โดยวทัญญู สุริยันต์

อุบลราชธานี – นางทองดี ศรอาด ชาวบ้านธาตุน้อย อ.เขื่องใน ต้องผ่อนผันการชำระหนี้กับธ.ก.ส. หลังน้ำท่วมนา 12 ไร่เสียหาย ด้านนางบุญโฮม ทองแสง อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อใช้เพาะปลูกฤดูกาลหน้า

สภาพน้ำท่วมขังนาข้าวที่อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดลงพื้นที่สำรวจนาข้าวที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม บริเวณริมแม่น้ำชี ที่บ้านธาตุน้อย ต.ธาตุน้อย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี พื้นที่รับน้ำมาจากจ.ยโสธรโดยน้ำได้ไหลเข้าท่วมนาข้าว ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 2560 พบว่า นาข้าวบริเวณดังกล่าวได้ถูกน้ำท่วมทั้งหมด

นาข้าวของนางทองดี ศรอาด จำนวน 12 ไร่ถูกน้ำท่วมเสียหาย

นางทองดี ศรอาด อายุ 50 ปี ชาวบ้านธาตุน้อย หมู่ 8 ต.ธาตุน้อย อาชีพทำนาปลูกข้าวจ้าวหอมมะลิ กล่าวว่า นาข้าว 12 ไร่ของตนถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด ทำให้สูญเสียเงินที่ลงทุนทำนาไปกว่า 15,000 บาท ประกอบด้วย ค่าไถปั่นนา ค่าซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่าปุ๋ย และค่ายากำจัดศัตรูพืช และยังขาดรายได้จากการขายข้าวซึ่งปกติจะขายข้าวได้ปีละ 40,000-60,000 บาท ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ขณะนี้ครอบครัวเหลือรายได้เพียงทางเดียว โดยเป็นรายได้จากสามีที่ทำงานขับรถแท็กซี่

นางทองดีกล่าวด้วยว่า รายได้จากสามีนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และส่งเสียลูกสาว 1 คนที่กำลังศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี เดือนละ 3,500 บาท และยังต้องชำระหนี้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กู้ยืมมาลงทุนทำนาจำนวน 20,000 บาท โดยทุกปีจะแบ่งเงินที่ได้จากการขายข้าวไปชำระหนี้กับธ.ก.ส. แต่ปีนี้คงต้องขอผ่อนผันระยะเวลาชำระหนี้กับธนาคารออกไปก่อน

“เบื้องต้นอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวจ้าวหอมมะลิ เพื่อใช้ทำนาปีหน้า” นางทองดีกล่าว

นางบุญโฮม ทองแสง มีนา 18 ไร่ถูกน้ำท่วม 15 ไร่

นางบุญโฮม ทองแสง อายุ 59 ปี ชาวบ้านธาตุลุ่ม หมู่ 4 ต.สหธาตุ อาชีพทำนา ให้สัมภาษณ์ว่า ตนทำนาปลูกข้าวจ้าวหอมมะลิทั้งหมด 18 ไร่ น้ำท่วมเสียหาย 15 ไร่ ลงทุนไป 18,000 บาท ประกอบด้วยค่าไถปั่นนา ค่าปุ๋ย และ ค่ายากำจัดศัตรูพืช โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ทำนานั้น ใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้จากการทำนาปีก่อน ข้าวส่วนใหญ่ที่เก็บเกี่ยวจะเอาไว้บริโภคภายในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคน ส่วนที่เหลือนำออกขาย ทำให้มีรายได้จากการขายข้าวปีละ 20,000 – 30,000 บาท

ทั้งนี้ นางบุญโฮมกล่าวด้วยว่า ตนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้สูญเสียรายได้จากการขายข้าว และขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่จะใช้เพาะปลูกในปีหน้า เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ข้าวจ้าวที่เหลืออยู่มีเพียงพอแค่ใช้เพื่อบริโภคในปีนี้เท่านั้น

“นอกจากเงินชดเชยเยียวยาครอบครัวละ 3,000 บาทที่รัฐบาลได้ให้ไปลงทะเบียนไว้ ยายก็อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวจ้าวหอมมะลิ” นางบุญโฮมกล่าว

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2560 นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่บ้านธาตุน้อย ต.ธาตุน้อย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อตรวจเยี่ยมและมอบเครื่องอุปโภคบริโภคถุงยังชีพแก่สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเขื่องใน จำกัด พร้อมกล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์เพื่อให้สหกรณ์กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และนำไปช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ที่ประสบปัญหาอุทกภัยต่อไป

หมายเหตุ วทัญญู สุริยันต์ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

 

image_pdfimage_print