โดยประเสริฐ คำเสียง

สุรินทร์ – ชาวนาอ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ ครวญต้นทุนทำนาสูงขึ้น แต่ราคาข้าวตกต่ำติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว เหลือก.ก.ละ 6-7 บาท ขอให้รัฐบาลเร่งขึ้นราคาข้าวเป็นก.ก.ละ 18-20 บาทเท่ากับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือ “อีสานใต้” มีประชากรทั้งหมด 1,391,636 คน ส่วนใหญ่ทำอาชีเกษตรกร โดยปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา แต่ “ข้าว” ก็ยังเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก เนื่องจากภูมิประเทศมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีระบบกักเก็บถ่ายเทน้ำดี พันธุ์ข้าวที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15  

ข้าวหอมมะลิปลูกในฤดูนาปีเริ่มต้นระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูฝน และเก็บเกี่ยวระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม

ความหวังประจำปีของชาวนาอ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ เริ่มขึ้นอีกครั้งหลังหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในนาข้าว ความหวังที่ต้องเฝ้ารอให้ถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำข้าวเปลือกบางส่วนไปขาย แล้วนำเงินมาชำระหนี้สินและต้นทุนในการทำนา หลังจากนั้น เงินส่วนเหลือจากการขายข้าวก็จะนำเก็บเอาไว้ใช้จ่ายในครัวเรือน ส่วนข้าวเปลือกที่เหลือก็เก็บไว้ในยุ้งข้าวเพื่อไว้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน

แต่ทว่า ต้นทุนการทำนานั้นเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็น ค่ารถไถสองรอบ ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่ายาฉีดฆ่าศัตรูพืช ค่ายาฉีดบำรุงเวลาข้าวออกรวง ค่ารถเกี่ยว ค่าปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ขณะที่ราคาขายข้าวเปลือกกลับตกต่ำเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ปีนี้เป็นไปได้ว่าชาวนาอาจต้องพบกับความผิดหวัง เดอะอีสานเรคคอร์คได้ลงพื้นที่ อ.ศรีณรงค์ เพื่อสำรวจวงจรชีวิตชาวนาในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

การดำนาหรือการปักดำจากต้นกล้า เป็นวิธีปลูกข้าวที่ได้รับความนิยมรองจากการทำนาหว่าน

นางเดือน อินทร์ตา ชาวบ้านจารย์ หมู่ 1 ต.บ้านจารย์ อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ อาชีพหลักทำนาและหาของป่าเป็นอาชีพเสริม เล่าให้ฟังว่า มีที่นาทั้งหมด 13 ไร่ ทำนามาแล้วกว่า 20 ปี โดยระหว่างปี 2554-2556 มีต้นทุนในการทำนาประมาณ 25,000 บาท เก็บเกี่ยวข้าวเปลือกได้ต่อปีกว่า 4 ตันโดยนำออกขายทั้งหมดเนื่องจากระหว่างปี 2554 – 2556 (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ – ผู้เขียน) ข้าวมีราคาแพง เฉลี่ยกิโลกรัมละ 18-20 บาท ทำให้มีรายได้ปีละประมาณ 81,000 บาท จึงนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้และเก็บไว้ใช้จ่าย

นางเดือน อินทร์ตา ชาวนา วัย 53 ปี อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ เคยขายข้าวได้ราคาดี ช่วงปี 2554-2556

นางเดือนกล่าวอีกว่า เมื่อปี 2559 ต้นทุนทำนาเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 35,800 บาท เก็บเกี่ยวข้าวเปลือกได้ 4 ตันเท่าเดิม แต่ราคาข้าวลดลงเหลือกิโลกรัมละ 6 บาท

“เมื่อก่อนลงทุนไม่เยอะเหมือนตอนนี้ และข้าวก็มีราคาสูง

ตอนนี้นอกจากต้นทุนทำนาจะสูงขึ้นแล้ว ข้าวก็มีราคาต่ำมากด้วย ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีเงินใช้หนี้” นางเดือนกล่าว

ชาวนาบ้านจารย์ผู้นี้กู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาอ.ศรีณรงค์ มาลงทุนทำนาและใช้จ่ายในครอบครัว โดยเริ่มกู้เงินตั้งแต่ปี 2554 สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามกำหนดมาตลอด จนถึงปี 2557 ราคาข้าวตกต่ำขายไม่ได้ราคา ทำให้ไม่มีเงินชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจนขณะนี้เป็นหนี้ทั้งหมด 350,000 บาท และกู้เงินอีกไม่ได้แล้ว

ส่วนหนี้นอกระบบ นางเดือนเล่าว่า ได้กู้เงินจากญาติของสามี เพื่อลงทุนทำนาและใช้จ่ายในครอบครัว รวมถึงเพื่อให้ลูกไปทำงานที่ต่างประเทศ แต่ถูกนายหน้าหลอกเงินไป ทำให้เป็นหนี้ในระบบและนอกระบบ รวมทั้งหมด 610,000 บาท

นางเดือนบอกอีกว่า ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก ถึงช่วงฤดูทำนาก็ทำนา ช่วงที่ว่างจากการทำนาก็ไปหาหน่อไม้ กบ เขียด ไข่มดแดง และปลูกผักขาย แต่ปลูกเยอะไม่ได้ เพราะไม่มีคนมารับซื้อไปขายต่อ และไม่สามารถไปส่งผักที่ตลาดได้เนื่องจากหมู่บ้านห่างจากในเมืองและตลาดใหญ่เกือบ 30 กิโลเมตร จึงปลูกผักขายในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียง ส่วนที่เหลือก็เก็บไว้กินในครอบครัว

“ถ้าไม่ทำนาแล้วจะทำอะไรกิน เพราะที่ดินเป็นที่ราบลุ่ม ถ้าจะปลูกยางพาราต้องไปปลูกที่สูง และอยากให้รัฐบาลขึ้นราคาข้าวมากกว่านี้หน่อย เพราะทำนาได้ปีละครั้ง คือ ทำนาปี ค่าลงทุนก็สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ราคาข้าวลดลงทุกปี” นางเดือน กล่าว

นางเมียน คำแก้ว กล่าวว่า “ไม่ทำนาแล้วจะเอาอะไรกิน เวลาอดอยากก็มีข้าวกิน ไม่มีกับข้าวยังเข้าป่าไปหาของป่ามาได้”

นางเมียน ลำแก้ว ชาวนาวัย 50 ปี ที่หมู่บ้านจารย์ ต.บ้านจารย์ มีที่นา 7 ไร่ เปิดเผยว่า ช่วงที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี (ปี 2554 – 2557) ข้าวเปลือกราคาสูงมาก เฉลี่ยราคากิโลกรัมละ 18-20 บาท แต่ละปีปลูกข้าวได้ 2 ตัน โดยแบ่งเก็บไว้กินในครอบครัว 1.5 ตันและขายเพียง 500 กิโลกรัม ได้เงินประมาณ 10,000 บาท แบ่งนำไปจ่ายค่ารถเกี่ยว และเก็บไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น

นางเมียนเล่าว่า ในปี 2559 ทำนาได้ข้าวเปลือก 2 ตันเช่นเดิม ขายข้าว 700 กิโลกรัมในราคากิโลกรัมละ 7 บาท ได้เงิน 2,800 บาท พอจ่ายเฉพาะค่ารถเกี่ยวเท่านั้น ส่วนค่ารถไถยังไม่มีเงินจ่ายจนถึงตอนนี้

“ที่ยังทำนาเพราะได้ขายใช้หนี้บ้าง อยากให้รัฐบาลขึ้นราคาข้าวเป็น 20 บาท พอขายแล้วได้ทุนคืนก็พอ ทำนามา 3 ปีหลังนี้ ไม่เคยได้ทุนคืน ทำไปก็มีแต่ขาดทุน” นางเมียนกล่าว

ชาวนาผู้นี้บอกด้วยว่า ถ้าจะให้ปลูกพืชชนิดอื่นตามที่รัฐบาลแจ้ง เช่น ยางพารา ก็ไม่มีเงินไปลงทุน เพราะการปลูกยางพาราต้องใช้ต้นทุนสูง และต้องดูแลในระยะยาวกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

นายชยิน เกษมสุข เจ้าของลานข้าวเกษมสุขพาณิชย์ แนะนำชาวนาที่คิดว่าราคาข้าวยังต่ำอยู่ให้กลับไปดูแลรักษาคุณภาพข้าวของตัวเองด้วย

ขณะที่ผู้รับซื้อข้าวจากชาวนา นายชยิน เกษมสุข เจ้าของลานข้าวเกษมสุขพาณิชย์ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เล่าว่า ลานของตนจะรับซื้อเฉพาะข้าวหอมมะลิอย่างเดียวทั้งพันธุ์105 และ กข.15 จะรับซื้อข้าวมาเพื่อขายต่อให้โรงสีขนาดใหญ่ทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัด เป็นกระบวนการซื้อมาขายไปโดยจะไม่เก็บข้าวเปลือกไว้ในลานเป็นเวลานาน

เจ้าของลานข้าวเกษมสุขพาณิชย์กล่าวอีกว่า ราคาข้าวสูงสุดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ก.ก.ละ 11 บาท 30 สตางค์ และต่ำสุดอยู่ที่ก.ก.ละ 10-11 บาท ถือว่าสูงมากในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะกลไกตลาด โรงสีในละแวกใกล้เคียงตั้งราคารับซื้อที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่า ใครขายข้าวได้แพงก็รับซื้อแพง ส่วนใครขายข้าวได้ราคาถูกก็รับซื้อถูก  

นายชยิน เกษมสุข เจ้าของลานข้าวเกษมสุขพาณิชย์ แนะนำชาวนาที่คิดว่าราคาข้าวยังต่ำอยู่ให้กลับไปดูแลรักษาคุณภาพข้าวของตัวเองด้วย

นายชยินบอกอีกว่า เมื่อปี 2554-2556 เป็นช่วงที่ข้าวมีราคาสูงมาก แต่ลานของตนรับซื้อข้าวได้น้อยลงเพราะมีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ชาวนานำข้าวไปจำนำกับโครงการ แต่ตนไม่ได้รับผลกระทบมาก เพียงแต่ต้องปรับตัวตามนโยบายของรัฐบาลและทำตามกลไกตลาด สมมุติราคาข้าวในตลาดอยู่ที่ 12-13 บาท ทางโรงสีก็รับซื้อข้าวตามราคานั้น

ส่วนการที่ชาวนาระบุว่าข้าวราคาในขณะนี้ต่ำ นายชยินบอกว่า ชาวนาไม่น่าจะขาดทุน เพราะราคาข้าวขณะนี้ค่อนข้างสูง ต้องให้ชาวนากลับไปพิจารณาคุณภาพข้าวของชาวนาด้วย ว่ามีคุณภาพดีหรือไม่ และมีข้าวพันธุ์อื่นๆ ปะปนหรือไม่

“เรื่องราคาเราจะกำหนดตายตัวไม่ได้ ต้องดูที่กลไกตลาดด้วย และกระบวนการซื้อข้าวนั้นมีข้อปลีกย่อยและเงื่อนไขอีกมากมาย บางทีพันธุ์ปนเยอะเกินไปราคาก็ถูกเป็นธรรมดา ถ้าซื้อแพงเราก็ขาดทุนหากไปขายต่อในราคาที่ถูก” เจ้าของลานข้าวเกษมสุขพาณิชย์กล่าว

นายฐากูร จิตแสวง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาศรีณรงค์ เชื่อว่า มีโอกาสน้อยมากที่ผลผลิตข้าวของชาวนาแต่ละคนจะดีและขายข้าวได้ราคาข้าวดีในปีเดียวกัน

นอกจากชาวนาและลานตากข้าวแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงจรการทำนาและการค้าข้าวอีกส่วน ได้แก่ ผู้ให้สินเชื่อแก่ชาวนา ซึ่งผู้รับบทบาทนี้คือ ธ.ก.ส.  

นายฐากูร จิตแสวง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาศรีณรงค์ อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า สินเชื่อที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวคือ สินเชื่อระยะสั้นที่มีวงเงิน 10,000-150,000 บาทต่อคนต่อฤดูกาลผลิต ซึ่งชาวนาจะมาขอสินเชื่อในช่วงต้นฤดูกาลผลิต ส่วนการชำระหนี้กำหนดไว้เดือนมีนาคมของทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ตามความจริงชาวนาสามารถชำระหนี้ได้ทุกเดือน แต่ชาวนาบางคนก็ไม่มีเงินมาชำระหนี้ก่อนจึงต้องชำระหนี้ในเดือนพฤศจิกายน หรือชาวนาบางคนก็ไม่มีเงินมาชำระหนี้เลย

นายฐากูรกล่าวอีกว่า ไม่อยากโทษลูกค้าที่ไม่มาชำระหนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก เพราะโดยธรรมชาติลูกค้าก็อยากชำระหนี้ แต่ด้วยภาวะความจำเป็นบางประการ อาทิ ค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่าลงทุนทำนา และราคาข้าวตกต่ำ ทำให้ลูกค้ามีความยากลำบากในการชำระหนี้

“ธ.ก.ส.ไม่ได้ไปเคี่ยวเข็ญให้ลูกค้าต้องชำระหนี้ แต่ลูกค้าต้องมาคุยกันว่ามีเหตุผลอะไรที่ชำระไม่ได้ที่พอจะอะลุ่มอล่วยกันได้ เราอยู่แบบเป็นหุ้นส่วนกันมากกว่าเจ้าหนี้ลูกหนี้” นายฐากูรกล่าว

ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาศรีณรงค์ กล่าวด้วยว่า อุปสรรคในการทำนาคือ ชาวนาไม่สามารถควบคุมสิ่งใดได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสภาพดินฟ้าอากาศ โรคแมลงศัตรูพืช และราคาที่เป็นเรื่องของกลไกตลาด ถ้าปีไหนราคาดีแต่ปีนั้นผลผลิตไม่ดีชาวนาก็ไม่มีข้าวขาย

“น้อยครั้งที่จะมีผลผลิตดีและราคาดีในปีเดียวกัน ซึ่งแทบจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกันเลย” นายฐากูรกล่าว

นายฐากูรกล่าวอีกว่า ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาข้าวขยับขึ้นมาเนื่องจากต่างประเทศต้องการข้าวเพิ่มขึ้น แต่ข้าวไม่ได้อยู่ที่ชาวนาแล้ว เพราะชาวนาขายข้าวไปตั้งแต่เก็บเกี่ยวเสร็จเมื่อฤดูกาลผลิตที่แล้ว

หมายเหตุ ประเสริฐ คำเสียง เป็นผู้เข้าร่วมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

 

 

image_pdfimage_print