อุดรธานี – กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทชี้การต่อแถวไหว้ครูคือระบบทหาร นักเรียนต้องเคารพครูโดยไม่คิดถึงความเหมาะสม ด้านอาจารย์ครุศาสตร์จุฬาฯ เผยการศึกษาไทยสะท้อนความไม่เท่าเทียมของสังคม

จากกรณีที่มีการโพสต์ภาพนักเรียนโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลต่อแถวเพื่อทำความเคารพครูก่อนเข้าประตูโรงเรียนลงบนเฟซบุ๊กโดยนักเรียนคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2560 และมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า การต่อแถวทำให้เสียเวลาทำธุระตอนเช้าเพราะโรงเรียนมีนักเรียนกว่า 5,000 คน ต่อมาทางผู้บริหารโรงเรียนได้เรียกนักเรียนที่โพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวเข้ามาตักเตือนพร้อมเชิญผู้ปกครองให้มารับทราบ ขณะที่กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทออกแถลงการณ์เรียกร้องให้โรงเรียนต้นเรื่องให้ความเป็นธรรมต่อการแสดงความคิดเห็นของนักเรียน และขอให้โรงเรียนพิจารณาข้อดีข้อเสียของกิจกรรมเข้าแถวทำความเคารพครูดังกล่าว

นายสัณหณัฐ ศรัทธาพร นักเรียนชั้นม. 5 เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

ด้านนายสัณหณัฐ ศรัทธาพร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ให้ความเห็นว่า การเข้าแถวเคารพครูเป็นการสะท้อนระบบทหาร คล้ายในโรงเรียนนายร้อย ในค่ายทหาร หรือการเรียน รด. ที่ต้องต่อแถวเข้าอบรม แต่ตนคิดว่าการให้ต่อแถวแบบนี้ไม่ได้ส่งผลต่อการฝึกระเบียบ โรงเรียนควรให้นักเรียนเดินเข้าทีเดียวอาจจะสะดวกในการจัดระเบียบมากกว่า

“คิดว่าการต่อแถวไม่ได้สร้างสำนึก แต่สร้างระบบอัตโนมัติให้ตัวเด็ก เหมือนกับเมื่อเราเจอน้ำร้อนอยู่ใกล้มือเรา เราก็จะหลบ เช่นกัน ระบบนี้ทำให้เมื่อเราเจอครู เราก็ต้องไหว้ ทำให้ความรู้สึกนึกคิดบางอย่างในตัวเด็กหายไป คือ ไม่ต้องคิด ไหว้ไปก่อน ส่งผลให้ครูกลายเป็นคนที่ทำอะไรก็ถูกต้อง เพราะเป็นอำนาจโดยชอบธรรม เพราะเป็นครู” นายสัณหณัฐกล่าว

เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทยังกล่าวอีกว่า หลังจากที่มีนักเรียนโพสต์ภาพลงบนเฟซบุ๊กพร้อมแสดงความเห็นต่อการเข้าแถว นักเรียนคนนั้นก็ถูกเรียกไปตักเตือนและหักคะแนนความประพฤติ ซึ่งตนมองว่า การแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องปกติ แต่โรงเรียนพยายามลิดรอนสิทธินักเรียน และไม่เคารพความคิดของเด็ก

“แค่คิดยังไม่ได้เลย แล้วจะทำอย่างอื่นได้ยังไง เหมือนเขาพยายามไม่ให้เด็กตั้งคำถามอะไรเลย พยายามปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดของนักเรียน” นายสัณหณัฐกล่าวย้ำ

นอกจากนี้ นายสัณหณัฐยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การไหว้ไม่ใช่วิธีเดียวที่เป็นการแสดงออกถึงความเคารพ แต่ต้องดูที่การกระทำในระยะยาวด้วย เพราะบางคนไหว้ครูเพราะถูกบังคับโดยระเบียบ หรือบางคนไหว้เพราะเป็นพิธีกรรมเท่านั้น

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นสาเหตุของปัญหาการศึกษาไทยคือ ความไม่ต่อเนื่องของระบบและนโยบาย เนื่องจากประเทศไทยมีการรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อย จึงมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและนโยบายการศึกษาบ่อยดังนั้นประเด็นการศึกษามีความเกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น ปัจจุบันที่เป็นยุครัฐทหารมีการเน้นเรื่องชาตินิยม เห็นได้จากการให้ท่องจำค่านิยม 12 ประการ ซึ่งเป็นการบังคับมากเกินไป และไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ

นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้านนายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า กรณีนี้แม้ว่าจะเกิดขึ้นในโรงเรียนก็ตาม แต่สามารถสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยยังเชื่อในระบบอำนาจนิยม เพราะโรงเรียนคือ “สังคมย่อส่วน” ที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก กล่าวคือ ในเมื่อโรงเรียนมีการสั่งการ มีการควบคุม และใช้บรรทัดฐานเพียงอย่างเดียวในการกำหนดกติกาต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องมารยาทไทยซึ่งเป็นเรื่องวิถีชีวิตที่ปฏิบัติกันเป็นปกติ แต่โรงเรียนได้ทำให้การไหว้เป็นเรื่องทางการ โดยนักเรียนต้องไหว้ครูก่อนเข้าโรงเรียน จึงทำให้เด็กเกิดคำถามว่า ไหว้เพื่ออะไร ไหว้เพื่อให้ตนสามารถเข้าไปในโรงเรียนได้อย่างนั้นหรือ

อย่างไรก็ตาม อาจารย์คณะครุศาสตร์ให้ความเห็นว่า เรื่องการไหว้ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือการบังคับให้ไหว้ ทั้งที่การไหว้ต้องเกิดจากความเคารพ ซึ่งโรงเรียนไม่ได้ตระหนักในข้อนี้ โรงเรียนเน้นเพียงว่าต้องการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้โรงเรียน

“มันสะท้อนเรื่องอำนาจที่ผู้ใหญ่ออกแบบชีวิตประจำวันตามใจตัวเอง อยากให้ใครทำอะไรก็ทำ เป็นการสะท้อนภาพว่า เด็กต้องเล่นตามเกมที่ผู้ใหญ่กำหนด ก่อนเข้าโรงเรียนต้องไหว้ ถ้าไม่ไหว้ก็จะเข้าโรงเรียนไม่ได้” นายอรรถพลกล่าว

นอกจากนี้ นายอรรถพลยังกล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าผู้ใหญ่ทุกวันนี้เป็นผลผลิตของการศึกษาในอดีต ในยุคที่อำนาจอยู่ในมือผู้ปกครองเต็มที่ คนที่ออกนโยบายปัจจุบันเป็นคนอายุ 50 ปีขึ้นไปที่รับเอาค่านิยมแบบอำนาจนิยมติดตัวมา แต่ปัจจุบันนี้ ครูรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามกับการปฏิบัติและค่านิยมที่ไม่มีเหตุผลมากขึ้น เพราะต้องการเห็นสังคมที่เคารพความเป็นมนุษย์ สิ่งที่น่าห่วงคือวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งตัวเกินไป จะทำให้ครูรุ่นใหม่อยู่ภายใต้แนวคิดอำนาจนิยมเช่นเดิม

เมื่อกล่าวถึงต้นตอของปัญหาการศึกษาไทย อาจารย์คณะครุศาสตร์อธิบายว่า สังคมไทยไม่ได้มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน แต่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเรื่องการใช้อำนาจจากบนลงล่าง

“สังคมต้องช่วยกันตั้งคำถามกับกลไกสำคัญนี้ว่า เราจะปล่อยให้สังคมเป็นอย่างนี้ต่อไปหรือ ผมว่าสองสามปีนี้ชัดเจนมากว่า คนไม่ได้โอเคกับระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ เพราะผลมันฟ้องคุณภาพ รัฐบริหารงบประมาณด้านการศึกษาล้มเหลว ถ้าสังคมไม่ตั้งคำถาม การศึกษาก็จะเปลี่ยนแปลงได้ช้า” อาจารย์คณะครุศาสตร์กล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ : ภาพหน้าปกจากเว็บไซต์ข่าวสด

 

image_pdfimage_print