สกลนคร – ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนครร้อง หมดหนทางทำกินเพราะถูกทหารตัดสวนยางพารา 18 ไร่ พร้อมตั้งข้อหาบุกรุกป่าแต่ต่อมาศาลยกฟ้อง ด้านตัวแทนคณะทำงานแก้ไขปัญหาทวงคืนผืนป่าเผย บางหน่วยงานฟ้องคดีประชาชนเพราะกลัวไม่มีผลงาน

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2560 ที่อาคาร 19 มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เดอะอีสานเรคคอร์ดร่วมกับสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จัดโครงการเวทีเสวนาสาธารณะ “สิทธิชุมชน ความท้าทายและอำนาจในการจัดการทรัพยากร” ช่วงเช้าเป็นการเสวนาจากมุมมองของไทบ้าน โดยตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาร่วมสะท้อนปัญหาในพื้นที่ ขณะที่ช่วงบ่ายมีการเสวนาจากมุมมองของนักวิชาการและนักพัฒนาเอกชน

นายสาโรจน์ บังหอม (คนกลาง) และนายชัย ทองดีนอก (คนขวาสุด)

นายสาโรจน์ บังหอม ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร ประชาชนบ้านหนองแวง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องว่าบุกรุกพื้นที่ป่า ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เล่าว่า เดิมพ่อแม่ของตนมีที่ทำกิน 18 ไร่ เอาไว้ปลูกพริก ฝ้าย และมันสำปะหลัง ต่อมาตนเห็นว่าการปลูกยางพารามีรายได้ดี ตนจึงไปรับจ้างกรีดยางที่ภาคใต้เพื่อหาเงินทุนมาปลูกต้นยางพารา ตนและครอบครัวลงทุนปลูกยางพารา ตั้งแต่ปี 2548 จนกระทั่งปี 2552 อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กประกาศไม่ให้ประชาชนเข้าพื้นที่ ทำให้คนที่มีที่ทำกินในเขตอุทยานฯ เดือดร้อน

นายสาโรจน์กล่าวอีกว่า ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหา โดยไม่ให้มีการจับกุมประชาชน และให้ประชาชนทำมาหากินในพื้นที่ได้เหมือนเดิม ตนจึงเข้าไปทำกินดังเดิม จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2558 ตนเข้าไปสวนยางตอนเช้า ก็พบเห็นเจ้าหน้าที่ร้อยกว่าคนมากับพระ กำลังเอาผ้าเหลืองมัดต้นไม้ใกล้สวนยาง มีเจ้าหน้าที่ทหารอาวุธครบมือยืนเรียงแถวถ่ายรูป หลังถ่ายรูปเสร็จพวกเขาก็ใช้เลื่อยตัดต้นยางพาราของครอบครัวตนจนหมดทั้ง 18 ไร่

“ผมยืนดู น้ำตาไหล แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะหาเงินมาแทบตาย มาสลายพริบตาเดียว จากน้ำมือของคน ไม่ใช่ธรรมชาติ” นายสาโรจน์กล่าว

นายสาโรจน์เล่าว่า ต่อมาเมื่อวันที่  7 เม.ย. 2559 มีชายสองคนไม่ใส่เครื่องแบบ มาจับกุมตนโดยกล่าวหาว่าตนบุกรุกป่า เพื่อนบ้านได้ช่วยกันออกเงินเพื่อประกันตัว ตนคิดว่า เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมจึงตัดสินใจสู้คดี จนกระทั่งวันที่ 27 ธ.ค. 2559 ศาลพิพากษายกฟ้อง

นายสาโรจน์เล่าอีกว่า ช่วงที่ถูกดำเนินคดีเป็นช่วงที่ลำบากมาก ต้องหาหน่อไม้ หาหอยมาส่งลูกเรียน “กินอะไรก็กิน ไม่มีก็ไม่กิน” ส่วนจังหวัดสกลนครเคยช่วยเหลือด้วยการให้เงินจำนวน 2,000 บาท เพียงครั้งเดียว

ผู้ร่วมงานมีประมาณ 300 คน และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาสังเกตการณ์ด้วย

นายชัย ทองดีนอก ประชาชนบ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร ผู้ที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าดงชมพูพาน-ดงกระเฌอ ร่วมกับประชาชนคนอื่นอีก 30 คน กล่าวว่า ตนทำมาหากินในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นเขตทหารมาตั้งแต่ปี 2508 และมีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านจัดระเบียบเมื่อปี 2522 ประชาชนกับทหารก็อยู่โดยพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อประชาชนเดือดร้อนก็ขอความช่วยเหลือจากทหารได้

นอกจากการเสวนาบนเวทีแล้ว ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ ที่มานั่งฟังการเสวนาได้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนด้วย นายสวาท อุปฮาด คณะทำงานจังหวัดสกลนครแก้ไขปัญหาทวงคืนผืนป่า กล่าวถึงคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าดงชมพูพาน-ดงกระเฌอ จ.สกลนครว่า ประชาชนทำกินในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นที่ป่าธรรมชาติมาตั้งแต่ปี 2508 ต่อมาปี 2530 มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนทับซ้อนที่ประชาชน แต่เหตุที่การทำกินในพื้นที่ดังกล่าวเป็นความผิดในเวลานี้เนื่องจากการมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งตนคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ตรวจสอบคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 และ 66 อย่างรอบคอบ ทำให้เกิดการขับไล่และดำเนินคดีประชาชนจำนวนมาก

นายสวาทกล่าวอีกว่า คดีนี้มีผู้ถูกจับกุม 34 ราย ถูกดำเนินคดี 37 คดี และติดคุก 9 ราย คดีนี้น่าสนใจมากเพราะประชาชนไปร้องเรียนที่สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้สั่งชะลอการดำเนินการ แต่เจ้าหน้าที่จังหวัดสกลนครกลับยังคงดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จ.สกลนครบอกว่า “คดีนี้ขอ ถ้าคดีนี้ผมไม่ทำ ผมไม่มีผลงาน”

นายสวาทบอกอีกว่า กรณีนี้ทำให้ตนคิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองนี้ ประชาชนถูกรังแก ถูกเอาเปรียบสารพัดเพื่อที่บางหน่วยงานจะได้อยู่ต่อ บางครอบครัวที่สมาชิกครอบครัวติดคุก คนเป็นแม่เฒ่าก็ตรอมใจตาย หรือกรณีภรรยาของนายชัยก็กลายเป็นคนบ้า ตนคิดว่าสังคมต้องติดตามเรื่องเหล่านี้ต่อไป

นายสีสมพร ทองนาง ประชาชนบ้านท่าแร่ จ.สกลนคร

นายสีสมพร ทองนาง ประชาชนบ้านท่าแร่ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เล่าประสบการณ์ของตนว่า ตนอยู่ระหว่างถูกฟ้องร้องดำเนินคดีฐานบุกรุกพื้นที่ของบริษัทแห่งหนึ่ง โดยบริษัทดังกล่าวอ้างว่ามีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ พื้นที่ดังกล่าวมีผู้เข้าไปทำนากว่า 100 คน ตนเองก็เข้าใจว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ประเภทที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ที่ออกโดยอดีตกำนัน เมื่อปี 2493 แต่บริษัทออก น.ส.3 ทับที่ดังกล่าวเมื่อปี 2537

ประชาชนจากบ้านท่าแร่กล่าวอีกว่า คดีนี้ตำรวจได้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องต่ออัยการแล้ว อัยการได้เลื่อนฟังคำสั่งฟ้องศาลมา 3-4 ครั้ง โดยนัดครั้งล่าสุดคือวันที่ 7 พ.ย. ที่จะถึงนี้ ตนอยากฝากให้ผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามาช่วยเหลือ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะ และตนไม่ได้มีเจตนาจะนำที่ดังกล่าวมาเป็นพื้นที่ส่วนตัว

image_pdfimage_print