มหาสารคาม – ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมเผย เจ้าหน้าที่ใช้วิธีข่มขู่ประชาชนไม่ให้ชุมนุมรวมถึงไม่ให้ร่วมการสัมมนาวิชาการ ด้านสมาชิกสมัชชาคนจนฯ ร้อง ถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหาร 18 ครั้ง ย้ำหากให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติต้องคืนอำนาจให้ประชาชน

เจ้าหน้าที่กระจายตัวอยู่รอบอาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม สถานที่จัดงานเสวนา

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2560 มีการจัดเสวนาหัวข้อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอีสานในปัจจุบัน ภายใต้การสัมมนาวิชาการและเทศกาลสิทธิมนุษยชนอีสาน ครั้งที่ 8 เรื่อง “70 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน: สิทธิชุมชนอีสานอยู่ตรงไหน” ที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม

การเสวนาในครั้งนี้นอกจากมีผู้มาร่วมงานตามปกติจำนวนกว่า สามร้อยคนแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งในและนอกเครื่องแบบ อาทิ ทหาร ตำรวจ และปกครอง มาสังเกตการณ์จำนวนหลายสิบนาย ทั้งในห้องเสวนาและโดยรอบอาคารจัดงาน

ผู้ร่วมเสวนาเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอีสานในปัจจุบัน (จากซ้ายไปขวา) ประกอบด้วย อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน นายกฤษกร ศิลารักษ์ นายปราโมทย์ ผลภิญโญ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ และนายอลงกรณ์ อรรคแสง

นายอลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกคงรอง ม.มหาสารคาม ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า การจัดงานได้รับอนุญาตจากจังหวัดมหาสารคามแล้ว แต่มีเงื่อนไขหลายประการ อาทิ พาดพิงรัฐบาลให้ได้รับความเสียหาย ห้ามยุยงปลุกปั่น และห้ามพูดเรื่องการเมือง

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม กล่าวว่า กฎหมายชุมนุมสาธารณะมีความไม่เหมาะสม เนื่องจากกฎหมายเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถสลายการชุมนุมของประชาชนได้ระหว่างการรอคำสั่งจากศาล กฎหมายดังกล่าวจึงขัดต่อกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้

ส่วนสาเหตุที่มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกฎหมายดังกล่าวจำนวนไม่มาก นายเลิศศักดิ์ บอกว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังใช้วิธีการข่มขู่ประชาชนไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวอีกด้วย เช่นเดียวกับการขู่ตัวแทนชุมชนผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ ไม่ให้มาร่วมงานสัมมนาวิชาการในครั้งนี้

นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนอีสาน บอกว่า ปัจจุบันอำนาจการต่อรองของประชาชนลดลง และถูกกดทับโดยอำนาจรัฐ การร้องเรียนเมื่ือได้รับความเดือดร้อนถูกทำให้เหลือแค่ช่องทางเดียวคือผ่านศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย

สิ่งที่ประชาชนต้องการ นายสุวิทย์ กล่าวว่า ประชาชนอยากได้พื้นที่สาธารณะทางสังคมในการพูดคุยเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเดือดร้อนเพื่อให้ผู้มีอำนาจรับทราบถึงปัญหา ขณะที่การจัดเสวนาวิชาการที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามพูดซึ่งคือการที่ประชาชนถูกรัฐแทรกแซง

เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบการเข้าออกห้องเสวนาวิชาการ

นายกฤษกร ศิลารักษ์ สมาชิกสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เล่าว่า ตนถูกทหารเรียกตัวให้ไปปรับทัศนคติในค่ายทหารแล้ว 18 ครั้ง แต่ไปพบทหาร 11 ครั้ง สิ่งที่ตนได้รับคือการคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนร่วมกับชาวเขื่อนปากมูล

นายกฤษกรบอกอีกว่า ทุกปีต้องมีการเปิดประตูเขื่อนปากมูลเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยและ จ.อุบลราชธานี ไม่ยอมเปิดประตูเขื่อน ประชาชนจึงต้องรวมตัวเรียกร้องซึ่งเป็นอีกกรณีที่ทำให้ตนถูกปรับทัศนคติ

“ผมไม่ยอมรับการรัฐประหาร แต่ถ้าผมต้องเซ็นยอมรับ ผมเซ็นรับด้วยความไม่สมัครใจ” นายกฤษกรกล่าวถึงการลงนามในเอกสารของทหารหลังการปรับทัศนคติ

สมาชิกสมัชชาคนจนผู้นี้กล่าวอีกว่า สิทธิมนุษยชนตรงข้ามกับเผด็จการ สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่คู่กับประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียมกัน ดังนั้นถ้ารัฐบาลต้องการให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ สิ่งที่ต้องทำคือคืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน

 

 

image_pdfimage_print