โดยดานุชัช บุญอรัญ

มหาสารคาม – กรรมการสมาคมนักข่าวฯ เผยรัฐบาลใช้กฏหมายในนามความสงบเพื่อปิดปากนักข่าว และเอกชนใช้ทุนเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ ส่วนอาจารย์ม.มหาสารคาม ชี้ภัยคุกคามสื่อคือการฟ้องคดีเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วม

วิทยากรในงานเสวนาร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นด้านสถานการณ์สิทธิและเสรีภาพสื่อ (จากซ้ายไปขวา) ประกอบด้วย น.ส.อังคณา พรมรักษา-พิธีกร นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นายบูรพา เล็กล้วนงาม นายสุเมธ สมคะเน และนายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2560 ที่ห้องฉายภาพยนตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เดอะอีสานเรคคอร์ดร่วมกับสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการเวทีเสวนาสาธารณะสถานการณ์และสิทธิการแสดงออกของสื่อในภาคอีสาน ช่วงเช้าเป็นการพูดคุยหัวข้อภาพรวมสถานการณ์และสิทธิการแสดงออกของสื่อในระดับประเทศ

นายสุเมธ สมคะเน กรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายใต้หลักคิดในการรักษาความสงบของรัฐบาลปัจจุบันที่มองว่าวิธีการบริหารจัดการที่ดีที่สุดคือการทำทุกอย่างให้สงบเรียบร้อย ทำให้สื่อไทยในยุคนี้มีเสรีภาพในการนำเสนอเฉพาะบางเรื่อง การที่สื่อนำเสนอข้อมูลซึ่งรัฐบาลมองว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สงบ เช่น การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทั้งในประเด็นทางการเมืองและการพิทักษ์รักษาสิทธิชุมชน ฯลฯ จึงถูกจำกัดอิสระและต้องเผชิญกับมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยออกกฎหมายควบคุมการทำงานของสื่อ เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เป็นต้น

นายสุเมธกล่าวอีกว่า เงินทุนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สื่อขาดอิสระในการนำเสนอข้อมูล

จากการสังเกตของตนพบว่า สื่อกว่าร้อยละ 80 ในประเทศไทยอยู่ได้ด้วยรายรับจากงบโฆษณาของบริษัทห้างร้านต่างๆ เป็นหลัก ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลในเชิงตรวจสอบอาจไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เพราะหากนำเสนอข้อมูลดังกล่าวแล้วทำให้ผู้สนับสนุนได้รับผลกระทบก็อาจส่งผลต่อเงินทุนที่ใช้ในการผลิตสื่อ ปัจจุบันยังปรากฏว่า บริษัทเอกชนหลายแห่งทุ่มเงินทุนซื้อกิจการช่องโทรทัศน์ดิจิทัลไว้เพื่อประชาสัมพันธ์และขยายผลทางธุรกิจของตน ซึ่งสภาวะเช่นนี้เองที่ส่งผลให้ฝ่ายทุนมีอำนาจในการต่อรองและกำหนดนโยบายการทำงานของสื่ออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ม.มหาสารคาม กล่าวว่า การคุกคามสื่อในสังคมไทยเปลี่ยนรูปแบบจากการมุ่งเอาชีวิตและทรัพย์สินของผู้สื่อข่าว มาเป็นการใช้กฎหมายปิดปาก โดยหนึ่งในวิธีที่พบเห็นบ่อยที่สุด คือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (SLAPP – Strategic Litigation Against Public Participation) หรือที่เรียกกันว่า “การตบปากให้หยุดพูด” วิธีดังกล่าวคือการใช้ประโยชน์จากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งมีตัวบทควบคุมการยุยงปลุกปั่นประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรืออื่นๆ ซึ่งเอื้อให้บริษัทหรือองค์กรต่างๆ ใช้เป็นช่องทางในการยื่นฟ้องร้องสื่อต่อศาล

นายไชยณรงค์บอกอีกว่า การยื่นฟ้องลักษณะนี้แม้โดยมากไม่อาจเอาผิดกับผู้นำเสนอข้อมูลได้ แต่บริษัทก็ได้ประโยชน์จากกระบวนการพิจารณาคดีที่ใช้เวลานาน ทำให้เกิดสุญญากาศด้านการตรวจสอบ และการมีส่วนร่วมของสื่อและภาคประชาชน

“การเผชิญหน้ากับวิธีการคุกคามรูปแบบนี้ ต้องมีแก้กฎหมายเพื่อต่อต้านการฟ้อง SLAPP  ไม่เช่นนั้นสื่อก็จะถูกปิดปากและปัญหาต่างๆ ก็จะไม่ได้รับการตรวจสอบ”  นายไชยณรงค์กล่าว

นางสาวสฤณี  อาชวานันทกุล  นักเขียนและนักวิชาการอิสระ  กล่าวว่า นอกจากสื่อกระแสหลักแล้ว สื่อโชเชียลมีเดียก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งซึ่งรัฐพยายามควบคุมและแทรกแซง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่กำหนดโทษของผู้นำเข้าข้อมูลอันอาจกระทบต่อความมั่นคง จัดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ และมุ่งเอาผิดกับผู้ให้บริการซึ่งรวมถึงเจ้าของเว็บไซต์และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ส่วนบุคคล เช่น เว็บไซต์เฟซบุ๊ค แอพพลิเคชั่นไลน์ และเว็บไซต์ทวิตเตอร์ ซึ่งแม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้ให้บริการไม่มีความผิดหากลบเนื้อหาดังกล่าวออกจากพื้นที่ของตนภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่การออกกฎหมายเช่นนี้ก็เป็นการบังคับกลายๆ ให้ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ต้องตรวจสอบและปิดกั้นข้อมูลต่างๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเพราะกลัวความผิด

“นอกจากพยายามคุมด้วยกฎหมายแล้ว  รัฐเองก็พยายามโฆษณาชวนเชื่อในสื่อโซเชียลเช่นกัน ส่วนตัวดิฉันเคยได้รับข้อความจากบุคคลท่านหนึ่ง ขอให้โพสต์นโยบายของรัฐบาล 6 ประเด็นทางเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยมีการขอความร่วมมือว่าหากจะวิจารณ์ก็อย่าให้แรงเกินไป”  นางสาวสฤณีเล่า

หมายเหตุ ดานุชัช บุญอรัญ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

image_pdfimage_print