โดยดานุชัช บุญอรัญ

ภาพบรรยากาศแหล่งเรียนรู้แสงตะวัน ต.นาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร ยามพระอาทิตย์ขึ้น ภาพจากเฟซบุ๊ค Metha Matkhao

ยโสธร – สัมผัสกิจกรรมกินลม ชมดาว เกี่ยวข้าว ร่ายบทกวี บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ยุค พคท. ที่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร กับบทบาทใหม่ในฐานะแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาแนวคิดเยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสร้างสำนึกรักษ์รากเหง้าประวัติศาสตร์ชุมชน

เมื่อได้รับการติดต่อจากกองบรรณาธิการ เดอะอีสานเรคคอร์ด โดยไม่สอบถามรายละเอียดให้มากความ ผมออกเดินทางจากจังหวัดมหาสารคามมุ่งหน้าสู่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน ต.นาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร เป้าหมายคือการเข้าร่วมกิจกรรม “งานกวีควงเคียวครั้งที่ 12 ” ในเช้าวันที่ 11 พ.ย. ปี 2560  ซึ่งจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยชาวนา “แหล่งเรียนรู้แสงตะวัน ไร่พิราบอาบเดือน” หรือ ที่ชาวบ้านใน ต.นาโส่ผู้หนึ่งแนะนำว่าต้องผ่านทางลูกรังเส้นแคบลึกเข้าไปจึงจะถึง “นาครูเสือ”  

โกเมศ มาศขาว หรือ ครูเสือ เป็นชายวัยกลางคนท่าทางลุ่มลึกเช่นนักปราชญ์ เบอร์โทรศัพท์ของเขาถูกระบุไว้ในรายชื่อผู้ประสานงานสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เมื่อคลำทางไปถึงนาครูเสือซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดงานด้วยความทุลักทุเล ผมบอกเล่าสาเหตุของการโทรศัพท์ถึงเขาก่อนหน้านี้ว่า เป็นความผิดพลาดของโปรแกรมนำร่องด้วยระบบจีพีเอสซึ่งพาผมเตลิดเข้าไปในทุ่งนาของชาวบ้านไกลโข

เวลายังเช้ามากเช้าเกินไปสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองอย่างผม ครูเสือแนะนำให้ผมรู้จักกับพี่พล น้องชายของเขา รวมทั้งผู้ที่มาร่วมงานคนอื่นๆ ซึ่งมาถึงก่อนหน้า ก่อนขอตัวไปจัดการธุระต่อ จากการพูดคุยของเราทำให้ทราบว่า สถานที่ที่ถูกใช้จัดกิจกรรมในวันนี้มีความเป็นมาใหญ่หลวงในฐานะประวัติศาสตร์พื้นถิ่นและประวัติศาสตร์ชาติ

เมธา มาศขาว หรือ “พี่พล” ชวนผมนั่งลงที่โต๊ะตัวหนึ่ง “ในอดีตแถบนี้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีชมพู เนื่องจากเป็นเขตปฏิบัติงานของ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย-ผู้เขียน) สายอีสาน คนแถวนี้เป็น พคท.กันเยอะ มีหลายที่ที่เหล่าสหายในอดีตเคยมาใช้เป็นที่พัก รวมทั้งไร่ของเราแห่งนี้ด้วย” พี่พลกล่าว

พี่พลเล่าอีกว่า  กิจกรรม “กวีควงเคียว” ในปีนี้ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 12 ของแหล่งเรียนรู้แสงตะวัน ไร่พิราบอาบเดือน มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาวัฒนธรรมชาวนาพื้นถิ่นที่กำลังจะสูญหายไป โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมงานได้มาสัมผัสวิถีชีวิตของเกษตรกรในชนบทผ่านกิจกรรมย่อย อาทิ การลงแขกเกี่ยวข้าว และกินข้าวป่า ฯลฯ  นอกจากนี้ยังถือเป็นวาระการพบปะกันของเหล่านักเขียน นักคิด สหายร่วมอุดมการณ์ในอดีต และผู้ที่มีความสนใจในสุนทรียะธรรมชาติในภาคอีสานที่ถือโอกาสมาพบกันปีละหน

งานในปีนี้ พี่พลเล่าว่า พิเศษกว่าปีก่อนๆ เพราะถือเป็นกิจกรรมร่วมกันระหว่างงานกวีควงเคียวเดิมกับงานครบรอบการก่อตั้งกลุ่มเดฝวิลทอย ชาวบิ๊กไบค์ยโสธร กลุ่มคนรักรถมอเตอร์ไซต์ขนาดใหญ่ ซึ่งในระยะหลายปีที่ผ่านมา กลายมาเป็นหนึ่งแนวร่วมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และโครงการพัฒนาสร้างสาธารณประโยชน์ของแหล่งเรียนรู้แสงตะวันฯ

จากเช้าถึงบ่ายมีผู้คนทยอยเดินทางมาสมทบเป็นระยะ ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของกลุ่มคนรักรถมอเตอร์ไซต์จากจังหวัดต่างๆ ที่หอบหิ้วของฝากจากท้องถิ่นของตนมาตั้งวงสนทนาปราศรัยกันฉันคนคอเดียวกัน เรื่องเล่า การถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ คลอปนกับแดดอุ่นๆ ของทุ่งข้าวสีเหลืองอย่างกลมกลืน จนเวลาล่วงเลยไปอย่างรวดเร็ว ราวบ่ายแก่ๆ “พี่พล” เดินไปหยิบเคียวสิบกว่าเล่มมาวางไว้ที่โต๊ะข้างๆ ก่อนถามอย่างอารมณ์ดีว่า “ใครจะเริ่มเกี่ยวข้าวเป็นกลุ่มแรก”

กลุ่มเดฝวิลทอย ชาวบิ๊กไบค์ยโสธร ร่วมกี่ยวข้าวในกิจกรรม “ลงแขกเกี่ยวข้าว” ของแหล่งเรียนรู้แสงตะวันฯ

การเกี่ยวข้าวด้วยเคียวนั้น ผมเองในฐานะหลานชาวนายอมรับว่า ไม่เคยทำและขอพูดอย่างละอายใจเต็มทีว่า ทุกวันนี้นาตัวเองอยู่ตรงไหนของหมู่บ้านก็ยังไม่รู้ วันนี้คงเป็นครั้งแรกที่จะได้สัมผัสบรรยากาศการลงแขกเกี่ยวข้าวจริงๆ

ร่วมหนึ่งชั่วโมงเคียวถูกส่งต่อไปยังมือของหลายคนเพื่อให้ได้เกี่ยวกันทั่วถึง ข้าวกอแล้วกอเล่านอนลงกับพื้น ความคันคะเยอที่อธิบายไม่ถูกรุมเล่นงานผมจนแสบเพราะเผลอไปเกาอยู่บ่อยครั้ง แต่น่าแปลกที่เสียงหัวเราะ และคำหยอกเย้าไม่เคยเว้นช่วงจากจังหวะการก้าวเดินของพวกเราเหล่าชาวนาจำเป็นเลย

กลิ่นฟางข้าวหอมอย่างประหลาดและการทำงานหนักที่เหนื่อยยากก็คงไม่นับเป็นอะไรได้เมื่อมีแรงคนมากมายร่วมใจทำไปพร้อมกันทีละนิดละน้อย เมื่อการเกี่ยวข้าวของพวกเราสิ้นสุดลง ผมปลีกตัวจากวงสนทนามานั่งเขียนบทกวีสตึๆ ภายใต้อารมณ์ที่ล้นด้วยทรัพยากรประสบการณ์

 

“เคียวคอยใครจะมาคว้าไปควง

ข้าวเรียงรวงรอท่าจนฟ้าสาง

บัดนั้นรอยรถเกี่ยวย่ำเทียวทาง

คำราม ความอ้างว้างมาห่างไกล

ในพริบตาหญ้าใบก็ไหวลู่

นาแปลงเปล่าเปลี่ยนสู่ฤดูใหม่

เป็นทุ่งร้าง ไร้เรียวเคยเกี่ยวใจ

ไร้น้ำคำร่ำพิไรในอารมณ์

จากโมงยามงามขำเป็นต่ำต้อย

เมื่อจักรกลเคลื่อนคล้อยเข้าขี่ข่ม

ปิดตำนานเพลงเกี่ยวและเคียวคม

สะบั้นคู่คารมและลมเบา

สัมพันธ์คนต่อคนเคยด้นดั้น

ร่วมคืนวันผ่านหนาวซังข้าวเหงา

สัมพันธ์คำต่อคำย้ำเตือนเรา

ให้คอยเฝ้าเก็บงำด้วยจำยอม

เคียวคอยคนจะมาคว้าไปคู่

ไปเรียนรู้ สรวลเส ไปเห่กล่อม

กสิกรรมธรรมชาติวาดแมมมอม

ให้งามพร้อมถ้วนหน้าท้องนาไทย”

                            เมฆ’ ครึ่งฟ้า

โกเมศ มาศขาว หรือครูเสือ เจ้าของพื้นที่แหล่งเรียนรู้แสงตะวันฯ อ่านบทกวีและกล่าวทักทายผู้มาร่วมงาน

ฟ้าเริ่มค่ำแล้ว ลมหนาวหนาวอย่างที่คิด หากแต่กิจกรรมยังคงดำเนินต่อไป การสนทนา ดนตรี กวี ศิลปะ  ตามแนวคิดของผู้จัดกิจกรรมนั้น ปรากฏรูปบนเวทียกพื้นเตี้ยๆ นักร้อง นักดนตรี ผู้ชม และมัดฟางข้าวที่ดัดแปลงเป็นโต๊ะยาวไว้นั่ง

บทเพลงเพื่อชีวิตที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง แสงดาวแห่งศรัทธา คนภูเขา และเพลงคันทรี่ตะวันตก ฯลฯ ถูกบรรเลงขับกล่อม สลับกับการขึ้นอ่านบทกวีของเหล่านักเขียนจำนวนหนึ่ง

“ปีนี้นักเขียนมากันน้อย หลายคนติดธุระ” ครูเสือนั่งบนที่นั่งใกล้ผม นี่เป็นโอกาสดีที่ผมจะได้ถามถึงหลายเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของแหล่งเรียนรู้ของเขา “แถวนี้เป็นนาแต่ก่อน ตั้งแต่รุ่นพ่อ-แม่ของผม ในยุคที่มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายก้าวหน้า การทำงานมวลชนของ พคท. ซึ่งพวกเราก็มีความสัมพันธ์กันในขณะนั้น”

“ผมและพี่น้องเติบโตมาจากการบ่มเพาะความคิดเพื่อประชาชนในชนบทลักษณะนี้ เมื่อเราได้ทำงาน เราต่างออกไปทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในหลายๆ ที่ เรียกว่าไปพัฒนาแผ่นดินอื่น จนเมื่อมันเต็มแล้วมันก็เกิดความคิดว่าอยากจะกลับบ้าน อยากกลับมาทำที่บ้านให้ได้” ครูเสือเล่า

ครูเสือเล่าอีกว่า หลายสิบปีก่อนตนทำงานเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือกให้มูลนิธิเด็กโดยจัดตั้งโรงเรียนที่หมู่บ้านแม่มูล-มั่นยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนปากมูลจนทำให้ปลาจำนวนมากหายไปจากพื้นที่ ด้วยความยากลำบากในการทำมาหากินส่งผลให้เด็กในหมู่บ้านต้องละทิ้งการศึกษาหันเหไปทำงานรับจ้างเพื่อนำเงินมาเลี้ยงชีพและเจือจุนครอบครัว โรงเรียนที่ครูเสือตั้งขึ้นชื่อว่าโรงเรียนแสงตะวัน ในเวลาต่อมามีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการจัดตั้งตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการจึงต้องย้ายมาจัดตั้ง “แหล่งเรียนรู้แสงตะวัน” จ.ยโสธร เพื่อนำเด็กจากพื้นที่ปากมูลมาทำกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ที่นี่

“เรียนปรัชญา ศาสนา สังคม ญาณทัศน์ วัฒนธรรมชุมชน นี่แหละสโลแกนของเรา” ครูเสือจั่วหัวเรื่องพลางอธิบายว่า การเรียนรู้ตามประเด็นดังกล่าว ที่แหล่งเรียนรู้แสงตะวันใช้วิธีขับเคลื่อนกระบวนการผ่านการจัดค่ายพัฒนาเยาวชนทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมคนในอนาคต พัฒนาแนวคิดในกลุ่มเด็กๆ ให้มีความพร้อมต่อการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มุ่งเน้นวัตถุนิยมและละเลยวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม

“เราทำงานร่วมกับเด็ก ไม่ใช่สอนแต่แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ให้เด็กกล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด อีกอย่างคือยึดมั่นรากเหง้าของตน คือไม่ควรจะทิ้งถิ่น ปัญหาของระบบการศึกษาคือมันดึงเด็กๆ รุ่นใหม่เข้าไปทำงานกรุงเทพฯ แล้วก็ล้มเหลวกลับมา” ครูเสือสรุป

ดึกได้ที่ มิตรสหายหลายคนเริ่มมีอาการล้าลม ความนุ่มนวลของบรรยากาศและเสียงแลกเปลี่ยนสนทนากันของบรรดาศิลปิน นักคิด รอบตัวผม ทำให้ลมหนาวไม่ออกอาการเท่าใดนัก ความมืดและขวักไขว่ทำให้ไม่รู้ได้ว่าคนที่เดินสวนไปมาหรือแม้แต่เพื่อนร่วมโต๊ะเป็นใคร จนบางคนได้แนะนำให้รู้จัก ผมจึงพบว่าตัวเองนั่งอยู่กลางแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

คนหนึ่งซึ่งผมได้มีโอกาสพูดคุยด้วยคือ “สหายไผ่” หนึ่งในพี่น้องตระกูลมาศขาวเจ้าของพื้นที่และอดีตผู้เข้าร่วมในการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สหายไผ่เล่าว่า ในอดีตเขามีหน้าที่ประจำอยู่ในฝ่ายการศึกษาและถูกใช้ให้ลงมาส่งเมล์ (จดหมาย-ผู้เขียน) เป็นครั้งคราว การเดินทางส่งเมล์สมัยก่อนแม้แต่ระหว่างฐานที่มั่นต่างๆ ในเขตภูพานด้วยกันหรือการส่งเมล์ข้ามเขตจังหวัดล้วนต้องใช้การเดินเท้าทั้งสิ้น

เมื่อถูกถามถึงการต่อสู้ด้วยอาวุธ สหายไผ่ยิ้มขัน “มีแต่วิ่งหนี ผมไม่เคยไปยิงสู้หรอก มันสู้เขาไม่ได้ อาวุธของรัฐบาลเหนือกว่าของเรามาก” ฉากเฮลิคอปเตอร์กราดยิงกระสุนลงพรมผืนป่าที่ซ่อนไว้ด้วยหนุ่ม-สาวผู้มีความคิดก้าวหน้าในสมัยนั้น ถูกบ่งบรรยายจากปากของชายผิวคล้ำผู้ล่วงผ่านชีวิตวัยหนุ่มมาพอสมควร “ตอนนั้นผมยังอายุน้อยแต่จนเท่าทุกวันนี้ ช่วงชีวิตในป่า 2-3 ปี สั้นๆ ก็ยังเป็นความภาคภูมิใจที่สำคัญที่สุดของผม และไม่เคยเสียใจเลยกับการตัดสินใจของตัวเอง” สหายไผ่กล่าวย้ำหลายครั้งตลอดการสนทนา

หลายคนขอตัวกลับไปก่อน โต๊ะต่อโต๊ะเริ่มขยับรวมกัน “พี่ไข่” หรือประจิต แสงชาติ ประธานกลุ่มเดฝวิลทอย ชาวบิ๊กไบค์ยโสธร เล่าให้ผมฟังในช่วงคั่นบทเพลงหนึ่งว่า 5-6 ปีก่อน ตนและเพื่อนๆ ในกลุ่มเริ่มมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมของแหล่งเรียนรู้แสงตะวันแล้ว สาเหตุที่เลือกที่นี่เนื่องจากศรัทธาในตัวบุคคลรุ่นก่อตั้งยกตัวอย่างเช่น ครูเสือ ฯลฯ ว่าเป็นผู้มีใจทำงานเพื่อสังคม มุ่งเน้นที่จะพัฒนาท้องถิ่นในจังหวัดยโสธร สอดคล้องกับแนวคิดด้านการทำงานสาธารณประโยชน์ของทางกลุ่ม ที่ปกติก็ร่วมกันทำงาน สร้างวัด สร้างโรงเรียน รวมทั้งอนุเคราะห์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้มาเห็นถึงกระบวนการและแนวคิดของแหล่งเรียนรู้แสงตะวันจึงรู้สึกประทับใจและตกลงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานมาจนถึงปัจจุบัน

“ความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นมีอยู่ก่อนแล้ว พอมารู้จักพี่เสือ เมื่อเราได้คุยกันอย่างลึกซึ้ง มันจุดประกายให้ผม คือสังคมมันต้องมีคนเคลื่อน ต้องมีคนเคลื่อนไหวและเราต้องช่วยกัน” พี่ไข่กล่าว

เนื่องจากมีงานต่อ ผมเดินทางกลับก่อนกำหนดการ ซึ่งจะสิ้นสุดกิจกรรมจริงๆ ในเช้าวันรุ่งขึ้น ดึกสงัดแล้วไฟริมทางบางแห่งดับเป็นช่วงๆ บนถนนเส้นหนึ่งทางผ่าน อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โดยไม่ต้องพึ่งระบบจีพีเอส  ผมตัดสินใจแทนตัวเองง่ายๆ ว่า “แล้วจะต้องแวะกลับไปอีกให้ได้”

 

image_pdfimage_print