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้านเดือนละครั้ง แต่ปัจจุบันนี้มีการประชุมประมาณเดือนละ 10 ครั้ง

นอกจากจะมีงานเพิ่มขึ้นแล้วยังมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย นายทองดำ เผยว่า ตนถูกอำเภอหักเงินเดือนไปเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ได้แก่ ค่าสมาชิกชมรมฌาปนกิจของผู้ใหญ่ปีละ 400 บาท ค่าน้ำดื่มในวันประชุมประจำเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้านคนละ 20 บาท และตนยังต้องจ่ายค่าเดินทางไปอบรมหรือประชุมกับบางหน่วยงานอีก

ผู้ใหญ่บ้านบ้านโนนคำบอกอีกว่า เดิมได้เงินเดือน 8,000 บาท ถ้าจะเพิ่มเงินเดือนให้ปีละ 1 ขั้น หรือ 200 บาท เป็นเดือนละ 8,200 บาทก็ไม่คุ้มค่ากับงานที่ได้รับมอบหมายและค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ แต่ที่ตนทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านก็เพราะใจรักและเห็นว่าเป็นงานจิตอาสา

“อยากบอกกับรัฐบาลว่า อยากให้ขึ้นเงินเดือนตามที่รัฐบาลบอก เพราะว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมางานเพิ่มขึ้น กิจกรรมเยอะขึ้น แต่ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก ถึงมีกฎหมายออกมาว่าจะเพิ่มเงินเดือนให้จริงๆ ก็ได้เพียงไม่กี่บาท ถ้าจะเพิ่มให้ก็ควรจะให้ทีเดียวเลย 5,000 บาท” ผู้ใหญ่บ้านบ้านโนนคำกล่าว

นายสำอางค์ พิศวงขวัญ อายุ 49 ปี ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองเรือ ต.ศรีสุข อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ เป็นผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว 2 สมัย โดยสมัยที่ 2 เป็นมาตั้งแต่ปี 2555

นายสำอางค์ พิศวงขวัญ ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองเรือ หมู่ 2 ต.ศรีสุข อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า ทราบข่าวว่ารัฐบาลจะขึ้นเงินเดือนให้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2559 แต่จนถึงขณะนี้เรื่องก็ยังเงียบ เงินเดือนผู้ใหญ่บ้านเดือน 8,000 บาท หรือ เฉลี่ยวันละ 267 บาท ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ต้องเสียไปในแต่ละวัน ทุกวันนี้ภาระหน้าที่หนักขึ้นและเกินกว่าความรับผิดชอบของผู้ใหญ่บ้าน โดยผู้ใหญ่บ้านต้องรับผิดชอบงานของแทบจะทุกหน่วยงานราชการ

ผู้ใหญ่บ้านหนองเรือ หมู่ 2 บอกว่า เมื่อ 3 ปีก่อนมีการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ที่ว่าการอำเภอเพียงเดือนละครั้ง แต่ปัจจุบันมีประชุมไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10 ครั้ง อาทิ การประชุมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลศรีสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นต้น ยังมีการมีจัดอบรมและศึกษาดูงานทั้งในพื้นที่จ.สุรินทร์และพื้นที่ต่างๆ อีก

“มีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทางอำเภอจัดขึ้นในแต่ละเดือน ซึ่งทุกอย่างถี่กว่าเดิมมากจนแทบจะไม่มีเวลาทำงานบ้าน” ผู้ใหญ่บ้านหนองเรือ หมู่ 2 กล่าว

นายสำอางค์กล่าวด้วยว่า ตลอดระยะเวลาที่เป็นผู้ใหญ่บ้านคิดว่าการมาทำงานตรงนี้เป็นความสมัครใจไม่ได้ยึดติดกับเรื่องเงินเดือน ที่สำคัญคือเรายังดำรงตำแหน่งอยู่ก็อยากทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด

“ทุกคนรู้ว่าการมาทำงานตรงนี้มันไม่ได้อะไร แต่ถ้ารัฐบาลเห็นใจและเข้าใจจะเพิ่มเงินเดือนให้จริงๆ ก็ดี แต่ให้แค่เดือนละ 200 บาท (เงินเดือนขั้นละ 200 บาท-ผู้เขียน) กว่าจะได้เงินเดือนขึ้นถึง 25 ขั้นก็เกษียณอายุก่อน” นายสำอางค์บอก

นอกจากเงินเดือนยังไม่ขึ้นแล้ว กำนันผู้ใหญ่บ้านยังถูกหักเงินเดือนทุกเดือนอีก ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองเรือ หมู่ 2 กล่าวว่า กำนันผู้ใหญ่บ้านถูกหักเงินเดือนโดยไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าหลายรายการ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 5,300 บาทต่อปี ได้แก่ ค่าเบี้ยประกันชีวิตชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านคนละ 400 บาทต่อปี ค่าจัดงานเลี้ยงวันชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านโดยหักจากเงินเดือนหมู่บ้านละ 2,000 บาทต่อปี ค่าจัดเลี้ยงตอบแทนคณะกรรมการหมู่บ้านโดยหักจากเงินเดือนหมู่บ้านละ 2,000 บาทต่อปี ค่าสลากงานกาชาด จ.สุรินทร์ (งานช้าง – ผู้เขียน) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือนพฤศจิกายนปีละ 400 บาท และค่ากิจกรรมสมโภชศาลหลักเมือง อ.ศรีณรงค์ ปีละ 500 บาท

นายสำอางค์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อมีข้าราชการระดับฝ่ายปกครอง เช่น นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ย้ายเข้าเข้ามารับตำแหน่งหรือย้ายออกจากตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจะถูกหักเงินเดือนหมู่บ้านละ 2,000 บาทเพื่อไปจัดงานเลี้ยง และตนยังต้องจ่ายค่าอุปกรณ์ ค่าบำรุงและซ่อมแซมอุปกรณ์ ที่อ.ศรีณรงค์อีก เช่น ค่าจัดซื้อเครื่องปรับอากาศที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอ

นายสุบรรณ์ อินทร์ตา อายุ 52 ปี เป็นกำนันตำบลหนองแวง อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ มาตั้งแต่ปี 2555 และเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านคูขาด ระหว่างปี 2552-2555

นายสุบรรณ์ อินทร์ตา กำนันตำบลหนองแวง อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า เมื่อทราบข่าวว่าเงินเดือนจะขึ้นก็ดีใจมาก แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า และได้ยินมาจากกลุ่มผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านว่า อาจจะเริ่มขึ้นเงินเดือนในเดือนตุลาคมนี้ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะจริงหรือไม่ ถ้าปรับเงินเดือนช้าแบบนี้น่าจะขึ้นเงินเดือนย้อนหลังนับตั้งแต่ที่มีคำสั่งออกมาเมื่อเดือนตุลาคมปี 2559 หรือถ้าปรับเงินเดือนครั้งเดียว 25 ขั้นไปเลย จำนวน 5,000 บาทน่าจะดีกว่าหรือไม่ หรือควรกำหนดให้ขึ้นเงินเดือนขั้นละ 1,000 บาท เพื่อจะได้เป็นขวัญกำลังใจให้ทำงานเต็มที่ ส่วนการจะปรับเงินเดือนเพียงขั้นละ 200 บาทนั้นตนมองว่าน้อยเกินไป

“25 ขั้นอยู่ไม่ถึงแน่นอนเพราะนับดูแล้วเกษียณก่อน เพราะ 25 ขั้น ก็ 25 ปีขึ้นให้ได้ปีละขั้นเท่านั้น เหลือแค่ 5 ปีก็จะเกษียณแล้ว และ 5 ปีที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ก็อาจจะไม่ได้ด้วยซ้ำ บางทีรัฐบาลคิดได้แต่ไม่ทำทันที บางทีมีข่าวลือในกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านออกมาว่าได้แล้ว ปรากฏว่าไม่มี ถามนายอำเภอก็บอกรอหนังสือคำสั่งมาเหมือนกัน เหมือนกับหมอบอกว่าจะฉีดยาชูกำลัง แล้วบอกให้คนไข้รอก่อนนะ แต่ก็ยังไม่เห็นมาฉีดให้สักที” นายสุบรรณ์กล่าว

กำนันตำบลหนองแวงกล่าวเพิ่มเติมว่า ถามว่าภาระหน้าที่คุ้มค่ากับเงินเดือน 10,000 บาทหรือไม่ก็บอกว่าไม่คุ้มค่า เพราะว่ากำนันทำงานหนักมาก กำนันต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชนทั้งตำบล ถ้าผู้ใหญ่บ้านแก้ปัญหาไม่ได้ก็ต้องมาถึงกำนันแล้วค่อยไปถึงอำเภอตามขั้นตอน กำนันจะต้องเป็นคนรับรองทุกอย่าง อีกทั้งทุกวันนี้มีประชุมและอบรมบ่อยขึ้น ค่าเดินทางก็ต้องจ่ายเอง เงินเดือนไม่พอกับค่าใช้จ่าย แต่ทำงานด้วยใจจริง

“รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ งานเยอะขึ้นจากเดิมมาก และหนักกว่า 3 เท่า เหมือนกับกลัวว่ากลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านจะประท้วง จึงมีคำสั่งออกมาว่าจะขึ้นเงินเดือนให้ แต่ดีที่ทุกวันนี้จะแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ว่ามีอินเทอร์เน็ต สื่อโซเชียลมีเดีย สามารถคุยกันทางไลน์ได้ นายอำเภอสั่งงานมาทางไลน์บ้าง สะดวกและรวดเร็ว ถ้าไม่มีช่องทางนี้จะทำงานหนักกว่านี้อีก” นายสุบรรณ์กล่าว

นายสุบรรณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าไม่มีอาชีพอื่นมารองรับก็คงอยู่ไม่ได้ ขณะนี้ก็ทำสวนผักผสมผสาน ทำนา แต่ต้องจ้างคนอื่นมาช่วยทำเพราะไม่มีเวลาทำเอง

(เพิ่มเติม: ท่านสามารถอ่านคอลัมน์ความคิดเห็น “วิเคราะห์มติ รมต. ขึ้นเงินเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้าน: เพียงคำหวานซื้อเวลาให้คสช.?” ได้ที่นี่)

  

 

image_pdfimage_print