ขอนแก่น – สืบพยานโจทก์ปากที่ 4 คดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ทนายความของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถามตำรวจชุดกุมนายจตุภัทร์ซึ่งเป็นพยานของคดีว่า การยึดอำนาจของ คสช. ขัดกับระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ แต่พยานไม่ให้ความเห็นใด พร้อมบอกว่า ถ้าบ้านเมืองปกติ จำเลยไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ที่ต้องจับกุมเพราะอยู่ในสภาวะไม่ปกติ

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2561 ที่ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น ศาลนัดสืบพยานโจทก์คดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร อัยการศาลทหารเป็นโจกท์ยื่นฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” กับพวกรวม 7 คน เป็นจำเลยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ฐานร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” จำเลย คดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ขณะเดินลงจากศาลทหาร มทบ.23 พร้อมนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดา และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดา หลังร่วมฟังการไต่สวนพยานโจทก์ปากที่ 4 เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2561

เมื่อเวลา 9.30 น. เจ้าหน้าที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นเบิกตัวนายจตุภัทร์มาส่งให้ศาล มทบ.23 เจ้าหน้าที่ทหารอนุญาตให้ครอบครัวนายจตุภัทร์และประชาชนที่มารอให้กำลังใจเข้าเยี่ยมได้เป็นเวลา 30 นาที โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย คอยสังเกตการณ์และถ่ายภาพผู้ที่มาให้กำลังใจ

นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์

ก่อนการสืบพยานโจกท์นัดนี้ ศาลทหาร มทบ.23 ยังนัดสอบคำให้การนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ จำเลยคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นฐานความผิดเดียวกับนายจตุภัทร์ นายภานุพงศ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่โจกท์ฟ้อง โดยขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยานในวันที่ 19 ก.พ. 2561 ที่ศาลทหาร มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น

การนัดสืบพยานครั้งนี้มี 2 ปาก ได้แก่ พยานโจกท์ปากที่ 4 คือ พ.ต.ท.นรวัฒน์ คำภิโล รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น (รอง ผกก.สส.สภ.เมืองขอนแก่น) และพยานโจกท์ปากที่ 5 คือ พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ พนักงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 จ.ขอนแก่น โดยพยานทั้ง 2 คนเป็นผู้ร่วมจับกุมนายจตุภัทร์และพวก

อัยการแถลงต่อศาลทหารว่า พยานโจกท์ปากที่ 5 ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ เนื่องจากติดราชการ ศาลจึงสั่งเลื่อนการสืบพยานปากที่ 5 ไปเป็นวันที่ 22 มี.ค. 2561

พ.ต.ท.นรวัฒน์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 เวลา 13.00 น. ตนได้รับการประสานงานจาก พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง หัวหน้ากองข่าว และพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี (ยศขณะนั้น) ผู้บังคับการกองร้อยรักษาความสงบ มทบ.23 ว่า จะมีนักศึกษากลุ่มดาวดินจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองเพื่อคัดค้านการรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายจตุภัทร์และพวกรวมกัน 7 คน ได้เดินทางมาที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฯ พร้อมด้วยป้ายผ้าจำนวน 5 แผ่น จากนั้นได้ชูป้ายผ้าซึ่งมีข้อความ “คัดค้านรัฐประหาร” และมีการตะโกนคำว่า “ไม่เอารัฐประหาร” หลายครั้ง

“เมื่อน้องๆ เริ่มทำกิจกรรม ผมกับเจ้าหน้าที่ทหารจึงแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เข้าเจรจาให้หยุดการกระทำดังกล่าว เพราะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่น้องๆ ทั้ง 7 คนไม่หยุดการกระทำ” พ.ต.ท.นรวัฒน์กล่าว

พ.ต.ท.นรวัฒน์กล่าวอีกว่า เมื่อนายจตุภัทร์และพวกไม่หยุด เจ้าหน้าที่ทหารจึงนำตัวทั้งหมดไปที่กองร้อยสารวัตรทหาร มทบ.23 เพื่อเข้าปรับทัศนคติใน มทบ.23 แต่นักศึกษาทั้งหมดไม่สมัครใจปรับทัศนคติ เจ้าหน้าที่ทหาร มทบ.23 จึงนำตัวนักศึกษาทั้งหมดไปดำเนินคดีที่ สภ.เมืองขอนแก่น ภายหลังจึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

หลังพยานโจกท์ปากที่ 4 ได้เบิกความเสร็จ นายอานนท์ นำภา ทนายความจำเลยได้ซักค้านพยานโจกท์

นายอานนท์ถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า เมื่อปี 2557 เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจการบริหารงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดย คสช. ต่อมา คสช. สั่งให้รัฐสภายุติการปฏิบัติหน้าที่ สั่งให้คณะรัฐมนตรียุติการปฏิบัติ และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกบฏในราชอาณาจักร การกระทำดังกล่าวเป็นปรปักษ์กับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พ.ต.ท.นรวัฒน์ตอบว่า ไม่ขอให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับคำถามนี้

นายอานนท์ถามอีกว่า พยานจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในวันพระราชทานกระบี่ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พยานเคยให้คำสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์พระมหากษัตริย์หรือไม่ว่า จะรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พ.ต.ท.นรวัฒน์ตอบว่า ได้ปฎิญาณและศรัทธาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

นายอานนท์ซักถามเพิ่มว่า เมื่อพยานปฏิญาณจริง แล้วการเกิดรัฐประหารปี 2557 ซึ่งเป็นการทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พยานได้ทำตามคำที่ปฏิญาณว่าจะรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้หรือไม่

“ผมไม่ขอแสดงความเห็นทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ผมจับกุมนายจตุภัทร์เพราะทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะนายจตุภัทร์และพวก ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.” พยานโจกท์ปากที่ 4 กล่าว

ทนายความจำเลยถามต่อว่า ในวันเกิดเหตุพยานทราบหรือไม่ว่ามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ปี 2557 ก่อนการทำกิจกรรมของจำเลยและพวก ซึ่งในมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ระบุว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคอันเดิมที่ถูกริดลอนไปก็ขอให้กลับมามีใหม่ได้ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557

“พยานได้วิเคราะห์หรือไม่ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. กับรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ปี 2557 ลำดับศักดิ์ของกฎหมายอันไหนใหญ่กว่ากัน” นายอานนท์ถามและเสริมว่า การที่พยานจับกุมจำเลยและพวกเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิ เสรีภาพของประชาชนเกินสมควรหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงออก

พ.ต.ท.นรวัฒน์กล่าวว่า ตอนจับกุมจำเลยและพวก ตนไม่ได้วิเคราะห์ถึงเรื่องเหล่านั้น เพราะตนปฏิบัติงานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมายเท่านั้น และตนเห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. มีศักดิ์ทางกฎหมายเหนือกว่าบางมาตราในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557

“ผมคิดว่าหากบ้านเมืองอยู่ในสภาวะปกติ การกระทำของจำเลยและพวกเป็นสิทธิทางการเมืองที่พึงกระทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ช่วงนั้นบ้านเมืองอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ การกระทำจึงผิดกฎหมาย” พ.ต.ท.นรวัฒน์ตอบ

นายอานนท์ นำภา ทนายความนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลยในคดีชูป้ายต้านรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังการพิจารณาคดี

นายอานนท์กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงเหตุผลที่ถามค้านพยานโจกท์เกี่ยวกับทัศนคติทางการเมือง เช่น การยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและขัดกับกฎหมายหรือไม่นั้นว่า พยานที่เป็นเจ้าหน้ารัฐหลายคดีที่ตนรับผิดชอบหลังรัฐประหารปี 2557 ไม่สามารถตอบคำถามจากจิตสำนึกที่ถูกต้องตามหลักการได้ เพราะไม่กล้าแสดงทัศนคติทางการเมืองที่ตรงข้ามกับรัฐบาล คสช. เสมือนเกรงกลัวคณะรัฐประหาร

 

image_pdfimage_print