สัมภาษณ์โดย พีระ ส่องคืนอธรรม

จิตรกรรมฝาผนังตามวัดที่รู้จักกันว่า “ฮูปแต้ม” ในภาษาลาว กำลังอยู่ในกระแสการฟื้นฟูอนุรักษ์พัฒนายกใหญ่ในภาคอีสานหลังจากถูกทอดทิ้งและทุบทำลายมาตลอดหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ที่จิตรกรรมพิมพ์เขียวแบบกรุงเทพฯ ได้รับความนิยม

ฮูปแต้มเหล่านี้มีอายุย้อนไปถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่แล้ว แต้มไว้บนฝา “สิม” หรืออุโบสถ เล่าเรื่องที่ชนนิยมอย่างเช่น พุทธประวัติ เวสสันดรชาดก สังข์ศิลป์ชัย หรือภาพนรกสวรรค์ ฮูปแต้มยังแซมทัศนียภาพและวิถีชีวิตท้องถิ่นอย่างเช่นการทำนาไว้อีกด้วย ซึ่งภาพเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีรูปลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร

ศิลปะของประชาชนรูปแบบนี้เพิ่งจะได้รับการยอมรับกันจริงจัง ไม่ว่าโดยคนท้องถิ่นก็ดีหรือโดยสถาบันระดับชาติก็ดี ทุกวันนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประชาสัมพันธ์ให้คนไปดูสิมแล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อนที่อีสานตอนกลางมีแต่ถ้ำค้างคาวกับฟาร์มงูในสายตา นอกจากนี้ปี 2558 ที่ผ่านมาหนังสือเกี่ยวกับฮูปแต้มเรื่อง สะกดรอยสินไซ ยังได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดด้านสารคดียอดเยี่ยมด้วย

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ มีการจัดงานสัมมนาวิชาการ “ฮูปแต้ม มรดกวัฒนธรรมสองฟากฝั่ง” ขึ้นที่ขอนแก่นโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาคมนักเขียนภาคอีสาน งานสัมมนานี้คับคั่งไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดี ทัศนศิลป์ และการพัฒนาชุมชน ที่ต่างมาแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องฮูปแต้มทั้งสองฟากฝั่งไทย-ลาว โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศลาวมาร่วมงานด้วยไม่น้อย

[pullquote]“ถ้าคุณอยากเห็นประชาธิปไตยในประเทศไทยตอนนี้ คุณต้องไปดูฮูปแต้ม” –บอนนี่ เบรเร็ตทัน[/pullquote]

ผู้นำเสนอคนหนึ่งคือ ดร.บอนนี่ พาคาล่า เบรเร็ตทัน นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักวิชาการพุทธศึกษาชาวสหรัฐอเมริกันผู้ศึกษาเจาะลึกด้านรูปแบบการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบสามัญชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทย

ดร.บอนนี่เป็นนักวิจัยที่ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง (CERP) มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาตั้งแต่ปี 2547 เป็นผู้เขียนหนังสือ Buddhist Murals of Northeast Thailand: Reflections of the Isan Heartland ร่วมกับคุณสำรวย เย็นเฉื่อย ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2553 ก่อนนั้น ดร.บอนนี่ศึกษาวิจัยเรื่องประเพณีการเล่าเรื่อง “พระมาลัย” อย่างมีสีสันและแตกต่างกันไปในภูมิภาคต่างๆ ของไทย

บทสัมภาษณ์นี้เจาะลึกเรื่องการตีความของดร.บอนนี่ว่าฮูปแต้มนั้นแสดง “วิสัยทัศน์ถึงสังคมที่เป็นประชาธิปไตย” ตลอดทั้งบรรยากาศการยอมรับความสำคัญของศิลปะแขนงนี้ที่พาดข้ามฝั่งโขงจากอีสานตอนกลางไปยังประเทศลาว

อาจารย์ขยายความได้ไหมว่า ฮูปแต้มแสดงวิสัยทัศน์ถึงสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร

ฮูปแต้มอยู่ตามหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น่าจะมีลำดับชั้นทางสังคมค่อนข้างน้อย ดิฉันนึกภาพเอาว่า คนที่ได้รับความเคารพสูงสุดคือ พระสงฆ์ อดีตพระสงฆ์ และผู้เฒ่าผู้แก่โดยทั่วไป

สังเกตองค์ประกอบศิลป์ของภาพนี้ดูนะ (ด้านบน) ซึ่งอยู่บนปกหนังสือเล่มหนึ่ง แถวบนสุดเป็นทหาร แต่ดูทรงไม่เหมือนทหารไทยนะ โดยเฉพาะพวกทหารทุกวันนี้ แถวถัดลงมามีหญิงชายเดินขบวนเหมือนอยู่ในงานบุญผะเหวด แล้วถัดลงมาอีกก็มีหลายแถวที่เป็นฉากจากเรื่องเวสสันดรชาดก ฝั่งซ้ายของแถวล่างสุดมีอีกฉากหนึ่งจากเรื่องนี้ ตอนพราหมณ์ชูชกเอาลูกๆ ของพระเวสสันดรไป ส่วนฝั่งขวามีฉากคลอดลูกในเรื่องรามเกียรติ์ฉบับลาว

ประเด็นก็คือ การเคลื่อนไหวนั้นอยู่ในแนวราบ และด้านบนของฝาผนังไม่ได้กันไว้เป็นพื้นที่ของตัวละครสถานะสูง ด้านล่างก็ไม่ได้เป็นของ “กาก” ลักษณะนี้แตกต่างจากจิตรกรรมฝาผนังภาคกลางมาก ซึ่งเทวดากับกษัตริย์จะอยู่ด้านบน ส่วนคนไร้อำนาจจะอยู่ด้านล่าง

ถึงจะมีลำดับชั้นทางสังคมค่อนข้างน้อย สังคมหมู่บ้านอีสานดั้งเดิมก็ยังมีการจัดอันดับความเคารพตามเพศ (หญิง<ชาย<สมณะ) และวัยอยู่ อาจารย์จะพูดไปถึงขั้นที่ว่าวิสัยทัศน์ประชาธิปไตยในฮูปแต้มนี้ไม่ได้เพียงแค่สะท้อนสภาพจริง แต่วาดหวังไปถึงสังคมที่มีลำดับชั้นน้อยยิ่งลงไปอีกด้วย?

เรารู้น้อยเหลือเกินเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมอีสาน แต่ดิฉันคาดคะเนว่า สังคมหมู่บ้านสมัยก่อนคงจะไม่มีช่วงชั้นที่ตายตัว และก็ค่อนข้างจะเป็นประชาธิปไตย หรืออาจใช้คำว่ามีความเท่าเทียมกัน (egalitarian) แต่ดิฉันไม่คิดว่าคนจะคัดค้านการให้ความเคารพต่อผู้เฒ่าผู้แก่และพระสงฆ์มากกว่าคนอื่นๆ ในเมื่อคนเหล่านี้เชื่อมร้อยสังคมไว้

ส่วนความวาดหวังให้มีลำดับชั้นน้อยลง ดิฉันคิดว่าเป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่ และคนที่ขาดอำนาจนั้น เขาฉลาดพอที่จะไม่แสดงความต้องการในสิ่งที่เขาไม่สามารถเอื้อมถึงได้ออกมาแบบโจ่งแจ้ง

ดร.บอนนี่ พาคาล่า เบรเร็ตทัน นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักวิชาการพุทธศึกษาชาวสหรัฐอเมริกัน

ตอนที่อาจารย์นำเสนอผลงานการวิจัย อาจารย์แสดงออกว่าตนไม่พึงพอใจที่มีการใช้คำว่า “กาก” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกตัวประกอบในจิตรกรรมฝาผนังไทย อาจารย์จะพูดไหมว่า คำว่า “กาก” ในฐานะคำที่ใช้วิเคราะห์นั้น เป็นคำที่ผิดฝาผิดตัวเมื่อพูดถึงฮูปแต้มอีสาน?

ในจิตรกรรมฝาผนังไทยภาคกลาง คำว่า “กาก” ใช้อ้างถึงคนทั่วไป ซึ่งมักจะถูกวาดออกมาเป็นพวกคนบ้านนอกขอกนา อยู่ด้านล่างของภาพ อยู่ตามช่องประตูหรือตามหัวมุม เท่าที่สังเกตมา ไม่มีกากในฮูปแต้มของพื้นที่ที่ดิฉันเรียกว่า “Isan Heartland” นะคะ

ที่ยังมีการใช้คำศัพท์นี้อยู่ก็ทำเอาดิฉันพิศวงงงงวยเหมือนกัน เท่าที่ทราบคือ ไม่เคยมีใครตั้งคำถามเลยว่า ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดเนี่ย ยังควรยอมรับคำนี้อยู่หรือไม่ แต่จะว่าไปการใช้คำศัพท์นี้อยู่ก็คงจะเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการจัดลำดับชั้นสังคมเข้มข้นว่ายังดำรงคงอยู่ในสังคมไทยนะ พอจะยอมรับได้ว่ามันเป็นคำศัพท์จากอดีตที่บางคนยังเห็นว่าเป็นประโยชน์อยู่ถ้าต้องการใช้ระบุตัวละครบุคคลทั่วไป ตราบใดที่ใช้ในบริบทมุมมองที่ผู้แต้มมีต่อคนที่อยู่ในลำดับชั้นสังคมนี้ แต่ดิฉันชอบคำว่า “genre scene” มากกว่า ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในโลกตะวันตกเพื่อหมายความถึงฉากที่แสดงภาพชีวิตในแต่ละวันของคนธรรมดา

อาจารย์เรียกฮูปแต้มว่าเป็น “people’s art [ศิลปะของประชาชน]” แทนที่จะเรียกว่า “folk art [ศิลปะพื้นบ้าน]” ด้วย อยากรู้ว่าสองคำนี้ต่างกันยังไง?

ในเรื่อง “folk art” กับ “people’s art” เนี่ยนะคะ คำก่อนหน้ามีหลายความหมายมาก ซึ่งบางความหมายก็ฟังเหมือนเป็นการดูแคลน ส่วนคำว่า “people’s art” ดูเป็นคำกลางๆ มากกว่าและก็ตรงกับความจริงมากกว่า มันเป็นศิลปะของคนท้องถิ่น ซึ่งคนท้องถิ่นก็ไปอยู่ในตัวงานด้วย ตัวอย่างเช่น ในฮูปแต้มที่เล่าเรื่องเวสสันดรชาดกฉากชาวนครเดินขบวน

ในปาฐกถาของ ดร.สุกัญญา ภัทราชัย ท่านยอมรับว่า ตอนได้เห็นฮูปแต้มครั้งแรก ท่านรู้สึกว่ามันดูคล้ายคลึงกับ “เด็กวาดรูป” ตอนที่อาจารย์ได้เห็นฮูปแต้มครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2532 อาจารย์นึกถึงรูปเด็กวาดไหม?

ดิฉันไม่เคยมีความคิดว่าฮูปแต้มดูเหมือนรูปเด็กวาดเลยค่ะ ความรู้สึกของตัวเองตั้งแต่แรกคือ พิศวงกับความหลากหลายขององค์ประกอบศิลป์ ความซับซ้อนของฮูปแต้มหลายฮูป แล้วก็เรื่องของการใช้พื้นที่ในฮูปแต้ม

แน่นอนว่าคุณภาพของฝีมือแต้มก็แตกต่างกันไปในแต่ละวัด บางวัดก็ดูจะมีศิลปินหรือช่างแต้มมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งฝีมือมากน้อยไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น ช่างแต้มที่วัดสระบัวแก้ว [อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น] มีทักษะสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับที่วัดสนวนวารี [อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น]

ดิฉันมองว่า รูปแบบทางวัฒนธรรมอีสาน/ลาวโดยทั่วไปมีความซับซ้อนอย่างน่าพิศวง อย่างดนตรีก็ดูคอร์ดและจังหวะของแคน ดูเสียงที่สอดประสานกันในวงดนตรีที่มีแคน พิณ กลอง หมอลำ ฯลฯ อย่างการทอผ้าก็ซับซ้อนเกินบรรยายเหมือนกัน ทั้งลายผ้าและหูกทอผ้าซึ่งผิดแผกแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์

คำตอบก็คือ ดิฉันคิดว่า การบอกว่าฮูปแต้มเหมือนรูปเด็กวาดนั้นมีนัยยะว่าเป็นของที่ด้อยกว่า ซึ่งดิฉันไม่เห็นด้วย

วิสัยทัศน์ทางสังคมที่ถ่ายทอดในฮูปแต้มนี้ไปพ้องกับวิถีชีวิตตามจริงตรงไหนบ้าง?

เห็นได้ชัดทีเดียวในผ้าพระเวส โดยเฉพาะในรูปที่แทนกัณฑ์นคร ตอนสุดท้ายของชาดกที่พระเวสคืนเมือง แล้วชาวบ้านชาวเมืองต่างมาร่วมขบวนหรือไม่ก็ออกมาต้อนรับ ซึ่งคนเหล่านี้ดูลักษณะแล้วเหมือนว่ากำลังร่วมขบวนบุญพระเวสมากๆ คือเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนเบิกบานสำราญใจ บ้างก็ฟ้อนรำ จีบกันก็มี ดื่มเหล้าก็ด้วย

อาจารย์ตั้งชื่อเปเปอร์ของอาจารย์ว่า “murals in motion” ซึ่งเน้นให้เห็นว่าในภาพนิ่งนั้นมีความเคลื่อนไหว ทั้งในฮูปแต้มและในผ้าพระเวสที่ชาวบ้านเอามาแห่ขบวนในงานบุญพระเวส อยากรู้ว่าความเคลื่อนไหวนี้เป็นเอกลักษณ์พิเศษของจิตรกรรมฝาผนังอีสานหรือเปล่าเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ?

หากเราไปดูภาพฝาผนังวัดภาคกลางกับภาคใต้ของไทย ก็จะเห็นว่า ภาพทั้งหลายจะถูกตรึงอยู่กับที่ ในฉากแบบหนึ่งเช่นป่าหรือวัง และฉากเหล่านี้ก็มักจะถูกตีกรอบไว้ บางทีก็ด้วยผนังวังที่ขีดบอกอาณาเขต ส่วนคนก็ถูกตรึงอยู่กับที่ในลักษณะตั้งท่าอยู่ แต่ถึงแม้ว่าตัวคนจะเดินหรือเคลื่อนขบวนก็ตาม พวกนั้นก็ไม่ได้ไปไหนไกล เพราะว่าติดอยู่ในกรอบนั้นนั่นเอง

แต่ว่าฮูปแต้มเนี่ย มักจะมีหลายแถวหรือ “ชั้น” ทบกันขึ้นไป แต่ละแถวก็มีตัวคนเคลื่อนไหวเป็นเส้นจากสุดขอบซ้ายไปสุดขอบขวา เหมือนกับในฮูปแต้มนี้

อีกตัวอย่างหนึ่งของการไม่แบ่งลำดับชั้นทางสังคมในฮูปแต้มอีสานเห็นได้ที่วัดโพธารามในมหาสารคาม (ดูภาพบน) ซึ่งเป็นฉากหนึ่งจากพุทธประวัติ สังเกตว่าด้านล่างของภาพ จะเห็นเจ้าชายสิทธัตถะกำลังทิ้งวัง ทิ้งนางสนมกับลูกชายที่เพิ่งเกิดไป และถัดออกมานอกกำแพงวังนั้นเอง ไม่ใช่ข้างใต้ภาพนะ จะเห็นว่าชาวนากำลังดำนาอยู่ ขอให้สังเกตความกระฉับกระเฉงของชาวนาด้วย มีคนหนึ่งจะวิ่งอยู่แล้ว

อาจารย์เห็นความเชื่อมโยงบ้างไหม ระหว่างความเคลื่อนไหวและความกระฉับกระเฉงในฮูปแต้ม กับการเคลื่อนไหวและขบวนการเคลื่อนไหวในชีวิตจริงของคนอีสาน?

มีหลายจุดค่ะ ทั้งความเชื่อมโยงทางวรรณคดีและทางประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าที่พบบ่อยสุดในฮูปแต้มช่วงก่อนพ.ศ. 2500 อันได้แก่เวสสันดรชาดก พระลักษมณ์พระราม และสังข์ศิลป์ชัย ล้วนแล้วแต่เกี่ยวกับการเดินทางอันยาวนานของตัวละครหลัก มักมีเหตุจากการเนรเทศและย้ายเข้าป่า ซึ่งเป็นที่ที่พวกเขาประสบกับความยากลำบาก บางครั้งก็ได้ผจญภัยด้วย และในตอนจบก็จะมีการเดินขบวนอย่างมโหฬารกลับสู่พระนคร

ในแง่ของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแล้ว ก็มีคนจำนวนนับไม่ถ้วนที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยศึกสมัยที่เวียงจันทน์ถูกปล้นสะดม [เมื่อพ.ศ. 2371] และเจ้าอนุวงศ์ [กษัตริย์องค์สุดท้ายของเวียงจันทน์] ถูกจับตัวไปที่กรุงเทพฯ เท่าที่ดิฉันรู้ก็คือ คนทั้งหลายที่ถูกกวาดต้อนมากระจัดกระจายไปหลายที่หลายแห่งทั้งในภาคอีสานและภาคกลาง

แล้วก็ยังมีประเพณีของพระป่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระที่มาจากอีสาน โดยพระป่ายึดการเดินธุดงค์เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรม

ดิฉันยังรู้สึกด้วยว่า คนอีสานยอมเสี่ยงอะไรเรื่องใหญ่ๆ แล้วก็เต็มใจที่จะไปอาศัยอยู่แทบทุกที่ รวมถึงภาคใต้ตอนล่างเช่นปัตตานีด้วย ดิฉันรู้จักชายชาวอีสาน 4 คน เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแต่เกษียณอายุรายการแล้ว ตอนนี้อายุประมาณ70-80 ปี (คนหนึ่ง 85 แล้ว) พวกเขาเกิดและโตในหมู่บ้าน ได้รับการศึกษาชั้นประถมและมัธยมตอนบวชเป็นสามเณร แล้วก็ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่อินเดียไม่ก็ศรีลังกา ดิฉันรู้สึกว่าเส้นทางชีวิตเช่นนี้เป็นเรื่องน่าทึ่งทีเดียว

คำว่า “the Isan Heartland [ใจกลางอีสาน]” ที่อาจารย์เลือกใช้กับพื้นที่อีสานตอนกลางนี้ชวนให้หนูคิดต่อดี สำหรับดินแดนที่ถูกพิจารณาว่าเป็นรอบนอกของราชอาณาจักรต่างๆ นานามาตลอด การระบุว่ามี “heartland” อยู่ในอีสานนั้นเสมือนจะบ่งบอกว่ามีจุดศูนย์ถ่วงในที่ราบสูงแห่งนี้ด้วยเหมือนกัน อาจารย์คิดยังไงกับคำนี้?

คนที่มาร่วมสัมมนานี้ ดูจะยอมรับการมีอยู่ของวัฒนธรรมร่วมกันในพื้นที่อีสานตอนกลาง (ไม่รวมโคราชหรือเลย) และข้ามพรมแดนไปรวมพื้นที่ สปป. ลาวด้วย โดยไม่รวมหลวงพระบาง พื้นที่นี้เป็นอนุภูมิภาคขนาดย่อมซึ่งนักวิชาการบางคนยอมรับการมีอยู่ในชื่อว่า “middle Mekong River Basin” [ลุ่มน้ำโขงตอนกลาง]

สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสขบวนการก่อตั้งหลักสูตรแม่น้ำโขงศึกษาทั้งหลายซึ่งมุ่งศึกษาประเด็นสังคม ภูมิประเทศ ระบบนิเวศ ฯลฯ ของพื้นที่นี้ในฐานะภูมิภาคที่มีศูนย์กลางทางการเมืองมากมายไปหมดก่อนหน้าที่จะมีการขีดเส้นพรมแดนของชาติ

ในทำนองเดียวกัน คนที่มาร่วมสัมมนาวิชาการครั้งนี้ก็มองพื้นที่ทางวัฒนธรรม “ทั้งสองฟากฝั่งโขง” ว่าเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งในตัวมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องมองว่าเป็นรอบนอกของรัฐชาติใด

ดิฉันชอบที่ได้เห็นคนทั้งสองฝั่งแม่น้ำมองว่าวัฒนธรรมของเขาเป็น “ศูนย์กลาง” ไม่ได้เป็นรอบนอก อันเป็นคำที่มักจะสื่อกลายๆ ถึงการที่ผู้น้อยพยายามเอาอย่างศูนย์กลาง

ดร.บอนนี่ พาคาล่า เบรเร็ตทัน ริมธรณีประตูสิมวัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น ภาพถ่ายเมื่อปี 2555 โดยประเพณีแล้วสิมเป็นพื้นที่ห้ามผู้หญิงเข้า แต่ทุกวันนี้ผู้หญิงสามารถเข้าชมสิมเก่าบางแห่งที่ไม่ได้ใช้ประกอบพิธีอุปสมบทและพิธีสวดของพระสงฆ์แล้ว แต่สิมวัดไชยศรีแห่งนี้พระสงฆ์ยังใช้การอยู่ ภาพ: บรูซ วินาล]

ถึงอาจารย์จะพูดถึงฮูปแต้ม “อีสาน” เสียเป็นส่วนใหญ่ อาจารย์ก็เสนอว่าควรจะใช้กรอบข้ามชาติไปศึกษาวิจัยฮูปแต้มฝั่งลาวด้วย เชื่อมโยง “Isan Heartland” เข้ากับสะหวันนะเขตและแขวงจำปาสักของสปป.ลาว

เหตุผลที่ดิฉันไม่ค่อยได้กล่าวถึงฮูปแต้มในลาวภาคใต้เป็นเพราะว่าตัวเองยังไม่ได้ศึกษามันอย่างถี่ถ้วนเท่ากับในอีสาน เคยเห็นแค่ที่อยู่ในวัดสองแห่งที่สะหวันนะเขต แต่ยังไม่เคยเห็นฮูปแต้มที่จำปาสัก ฮูปแต้มที่สะหวันนะเขตนั้นมีส่วนเกี่ยวพันกับที่มีอยู่ใน “Isan Heartland” อย่างแน่นอนค่ะ

ดิฉันดีใจมากที่ได้ทราบจากการสัมมนาครั้งนี้ว่า มีนักวิชาการชาวลาวสนใจศึกษาฮูปแต้ม และดิฉันก็คาดหวังว่า นักวิชาการอีกฝั่งของแม่น้ำจะทำงานเชิงเปรียบเทียบด้วย ซึ่งจะเป็นผลงานที่ทรงคุณค่ามาก

และกิจกรรมอย่างการสัมมนาวิชาการฮูปแต้มนี้ ก็ทำให้หลายๆ คนเริ่มเห็นพื้นที่ตรงนี้ว่าเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของตัวเอง นั่นก็คือ พื้นที่นี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นรอบนอกในแบบที่กรุงเทพฯ มองอีสาน น่าสนใจนะคะว่าคนกรุงเทพฯ หลายๆ คนยังพูดถึง “ต่างจังหวัด” ราวกับว่าเป็นคนละประเทศ คือเอา “ประเทศไทย” มาเท่ากับกรุงเทพฯ แล้วถือว่าอะไรก็ตามที่อยู่ข้างนอกเป็นอีกดินแดนไป

แต่หนูมีความรู้สึกนะว่า กระแสการฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสานช่วงนี้เนี่ยดูเป็นอะไรที่มาจากข้างบนอยู่ดี กำหนดด้วยคนที่มีตำแหน่งอำนาจในท้องถิ่นและในมหาวิทยาลัย อาจารย์เห็นอะไรในเยาวชนอีสานทุกวันนี้ไหมที่จะแย้งความรู้สึกนี้?

ใช่ค่ะ ดิฉันว่ามันมาจากด้านบนแน่ๆ ดิฉันพอจำได้ว่าม.ขอนแก่นก็ไม่ค่อยทำอะไรมากนักในเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น จนกระทั่งดร.สุมนต์ สกลไชย ขึ้นเป็นอธิการบดี ช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นอธิการฯ คณะศิลปกรรมศาสตร์ก็ได้เพิ่มสาขาวิชาเรียนมากขึ้น ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นปริญญาโทและเอกสาขาวัฒนธรรมศึกษา อันนี้เท่าที่ตัวเองจำได้นะคะ ครั้งหนึ่งดิฉันเคยโทรศัพท์ไปสัมภาษณ์ท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านก็พูดแบบถ่อมตัวเองมากว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบของอธิการบดีที่จะสนับสนุนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นส่วนหนึ่งของมรดกแห่งชาติ

ย้อนไปก่อนหน้านั้นอีก ก็มีดร.วันชัย วัฒนศัพท์ ซึ่งเคยริเริ่มโครงการเพื่อการส่งเสริมและอนุรักษ์ฮูปแต้มและสถาปัตยกรรมตามวัดบ้านราวๆ ปี 1980 [พ.ศ. 2523] สมัยที่ท่านเป็นรองอธิการบดีมข. น่าสนใจนะคะว่าผู้นำทั้งสองคนนี้มีพื้นเพมาจากภาคกลาง

ช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ทางคณะฯ และสำนักวัฒนธรรมของมข. ได้เข้ามาทำงานอย่างแข็งขันมาก หนังสือภาษาไทยเกี่ยวกับฮูปแต้มและมหากาพย์สินไซก็ตีพิมพ์ออกมามหาศาล แล้วก็มีอยู่หลายปีที่เทศบาลนครขอนแก่นมีบทบาทช่วยส่งเสริมสินไซยกใหญ่ สื่อโซเชียลโดยเฉพาะเฟซบุ๊กก็เกาะกระแสนี้ด้วย จนกระทั่งเป็นเทร็นด์ไปแล้วที่จะโพสต์เผยแพร่ภาพเท่ๆ ของฮูปแต้ม รวมถึงผ้าทอแบบกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในอีสาน

ทุกวันนี้อาจารย์ใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญ อยากรู้ว่าเยาวชนที่นั่นโอบรับการฟื้นฟู “ล้านนา” นี้ยังไง?

เรื่องมันเริ่มตอนปี 2538 ที่จัดงานฉลอง 700 ปีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทำให้คำว่า “ล้านนา” แพร่สะพัดไปทุกหนทุกแห่ง ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นแทบจะไม่มีใครใช้เลย ตั้งแต่นั้นมา ชุดที่คนใส่เดินขบวนในเทศกาลต่างๆ ก็อลังการขึ้นทุกวัน และคงถอยห่างจากความจริงตามประวัติศาสตร์ไปมากขึ้นด้วย

กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่นี่ก็มี “ประเพณี” รับน้องของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ให้ “เฟรชชี่” ขึ้นดอยสุเทพ ซึ่งมีศิษย์เก่ามากมายกลับมาร่วมกิจกรรมด้วย ขั้นตอนแรกนักศึกษาเอาเครื่องของไปถวายหน้าอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยตรงตีนดอยสุเทพ ซึ่งพระรูปนี้ไม่ได้แค่เป็นผู้นำประชาชนสร้างทางขึ้นไปวัดพระธาตุฯ แต่ยังเคยถูกจองจำในกรุงเทพฯ เพราะความพยายามที่จะธำรงรักษาวัตรปฏิบัติแบบท้องถิ่นของคณะสงฆ์ท้องถิ่นด้วย กิจกรรมนี้เป็นการผสมผสานระหว่างประเพณีกับความทันสมัย นักศึกษาจากคณะอย่างสถาปัตย์ฯ อย่างศิลปกรรมฯ ก็จะสวมชุด “พื้นเมือง” อย่างอลังการ แต่นักศึกษาคณะอื่นๆ ก็แต่งยีนส์ธรรมดา นักศึกษาที่เป็นพิธีกรงานนี้ก็ใช้ “กำเมือง” สื่อสาร แต่ของบางคณะก็มีนำเชียร์แบบไทยสมัยใหม่

กิจกรรมทำนองเดียวกันที่อาจารย์เป็นคนริเริ่ม แต่นักศึกษาก็ดูจะเอาด้วยอยู่ ก็เริ่มเกิดมีขึ้นที่บางมหาวิทยาลัยในอีสาน อย่างที่มข. และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

ดิฉันมองว่ากิจกรรมแบบนี้มีความสำคัญ เพราะมันสื่อถึงการเห็นค่าของวัฒนธรรมและภาษาถิ่นที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกานุวัตรและยุคที่ฉันเรียกว่า “McDonaldization [แมคโดนัลดานุวัตร]” อันเป็นสมัยที่อะไรๆ ก็เริ่มดูเหมือนๆ กันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดบนฝาผนังวัด หรือเมืองต่างๆ ในประเทศไทย

image_pdfimage_print