นครพนม – อาจารย์คณะครุศาสตร์ มรภ.ร้อยเอ็ด เผย การจัดตั้งสวัสดิการชุมชนคือการแก้ไขปัญหาแรงงานผู้หญิงลาวที่เข้าไม่ถึงสิทธิด้านการรักษาพยาบาล ส่วนอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ระบุ สิทธิมนุษยชนของไทยเป็นสิทธิแบบพอเพียงให้สิทธิได้ในแค่ระดับพื้นฐานแต่ไม่ยอมให้มากกว่านี้

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2560 ที่ห้องปัญญาวี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม เดอะอีสานเรคคอร์ดร่วมกับศูนย์ชาติพันธุ์และวัฒนธรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน คนชายขอบ”

นายคชษิณ สุวิชา อาจารย์สาขาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มรภ.ร้อยเอ็ด เสนอให้ตั้งสวัสดิการชุมชนแก้ปัญหาสิทธิรักษาพยาบาลของแรงงานหญิงลาว

นายคชษิณ สุวิชา อาจารย์สาขาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มรภ.ร้อยเอ็ด กล่าวในประเด็นสิทธิการรักษาพยาบาลของแรงงานหญิงข้ามชาติลาวว่า แรงงานลาวนิยมเดินทางเข้ามาทำงานประเทศไทยโดยใช้ช่องทางธรรมชาติ เพราะการเข้ามาอย่างถูกกฎหมายมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ค่าทำบัตรอนุญาตทำงาน ค่าตรวจร่างกาย ฯลฯ ซึ่งไม่คุ้มกับรายได้ที่ได้รับ

นายคชษิณกล่าวต่อว่า มีกรณีที่ผู้หญิงลาวบางคนมาทำงานฝั่งไทยแล้วอยู่กินกับผู้ชายไทยโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาคือเมื่อผู้หญิงลาวกลุ่มนี้ตั้งครรภ์จะไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการการรักษาพยาบาลได้เช่นเดียวกับคนไทย การไปพบแพทย์มีค่าใช้จ่ายสูงหลายครอบครัวจึงเลือกที่จะไม่ไปฝากครรภ์ส่งผลให้เด็กบางคนเกิดมาตัวเล็ก หรือมีสุขภาพไม่แข็งแรงตามมาตรฐาน

อาจารย์คณะครุศาสตร์ผู้นี้กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่พยายามช่วยเหลือให้กลุ่มแรงงานลาวเข้าถึงสวัสดิการมากขึ้น เช่น ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน (ศสอ.) ได้ริเริ่มโครงการในพื้นที่เทศบาลตำบลกองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย จัดตั้งสวัสดิการชุมชนโดยใช้ฐานวัฒนธรรมและทรัพยากรในชุมชนขับเคลื่อน เช่น กองทุนวันละบาท ที่สมาชิกกองทุนจะได้สวัสดิการ เช่น คลอดบุตรจะได้เงินคนละ 2,000 บาท เข้าโรงพยาบาลได้วันละ 200 บาท และเสียชีวิตจะได้รับค่าทำศพคนละ 5,000 บาท โดยปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 110  คน

นายทองสุข เปล่งทรัพย์ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ กล่าวว่า ประชาชนเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้เรียกร้องสิทธิเกินขอบเขต

นายทองสุข เปล่งทรัพย์ อายุ 72 ปี ประชาชนบ้านห้อม ต.อาจสามารถ ที่ถูกฟ้องดำเนินคดีว่าบุกรุกที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลต้องการนำมาใช้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ กล่าวว่า ที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตเป็นที่ที่ราษฎรใช้ร่วมกัน ที่ผ่านมาหากรัฐบาลต้องการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ เช่น การสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เมื่อปี 2552 หรือสร้างด่านศุลกากร รัฐบาลก็เข้ามาปรึกษาและตกลงเรื่องค่าชดเชยจนสามารถก่อสร้างได้ แต่การกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีช่องว่างของการสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับประชาชน มีเพียงคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) กับคณะผังเมืองของจังหวัด เป็นผู้ตัดสินใจว่า จะใช้พื้นที่ใดในการดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

นายทองสุขกล่าวอีกว่า ที่ดินบริเวณที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่มีประชาชนอยู่อาศัยมานาน บางคนก็อยู่มาก่อนที่จะประกาศเป็นที่สาธารณประโยชน์ อีกทั้งบางคนก็มีเอกสารสิทธิ์ที่รัฐบาลออกให้ แต่การดำเนินนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลกลับไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ เมื่อต้องการใช้ที่ดินจึงมีการข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ประชาชนยินยอมย้ายออกไปจากพื้นที่ และแม้ประชาชนจะส่งหนังสือร้องเรียนไปที่จังหวัดและหลายหน่วยงานแต่ก็ไม่มีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยจังหวัดมุ่งไปที่การใช้กฎหมายฟ้องร้องอย่างเดียวโดยไม่เคยคิดว่าประชาชนจะลำบากเพียงใด  

“ประชาชนเสียสละมากไปแล้ว ไม่มีอะไรจะเสียสละแล้ว แม้แต่ที่ซุกหัวนอน” นายทองสุขกล่าว และบอกว่า ประชาชนไม่ได้เรียกร้องสิทธิเกินขอบเขต แต่อยู่ในขอบเขตการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมมีขึ้นเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2558 ต่อมาวันที่ 18 ม.ค.2559 กนพ. ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้ที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแต” ตั้งอยู่ที่บ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม เนื้อที่ 1,860 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรม ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โคกภูกระแตถูกจังหวัดนครพนมฟ้องร้องว่าบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งผลการตัดสินออกมาเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2560 ว่าประชาชนทั้ง 29 คนไม่มีเจตนาบุกรุก ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง

นายวิบูลย์ วัฒนนามกุล อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ศึกษาเรื่องคนไร้บ้านใน จ.ขอนแก่น

นายวิบูลย์ วัฒนนามกุล อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวในประเด็นการกลายเป็นคนไร้บ้านว่า จากการที่ตนลงพื้นที่ จ.ขอนแก่นพบว่า คนไร้บ้านส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ยากจน มีปัญหาครอบครัว และตกงานซ้ำซาก ซึ่งหากใครเข้าข่ายนี้ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องหาทางเข้าไปช่วยเหลือ

นายวิบูลย์กล่าวอีกว่า สาเหตุของการกลายเป็นคนไร้บ้านสรุปได้ 2 ด้าน คือ ด้านครอบครัวและด้านรัฐกับโครงสร้างสังคม เพื่อไม่ให้มีคนไร้บ้านเกิดขึ้นด้านครอบครัวควรมีการหล่อหลอมที่ดี เช่น ให้การศึกษาที่ดี และเป็นพื้นที่รองรับสมาชิกครอบครัวที่อาจประสบความล้มเหลวจากนอกบ้าน

อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์กล่าวอีกว่า ด้านรัฐกับโครงสร้างสังคม ควรมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยทำให้ประชาชนคิดเป็นและสามารถเอาชีวิตรอดได้ ควรควบคุมเหล้า ยาเสพติด ส่งเสริมอาชีพและสวัสดิการ รวมถึงการช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถกลับมาตั้งตัวได้เมื่อพลาดพลั้ง

นายยุกติ มุกดาวิจิตร มองว่า สิทธิมนุษยนชนในประเทศไทยเป็นแบบให้การสงเคราะห์คนยากไร้มากกว่าประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน

นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นสิทธิประชาชนใต้อิทธิพลอำนาจนิยมว่า ประเทศไทยเลือกสรรที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนบางลักษณะแต่หวงแหนสิทธิขั้นพื้นฐาน อันที่จริงแล้วไทยใช้แนวคิดสิทธิมนุษยชนแบบให้การสงเคราะห์คนยากไร้มากกว่าประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน ทำให้มีเพียงคนยากไร้ที่ได้รับการคุ้มครอง แต่การคุ้มครองนั้นก็คุ้มครองให้ถึงแค่ระดับที่จะเงยหน้าอ้าปากได้ แต่จะไม่มีสิทธิมากกว่านี้ จึงมีคำพูดว่า “คนไทยเรียกร้องแต่สิทธิโดยไม่รู้จักหน้าที่” ซึ่งในโลกนี้ไม่มีที่ไหนที่เขาจะพูดแบบนี้

อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ผู้นี้กล่าวอีกว่า หลังการรัฐประหาร ปี 2557 สิทธิมนุษยชนไทยตกต่ำลง สิทธิไม่ได้รับการคุ้มครอง เจ้าหน้าที่รัฐจับกุมและตั้งข้อหาผู้ที่ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลและรัฐประหาร มีการใช้กำลังคุกคามเสรีภาพการแสดงออก มีนักโทษทางความคิด เช่น มีผู้ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มขึ้น และการรุกล้ำทรัพยากรของประชาชนก็ยังดำเนินต่อไป หลายกรณีชวนให้สงสัยว่า รัฐบาลอาจจะสนับสนุนให้เกิดการถ่ายโอนทรัพยากรจากประชาชนไปสู่ทุนขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น ประชาชนหลายรายที่ต่อสู้เรียกร้องปกป้องสิทธิกลับกลายเป็นจำเลยของรัฐ ปัญหาสิทธิของประชาชนในปัจจุบันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาใน 3 ปีนี้เท่านั้นแต่มีมาก่อนหน้านี้นานแล้ว

นายยุกติกล่าวสรุปว่า สิทธิมนุษยชนไทยเป็น “สิทธิขั้นพอเพียง” กล่าวคือ ให้สิทธิระดับหนึ่ง จนประชาชนเงยหน้าอ้าปากมาถามสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกครองตนเองได้ ถ้าขอมากกว่านั้นก็จะถูกปราบปรามและไม่ได้รับการแยแสจากนักสิทธิมนุษยชนและชนชั้นนำไทย เมื่อไม่มีสิทธิจึงไม่มีอำนาจปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกครองตนเอง ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือการแสดงความคิดเห็น ท้ายที่สุดแล้ว แม้แต่สิทธิขั้นพอเพียงก็คงจะไม่เหลืออยู่

ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาหัวข้อสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน คนชายขอบ ที่ห้องปัญญาวี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.นครพนม ประกอบด้วยประชาชนที่สนใจและนักศึกษา

ก่อนจบเวทีเสวนา ในช่วงถาม-ตอบ มีคำถามที่น่าสนใจจากตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบที่มาสังเกตการณ์ตลอดงานเสวนาว่า การที่คนบางกลุ่มพยายามปกป้องสิทธิจนรุกล้ำสิทธิของคนอื่นและยังขาดจิตสำนึกเรื่องสิทธิสาธารณะนั้น ถามว่าเรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดที่จะแก้ปัญหา

นายยุกติกล่าวว่า สิทธิอะไรที่กระทบสิทธิคนอื่น แล้วเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ หากผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่สิ่งที่ตนคิดว่าเป็นเรื่องร้ายแรงกว่าคือ การที่รัฐไปละเมิดสิทธิของประชาชน เช่น การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซึ่งคนทำก็ยอมรับว่าเป็นคนสั่ง และมีคนเสียชีวิต แต่ประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้ ถามว่ากรณีที่รัฐละเมิดประชาชนเสียเอง หรือคนมีอำนาจใช้กฎหมายมาละเมิดสิทธิผู้อื่น ใครจะคุ้มครองประชาชน

หลังการตอบคำถามของอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์และการแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ร่วมงานคนอื่นๆ ตำรวจคนดังกล่าวได้ขอพูดชี้แจงทำความเข้าใจต่อวิทยากรและผู้ร่วมงานว่า ทุกคนอาจจะคิดว่าการเข้ามาสอดส่องงานนี้เป็นการคุกคาม แต่ตนไม่มีเจตนาเช่นนั้น  

 

image_pdfimage_print