โดยดานุชัช บุญอรัญ

มหาสารคาม – อาจารย์สาขาวารสารศาสตร์ ม.อุบลราชธานี เป็นห่วงมุมมองของสื่อท้องถิ่นที่รู้สึกปลอดภัยหลังรัฐประหาร แต่ต้องเลิกวิจารณ์รัฐบาลเปลี่ยนเป็นการหยอกล้อ ส่วนนักข่าวพลเมืองกลุ่มคนฮักน้ำของ เผย นักข่าวพลเมืองต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎหมายความมั่นคงในยุคปัจจุบัน

วิทยากรในงานเสวนาหัวข้อเปลี่ยนประเด็นสถานการณ์สิทธิและเสรีภาพสื่อในภาคอีสาน (จากซ้ายไปขวา) นางอังคณา พรมรักษา-พิธีกร นางสาวคำปิ่น อักษร นายบูรพา เล็กล้วนงาม นายปัญญา คำลาภ นายเดชา คำเบ้าเมือง และนายธีรพล อันมัย  

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2560 ที่ห้องฉายภาพยนตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เดอะอีสานเรคคอร์ดร่วมกับสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการเวทีเสวนาสาธารณะสถานการณ์และสิทธิการแสดงออกของสื่อในภาคอีสาน ช่วงบ่ายเป็นการพูดคุยหัวข้อสถานการณ์และสิทธิการแสดงออกของสื่อในภาคอีสานโดยตัวแทนผู้ผลิตสื่ออิสระ นักข่าวพลเมือง สำนักข่าวภาคอีสาน และนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์

นายธีรพล อันมัย อาจารย์สาขาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า มุมมองเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของสื่อท้องถิ่นในภาคอีสานต่อสถานการณ์ทางการเมืองเองนับเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่น่าเป็นห่วง จากการเก็บข้อมูลในงานวิจัยส่วนตัวเกี่ยวกับสถานภาพการอยู่รอดของสื่อมวลชนท้องถิ่น พบว่าสื่อมวลชนอีสานหลายรายมองระยะเวลาหลังการรัฐประหารว่าเป็นยุคที่สื่อมีความปลอดภัย สามารถนำเสนอข้อมูลได้โดยไม่ต้องหวั่นเกรงอิทธิพลของนักการเมืองหรือข้าราชการในพื้นที่

อาจารย์สาขาวารสารศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ผู้นี้ ยกตัวอย่าง สื่อมวลชนรายหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันเขาสามารถตรวจสอบพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของนักการเมืองได้อย่างเต็มที่ ทว่าเมื่อสอบถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและฝ่ายทหาร สื่อมวลชนรายนี้กลับกล่าวว่า  เรื่องดังกล่าวต้องทำด้วยความระมัดระวังและเปลี่ยนจากการวิพากษ์วิจารณ์เป็นการหยอกล้อ

นายธีรพลกล่าวอีกว่า สถานการณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพสื่อในภาคอีสานหลังการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557  มีประเด็นที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อหลายประการ ทั้งการกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการสถานีวิทยุชุมชนต้องลงนามในเงื่อนไขที่กำหนดโดยรัฐผ่านกองทัพภาคที่ 2 การเชิญตัวแทนสื่อท้องถิ่นเข้าค่ายทหารเพื่อชี้แจงแนวทางและนโยบายทางการสื่อสารที่รัฐบาลต้องการให้นำเสนอ ก่อนการลงคะแนนประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2559 ยังพบว่า ตัวแทนวิทยุชุมชน จำนวน 11 สถานี ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐว่าจ้างให้ผลิตรายการเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใช้สิทธิลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญ

“นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม (วันที่ 22 พ.ค. 2557 คสช. ยึดอำนาจ)  เป็นต้นมา เราอยู่ในสถานการณ์ที่อึดอัดและน่าละอาย สื่อบางส่วนยังคงร่วมสังฆกรรมกับรัฐประหาร พวกเขาทำสิ่งตรงข้ามกับหลักการเสรีสื่อเสรีประชาชน ที่มักอ้างในเวลาพวกพ้องของตนถูกละเมิด แต่เงียบงันหากสื่อนอกวงศ์วานหรือประชาชนถูกลิดรอนเสรีภาพ” นายธีรพลกล่าว

นางสาวคำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมืองกลุ่มคนฮักน้ำของ กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่รัฐเป็นใหญ่ บทบาทและหน้าที่ของนักข่าวพลเมืองจำเป็นต้องมีการปรับตัวพอสมควร โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่อาจต้องหลีกเลี่ยงประเด็นที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายความมั่นคง การผลิตสื่อที่มีผลได้ผลเสียต่อบริษัทเอกชนเป็นปัญหาหลักที่ทำให้นักข่าวพลเมืองในภาคอีสานจำนวนไม่น้อยถูกฟ้องร้องเพื่อยุติการมีส่วนร่วมของสาธารณะ (SLAPP – Strategic Litigation Against Public Participation) เป็นเหตุให้ถูกปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลเชิงตรวจสอบในประเด็นที่มีผลกระทบกับประชาชน

สถานการณ์วิทยุชุมชนในภาคอีสาน นายเดชา คำเบ้าเมือง ตัวแทนศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันส่งผลต่อการทำงานของผู้ผลิตสื่อวิทยุชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 4 ห้ามมิให้สถานีวิทยุกระจายเสียงทุกสถานีทำการออกอากาศ ทำให้การนำเสนอประเด็นสำคัญๆ ในหลายพื้นที่ขาดช่วงไป และเมื่อมีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว สถานีวิทยุชุมชนยังถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งแวะเวียนมาตรวจสอบกระบวนการนำเสนอข้อมูลของทางสถานี ซึ่งคิดว่ามาตรการเช่นนี้ทำให้บรรยากาศของการจัดรายการผ่านทางสถานีวิทยุชุมชนไม่อาจดำเนินไปได้อย่างอิสระ

นายปัญญา คำลาภ  ผู้ผลิตสื่ออิสระ กล่าวถึงปัญหาของการสื่อสารข้อมูลจากพื้นที่ไปยังสื่อส่วนกลางว่า ที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักมักนำเสนอข้อมูลแบบฤาษีแปลงสาร กล่าวคือมีการบิดเบือนประเด็นให้มีความน่าสนใจ มุ่งผลิตสื่อสร้างกระแส โดยบางครั้งไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ตนและกลุ่มคนในพื้นที่จึงได้มีความพยายามผลิตสื่อจากมุมมองของคนท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิถีชีวิตและสภาพปัญหาในมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานแก่ผู้รับสื่อทั่วประเทศ

การคุกคามสื่อ นายปัญญากล่าวว่า จากประสบการณ์ของตนที่ทำข่าวภาคพลเมืองมากว่าสิบปี รู้สึกสงสัยในความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นจากการถูกคุกคามสื่อโดยอำนาจรัฐต่างยุคต่างวาระ  ยกตัวอย่างการลงพื้นที่ทำข่าวกรณีการสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่บ้านเหล่ากล้วย อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เมื่อปี พ.ศ. 2555 สมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ตนและนักข่าวพลเมืองที่ลงพื้นที่ทำข่าวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ติดเครื่องหมายป้ายชื่ออุ้มตัวขึ้นรถไปกักขังไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอกุมภวาปี ทั้งยังบังคับให้ลบภาพถ่ายพร้อมยึดอุปกรณ์บันทึกข้อมูล

นายปัญญากล่าวอีกว่า การทำข่าว การขุดลอกแม่น้ำมูล ที่ตำบลบัวหุ่ง ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี พ.ศ. 2558 ประชาชนหลายร้อยคนรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมที่ริมแม่น้ำมูล แต่ไม่มีการข่มขู่ขัดขวางจากทางเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

“ข่าวการขุดลอกแม่น้ำมูล ผมลงไปทำข่าวต่อเนื่องถึงสี่ตอน ก็ทำได้โดยไม่มีการแทรกแซง  มันน่าคิดเหมือนกันว่าความปลอดภัยของสื่อที่แท้แล้วขึ้นอยู่กับอะไร”  นายปัญญากล่าว

ดานุชัช บุญอรัญ เป็นผู้เข้าร่วมอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานประจำปี 2560

 

 

image_pdfimage_print