โดยวทัญญู สุริยันต์

อุบลราชธานี – ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มมส. ยอมรับทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา แต่ก็มีเงินพอใช้หนี้กยศ. ด้านบัณฑิตสาขาการปกครอง ม.อุบลราชธานี อยากให้มีการสอนเรื่องของท้องถิ่นและชุมชนในมหาวิทยาลัยเพื่อนำความรู้ไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการ

ผู้สื่อข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดสำรวจความคิดเห็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยในภาคอีสาน เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2560 หลังกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รายงาน ข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาและประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2560 จากสถาบันการศึกษาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พบว่า ในปี 2560 จะมีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีกว่า 377,003 คน โดยมีผู้จบสาขาบริหารธุรกิจเข้าสู่ตลาดแรงงานสูงสุดถึง ส่วนผู้จบสาขามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีความกังวลว่าจะเป็นสาขาวิชาที่ตกงานมากที่สุด

นางสาวนันธิตา วรบัณฑิตย์ สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม

นางสาวนันธิตา วรบัณฑิตย์ อายุ 22 ปี จบการศึกษาสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า  ใช้เวลาศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีเพียง 3 ปีครึ่งและจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรช่วงปลายปี 2560
ปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานต้อนรับ ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น มาได้ 6 เดือนแล้ว งานที่ทำไม่ตรงกับสาขาที่เรียนแต่ก็ได้ใช้ความรู้ภาษาต่างประเทศในการโต้ตอบอีเมลกับลูกค้าต่างชาติ

“งานมันเยอะนะแต่ส่วนใหญ่เขาเน้นคนมีประสบการณ์ เพราะทุกๆ ที่เขาก็อยากได้คนที่สามารถพัฒนาองค์กรเขาได้ แต่สำหรับเด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ ถ้าไม่มีองค์กรใหนให้โอกาสในการรับเข้าทำงานมันก็จะไม่มีประสบการณ์อยู่แบบนั้น” นางสาวนันธิตากล่าว

สำหรับเธอกิจกรรมในมหาวิทยาลัยถือว่าสำคัญอย่างมากเพราะทุกที่ที่เธอไปสัมภาษณ์งาน ผู้สัมภาษณ์จะสอบถามและให้เธอเล่าถึงการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยเพราะสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องมนุษยสัมพันธ์และการแก้ไขปัญหา

ส่วนเงินเดือนและสวัสดิการที่ได้รับ นางสาวนันธิตาบอกว่า มีเงินพอใช้และมีเงินเหลือเก็บ สามารถจ่ายเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่กู้ยืมมาระหว่างเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถึงชั้นอุดมศึกษาชั้นปีที่ 3 ได้

นางสาวปนัดดา พาชาติเจริญ พนักงานฝ่ายบุคคล ที่จ.อุบลราชธานี

นางสาวปนัดดา พาชาติเจริญ อายุ 24 ปี สำเร็จการศึกษาปีการศึกษา 2557 จากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึง ช่วงแรกที่เธอหางานหลังจบการศึกษาว่า “ไม่ยากนะเพราะไม่เลือกงาน”

แม้งานที่ทำไม่ตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมา แต่เธอก็เข้าทำงานเพราะอยากหาประสบการณ์ โดยปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานฝ่ายบุคคลของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี เงินเดือนที่ได้ก็เหลือพอใช้จ่ายหนี้ กยศ. ที่กู้ยืมมาระหว่างเรียนชั้นปริญญาตรี

นางสาวปนัดดากล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลยกเลิกระบบอุปถัมภ์ในการสมัครรับคนเข้าทำงานทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเป็นการเปิดกว้างให้บุคคลทั่วไป ที่มีความรู้สามารถ ได้มีโอกาสในการแข่งขันและเข้าถึงตำแหน่งงานมากขึ้น

นางสาวกนกกานต์ ปราสาทศรี สำเร็จการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

นางสาวกนกกานต์ ปราสาทศรี อายุ 22 ปี จบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์  สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2559 กล่าวว่า ยังไม่ได้ทำงานประจำ โดยอยู่ระหว่างการอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบบรรจุเข้ารับราชการ อยากทำงานให้ตรงกับสายที่เรียนมา ชีวิตในมหาวิทยาลัยมีสำคัญต่อการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าทำงาน หากมีความรู้ไม่มากพอก็จะไม่ชนะในการสอบแข่งขัน

นางสาวกนกกานต์เปิดเผยว่า มหาลัยไม่ควรสอนให้มีแค่ความรู้ด้านทฤษฎีทางวิชาการ แต่ควรสอนให้รู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน ท้องถิ่น และปรากฏการณ์ทางสังคมด้วย เพื่อที่นักศึกษาจะได้รู้จักสังคมให้มากขึ้นจะได้สอบเข้ารับราชการได้ เพราะสอบเข้ารับราชการไม่ได้ถามแค่เรื่องทางวิชาการ แต่ยังมีคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันและปรากฏการณ์ทางสังคมอีกด้วย

บัณฑิตจบใหม่สาขาการปกครองผู้นี้อยากให้มหาวิทยาลัยบรรจุวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อที่จะได้รู้สิทธิและหน้าที่ รวมถึงการแสดงทัศนคติส่วนตัว เพราะถ้าไม่ได้หัดเรียนรู้บริบทสังคมจากในมหาวิทยาลัย บัณฑิตจบใหม่ก็จะเรียกร้องสิทธิและแสดงทัศนคติส่วนตัวที่มากจนเกินไป สุดท้ายก็จะพลาดโอกาสในการทำงาน

วทัญญู สุริยันต์ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

 

 

 

image_pdfimage_print