โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

หลังจากเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2560 ภาพนิ่งและคลิปวีดีโอการรับน้องที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรภ.มหาสารคาม) ปรากฎผ่านเพจเฟซบุ๊คแหม่มโพธิ์ดำ จากนั้น สื่อกระแสหลักนำข้อมูลชุดนี้ไปผลิตเป็นข่าวอย่างเช่น เว็บไซต์มติชนออนไลน์ ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของการรับน้อง ในที่สุด รักษาราชแทนอธิการบดี มรภ.มหาสารคาม จึงออกมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 พร้อมแจกเอกสารแถลงการณ์มีใจความโดยสรุปว่า มหาวิทยาลัยจะตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงและแสดงความเสียใจต่อกิจกรรมรับน้องดังกล่าว

ขณะเดียวกัน นักศึกษารุ่นพี่ที่เป็นผู้จัดกิจกรรมรับน้องก็ออกมาขอโทษและยอมรับผิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

เรื่องราวทั้งหมดควรจะจบลงแบบนี้ ตรงที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องตัวบุคคล พร้อมคำอธิบายว่ามหาวิทยาลัยห้ามจัดกิจกรรมรับน้องในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม แต่นักศึกษารุ่นพี่บางคนของสาขาดนตรีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์กลับไปจัดกิจกรรมนอกรอบกันเอง

แต่ข้อมูลอีกแง่มุมจากนักศึกษารุ่นพี่ระบุว่า การรับน้องด้วยการป้อนของเหลวคล้ายสิ่งปฏิกูลใส่ปากรุ่นน้องของสาขาการดนตรี และการให้รุ่นน้องจับอวัยวะเพศคนอื่นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ใช่กิจกรรมที่ปกปิดซ่อนเร้นเพราะเกิดขึ้นบริเวณหลังตึกคณะในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ทำไมถึงไม่มีอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่พบเห็นแล้วเข้าไปห้ามปราม เป็นไปได้หรือไม่ว่า การรับน้องในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นโดยทั่วไปในมรภ.มหาสารคามแต่ไม่เป็นข่าว

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ กิจกรรมรับน้องดังกล่าวไม่ได้เป็นกิจกรรมขององค์การนักศึกษาเอง แต่เป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบทรานสคริปกิจกรรม”

ระบบทรานสคริปกิจกรรมเป็นระบบที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทย อาทิ ม.ธรรมศาสตร์ ม.สงขลาฯ ม.ขอนแก่น ม.พะเยา นำมาใช้ เพื่อส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาทำกิจกรรมระหว่างการเรียน โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดหลักสูตรกิจกรรมว่า หลักสูตรกิจกรรมมีกี่หน่วยกิต ประกอบด้วยกิจกรรมอะไรบ้าง จากนั้นให้นิสิตนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมที่กำหนดไว้ เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมก็จะได้รับการบันทึกหน่วยกิต และหากได้หน่วยกิตครบตามหลักสูตร ก็จะได้รับใบประกาศทราบสคริปกิจกรรมหลังสำเร็จการศึกษา   

ฉะนั้นมหาวิทยาลัยที่มีระบบทรานสคริปกิจกรรมต้องมอบทรานสคริปให้กับผู้สำเร็จการศึกษา 2 ใบ ใบแรกคือทรานสคริบผลการเรียนทั่วไป และใบที่สองคือทรานสคริบกิจกรรม

นายวุฒิพล ฉัตรจรัสกูล รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามยอมรับว่า มหาวิทยาลัยมีระบบทรานสคริปกิจกรรมจริง โดยในการขออนุมัติจบการศึกษา นักศึกษาจะต้องมีชั่วโมงการเข้าร่วมกิจกรรมครบถ้วนตามที่ระบบกำหนด

เพจเฟซบุ๊ค ทรานสคริปกิจกรรม มรภ.มหาสารคาม อธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นของสมุดกิจกรรมเพื่อบันทึกกิจกรรมที่นักศึกษาเข้าร่วมระหว่างการศึกษาเพื่อนำมาขอรับทรานสคริปกิจกรรมหลังสำเร็จการศึกษา

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2560 เพจเฟซบุ๊คทรานสคริปกิจกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เผยแพร่บทความ ทำไมต้องเข้าร่วมกิจกรรม ว่า “ไม่เข้าร่วมกิจกรรมหรือไม่มีสมุดกิจกรรมก็จบ จริงหรือไม่ … จริงครับ ไม่เข้าร่วมก็จบ ไม่มีสมุดกิจกรรมก็จบ แต่ไม่สามารถรับใบ Transcript (ทรานสคริป) และใบรับรองการสำเร็จการศึกษาได้”   

เพจเฟซบุ๊ค ทรานสคริปกิจกรรม มรภ.มหาสารคาม ระบุว่า หากนักศึกษาไม่มีสมุดกิจกรรม หลังเรียนจบก็จะไม่ได้รับวุฒิการศึกษา

นั่นเท่ากับว่า ทรานสคริปกิจกรรมเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้หากนักศึกษาต้องการได้รับทรานสคริปทั่วไป (ทรานสคริปอีกใบ) หลังจากสำเร็จการศึกษา เงื่อนไขนี้จึงน่าจะเป็นแรงกดดันให้นักศึกษาปีหนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องเพื่อให้ได้หน่วยกิตของกิจกรรมตามหลักสูตร จึงนำมาสู่คำตอบว่าทำไมรุ่นพี่จึงสามารถจัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวได้โดยไม่ต้องบังคับให้รุ่นน้องเข้าร่วมกิจกรรม นั่นเป็นเพราะกิจกรรมการรับน้องเป็นกิจกรรมตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ และนักศึกษาปีหนึ่งมีความต้องการได้หน่วยกิตของกิจกรรม

คำถามคือ นอกจากการรับนัองแล้วมีกิจกรรมอื่นๆ ให้เข้าร่วมเพื่อให้ได้หน่วยกิตอีกไหม ถ้าไม่มีกิจกรรมอื่นให้เลือก มันก็คือการมัดมือชกให้เข้าร่วมการรับน้องนั่นเอง

ดังนั้น การกล่าวโทษนักศึกษารุ่นพี่ว่าเป็นสาเหตุของการรับน้องแบบสุ่มเสี่ยงนั้นจะเป็นการมองปัญหาตรงจุดหรือไม่ หรือกรณีทั้งหมดควรเป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยที่กำหนดให้กิจกรรมรับน้องอยู่ในระบบทรานสคริปกิจกรรม แล้วไม่ควบคุมให้ไม่มีการละเมิดสิทธินักศึกษา หรือว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้ต้องการควบคุมการละเมิดสิทธินักศึกษาเพราะเห็นว่าการรับน้องในลักษณะดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการธำรงรักษาไว้ซึ่งระบบโซตัส (ระบบที่รุ่นพี่ใช้อำนาจกระทำต่อรุ่นน้องเพื่อสร้างระบบพวกพ้อง) ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกของมหาวิทยาลัยในการปกครองนักศึกษาด้วยระบบอาวุโสตามลำดับชั้นปีลงไป

เพื่อพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าว มีคำถามพื้นฐาน คือ ทำไมการรับน้องด้วยระบบโซตัสจึงยังดำรงอยู่ได้โดยทั่วไปหากอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมรภ.มหาสารคามและสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ของไทยเข้มงวดกวดขัน จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า สาเหตุที่ระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยดำรงอยู่ได้เป็นเพราะมหาวิทยาลัยของไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ (ความสัมพันธ์ระบบพรรคพวกที่เห็นคนไม่เท่ากันโดยผู้ใหญ่ให้คุณให้โทษผู้น้อย) มหาวิทยาลัยของไทยจึงต้องการรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ เพราะจะทำให้ตัวเอง (คณาจารย์และเจ้าหน้าที่) ดำรงสถานะที่สูงกว่าคนทั่วไปในสังคมต่อไป ตัวอย่างเช่น การเข้ารับตำแหน่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของอธิการบดี 9 คน เพราะขนาดการเข้าไปร่วมกับคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจไปจากประชาชนยังทำได้ แล้วเรื่องอื่นที่ต้องลิดรอนเสรีภาพของนิสิตนักศึกษาเพื่อรักษาโครงสร้างการปกครองที่รัฐราชการเป็นผู้ใหญ่ ทำไมจะทำไม่ได้

ในอีกมุมหนึ่ง ระบบทรานสคริปกิจกรรมยังมีส่วนกำหนดให้นิสิตนักศึกษาทำกิจกรรมเฉพาะที่อยู่ในหลักสูตรเนื่องจากมีหน่วยกิตให้ ทำให้กิจกรรมนักศึกษาแปรสภาพจากกิจกรรมที่เป็นของนักศึกษาจริงๆ ที่ควรมีอิสระทางความคิด มีจินตนการ และมีความฝัน กลายเป็นกิจกรรมที่อยู่ภายใต้กรอบที่มหาวิทยาลัยต้องการ หรือพูดได้ว่า ทรานสคริปกิจกรรมเป็นเครื่องมือควบคุมความคิดและการใช้ชีวิตนิสิตนักศึกษาโดยมหาวิทยาลัยอีกทางหนึ่งที่ก้าวล่วงไปถึงการควบคุมการใช้เวลาว่างนอกห้องเรียน(การควบคุมชั้นแรกคือการควบคุมด้วยการเรียนการสอน)

เมื่อความคิดของนิสิตนักศึกษาถูกควบคุมโดยคนรุ่นเก่าแล้ว สิ่งใหม่จะงอกงามขึ้นมาได้อย่างไร ผู้ที่สำเร็จการศึกษาซึ่งจะเติบโตเป็นคนชั้นกลางต่อไป คงมีจะแต่คนที่ถูกกำหนดความคิดตามลำดับชั้นเอาไว้แล้ว ซึ่งพวกเขาคงไม่ตั้งคำถามต่อโครงสร้างทางสังคมที่เป็นอยู่

จึงสรุปได้ว่า การรับน้องที่มรภ.มหาสารคามนอกจากจะไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคลแล้ว ยังสะท้อนถึงระบบอุปถัมภ์ที่เป็นรากฐานของระบอบเผด็จการซึ่งครอบงำวงการศึกษาไทยได้เป็นอย่างดี

 

  

 

image_pdfimage_print