โดยอิทธิพล โคตะมี (เรื่อง) พิทักษ์ ปรารถนาวุฒิกุล (ภาพ)

การศึกษาการเมืองอีสานเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาเรื่องซื้อเสียงแล้วชนะเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่ทำลายคุณค่าของระบอบรัฐสภาของไทย จากการสำรวจการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 และ 2548 พบว่า การซื้อเสียงมีอยู่จริงแต่การซื้อเสียงไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดการชนะการเลือกตั้ง

ตอนที่ (1/2)

งานประชุมมุทิตาวิชาการประเด็น “อีสานกึ่งสำเร็จรูป? การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการพัฒนาของอีสาน” เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2560 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
(ภาพ: ศุภกิจ จันทะพงษ์)

เมื่อวันที่ 14-15 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีการประชุม “มุทิตาวิชาการ” เพื่อเป็นเกียรติแก่วาระเกษียณอายุราชการของสมชัย ภัทรธนานันท์ นักรัฐศาสตร์ผู้ค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการเมืองอีสานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ถือเป็นชุมนุมทางวิชาการด้านอีสานศึกษาครั้งสำคัญของปี ทั้งนี้สมชัยเป็นอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม ที่ครบกำหนดเกษียณอายุราชการ ในเดือนกันยายน ปี 2560

ผู้สนใจติดตามหาความรู้เกี่ยวกับการเมืองในอีสาน ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือแนวคิดประชาสังคมแล้ว อาจจะรู้จักตำราและบทความที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยและเทศจำนวนมากของเขา

เช่น “Civil Society and Democratization: Social Movements in Northeast Thailand” (2006) เป็นงานที่ฉายภาพขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในภาคอีสาน ในยุคที่ระบอบรัฐสภาเริ่มปักหลักมั่นคงในสังคมไทย หรือ “ทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และการประท้วงทางการเมือง” (2559) ซึ่งเป็นการเรียบเรียงแนวคิดการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมระดับสากล

น้อยครั้งที่เขาจะให้สัมภาษณ์ด้วยเหตุผลเรียบง่ายว่า “ข้อยถนัดเขียนหลายกว่า” อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เขาได้สละเวลาทำงานให้แก่เรา เพื่อไขปมปัญหาหลายอย่างในความรู้เกี่ยวกับการเมืองอีสาน การศึกษาอีสานแบบเดิมทำความเข้าใจปรากฏการณ์ได้หนักแน่นเพียงใด คนอีสานเลือกผู้แทนอย่างไร สังคมหลังชาวนาอีสานจะเดินไปทางไหน ฯลฯ และแน่นอน ไม่พลาดที่จะทิ้งโจทย์สำคัญไว้ให้เราขบคิด

บทสัมภาษณ์นี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน โดยตอนแรกเป็นการสำรวจพรมแดนความรู้การเมืองอีสาน และตอนที่สองจะเข้าสู่การวิเคราะห์การเมืองอีสานร่วมสมัย

สมชัย ภัทรธนานันท์ นักรัฐศาสตร์คนสำคัญของอีสานในวัยล่วง 60 ปี

ช่วยทบทวนภูมิทัศน์ความรู้การเมืองอีสานพอสังเขป

การศึกษาการเมืองในอีสาน แต่ก่อนจะอยู่ในวิชาการเมืองท้องถิ่น หรืออยู่ในบางช่วงบางตอนของการเมืองไทย แต่การศึกษาแบบเจาะจงเลย แบบนี้ไม่มี

การเกิดขึ้นของวิชาการเมืองในอีสาน ก็เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อเราสอนรัฐศาสตร์ เราต้องการหลักสูตรที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อทำความเข้าใจการเมืองของภูมิภาค ในความเป็นจริงแล้ว อีสานมีบทบาทอย่างสูงต่อการเมืองไทยในช่วงเวลาต่างๆ แต่ว่าค่อนข้างจะถูกละเลย รวมถึงการเมืองในภูมิภาคอื่นๆ ทั้งหมดก็ถูกละเลยเช่นกัน

อันที่จริงการศึกษาการเมืองในภูมิภาคถือว่าเพิ่งมีในช่วงหลัง ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบวิทยานิพนธ์ เมื่อมีการเลือกตั้งบ่อยเข้าๆ ก็มีการสนใจเรื่องซื้อเสียง ต้องหากรณีศึกษา ก็มาลงที่อีสานเพื่อศึกษาเปรียบเทียบ

อีกส่วนหนึ่งคือพวกเรียนประวัติศาสตร์ มักจะเป็นงานของฝรั่ง ส่วนใหญ่ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจสังคมไทยผ่านการศึกษาภาคสนามในหมู่บ้าน ส่วนของไทย ส่วนใหญ่เป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม แต่การศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองภาพรวมไม่ค่อยมี

การศึกษาการเมืองอีสานเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไร

มาพร้อมกับกระแสการตอบโต้การซื้อเสียง เมื่อการซื้อเสียงมาโฟกัสอยู่ภาคอีสาน คนก็เริ่มมาพูดถึงการเมืองในภาคอีสาน ลักษณะที่ไม่ใช่เรื่องของการซื้อเสียงเพียวๆ

แต่ผมคิดว่ายังไม่มีงานที่พูดจริงจังว่า เอาเข้าจริงคนอีสานมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มากน้อยเพียงใด มีเพียงเริ่มจากความพยายามโต้แย้งการซื้อเสียง ซึ่งก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นกระแสจริงๆ ก็เพียง 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง

ถ้าเราย้อนไปดู ช่วงที่พรรคไทยรักไทยเริ่มขึ้นมา (พรรคไทยรักไทยส่งผู้สมัคร ส.ส. ครั้งแรก เมื่อปี 2544 – ผู้เขียน) งานเขียนที่ออกมาตอนนั้นยังเป็นลักษณะที่ว่าพรรคไทยรักไทยซื้อมโหฬารยิ่งกว่าทุกพรรค หรือไม่ก็มุ่งอธิบายว่านักการเมืองแบบเจ้าพ่อจบแล้ว ซึ่งในอีสานเจ้าพ่อมีน้อยมาก

มีตัวอย่างความพยายามศึกษาการแพ้/ชนะการเลือกตั้งในอีสาน ที่ไม่ได้มีแค่การซื้อเสียงเป็นปัจจัยไหม

เท่าที่ผมรู้ อย่างงานเรื่องการซื้อเสียงที่ดันแคนเขียน (เรื่อง “Vote-Buying in Thailand’s Northeast: The July 1995 General Election” -ดันแคน แมคคาโก เขียนร่วมกับวิลเลี่ยม คัลลาฮาน ตีพิมพ์ในปี 1996) ระบุว่า การชนะการเลือกตั้ง นอกจากมีเงินแล้วก็ต้องมีผลงานพร้อมด้วยเขาลงภาคสนามที่ร้อยเอ็ดเก็บข้อมูลแล้วก็เห็นว่าผลงานมีบทบาทสำคัญแต่ก็จะมีเรื่องอื่นอีก เช่น บุคลิกส่วนตัว นักการเมืองคนนี้หน้าตาดีเป็นเหมือนดารา การวิเคราะห์แบบนี้ก็เปิดให้เราคิดว่า การชนะการเลือกตั้ง อาจจะมีหลายปัจจัย นอกจากเพียงแค่ว่าเป็นการซื้อเสียง

ข้อถกเถียงเรื่องการซื้อเสียงของนักวิชาการไทยคืออะไร

ผมคิดว่ามีงานของอาจารย์นิธิ (นิธิ เอียวศรีวงศ์) ที่เสนอว่า การซื้อเสียงเป็นการแลกเปลี่ยนกันมากกว่าเป็นระบบอุปถัมภ์ เพราะว่าถ้านักการเมืองตอบแทนไม่ถูกใจ คนก็ไม่เลือกใช่ไหม เลือกคราวนี้คราวหน้าอาจจะไม่เลือกอยู่ที่ว่ามีอะไรมาให้ถึงจะได้เสียงไป

แต่ก็มีคนอื่นๆ เช่น งานของอาจารย์ธีรยุทธ (ธีรยุทธ บุญมี) ที่บอกว่ายังไงๆ ก็ยังมีระบบอุปถัมภ์ในชนบท แต่เป็นระบบอุปถัมภ์แบบใหม่ที่สามารถจะไม่จงรักภักดีก็ได้สามารถจะเปลี่ยนนายได้ แต่การวิเคราะห์แบบนี้ก็จะทำให้ระบบอุปถัมภ์มีตลอดไปเพราะระบบอุปถัมภ์ไม่มีหลักการมั่นคงแน่นอนอะไร

ปรากฏการณ์อะไรที่เรียกร้องให้เรามาทำความเข้าใจการเมืองอีสาน

เกิดจากการโต้แย้งว่าคุณค่าของระบบเลือกตั้งมีมากน้อยเพียงใด ถ้าบอกว่ารัฐบาลมาจากการซื้อเสียงเท่านั้น ก็ไม่มีค่าอะไร ดังนั้นระบอบรัฐสภาในประเทศไทยก็จะไม่มีความหมายอะไรเลย

ถ้าไม่โฟกัสเรื่องการซื้อเสียง จะมองการเมืองอีสานได้จากมุมไหน

ในเวลานั้น (20 ปีที่แล้ว-ผู้เขียน) เราเริ่มพิจารณาภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอีสาน ดูความสัมพันธ์ระหว่างอีสานกับรัฐไทย รัฐในอีสานก่อตัวขึ้นอย่างไร (หมายถึงรัฐไทยสมัยใหม่) อีสานถูกผนวก ถูกรวมเข้ากับรัฐไทยได้อย่างไร หลังจากถูกรวมเข้ามาแล้ว มีความสัมพันธ์อย่างไร ซึ่งเป็นการศึกษาผ่านเหตุการณ์สำคัญ เช่น อธิบายการเกิดกลุ่ม ส.ส.อีสาน ที่มีจุดยืนชัดเจนในการเรียกร้องรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ให้ดำเนินนโยบายแบบใดแบบหนึ่ง ที่พวกเขาเห็นว่าจะช่วยแก้ปัญหาของคนชนบท

มีงานของนักวิชาการต่างประเทศที่ศึกษาชนบทในอีสานบ้างไหม ถ้ามีอาจารย์มีความเห็นอย่างไร

สมัยสงครามเย็น รัฐบาลอเมริกาต้องการเข้าใจสังคมไทย เขาจึงมาโฟกัสที่ภาคอีสาน มีการให้ทุนนักวิชาการจากสหรัฐมาศึกษาหมู่บ้านในอีสาน เพราะหนึ่งอีสานติดกับอินโดจีน สองเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวที่แพร่หลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ราวปี 2540 เพื่อนของผมซึ่งเห็นผมศึกษาเรื่องการเมืองอีสาน ก็เล่าให้ฟังว่านักวิชาการที่รับทุนมาศึกษาชนบทในประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก มีการวิจารณ์ในวารสารต่างประเทศ มีงานสำคัญที่ศึกษาเรื่องไทยและยังเกี่ยวกับเรื่องจีน เป็นงานที่รับทุนจากรัฐบาลอเมริกาซึ่งให้ทุนอย่างมีเป้าหมาย

ทำนองเดียวกันกับงานของ Chalmers  A. Johnson (เรื่อง “Peasant nationalism and communist power: the emergence of revolutionary China, 1937-1945” ตีพิมพ์ในปี 1962) ที่ศึกษาพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขาเสนอว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะได้ก็ด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม เมื่อญี่ปุ่นบุกจีนจึงทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนรอดพ้นจากความพ่ายแพ้ แต่ไม่ได้อธิบายว่าที่พรรคชนะได้เพราะสามารถระดมคนที่ถูกกดขี่ ขูดรีด ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ คือเขาพยายามลดค่าลงมา

และในสังคมไทย มีงานวิจัยบางชิ้นที่ถูกรัฐบาลอเมริกาเอาไปใช้ เพราะว่าไปศึกษาพฤติกรรมชาวบ้านและชี้ว่าในหมู่บ้านนี้ มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอาศัยอยู่

ถ้าไม่ใช่ชาตินิยมแล้วภูมิภาคนิยมพอจะอธิบายการเมืองอีสานได้ไหม

มีงานที่ศึกษาอีสานมานาน เป็นประเด็นภูมิภาคนิยม ของอาจารย์คายส์ (Charles F. Keyes ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา จาก University of  Washington) อ่านตอนแรก ผมไม่ได้มีคำถามใดๆ แต่พอคิดไปคิดมา ข้อเสนอที่ว่า การต่อสู้ของคนอีสานรุ่นนายเตียง ศิริขันธ์ รุ่นครูครอง เป็นแค่ภูมิภาคนิยมนั้นอาจจะไม่ใช่

เนื่องจากนโยบายของพรรคสหชีพ ที่นายเตียงก่อตั้ง มีข้อเรียกร้องที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระดับภูมิภาค หลักการของเขาคือต้องการให้จัดสรรงบประมาณมาพัฒนาชนบทโดยรวม ที่ไม่จำกัดภูมิภาค เขาเคลื่อนไหวเรื่องค่าแรงของกรรมกร สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน คัดค้าน พ.ร.บ.ควบคุมหนังสือพิมพ์ หรือเรียกร้อง พ.ร.บ.พรรคการเมือง

คนที่รู้ข้อมูล เช่น ลูกสาวนายทองอินทร์ (ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี) เธอก็โต้แย้งว่ามันไม่ใช่ภูมิภาคนิยม เพราะว่าพ่อเธอทำเพื่อคนทั้งประเทศ

มีหลักฐานบอกว่าพวกเขาเป็นภูมิภาคนิยมก็เพียงเรื่องที่เขาอภิปราย เช่น แม่น้ำชีท่วมขึ้นฝั่ง ราษฎรเดือดร้อน คนที่อยู่บ้านดอนนาไม่ได้กินข้าวเลย (หมู่บ้านที่อยู่คั่นกลางระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับแม่น้ำชี) เพราะน้ำท่วมตลอด

ส.ส.เขาก็จะถามว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหายังไง อันนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด ที่ส.ส.ในพื้นที่หนึ่งๆ จะต้องพูดถึงพื้นที่ตนเอง ส.ส.ภาคกลางก็ต้องพูด ส.ส.กรุงเทพฯ ก็ต้องพูด ส.ส.ไหนก็พูดอยู่แล้ว จนถึงทุกวันนี้ ส.ส.ในอเมริกาก็พูดถึงพื้นที่ของเขา ถ้าจะดูว่าเป็นภูมิภาคนิยมหรือไม่ ควรจะดูที่นโยบายหลักของพวกเขา

ในงานเรื่องอีสานกับรัฐไทยของอาจารย์ มีกลิ่นไอของภูมิภาคนิยมอยู่ อันนี้เป็นสิ่งที่มาเปลี่ยนทีหลังหรือไม่ หรือคนอ่านเข้าใจผิด

ตอนเขียน (งานวิจัยเรื่อง “อีสานกับรัฐไทย: การครอบงำ ความขัดแย้ง และการต่อต้าน” ตีพิมพ์ในปี 2548) ไม่ได้เขียนภายใต้ความคิดภูมิภาคนิยม แต่คิดถึงอีสานในฐานะภูมิภาคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด และการต่อสู้ของคนอีสานมีความชอบธรรม หากเราอ่านแล้วรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอีสาน ไม่ได้มาจากทัศนะที่ว่า เพราะเขาเป็นคนอีสานแล้วเราจึงเห็นอกเห็นใจ แต่เพราะเขาเป็นคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบต่างหาก

งานเขียนร่วมสมัยของอาจารย์อย่างการศึกษาการชนะเลือกตั้งในอีสานของพรรคไทยรักไทย ก็มีแง่มุมนี้?

ผมเขียนเรื่องพรรคไทยรักไทย (The Thai Rak Thai party and elections in north-eastern Thailand ตีพิมพ์ในปี 2008) โดยดูการเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548 เพราะหลังการเลือกตั้งปี 2544 มีคำอธิบายว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ส่งผลให้สังคมไทยได้นักการเมืองพันธุ์ใหม่ มีคนบอกว่าต่อไปจะล้างบางนักการเมืองแบบเก่า

อีกคำอธิบายบอกว่า พรรคไทยรักไทยเป็นนักการตลาด นักขายสินค้า ผมก็เลยมาเขียนชิ้นนั้นเพื่อทำความเข้าใจว่าคำอธิบายเหล่านั้นเป็นจริงแค่ไหน โดยอาศัยการลงพื้นที่สัมภาษณ์

สิ่งที่เห็นคือ การซื้อเสียงไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด แต่ขณะเดียวกันนโยบายมันก็ไม่ได้ชี้ขาดเหมือนกัน แต่ละเขตเลือกตั้ง มีปัจจัยอื่นๆ แทรกซ้อนที่ทำให้แพ้หรือชนะ

เหมือนว่าตัวอย่างที่อาจารย์ใช้นั้นน่าตื่นเต้นพอสมควรคือ นำกรณี NGO ที่ต่อต้านทักษิณมาอธิบายความนิยมต่อทักษิณ

สิ่งที่ผมอธิบายคือ ความนิยมต่อตัวทักษิณในหมู่ประชาชนมีจริง ผมใช้กรณี ชาวบ้านที่ทำงานใกล้ชิดกับ NGO ตอนนั้น NGO กำลังต่อต้านขับไล่ทักษิณ แต่ว่าชาวบ้านที่ทำงานกับ NGO กลับนิยมชมชอบทักษิณ คนที่เป็นแกนของชาวบ้านก็ยังชอบทักษิณ

ก่อนสัมภาษณ์ผมไม่คาดว่าเขาจะนิยมทักษิณ แต่พอเริ่มสนทนาเขาก็เล่ายาวว่าทักษิณเป็นคนที่ฉลาด มีความสามารถเปิดหูเปิดตาให้ชาวบ้านทำให้สนใจการเมืองดูข่าวการเมืองสนุกกว่าดูละคร   

ผมก็เลยมานั่งคิดว่า ความนิยมมันไม่ธรรมดามันเป็นตัวชี้วัดเลยว่า คนที่อยู่ใกล้การต่อต้านทักษิณที่สุดกลับเป็นผู้ที่นิยมทักษิณ

ถ้าบอกว่าไม่ใช่เรื่องนโยบายทั้งหมด หรือเป็นผลจากโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ 2540 ช่วยขยายความอีกได้ไหม

ถ้าเราดูอันดับแรกเลย การซื้อเสียงในปี 2544 มีการซื้อเสียงกัน รวมทั้งพรรคไทยรักไทย ผู้สมัครคนหนึ่งอยู่พรรคไทยรักไทย ปี 2544 ใช้เงิน 15 ล้านชนะสบาย แต่ปี 2548 ใช้เงินกว่า 35 ล้านแต่กลับสอบตกคู่แข่งกันมาตลอดกลับมาชนะ

เพราะอะไร

ในปี 2544 ถามว่ามีการซื้อเสียงไหม มี แต่สิ่งที่ทำให้เขาชนะอย่างสบายๆ คือนโยบายที่ดึงดูดใจ ประกอบกับเขาเป็น ส.ส.เก่า มีฐานในพื้นที่ พอเลือกตั้งในปี 2548 เป็น ส.ส.พรรคไทยรักไทยแล้วย้ายพรรคไป ก็ทำให้เขาไม่ได้รับเลือก แม้ว่าเขาใช้เงินมากกว่าเก่า แต่ว่าก็สอบตก ทำไมการเป็น ส.ส.เก่าก็ช่วยไม่ได้ เพราะว่านโยบายที่ทำมา 4 ปีแล้ว อิทธิพลของนโยบายมันขึ้นสูง ทำให้ผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรคไทยรักไทยสามารถที่จะเอาชนะ ส.ส. คนเก่านี้ได้

มีกรณีที่นโยบายประสบความสำเร็จก็ไม่ช่วยให้ได้เป็นผู้แทนบ้างไหม

มีเขตเลือกตั้งหนึ่ง ส.ส.พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งในปี 2544 แต่เลือกตั้งปี 2548 กลับสอบตก นโยบายพรรคก็ช่วยไม่ได้ เงินก็ช่วยไม่ได้ คือพอเขาได้เป็น ส.ส. ก็เริ่มขี้เกียจ ไม่มีผลงาน  

ในการแข่งขันปี 2548 พบว่า การใช้เงินของคู่แข่งทั้งสองเท่าๆ กัน แต่เกมแรกที่ ส.ส.ชาติไทยแก้ คือการกลับมาสร้างผลงาน เพราะในการแพ้ปี 2544 เขายอมรับว่า “ที่เราแพ้เพราะเราขี้เกียจ” เขาเริ่มการรณรงค์ด้วยการเปิดสำนักงานให้ตรงเวลา กำชับผู้ให้บริการว่าต้องยิ้มแย้มแจ่มใส และที่สำคัญรับปากแล้วต้องทำ

ในแง่จำนวนชี้ชัดได้ขนาดนั้นเลยไหม ว่าคนอีสานพร้อมที่จะปฏิเสธนักการเมืองที่ไม่มีผลงาน

ชี้ได้ เพราะไม่มี ส.ส.คนไหนชนะโดยไม่มีผลงาน ไม่มี ส.ส.แบบระวังหมาดุ หมายถึงตอนหาเสียงเดินกราบชาวบ้านไปหมด เลือกตั้งแล้วชนะปิดป้ายหน้าบ้านว่าระวังหมาดุอันนี้สูญพันธุ์

คุณไม่สามารถเป็น ส.ส.แบบนั้นได้อีกต่อไป คุณต้องมีผลงาน ต้องบริการชาวบ้านในแง่ใดแง่หนึ่ง เช่นพวกทนาย ไปสร้างถนนให้ไม่ได้ ก็ให้บริการคำปรึกษาทางกฎหมายไม่คิดค่าใช้จ่ายแทน แต่แน่นอนเลย ส.ส.พวกที่เมินชาวบ้านสอบตกหมด

 

image_pdfimage_print