ขอนแก่น – ตัวแทนภาคประชาชนเห็นพ้องว่า การรับฟังความคิดเห็นต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีขึ้นเพื่อประทับความชอบธรรมของแผนฯ โดยภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการยกร่างแผนฯ และเป็นแผนที่ไม่มีอนาคต ด้านวิทยากรดำเนินรายการ ยอมรับว่า คณะกรรมการจัดทำแผนฯ เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเพิ่มเติมข้อเสนอแนะลงในแผน

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2561 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น หรือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในระดับภาค เริ่มต้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มีการประชุมทั้งหมด 4 ภาค) ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น โดยเชิญตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคต่างๆ เข้าร่วมประชุม

การรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็น หลังคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ รวม 6 ด้าน จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นแล้วเสร็จ

การเสวนาเรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจากผู้แทน 6 คณะ ภาคเช้า ที่ห้องประชุมใหญ่ จัดงานโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2561

การรับฟังความคิดเห็นช่วงเช้าจัดขึ้นในห้องประชุมใหญ่ ประกอบด้วย การนำเสนอการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในภาพรวม และการเสวนาเรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจากผู้แทน 6 คณะ ตามกำหนดการการเสวนาต้องแล้วเสร็จในเวลา 12.00 น. แต่ปรากฎว่าการเสวนาล่าช้าออกไป ทำให้เหลือเวลาให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะไม่เกิน 20 นาที การรับฟังความเห็นในช่วงเช้าจึงเป็นการนำเสนอของคณะผู้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติถึงกว่าร้อยละ 80 มากกว่ารับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ช่วงบ่ายเป็นการประชุมกลุ่มย่อยมีทั้งหมด 6 ห้อง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่มี 6 ด้าน ผู้สื่อข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดเข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อยห้องที่ 5 เรื่องยุทธ์ศาสตร์ชาติด้านการเจริญเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีนายวีระ ภาคอุทัย ที่ปรึกษาสถาบันยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.ขอนแก่น เป็นวิทยากรดำเนินรายการ

นายวีระ ภาคอุทัย วิทยากรดำเนินรายการ การประชุมกลุ่มย่อยห้องที่ 5 ยุทธ์ศาสตร์ชาติด้านการเจริญเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รูปการรับฟังความคิดเห็นการกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอแนะว่า ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตที่ถูกแบ่งออกเป็น 6 ด้าน ต้องการเพิ่มด้านใดเข้ามาอีกเป็นด้านที่ 7 และด้านต่อไป โดยไม่ให้อภิปรายถึงยุทธศาสตร์ 6 ด้านที่ถูกกำหนดขึ้นมาแล้ว

โดยช่วงแรก ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอความคิดเห็นต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่วิทยากรดำเนินรายการให้พูดได้ในเวลาจำกัด และต้องการให้เสนอว่าด้านที่ 7 ที่ต้องการเพิ่มเติมคืออะไร โดยไม่เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ โดยระบุว่ามีเวลาจำกัด

ต่อมาเป็นการลงลึกในรายละเอียดของแผนในแต่ละด้าน ผู้ดำเนินรายการก็กำหนดให้พูดได้เฉพาะข้อเสนอแนะที่ต้องการเพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือจากข้อเสนอแนะเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางเช่นกัน

นางอรนุช ผลภิญโญ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ร่วมประชุมกลุ่มย่อยห้องที่ 5 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการเจริญเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นางอรนุช ผลภิญโญ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ให้สัมภาษณ์หลังร่วมประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง โดยระบุว่า การประชุมที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นการให้ภาคประชาชนมาประทับ (Stamp) ความชอบธรรมต่อการจัดทำร่างยุทธ์ศาสตร์ชาติ 20  ปี เนื่องจากในห้องประชุม วิทยากรบอกว่า ให้ผู้ร่วมประชุมเสนอความคิดเห็นขึ้นมาได้ก็จริง แต่ความคิดเห็นจะถูกบรรจุลงในแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์เป็นผู้พิจารณาเท่านั้น

“เราก็คิดว่า เราเข้ามาเพื่อสร้างความชอบธรรม เหมือนกับมารับฟัง มารองรับว่าได้จัดแล้วนะเวทีเนี๊ยะ” นางอรนุชกล่าวและเสริมว่า ร่างยุทธศาสตร์ชาติมีข้อบกพร่อง ฉะนั้น ภาคประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมและต้องมีเวลาพอสมควรในการพิจารณา

“ทำแผนเพื่อแผน ทำนโยบายเพื่อนโยบาย มันไม่ได้แก้ไขปัญหาระดับกลุ่มรากหญ้าโดยแท้จริง ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนด ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นคนร่วมกันยกร่าง” นางอรนุชกล่าว

สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานผู้นี้กล่าวอีกว่า มีข้อเสนอในที่ประชุมด้วย โดยต้องการให้เพิ่มเติมเรื่องยุทธศาสตร์ด้านป่าไม้และที่ดิน จากแผนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตที่มีอยู่แล้ว 6 ด้าน เพราะประเด็นป่าไม้และที่ดินเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีปัญหามานาน แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

นางอรนุชกล่าวถึงแผนร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 1 เรื่องสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว โดยข้อ 4 มีข้อเสนอให้มีพื้นป่าธรรมชาติ ร้อยละ 35 โดยบอกว่าเป็นความคิดที่ไร้เดียงสา เพราะพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีชุมชนดั้งเดิมอาศัยอยู่ก่อนแล้ว การประกาศพื้นที่ป่าจึงทับซ้อนกับพื้นที่เดิมของประชาชน ฉะนั้นการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ถึง ร้อยละ 35 โดยไม่ให้มีใครอาศัยอยู่ในป่าจึงเป็นไปไม่ได้ รัฐควรทำให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนคลี่คลายก่อน แล้วจึงค่อยวางแผนเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ ร้อยละ 35

“การเพิ่มพื้นที่ป่าจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเอาคนออกแล้วอนุรักษ์ป่าไว้ ขีดเส้นวงให้ป่าแล้วบอกว่า ตรงนี้ 30 เปอร์เซ็นต์แตะต้องไม่ได้” นางอรนุชกล่าว

สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานผู้นี้กล่าวถึงการแก้ไขความขัดแย้งกรณีป่าไม่และที่ดินว่า ภาคประชาชนเสนอให้มีการจัดทำโฉนดชุมชนในรูปแบบกรรมสิทธิร่วมกันของคนในชุมชน มีคณะกรรมการชุมชนเป็นผู้จัดการ มีกติกาในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน และมีการดูและรักษาป่าชุมชน การมีโฉนดชุมชนเหมาะสมกว่าการมีโฉนดของเอกชน (โฉนดที่ดินของบุคคลหรือนิติบุคคล) ที่สามารถซื้อขายที่ดินได้ ซึ่งจะทำให้ในอนาคต นายทุนสามารถมาเข้าบุกรุกป่าได้ตามเดิม

น.ส.นิธิมา โรจนวงศ์ ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบทร้อยเอ็ด

ผู้ร่วมประชุมกลุ่มย่อยห้องที่ 5 เรื่องยุทธ์ศาสตร์ชาติด้านการเจริญเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกคน คือ น.ส.นิธิมา โรจนวงศ์ ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบทร้อยเอ็ด ระบุว่า ไม่ควรจะจัดทำแผนระยะยาวถึง 20 ปีควรจัดทำแผน 5 ปีก็พอ เพราะความคิดและวิสัยทัศน์ในการจัดทำแผนนานถึง 20 ปี ยังมีน้อย เช่น แผนด้านที่ 1 ข้อ 4 เพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจฐานชีวภาพเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็นร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ตรงจุดนี้มีการกำหนดแค่การพัฒนา แต่ไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

น.ส.นิธิมากล่าวด้วยว่า มีการกำหนดในแผนให้ลดการใช้พลังงานถ่านหินและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน แต่ในแผนก็ยังไม่ระบุให้ชัดเจนว่า จะเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนและจะลดการใช้พลังงานถ่านหินอย่างไร

“มองว่าวิชั่น (วิสัยทัศน์) 20 ปี มันควรเป็นแบบว่า โลกอนาคตที่มีความหมายมากกว่านี้ กลัวหลานจะด่าว่า โลกอนาคตที่ยายๆ ไปออกแบบมาเป็นอย่างนี้เหรอ” น.ส.นิธิมากล่าว

ความคาดหวังต่อการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบทร้อยเอ็ด กล่าวว่า คิดว่าเป็นการรับฟังตามรูปแบบปกติ แต่รูปแบบการรับฟังความคิดเห็นผู้จัดการประชุมควรส่งแผนฯ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมอ่านก่อน พร้อมจัดเวทีประชาพิจารณ์ แต่รูปแบบที่เกิดขึ้นคือการประทับความถูกต้องเลย

น.ส.นิธิมาบอกอีกว่า วิธีการดำเนินรายการในห้องประชุมย่อยก็ไม่เหมาะสม เพราะระหว่างตนพูดก็ถูกขัดจังหวะ พอถูกขัดจังหวะก็ทำให้ไม่อยากพูดต่อ การนำเสนอแผนฯ ก็ไม่มีการนิยามความหมายของคำศัพท์ต่างๆ เช่น คำว่า “เศรษฐกิจฐานชีวภาพ” คืออะไร เป็นต้น ทำให้ไม่เกิดความชัดเจนและสับสน

นายวีระ วิทยากรดำเนินรายการ กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นมีทั้งหมด 4 ภาค เริ่มจากภาคอีสานเป็นภาคแรก หลังจากรับฟังความคิดเห็น สศช. จะประมวลข้อมูลเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะบรรจุความเห็นเรื่องใดลงไปในร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จากนั้นจะส่งร่างยุทธศาสตร์ชาติให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี จนถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สุดท้ายต้องนำแผนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ภายในวันที่ 18 ก.ค. 2561

นายวีระกล่าวอีกว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่ได้กำหนดล่วงหน้านานเกินไป เพราะแผนเป็นแค่แนวทางในการปฏิบัติ โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพแวดล้อม

“ไม่ใช่ 20 ปีต้องเป็นแบบนั้น แต่เป็นทิศทาง” นายวีระกล่าว

ทั้งนี้การรับฟังความคิดเห็นภาคอื่นๆ ประกอบด้วย ภาคเหนือ วันที่ 8 ก.พ. 2561 ที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ภาคกลาง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ กรุงเทพฯ และ ภาคใต้ วันที่ 22 ก.พ. 2561 ที่โรงแรมสยามออเรียนทัล จ.สงขลา

 

image_pdfimage_print