อุบลราชธานี – บอกเล่าเรื่องราวของชายชาวอุบลราชธานีที่ต้องแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่า เขาคือนักโทษการเมืองและต้องโทษคดีคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างความเข้าใจว่า เขาไม่ได้ต้องโทษคดีอาญาเฉกเช่นผู้ต้องขังคนอื่นที่สังคมประทับตราไว้ก่อนรู้จักว่า เป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ

“ผมรับโทษไปแล้ว ไม่น่าจะมีอะไรติดค้างกับผมอีกแล้ว” คือคำถามที่แสดงถึงความคับข้องใจของชายที่ชื่อว่า พฤทธ์นรินทร์ (สงวนนามสกุล) ต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปที่บ้านพักของเขาที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อไม่กี่วัน ก่อนการให้สัมภาษณ์กับเดอะอีสานเรคคอร์ด ทั้งที่คดีความที่เขาได้รับยุติลงเรียบร้อยแล้ว  

ฝันอยากมีอาชีพเป็นนักดนตรี

ความฝันในวัยเยาว์ของผู้ที่ต้องการเป็นนักดนตรีอาชีพเกิดขึ้นเมื่ออายุ 12 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี เขาเอากีตาร์มาให้เพื่อนช่วยสอนแต่ก็ยังเล่นไม่เป็น ปีต่อมาขึ้นชั้น ม.2 เขาได้เข้าร่วมวงโยธวาทิตของโรงเรียนตามคำเชิญของผู้ช่วยอาจารย์ โดยเล่นเครื่องเป่าทองเหลืองชื่อ “ยูโฟเนียม” ที่ไปเล่นเครื่องเป่าทั้งที่ชอบเล่นกีตาร์เนื่องจากการเข้าวงโยธวาทิตจะทำให้เขาได้เรียนรู้ทฤษฎีดนตรี และได้พบเจอคนที่ชอบเล่นดนตรีด้วยกัน

ระหว่างนั้นเขากับเพื่อนร่วมตั้งวงดนตรีเพื่อเล่นกันไปเรื่อยๆ มีสมาชิก 4-5 คน ถ้าเป็นวง 4 คน สมาชิกประกอบด้วย นักร้องนำ กีตาร์ลีด กีตาร์เบส และกลอง ถ้าเป็นวง 5 คนก็จะเพิ่มมือกีตาร์อีก 1 คน เพื่อนที่เล่นดนตรีมักเป็นคนชุดเดิม ส่วนนักร้องนำจะผลัดเปลี่ยนไปตามแนวเพลง ช่วง ม.ต้นวงของเขายังไม่ได้ไปประกวดที่ไหน แต่พอขึ้น ม.ปลายก็จะไปประกวดในระดับจังหวัด

พฤทธ์นรินทร์เล่นดนตรีจนเรียนจบชั้น ม.6 แล้วไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ แต่เรียนได้แค่ 1 เทอมก็ต้องออกจากการศึกษาเนื่องจากข้อติดขัดด้านค่าใช้จ่าย (พื้นฐานของพฤทธ์นรินทร์อยู่ในครอบครัวคนชั้นกลาง พ่อเป็นข้าราชการส่วนแม่เป็นแม่บ้านไม่ได้ทำงาน) เขาจึงกลับมาที่ จ.อุบลราชธานีเพื่อทำวงดนตรีร่วมกับเพื่อน แต่งเพลงเอง เล่นเพลงเอง วงนี้มีผลงานอัพโหลดขึ้นเว็ปไซต์ยูทิวบ์ (YouTube) ด้วย จากนั้นเขาไปเรียนหนังสือต่ออีกครั้งในระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จนจบ ปวส. แล้วได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี เมื่อปี 2552 เริ่มต้นเรียนชั้นปีที่ 3 ที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ใน จ.อุบลราชธานี (ปริญญาตรีต่อเนื่อง)

แต่เรียนไม่จบปริญญาตรีเพราะมีปัญหาส่วนตัว พฤทธ์นรินทร์จึงมาทำเกมออนไลน์ขาย โดยนำเกมที่หมดลิขสิทธิ์แล้วมาปรับปรุง เข้าสู่ปี 2555 เพื่อนที่เคยไปประกวดวงดนตรีสมัย ม.ปลาย แต่อยู่คนละวง มาชักชวนไปเล่นดนตรีตามร้านอาหารในจ.อุบลราชธานี เขาจึงได้มีโอกาสเล่นดนตรีอาชีพตามความฝัน เป็นเวลา 2-3 เดือนแต่ความฝันก็สิ้นสุดลงเพราะถูกจับกุม

“ได้เป็นนักดนตรีอาชีพแล้ว แต่ว่ามันสั้นเกินไป” เขาเล่า

จุดเริ่มความคิดทางการเมือง

ระหว่างเรียนชั้นปริญญาตรี ปีที่ 3 เทอมปลาย ซึ่งตรงกับช่วงปลายปี 2552 มีเพื่อนคนหนึ่งมาชวนไปชมการแสดงดนตรีของวงหินเหล็กไฟวงดนตรีแนวร๊อคเฮฟวี่เมทัลชื่อดังในช่วงปลายยุค 2530 ซึ่งมาแสดงที่ จ.อุบลราชธานี ในเวทีดังกล่าวยังมีปราศรัยของนักพูดเสื้อแดงอย่าง สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และนักพูดคนอื่นๆ ด้วย

“ตอนแรกคิดว่าคนเสื้อแดงอันตราย ป่าเถื่อน แต่พอไปดูไม่มีพิษมีภัย เป็นคนธรรมดาเหมือนกับเรา” อดีตนักโทษการเมืองผู้นี้ย้อนความหลัง และบอกว่า ตอนแรกคิดว่าถ้าคนเสื้อแดงชุมนุม คนใส่เสื้อสีอื่นเข้าไปจะโดนทำร้าย ตนไม่มีเสื้อสีแดงแต่ต้องไปดูวงหินเหล็กไฟจึงยืมเสื้อสีแดงของคนอื่นมาใส่ แต่จริงๆ แล้วการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่ได้มีความน่ากลัวและรุนแรงเหมือนข้อมูลที่เขาได้รับรู้มาก่อนหน้านี้

ระหว่างนั้นเขาได้ไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ที่ทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี อยู่เสมอ “เวลาไปก็ไปคนเดียว ไม่รู้จักใคร ไม่มีใครมาให้ค่าตอบแทน” จากการไปชุมนุมทำให้เกิดความคิดว่า ทำไมไปเลือกตั้งแล้วคนที่เลือกจึงไม่ได้เป็นรัฐบาล ตัวเขาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยุบสภา เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2549 แล้วมีการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 โดยเลือกพรรคไทยรักไทย แต่ก็มีการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549

“ประชาชนเลือกตั้งมา แต่ก็มายึดเอาไป” คือความคิดที่ทำให้เขาตาสว่าง

พฤทธ์นรินทร์ร่วมชุมนุมเรื่อยมาจนถึงวันที่ 19 พ.ค. 2553 ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่งทหารพร้อมกระสุนจริง เข้าสลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก วันนั้นตัวเขาไปที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีด้วยในช่วงเย็นซึ่งไฟได้มอดศาลากลางจนหมดแล้ว (ภายหลังจากพฤทธ์นรินทร์เข้าไปรับโทษในเรือนจำ เขาได้เจอกับผู้ที่ต้องโทษคดีเผาศาลากลาง ซึ่งผู้ต้องโทษคนดังกล่าวอ้างว่าเขาไม่ได้เป็นคนทำ เขายังได้เจอกับคนที่ยอมรับว่า เป็นคนเผาด้วย แต่คนคนนั้นกลับไม่ถูกดำเนินคดี)

ระหว่างที่ไปร่วมชุมนุมโดยอิสระกับคนเสื้อแดง เขาได้ติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมืองทางเว็ปไซต์ข่าวแห่งหนึ่งที่ไม่ใช่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ อีกไม่นานพอเว็บไซต์เฟซบุ๊คได้รับความนิยมเขาจึงเปลี่ยนมาติดตามข้อมูลทางเว็บไซต์เฟซบุ๊ค ต่อมาเมื่อได้รับข้อมูลมากขึ้น เขาจึงเปลี่ยนสถานะผู้อ่านข่าวเป็นผู้เผยแพร่ข่าวสารลงเว็บไซต์ สิ่งนี้เองทำให้เขาถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา

ถูกล่อให้โพสต์โดยสายลับ

ความโกรธแค้นการสลายการชุมนุม ปี 2553 ที่ยังคงอยู่ ประกอบกับการมีปัญหาส่วนตัวมากระทบต่ออารมณ์ความรู้สึก ทำให้พฤทธ์นรินทร์เริ่มโพสต์ข้อความโดยไม่ได้กลั่นกรอง ประกอบกับมีผู้มาตีสนิทชวนคุยด้วยโดยแชร์ข้อความของเขา และยังมาคุยทางกล่องข้อความส่วนตัว (Inbox) ทำให้เขาเกิดความไว้วางใจและคิดว่าคนที่มาชวนคุยคนดังกล่าวเป็นพวกเดียวกัน เขาจึงได้โพสต์ข้อความที่ทำให้ถูกฟ้องร้องในเฟซบุ๊ค ก่อนจะรู้ในภายหลังขณะถูกดำเนินคดีว่าบุคคลคนที่มาชวนคุยด้วยผู้นี้คือสายลับแต่ก็สายไปเสียแล้ว (พฤทธ์นรินทร์ทราบว่าบุคคลดังกล่าวคือสายลัยเนื่องจากข้อความที่ทั้งคู่ได้สนทนากันเป็นการส่วนตัวปรากฎเป็นหลักฐานระหว่างการพิจารณาคดี)

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2555 สายลับนัดพฤทธ์นรินทร์ไปกินข้าวโดยถามว่าอยู่ที่ไหน เขาก็ตอบว่าอยู่ที่บ้านพัก ขณะกำลังจะออกจากบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายก็จู่โจมเข้ามาจับกุมตัวเขาที่บ้านพัก ยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ก่อนตั้งข้อหาทำผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

การถูกจับกุมหลังเริ่มแสดงดนตรีอาชีพที่ร้านอาหารได้เพียงแค่ 2-3 เดือน ทำให้การสานต่อความฝันของเขาดับวูบลง

หลังจากถูกดำเนินคดีเขาได้ขอคำปรึกษาทางกฎหมายจาก ประเวศ ประภานุกูล ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2560 ประเวศถูกจับกุมและตกเป็นผู้ต้องหาคดี 112 ถูกคุมขังในเรือนจำ โดยทนายประเวศประกาศไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทย) ต่อมาศาลอนุญาตให้เขาประกันตัวได้โดยใช้หลักทรัพย์ 5 แสนบาท

เมื่อครบกำหนดฝากขังตามกฎหมาย คือ 7 ผัด 84 วัน พนักงานสอบสวนยังไม่มีความเห็นสั่งฟ้องคดี จึงมีการคืนเงินค่าประกันตัวให้ แล้วพฤทธ์นรินทร์ได้เดินทางเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ โดยทำงานบ้างว่างงานบ้าง ซึ่งตัวเขาเองไม่ทราบว่าพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องคดี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2556

ถูกจับคดี 112 เพราะรายงานตัวกับ คสช.

“ตอนเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ผมก็ไม่รู้นะว่ามีการยึดอำนาจ เพราะไม่ได้อ่านข่าวเลย เช่นเดียวกับปี 2549 เป็นเพราะช่วงนั้นไม่สนใจเรื่องการเมือง”  

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2557 พฤทธ์นรินทร์เพิ่งทราบข่าวจากญาติว่า เขาถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายวันแล้ว เขาจึงไปรายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ กรุงเทพฯ ล่าช้า แต่เจ้าหน้าที่ทหารบอกว่าไม่เป็นไรเรื่องจบแล้ว แต่ในเวลาต่อมา พฤทธ์นรินทร์กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองอุบลราชธานี ควบคุมตัวเขาตามหมายจับของศาลอุบลราชธานี เพื่อนำตัวเขาไปให้อัยการสั่งฟ้องศาลในคดี 112 และคดีคอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2557   

การดำเนินคดีพฤทธ์นรินทร์ที่จ.อุบลราชธานี ภาพจากสำนักข่าวประชาไท

พฤทธ์นรินทร์อธิบายเหตุผลของการรับสารภาพว่า เริ่มต้นมาจากการที่ทนายความได้พูดคุยกับอัยการได้ความว่า ให้รับสารภาพเรื่องจะได้จบอย่างรวดเร็ว “รับให้คดีสิ้นสุดลงเพื่อไปขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคล” เขาคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่นจึงยอมรับสารภาพ ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิพากษาจำคุก 13 ปี 22 เดือน โดยคดีนี้พฤทธ์นรินทร์ทำใจมาก่อนหน้าเป็นเวลา 2 ปีแล้วว่า เขาคงต้องติดคุก

เมื่ออยู่ในคุกเขามีความประพฤติดีจึงได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ หลังรับโทษจนครบกำหนดจึงพ้นโทษออกมาเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2560 ในวัย 31 ปี แต่เขาถูกอายัดตัวจากเรือนจำกลางอุบลราชธานี และถูกนำตัวไปยังกองบังคับการกองปราบ กรุงเทพฯ หมายจับของศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2557 ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรียกให้ไปรายงานตัว

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2560 ตำรวจนำตัวพฤทธ์นรินทร์ไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพ ฝากขัง ขณะที่ญาติและทนายความยื่นขอประกันตัวต่อศาล ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวพฤทธ์นรินทร์ชั่วคราวด้วยเงินสดจำนวน 30,000 บาท และให้มารายงานตัวต่อศาลทหารกรุงเทพ ทุกๆ 12 วัน

ต้นทุนเริ่มต้นชีวิตหดหายไป

อดีตนักโทษการเมืองผู้นี้เล่าว่า ก่อนออกจากเรือนจำเขาวางแผนจะลงทุนทำธุรกิจด้วยเงินก้อนหนึ่งที่ได้จากครอบครัว แต่จากการที่เขาถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน คำสั่ง คสช. เป็นคดีที่สอง แม้จะได้รับการประกันตัวออกมาแต่ก็ต้องไปรายงานตัวทุกๆ 12 วัน ทำให้เขาไม่มีจิตใจพร้อมที่จะทำงานและทำให้มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น เงินหลักหมื่นบาทจึงหมดลงไปกับการเดินทางของเขากับแม่เพื่อไปกลับอุบลราชธานี-กรุงเทพฯ ถึง 5 ครั้ง ซึ่งบางครั้งก็เดินทางด้วยรถไฟบางครั้งก็เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง

“ที่ถูก คสช.เรียกไปรายงานตัว ทั้งที่เป็นคนธรรมดา น่าจะเป็นเพราะผมถูกดำเนินคดี 112 และคอมพิวเตอร์” พฤทธ์นรินทร์กล่าว

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2560 อัยการศาลทหารกรุงเทพฯ นัดให้พฤทธิ์นรินทร์มาฟังคำสั่งฟ้องคดีดังกล่าว โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เพราะเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะดำเนินคดี

การสั่งไม่ฟ้องคดีด้วยเหตุผลว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอนั้น เขาคิดว่าคำสั่งนี้น่าจะเกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้คลี่คลายลงแล้ว สมมติว่าเป็นช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ เขาคงถูกฟ้องคดีเป็นแน่ เช่นเดียวกับผู้ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืน คำสั่ง คสช. คนอื่น อาทิ สมบัติ บุญงามอนงค์ และวรเจตน์ ภาคีรัตน์  

มีข้อมูลว่า หลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีการประกาศกฎอัยการศึก และออกประกาศ คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน สถานการณ์การแสดงออกเปลี่ยนแปลงไป ในปี 2557 มีคนถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับดังกล่าว อย่างน้อย 24 คน มีคนถูกดำเนินคดีข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ อย่างน้อย 7 คน และมีการนำพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาใช้อย่างน้อย 3 กรณี

เมื่อคดีความทั้ง 2 คดียุติลงเขาจึงออกหางานทำ ซึ่งใช้เวลาพอสมควรกว่าจะได้งานประจำที่สถานที่แห่งหนึ่ง การที่เขาเคยต้องโทษในเรือนจำทำให้การหายากว่าคนปกติ ชีวิตตอนนี้ก็ไม่ได้ติดตามการเมืองหรือโพสต์ข้อความเหมือนเช่นเดิม ส่วนการเติมเต็มความฝันในการเล่นดนตรีก็ยังคิดไว้อยู่   

“เวลานี้ก็ยังนำเครื่องดนตรีมาฝึกซ้อมอยู่ และหวังว่าจะแต่งเพลงแล้วอัพโหลดขึ้นยูทิวบ์เพื่อสร้างรายได้” พฤทธ์นรินทร์เล่าและบอกว่า เพลงที่จะทำให้ผู้อัพยูทิวบ์มีรายได้ต้องเป็นเพลงที่แต่งเองเท่านั้น หากนำเพลงของคนอื่นมาร้อง (cover) จะไม่ได้ค่าตอบแทนจะได้แค่ยอดวิว (จำนวนผู้ชม) เนื่องด้วยเงื่อนไขด้านลิขสิทธิ์ ฉะนั้นเขาจึงต้องแต่เพลงก่อนจะอัพขึ้นยูทิวบ์

ชายหนุ่มจาก จ.อุบลราชธานีผู้นี้ ทิ้งท้ายว่า การได้รับโทษกว่า 3 ปีเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เพราะอย่างน้อยก็เป็นโทษตามกฎหมาย ซึ่งเขาก็พ้นโทษและกลายเป็นคนบริสุทธิ์แล้ว

“แต่การที่เจ้าหน้าที่ยังไปที่บ้านของผมอีก ตอบหน่อยได้ไหมว่ามันคืออะไร”

หมายเหตุ เพื่อความเป็นส่วนตัวบทความนี้จึงไม่เปิดเผยใบหน้าและที่อยู่ของเขา

 

 

image_pdfimage_print