ขอนแก่น – อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ไม่เห็นด้วยกับมาตรการแจกเงินให้ประชาชนผ่านบัตรสวัสดิการคนจน เนื่องจากการแจกเงินทำให้เกิดการใช้จ่ายมากกว่าช่วยเหลือคนจนอย่างยั่งยืน พร้อมเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนซึ่งมียอดคงค้างกว่า 11.47 ล้านล้านบาท

ผศ.ดร.สถาพร เริงธรรม อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากกรณีกระทรวงการคลังมีแผนจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามาตรการสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย สำหรับผู้ที่ผ่านเกณฑ์การลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 หรือ โครงการลงทะเบียนคนจน ระหว่างวันที่ 3 เม.ย. – 15 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยใช้งบประมาณจำนวน 40,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการคำนวณตัวเลขเบื้องต้นจากประชาชนที่คาดจะได้รับสิทธิ์ประมาณ 14 ล้านคน โดยจะจ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการคนจน มีวงเงินในบัตร 2,850 บาทต่อเดือน ซึ่งแบ่งแยกค่าใช้จ่าย ดังนี้ ค่ารถไฟ 1,000 บาท ค่ารถโดยสายบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) 800 บาท ค่ารถเมล์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 600 บาท ค่าไฟฟ้า 200 บาท ค่าน้ำ 150 บาท และค่าสินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐ 100 บาท  โดยมีผลในวันที่ 1 ต.ค.นี้

นายสถาพร เริงธรรม อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายดังกล่าวเพื่อลดภาระในครัวเรือนหวังให้ประชาชนเกิดการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่ามุ่งช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยหรือคนจนอย่างยั่งยืน เพราะหากวิเคราะห์จากนโยบายนี้จะเห็นได้ว่า รัฐบาลแค่ต้องการให้การจ่ายในครัวเรือนเพิ่มขึ้นพูดง่ายๆ ก็คือ เอาเงินให้คนผู้มีรายได้น้อยไปใช้จ่าย

นายสถาพรกล่าวอีกว่า เงินจำนวน 40,000 ล้านบาทที่รัฐบาลคาดว่าจะจ่ายให้ผู้ที่จะได้รับสิทธิกว่า 14 ล้านคน หากวิเคราะห์ต่ออย่างเป็นระบบจะพบว่า การที่รัฐบาลนำเงินมาให้คนจนใช้จ่ายเกือบ 40,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยรัฐบาลมุ่งหวังให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น ส่วนวิธีการที่จะทำให้จีดีพีเติบโตขึ้นนั้น มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ไว้ว่า ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของครัวเรือน

อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ผู้นี้กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยหรือคนยากจนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ควรจะให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน เพราะเมื่อครัวเรือนมีหนี้สินอยู่ก็ทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนต่ำลงไปด้วย หากพิจารณารายงาน หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยปี 2559 พบว่า จำนวนหนี้ครัวเรือนในประเทศมีอยู่ถึงร้อยละ 79.9 ของจีดีพี และถ้าดูตัวเลขหนี้สะสมของครัวเรือนจากรายงานชิ้นนี้จะพบว่า ยอดค้างหนี้ครัวเรือนปี 2559 เพิ่มขึ้นกว่า 3.75 แสนล้านบาทจากปี 2558 หรือคิดเป็นยอดคงค้างประมาณ 11.47 ล้านล้านบาท สิ่งนี้บ่งชี้ว่า ภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังคงอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนได้ว่าความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือนยังไม่ดีขึ้น

“รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนมากกว่าการกระตุ้นการใช้จ่ายในครัวเรือน โดยการเอาเงินไปให้ครัวเรือนใช้จ่ายอย่างที่ทำอยู่” นายสถาพรกล่าว

นายสถาพรมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า ควรจัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาความยากจนระดับท้องถิ่น โดยให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันบริหารจัดการเงินกองทุนตรงนี้ โดยให้บทบาทต่อคณะกรรมการในท้องถิ่น เช่น คณะกรรมการชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อให้มาควบคุมการใช้เงินกองทุน ซึ่งข้อมูลผู้มีรายได้น้อยก็ได้มีการระบุไว้แล้ว การติดตามและดูแลย่อมเป็นเรื่องง่าย


ส่วนประเด็นที่ว่าโครงการลงทะเบียนคนจนเข้าข่ายนโบบายประชานิยมหรือไม่นั้น นายสถาพรกล่าวว่า เข้าข่ายนโยบายประชานิยม เพราะในทางทฤษฎีคือนโยบายที่พยายามแก้ไขหรือตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยรัฐบาลพยายามจัดสรรงบประมาณหรือโครงการต่างๆ ไปช่วยเหลือ โดยรูปแบบการดำเนินโครงการคือรัฐบาลเอาเงินไปแจกให้ประชาชนในรูปแบบจ่ายตรงเข้าบัญชี

“การเอาเงินมาใส่มือประชาชนแล้วให้ประชาชนไปใช้จ่าย มันจะปฏิเสธยังไงว่าไม่ใช่นโยบายประชานิยม มันเป็นนโยบายประชานิยมร้อยเปอร์เซ็นต์” นายสถาพรกล่าว

อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ผู้นี้กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้รัฐบาลทบทวนวิธีการจ่ายเงินในโครงการลงทะเบียนคนจนอย่างรอบคอบก่อนการดำเนินการ เพื่อให้นโยบายนี้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง เพราะการใช้วิธีการจ่ายเงินตรงเข้าบัญชีประชาชนโดยตรงนั้นสะดวก  ไม่รั่วไหล เพราะมีระบบควบคุมอยู่ แต่คำถามคือว่ารัฐบาลจะรู้ได้อย่างไรว่าประชาชนนำเงินที่รัฐบาลให้ไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นจริง

 

image_pdfimage_print