ภาพทิวทัศน์ของเมืองขอนแก่นถูกบรรจุอยู่ในภาพยนตร์หลายเรื่องที่ผ่านมาของอภิชาติพงศ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ในฐานะเมืองที่เขาเติบโตขึ้นมา ผ่านความทรงจำมากมายที่ยึดโยงกับพื้นที่ต่างๆ หลังจากที่เขาได้รับรางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ อภิชาตพงศ์ได้รับการยกย่องจากเมืองแห่งนี้ให้เป็นบุคคลสำคัญ ป้ายข้อความแสดงความยินดีมากมายถูกประดับในพื้นที่ต่างๆ ในตอนนั้น

เดอะอีสานเรคคอร์ดถือโอกาสชวนอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล พูดคุยกับเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้และเรื่องราวอื่นๆ หลังจากที่กลับมาในเมืองแห่งนี้อีกครั้ง เพื่อถ่ายทำโปรเจคต์ภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่องใหม่ โดยยังคงใช้ขอนแก่นเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ถ่ายทำเช่นเดิม

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวขอนแก่นที่ได้รางวัลปาล์มทองคำจากเมืองคานส์

เดอะอีสานเรคคอร์ด: กลับมาขอนแก่นบ่อยไหม
อภิชาติพงศ์: ไม่บ่อยเท่าไหร่ครับ ที่ได้กลับมาขอนแก่นส่วนใหญ่จะเป็นการมาถ่ายงานหรือมาธุระของทางบ้านครับ

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ทิวทัศน์ขอนแก่นอยู่ในฉากหนังหลายเรื่องของคุณ คิดว่าทิวทัศน์ในขอนแก่นเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
อภิชาติพงศ์: มองว่าขอนแก่นเป็นเหมือนเมืองทั่วไปในประเทศนี้ที่ออกมาเหมือนๆ กันหมดเลยครับ คือจะเห็นการพัฒนาชัดๆ ทางด้านกายภาพมากกว่าด้านสุนทรียะ คือเน้นหนักไปทางฟังก์ชั่นการใช้งานมากกว่า ก็เลยออกมาเป็นทัศนียภาพแบบตึกแถวอย่างที่เห็น ต้นไม้อะไรไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญสักเท่าไหร่ ซึ่งเข้าใจได้ว่า เรื่องการใช้ประโยชน์มันต้องมีการพัฒนา แต่ว่าเรื่องสุนทรียะมันกลับไม่ได้พัฒนาควบคู่กันไปด้วย ส่วนตัวก็คือไม่ชอบอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีความผูกพันอยู่ ดังนั้น เลยต้องคอยเก็บภาพเหล่านั้นไว้เสมอ

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เมืองขอนแก่นมีความพิเศษอะไรกว่าเมืองอื่นๆ หรือเป็นแค่ความผูกพันส่วนตัว
อภิชาติพงศ์: เพราะครอบครัวผมยังอยู่ที่นี่ครับ ถ้าไม่มีครอบครัว ไม่มีความทรงจำ เราก็จะเฉยๆ กับเมืองนี้ ถึงได้ไปอยู่เชียงใหม่ มันประจวบเหมาะกับงานที่ทำเป็นสายศิลปะด้วย ซึ่งเชียงใหม่มีพื้นที่ทางศิลปะ มีศิลปินอยู่ มีสังคมในด้านอาชีพเรา แต่ขอนแก่นมันไม่มี หรือมี แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน ทั้งเชียงใหม่น่าสนใจกว่า ในฐานะคนที่ชอบสีเขียวของต้นไม้เชียงใหม่มีเมืองอยู่ใกล้ภูเขามีต้นไม้เยอะ ขอนแก่นก็มีแต่ต้องออกไปจากเมืองมาก ต้องไปทางชัยภูมิ
แต่สุดท้ายก็พยายามจะไม่ยึดติดว่าจะอยู่ที่ไหนแม้แต่ประเทศไทย อยากมองว่า ตัวเองไม่ใช่ประชากรไทย แต่คือประชากรโลก อยู่ที่ไหนก็ได้ถ้าเราชอบและสามารถอยู่ได้ คงเหมือนหลายๆ คนที่เริ่มทำลายกรอบที่ถูกปลูกฝังมาว่า ประเทศนี้มันประเสริฐเหลือเกิน

เดอะอีสานเรคคอร์ด: จำได้ว่าตอนที่ย้ายมาอาศัยอยู่ที่เมืองขอนแก่นแรกๆ เป็นช่วงหลังจากคุณได้รางวัลปาล์มทองคำใหม่ๆ บรรยากาศในขอนแก่นมีรูปคุณเต็มไปหมด มหา’ลัยก็ให้รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น คุณรู้สึกยังไงที่เมืองนี้เคยยกย่องคุณเป็นบุคคลสำคัญในช่วงเวลาหนึ่งๆ
อภิชาติพงศ์: จริงๆ ความรู้สึกเขินมันมากันก่อนความภูมิใจครับ เพราะพื้นฐานเราเป็นคนขี้อายอยู่แล้ว ความภูมิใจแน่นอนว่ามี แต่มันแค่ช่วงแว๊บเดียวครับ เอาจริงๆ แล้ว ถ้าเรามองภาพรวมกันทั้งระบบ มันไม่ใช่ระบบที่ยั่งยืนเลย เพราะไม่มีการสนับสนุนด้านศิลปะและวัฒนธรรมอย่างจริงจัง มันทำให้ย้อนคิดถึงโรงเรียนมัธยมที่เวลาเด็กคนไหนสามารถสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ ทางโรงเรียนจะมีการเอารูปเด็กขึ้นป้ายโชว์ที่หน้าโรงเรียน โดยไม่ได้คิดถึงคนที่สอบไม่ติด สำหรับเรามันน่าเศร้านะครับ ที่จริงแล้ว ทุกคนควรมีเส้นทางของตัวเอง เพราะแต่ละคนมีความชอบหรือความถนัดต่างกันออกไป

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ติดใจอะไรกับอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ของขอนแก่น เห็นมีอยู่ในฉากหนังเรื่องที่ผ่านมาของคุณ และในหนังโปรเจคต์ใหม่เห็นว่าก็ใช้อนุสาวรีย์นี้เป็นฉากด้วย
อภิชาติพงศ์: เริ่มจากว่า เราก็สนใจในประวัติศาสตร์ สนใจว่าทำไมเมืองไทยมาอยู่จุดนี้ได้ ซึ่งพื้นฐานคิดว่า ทุกคนควรจะรู้จักประวัติศาสตร์ของไทยในช่วงเวลาต่างๆ ที่ผ่านมา ทั้งช่วงสงครามเย็น ช่วงสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ รวมถึงการที่อเมริกามีส่วนในการวางทิศทางประเทศไทยการสร้างอำนาจกองทัพและตำรวจ โดยมีสฤษดิ์เป็นหมากที่สำคัญตัวหนึ่ง

ไม่รู้ว่ามีอนุสาวรีย์สฤษดิ์ในขอนแก่นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เพิ่งมาสังเกตเห็นว่ามันมีอนุสาวรีย์ตอนประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมานี้เองครับ สมัยยังเด็กจำได้ว่ายังไม่มีอนุสาวรีย์นี้ ก็ทำให้เลยสนใจในจุดนี้ เพราะมันเป็นความทรงจำของพื้นที่ๆ เราโตขึ้นมา เหมือนกับอีกหลายๆ สถานที่ที่เราก็สนใจในความเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น บึงแก่นนคร ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง หรือสถานที่อื่นๆ ในขอนแก่น ซึ่งแม้ว่าเราไม่เห็นด้วยกับสุนทรียะของสถานที่ต่างๆ เหล่านั้น หรือแม้แต่ไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของอนุสาวรีย์นี้ การที่เราเป็นคนทำหนัง หน้าที่ของเราก็คือการเก็บภาพเหล่านั้นไว้

แต่อนุสาวรีย์แห่งนี้มีความสำคัญขึ้นมาในแง่ที่ว่า เราต้องขอบคุณการมีอยู่ของมัน ที่นอกจากจะทำให้เราเข้าใจอะไรได้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราปลงกับสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย ถ้าหากอนุสาวรีย์นี้สามารถมีอยู่ในประเทศนี้ได้ ฉะนั้น สิ่งที่มันเหนือจริงอื่นๆ ในประเทศนี้ มันก็ไม่แปลกที่มันเกิดขึ้น

เดอะอีสานเรคคอร์ด: สังเกตไหมว่ารูปปั้นในอนุสาวรีย์สฤษดิ์นั้น จอมพลสฤษดิ์ผอมกว่าตัวจริงมาก ตัวจริงเท่าที่เห็นในรูปเขาจะดูเป็นคนตัวใหญ่กว่านี้
อภิชาติพงศ์: ไม่ได้สังเกตเลยครับ แต่คิดว่ามันเป็นประเพณีของการสร้างรูปบูชาที่มันมีรูปแบบอยู่แล้ว ทั้งการวางสัดส่วนต่างๆ ไปจนถึงท่าทางการโพสต์ท่า หรือว่าเราควรจะยื่นเรื่องไปบอกทางจังหวัดว่ารูปปั้นมันไม่สมจริง

“เจ้ย อภิชาติพงศ์” มีโปรเจคต์ภาพยนตร์สั้นเรื่องใหม่ ยังคงใช้ขอนแก่นเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ถ่ายทำเช่นเดิม

เดอะอีสานเรคคอร์ด: แล้วไปเยี่ยมไผ่ที่เรือนจำมาเป็นยังไงครับ (อภิชาติพงศ์และเพื่อนเข้าเยี่ยม ไผ่ดาวดิน ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น เมื่อวัน10 สิงหาคม 2560)
อภิชาติพงศ์: สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีคือ การได้เจอกลุ่มคนที่สนใจเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ ก็คือเสรีภาพที่หลายคนไม่สนใจแล้ว ผมคิดว่ากรณีของไผ่ ควรจะได้รับการถกเถียงในสังคมกันมากกว่านี้ เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ยิ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็ยิ่งควรจะพูดถึงมันให้มากกว่านี้ มันจะได้กระจ่างมากขึ้นครับ ตอนนี้หลายๆ อย่างมันไม่กระจ่าง เหมือนกัน ประเทศนี้ที่มันไม่กระจ่าง อย่างเราถูกปกครองด้วยระบอบอะไรที่มันไม่เคลียร์ เราควรวางตัวยังไงในระบอบที่เขาโฆษณากันว่ามันเป็นระบอบนั้นระบอบนี้

กรณีของไผ่ก็เป็นหนึ่งในอีกหลายๆ กรณีในอีสานที่ถูกกระทำเช่นกัน อย่างกรณีเหมืองทองคำที่จังหวัดเลยหรือที่อื่นๆ ที่ถูกกระทำในรูปแบบที่ต่างกัน ที่จริงแล้ว ลักษณะแบบเดียวกันนี้อาจจะเกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่พอมันเกิดขึ้นในพื้นที่อีสานที่เราคุ้นเคย ทั้งที่เติบโตขึ้นมาจริงๆ และคุ้นเคยจากที่ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับอีสาน แล้วพบว่ามันมีกบฏเกิดขึ้นมากี่ครั้ง ชุมชนถูกปรับเปลี่ยนและทำลายอัตลักษณ์ไปอย่างไร ซึ่งทุกวันนี้ มันก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ ทำให้เรารู้สึกว่า คำว่าประวัติศาสตร์ มันไม่ใช่เรื่องอดีต มันไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน แต่เราต่างอยู่ในสายน้ำนี้ด้วยกัน

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เข้าว่าคุณสนใจประเด็นเรื่องนักโทษทางการเมือง
อภิชาติพงศ์: ที่สนใจเพราะมันเป็นเรื่องที่มันไม่เคลียร์ ทุกวันนี้ยังไม่เข้าใจว่าเส้นมันอยู่ตรงไหน อย่างที่บอกไปแล้วว่า มันควรจะมีการพูดกันมากว่านี้ หลายๆ อย่างมันจะได้ชัดเจน เหมือนกับหลายอย่างในประเทศที่มันไม่ชัดเจน ตอนนี้ยังมีการใช้คำว่าประชาธิปไตยอยู่ แต่มีการใช้วิธีจับตัวคนไปปรับทัศนคติอยู่ เหมือนว่าเรากำลังอยู่ในสังคมก้ำๆ กึ่งๆ แบบนี้

เดอะอีสานเรคคอร์ด: คุณเชื่อเรื่องผีหรือไม่
อภิชาติพงศ์: ไม่เชื่อครับ แต่ก่อนเคยเชื่อแต่รู้สึกว่าเสียเวลาไปเยอะ คิดว่าจริงๆ แล้วผีมันเป็นส่วนหนึ่งของภาพที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อกำหนดควบคุมสังคมเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามันมีอำนาจที่มองไม่เห็น ซึ่งให้คนดำเนินตามเส้นทางชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง

คือผีมันอยู่ที่มุมมองของแต่ละคน นักโทษทางความคิดก็เป็นผีได้ แม้แต่นักการเมือง ผู้ปกครองหรือทหาร ทุกคนสลับกันเป็นผีหลอกกันไปมาเป็นวัฎจักร อย่างอภิสิทธิ์ชนจะถูกทำให้ตัวเขากลายเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นเหมือนผี เช่นการไปไหนก็ต้องปิดถนน แล้วคนก็นั่งอยู่ในรถรอให้นักการเมืองคนนี้ขับรถผ่าน เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันเหมือนอยู่คนละโลก นักโทษทางการเมืองเองก็เป็นผีที่ถูกทำให้มองไม่เห็นเช่นกัน

เดอะอีสานเรคคอร์ด: หนังของคุณมีเรื่องเร้นลับมากมาย ได้รับรู้เรื่องราวเร้นลับนั้นมาจากไหน
อภิชาติพงศ์: ส่วนใหญ่จะเป็นตอนเด็กๆ จากการฟังเรื่องเล่าจากคนอื่นๆ มา แล้วก็จากอ่านหนังสือครับ แต่ส่วนใหญ่หนังสือที่อ่านจะเป็นนิยายวิทยาศาสตร์มากกว่า เรื่องเร้นลับส่วนมากจะมาจากเรื่องเล่า จากเพื่อนหรือคนรู้จักและบรรยากาศที่อาศัยอยู่ คือเรื่องพวกนี้มันอยู่ใกล้เรามาก ซึ่งแน่นอนเรื่องราวพวกนี้มีส่วนกับหนังของเรา

เดอะอีสานเรคคอร์ด: แล้วทำไมประกาศว่าจะไม่ทำหนังในไทย
อภิชาติพงศ์: ที่ไม่ทำหนังในไทยหมายถึงเฉพาะหนังขนาดยาว มันเกิดจากความเบื่อหน่ายกับเรื่องความเสี่ยงต่างๆ ที่มีสูง ไม่ใช่ความเสี่ยงทางการเมืองนะครับ แต่เป็นความเสี่ยงของความไม่มีเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของประเทศ เพราะแหล่งทุนของหนังหลายแห่งมาจากต่างประเทศ

การทำหนังเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินจำนวนมากๆ ในระยะเวลาเพียงสั้นๆ ถ่ายหนังเรื่องหนึ่งใช้เวลาแค่ประมาณ 30 กว่าวัน แบ่งการถ่ายออกเป็น 2-3 เดือนแต่เงินที่หมุนอยู่ในหนังมันเยอะมาก เพราะฉะนั้น มันเสี่ยงถ้าประเทศไม่มีเสถียรภาพ หนังมันล่มได้ง่ายๆ แล้วเราก็ต้องเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบเยอะมาก แต่เป็นหนังสั้นนั้น เรายังพอทำในประเทศได้อยู่

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ได้ข่าวว่าจะไปทำหนังที่อเมริกาใต้ สนใจอะไรในภูมิภาคนี้
อภิชาติพงศ์: เรื่องที่สนใจหลักๆ เป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ครับ อเมริกาใต้มันเป็นพื้นที่ที่ถูกกระทำมาเยอะ ทั้งยังเป็นภูมิภาคที่เรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มันรุนแรงที่สุดจุดหนึ่งของโลก

ตั้งใจจะไปทำเรื่องเกี่ยวกับเหมืองแร่ในหุบเขาต่างๆ ของประเทศโคลัมเบีย ช่วงที่ไปนั้นเป็นช่วงที่ชาวบ้านในแต่ละชุมชนรวมกลุ่มชุมนุมประท้วงโครงการสร้างเหมือง เพราะพวกเขาไม่เชื่ออีกแล้วกับการที่นายทุนหรือว่ารัฐจะมาบอกเขาว่าการทำเหมืองจะทำให้ความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น ช่วงนั้นมีเวทีที่ชาวบ้านจัดขึ้นมากมายเพื่อพูดเกี่ยวกับเรื่องเหมืองว่าที่ผ่านมามันไม่ใช่อย่างรัฐโฆษณา ทำให้สุดท้ายโครงการเหมืองแร่ก็ต้องล่มไป

อีกเรื่องก็สนใจคือ โครงการสร้างอุโมงค์ทะลุภูเขาที่มันสร้างไม่เสร็จสักทีครับ เพราะเป็นเรื่องของระบบของรัฐที่มันอ่อนแอ เปลี่ยนผู้บริหารโครงการก็ล่ม ทั้งยังเกิดมลพิษในน้ำที่มาจากภูเขา ทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ชาวบ้านก็ทำเกษตรไม่ได้

เราเข้าไปบอกกับเจ้าหน้าที่รัฐว่า จะทำเกี่ยวกับเรื่องโครงการอุโมงค์นี้ เขาก็บอกให้เราทำได้ เราบอกกับเขาว่ามันมีผลเหมือนกับวิจารณ์รัฐนะ เขาก็มองหน้าเราประมาณว่า วิจารณ์รัฐแล้วทำไมหรอ ที่น่าทึ่งคือ สื่อที่นั่นมีอิสระมาก แล้วก็ทำหน้าที่ของสื่ออย่างแข็งแรง จะขออนุญาตรัฐทำเกี่ยวกับการวิจารณ์รัฐก็ได้ สังคมอเมริกาใต้มี tradition การวิจารณ์ในงานศิลปะมันแข็งแรงอยู่แล้ว เราไม่สามารถเอาตรรกะของประเทศไทยไปใช้ได้ เราก็ไม่เข้าใจจนถึงทุกวันนี้ว่า เขาทำไมอนุญาตให้เข้าไปถ่ายสิ่งที่เขาทำผิดเองด้วยซ้ำ

เดอะอีสานเรคคอร์ด: หนังคุณก็เป็นเรื่องส่วนตัวมากไหมครับ
อภิชาติพงศ์: ใช่ครับ เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ หนังของเรามันไม่ได้มีวัตถุประสงค์พิเศษอะไร แม้แต่จะสร้างความบันเทิงก็ไม่ใช่ ถ้าหมายถึงบันเทิงในความหมายของคนอื่น แต่มันบันเทิงสำหรับเรา มันก็แค่นั้น ส่วนเรื่องวิธีการนำเสนอ เราอยากดูหนังแบบไหนก็ทำออกมาอย่างนั้น เหมือนกับเราเอาหนังมาเป็นข้ออ้างในการใช้ชีวิต การทำหนังทำให้ได้พบเจอกับผู้คนมากมาย ได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ถ้าไม่ทำหนังก็ไม่ได้เจอผู้คนต่างๆ ไม่ได้ฟังเรื่องราวเหล่านั้น

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ใช้การทำหนังเป็นข้ออ้างในการกลับมาบ้านหรือเปล่า
อภิชาติพงศ์: ใช่ครับ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ค่อยได้กลับ

เดอะอีสานเรคคอร์ด: มาถึงคำถามที่ยากที่สุดในวันนี้ครับ ช่วยตั้งชื่อบทสนทนาในวันนี้ให้หน่อยครับ
อภิชาติพงศ์: ใช่ยากจริงๆ ปกติเวลาคิดชื่อเรื่องหนังยังคิดเป็นวันเลย…. เอาเป็นชื่อ “เรื่องของบ้าน” ดีไหมครับ

 

image_pdfimage_print