ขอนแก่น – ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีภาคอีสานเปิดเผย ตำรวจตามหาตัวถึงบ้านบิดา ที่จ.ศรีสะเกษ เพื่อถามถึงการร่วมกิจกรรม We Walk ซึ่งเป็นการคุกคาม ด้านผู้ประสานงานเครือข่ายป่าไม้และที่ดิน จ.สกลนคร ระบุ ตำรวจและทหารไปที่บ้านพักที่จ.ขอนแก่น 2 ครั้ง และเจ้าหน้าที่ยังเคยโทรศัพท์ไปหาลูกด้วย

การจัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ที่จุดหมายปลายทางคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2561 จากภาพเพจเฟซบุ๊ค People Go network

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2561 เพจเฟซบุ๊คศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่บทความเรื่อง สิทธิมนุษยชนบนการคุกคาม We Walk เดินมิตรภาพ ภาค 2 ซึ่งปรากฎว่า ผู้ร่วมกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ จากกรุงเทพฯ ถึง จ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 20 ม.ค. – 17 ก.พ. 2561 ส่วนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัวถึงบ้านพัก เดอะอีสานเรคคอร์ดจึงสอบถามผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึงกรณีดังกล่าว

“เจ้าหน้าที่ต้องฟังเสียงประชาชนบ้าง ถ้าไม่ได้รับผลกระทบจริงๆ คงไม่ทำแบบนี้ ที่ผ่านมา ทำมาทุกรูปแบบแล้ว แต่ยังไม่ฟังเสียงประชาชน น่าจะเห็นใจประชาชนบ้าง” นี่คือเสียงสะท้อนจากนางสาวธนัทกัญญ์ ธนัชอมรธนาศิริ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีภาคอีสาน จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2561 ถึงการเข้าร่วมกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” เพื่อสนับสนุนประเด็น “หลักประกันสุขภาพที่จะสามารถดูแลทุกคนในประเทศ” แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตามไปหาถึงบ้านพัก

นางสาวธนัทกัญญ์ลำดับเหตุการณ์ว่า เธอเข้าร่วมกิจกรรม We Walk ทั้งหมด 3 ช่วง ช่วงแรก วันที่ 20 ม.ค. 2561 ที่ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ช่วงที่สอง วันที่ 10 – 11 ก.พ. 2561 ที่อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น และช่วงที่สาม วันที่ 15 – 17 ก.พ. 2561 ที่อ.เมือง จ.ขอนแก่น การเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงสุดท้ายทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปตามหาตัวที่บ้านพักของบิดา ที่จ.ศรีสะเกษ

ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีภาคอีสานผู้นี้เล่าถึงถึงวิธีการตามหาตัวของเจ้าหน้าที่ว่า  เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2561 เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปทะเบียนรถยนต์ของตนที่นำมาจอดบริเวณวันป่าอดุลยาราม อ.เมือง จ.ขอนแก่น สถานที่จัดกิจกรรม We Walk กิจกรรมสุดท้ายในวันที่ 17 ก.พ. 2561 เจ้าหน้าที่ส่งรูปถ่ายทะเบียนรถยนต์ไปที่จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นที่อยู่ในทะเบียนรถยนต์ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งกายชุดสีกากีครึ่งท่อนไม่ยอมบอกชื่อจริง แต่บอกชื่อเล่นว่า “ดาบตำรวจแขก” ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรวังหิน จ.ศรีสะเกษ เดินทางไปที่บ้านพักของบิดา ในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 17 ก.พ. 2561

นางสาวธนัทกัญญ์ เปิดเผยอีกว่า ดาบตำรวจแขกได้สอบถามบิดาว่าตนไปร่วมกิจกรรม We Walk จริงหรือไม่ ซึ่งบิดาตอบว่า น่าจะไปจริง เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานของลูกสาวที่จ.ขอนแก่น ซึ่งทำงานรณรงค์ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ตำรวจจึงได้ขอถ่ายภาพบิดาและบ้านเลขที่ไว้ แล้วจึงเดินทางกลับ จากนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่มาตามหาตัวอีก

การร่วมกิจกรรม We Walk แล้วทำให้มีเจ้าหน้าที่ตามไปหาถึงที่บ้านพัก นางสาวธนัทกัญญ์ ระบุว่า ถือเป็นการคุกคามชนิดหนึ่ง ที่ทำให้บิดามารดาแตกตื่น และญาติพี่น้องคงคิดว่าตนไปกระทำความผิดมา ตำรวจจึงไปตามตัวถึงบ้าน

“ไม่เห็นด้วยที่จะลงไปตามที่บ้าน ถ้าจะสอบถามอะไร ทำไมไม่สอบถามเจ้าตัว ไม่สอบเราเอง เพราะคนที่บ้านไม่ได้รับรู้อะไรด้วยเลย กลัวเขาจะตกใจ” นางสาวธนัทกัญญ์กล่าว

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเคลื่อนไหวให้น้อยลง เพราะไม่ต้องการให้คนที่บ้านได้รับผลกระทบ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีภาคอีสานผู้นี้ บอกว่า คงไม่เคลื่อนไหวน้อยลง เพราะการเคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับตัวเองโดยตรง ตนเป็นผู้ที่กินยาต้านไวรัสเอชไอวีมานานกว่าสิบปี ถ้าแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยให้ผู้ใช้บัตรทองร่วมจ่าย ก็ไม่ทราบว่าต้องจ่ายสักเท่าไหร่ แต่คิดว่าคงมีราคาสูงจนตนไม่สามารถซื้อยามากินตลอดชีวิตได้

“ขอไม่ร่วมจ่ายเลย เนื่องจากเป็นสิทธิของประชาชนคนไทย ที่รัฐบาลต้องจ่ายให้อยู่แล้ว ทำไมเราต้องมาร่วมจ่ายด้วย เงินที่รัฐบาลจ่ายก็มาจากภาษีประชาชน” นางสาวธนัทกัญญ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังสถานีตำรวจภูธรวังหิน จ.ศรีสะเกษ ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเวรนายหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.วังหินได้เดินทางไปที่บ้านหลังดังกล่าวจริง ไปเพื่อสอบถามว่า เจ้าของบ้าน (บิดาของนางสาวธนัทกัญญ์) จะเข้าร่วมกิจกรรม We Walk หรือไม่ ซึ่งได้ตอบว่า ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม สาเหตุที่ไปที่บ้านหลังดังกล่าว เพราะทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ไปเพื่อสอบถามถึงวิธีการเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น โดยไม่ได้ห้ามร่วมกิจกรรมแต่อย่างใด ส่วนที่ต้องแต่งนอกเครื่องแบบไปเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน

นายสวาท อุปฮาด (คนที่ 2 จากซ้าย) ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าไม้และที่ดิน ในพื้นที่จ.สกลนคร

นายสวาท อุปฮาด ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าไม้และที่ดินในพื้นที่จ.สกลนคร และที่ปรึกษาการคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่น ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2561 ที่อ.พล จ.ขอนแก่น ถูกเจ้าหน้าที่ตามไปหาที่บ้านพักเช่นกัน

นายสวาทกล่าวว่า เมื่อค่ำวันที่ 6 ก.พ. 2561 มีผู้อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาหา เพื่อสอบถามว่าจะเข้าร่วมกิจกรรม We Walk หรือไม่ ซึ่งเวลานั้นตนยังไม่ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมวันไหน วันต่อมา (7 ก.พ. 2561) มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 2 นาย เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ เข้ามาที่บ้านพักตั้งอยู่หลังพระธาตุขามแก่น อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น แต่ตนไม่ได้เจอเพราะตนไม่อยู่บ้าน เช้าวันต่อมา (8 ก.พ. 2561) เจ้าหน้าที่ทหาร 6 นายเดินทางมาด้วยรถยนต์ 2 คัน มาตามหาตนที่บ้านพัก แต่ตนไม่อยู่บ้าน มีแต่ช่างซ่อมบ้าน 3 คนอยู่ที่บ้าน เจ้าหน้าที่ทหารจึงสอบถามช่างว่ามาทำอะไร พร้อมเข้าไปถ่ายรูปบ้านพักของตน และถามว่าตนไปที่ไหน แล้วจึงเดินทางกลับ

ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าไม้และที่ดินฯ ผู้นี้กล่าวอีกว่า หลังจากมีการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 มีเจ้าหน้าที่ทหารมาตามหาตัวโดยตลอด โดยเฉพาะในพื้นที่ทำงานที่จ.สกลนคร ช่วงแรกรู้สึกหวั่นไหวแต่ช่วงนี้ชินชาแล้ว เจ้าหน้าที่มักมาตามหาตัวเพื่อสอบถามว่าจะมีความเคลื่อนไหวอะไรบ้าง

“ส่วนตัวพอเข้าใจ แต่ลูกเมียกลัว ลูกก็โดนถาม โทรศัพท์ไปหาลูก ก็ค่อนข้างหวั่นไหวเรื่องครอบครัว ลูกเมียก็คิด ก็เป็นห่วง” นายสวาทกล่าวและฝากถึงรัฐบาลว่า การคุกคามในลักษณะนี้แม้จะยังไม่มีเรื่องเกิดขึ้น แต่ก็ส่งผลทางจิตใจต่อประชาชน อยากให้รัฐบาลแยกแยะให้ถูก ระหว่างเรื่องที่เป็นภัยต่อความมั่นคงกับการทำหน้าที่เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ประชาชน

“ขอให้รัฐบาลเข้าใจการใช้สิทธิเสรีภาพประชาชนด้วย” นายสวาทกล่าวทิ้งท้าย

นางสาวเยาวลักษ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ถือเป็นการคุกคามประชาชน เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมายรองรับเจ้าหน้าที่ให้ไปพูดคุยกับประชาชน การไปหาที่บ้านถือเป็นการใช้จิตวิทยาเพื่อทำให้ประชาชนหวาดกลัว

“การกระทำของเจ้าหน้าที่ 4 ปีหลังรัฐประหารใช้วิธีอย่างนี้มาโดยตลอด บรรยากาศแบบนี้คือ การคุกคามและกดดันไม่ให้ชาวบ้านใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก” นางสาวเยาวลักษ์กล่าว

หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวด้วยว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่มี 2 แบบ คือ การพูดคุยโดยตรงกับผู้ทำกิจกรรม และการพูดคุยกับญาติพี่น้องของผู้ทำกิจกรรม ซึ่งการพูดคุยกับญาติพี่น้องถือเป็นการกดดันครอบครัวเพื่อให้เกิดความกังวล โดยจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่น่าจะปฏิบัติเช่นนี้ แต่ 4 ปีที่ผ่านมากองทัพก็ยังใช้การกดดันผ่านญาติพี่น้องมาโดยตลอด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความาตึงเตรียดระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนมากกว่าเดิม

ส่วนช่องทางการร้องเรียนของประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่ไปพบที่บ้าน นางสาวเยาวลักษ์ กล่าวว่า บรรยากาศการใช้กฎหมายหลังรัฐประหารไม่ปกติ หากประชาชนไปแจ้งความ ตำรวจก็อาจจะไม่รับแจ้งความ หรืออาจจะแค่ลงบันทึกประจำ คงต้องรอให้มีบรรยากาศประชาธิปไตยจึงจะสามารถดำเนินคดีย้อนหลังกับเจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้ ด้านทางออกของประชาชนในเวลานี้คือ ต้องสร้างความเข้มแข็งและมีกำลังใจ

 

การจับกุม/ควบคุมตัวมิชอบ

เยาวชนอายุ 14 ปี และวัยรุ่น รวมถึงผู้ใหญ่ รวม 11 คน กรณีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 2-6 วัน ก่อนส่งตัว 9 คน ดำเนินคดี

เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม

มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงของบุคคลหลายกลุ่มโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบด้วย  นักศึกษา/นักกิจกรรม, คนเสื้อแดง/นักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตย, อดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง, ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย  และเวทีเสวนาวิชาการ

ศาลทหารและกระบวนการยุติธรรม

มีการยกกฎหมายขึ้นอ้างเพื่อให้ยุติการแสดงออก ในบางพื้นที่เจ้าหน้าที่ก็ใช้กฎหมายดำเนินคดีประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกเหล่านี้ เพื่อผลในการควบคุมประชาชนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย

*ข้อมูลจากการรวบรวมของเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน

 

image_pdfimage_print