โดยภานุภพ ยุตกิจ

อุบลราชธานี – สมัชชาเกษตรกรภาคอีสานร้องเรียนคณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาฯ ให้เร่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อแก้ไขผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนทับซ้อนที่ดินของราษฎร 4 จังหวัดภาคอีสาน หลังเสนอเรื่องตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วแต่ไม่คืบหน้า

ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน – ห้วยสำราญ จ.สุรินทร์ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของสมัชชาเกษตรกร ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2561

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2561 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนกลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน หรือ สกอ. จำนวน 50 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของสมัชชาเกษตรกร เพื่อขอให้เร่งรัดการประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ราษฎรอ้างว่าได้รับผลกระทบจากการประกาศป่าสงวนแห่งชาติ จนเป็นเหตุให้ราษฎรถูกเจ้าหน้าที่ขับไล่ออกจากที่ดินทำกินของตัวเอง ทั้งที่ราษฎรเหล่านี้ได้ครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ

โดยตัวแทนกลุ่ม สกอ. ทั้งหมด 50 ที่เข้ายื่นหนังสือวันนี้เป็นตัวแทนจากราษฎรที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 4 จังหวัด ได้แก่ ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยยอดมน จ.อุบลราชธานี ผู้ได้รับผลกระทบการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูแลนคา และเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตน จ.ชัยภูมิ ผู้ได้รับผลกระทบการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน – ห้วยสำราญ จ.สุรินทร์ และผู้ได้รับผลกระทบการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง จ.นครราชสีมา

นายศักดา กาญจนเสน ประธานสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน แฟ้มภาพ

นายศักดา กาญจนเสน ประธานสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน กล่าวว่า การประกาศพื้นที่ป่าของรัฐในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ไม่ได้สำรวจอย่างรอบคอบว่ามีราษฎรอาศัยทำประโยชน์อยู่ก่อนหรือไม่ จึงเป็นเหตุให้ราษฎรถูกไล่รื้อ ขับไล่ออกจากที่ดินของตนเอง บางรายถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุก และถูกจับกุมดำเนินคดี

“สิ่งเหล่านี้เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิของชาวบ้าน ที่มีผลมาจากการกำหนดนโยบายของรัฐบาล” นายศักดากล่าว

นอกจากนี้ นายศักดายังกล่าวเสริมอีกว่า จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศบนเวทีศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2560 ว่าจะคุ้มครอง เคารพ เยียวยา แก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนนั้น ฉะนั้นจึงถือว่า ปัญหาที่ราษฎร 4 จังหวัดได้รับ ถือเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิทำกิน จึงสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการทางปกครอง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพิกถอนพื้นที่ป่าบางส่วนที่ทับกับพื้นที่ของราษฎร

ส่วนที่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเพิกถอนเขตป่าสงวนฯ นั้น นายศักดากล่าวว่า เป็นเพราะการยกเลิกเขตป่าของรัฐเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี โดยหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเพิกถอนเขตป่าสงวนฯ แล้ว กฎกระทรวงต้องออกประกาศให้ยกเลิกเขตป่าของรัฐต่อไป ทั้งนี้ ราษฎรทั้ง 4 จังหวัดได้เสนอเรื่องถึงคณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของสมัชชาเกษตรกร ไปตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. 2560 แล้ว แต่ยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานในระดับพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ราษฎรทั้ง 4 จังหวัดจึงเห็นสมควรให้คณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของสมัชชาเกษตรกรเร่งแก้ไขปัญหาให้ราษฎร

นางสมปอง ยุตกิจ (เสื้อลายดอก) ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติยอดมน จ.อุบลราชธานี แฟ้มภาพ

นางสมปอง ยุตกิจ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 ม.11 ต.ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติยอดมน และถูกเจ้าหน้าที่ของสวนป่าพิบูลมังสาหาร องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ขับไล่ออกจากที่ดินของตนเอง กล่าวว่า เดิมครอบครัวของตนอาศัยอยู่ในเมืองลำโดม อ.พิบูลมังสาหาร ต่อมาในปี 2511 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ในสมัยนั้น ได้ก่อสร้างเขื่อนสิรินธรจนเป็นเหตุให้เมืองลำโดมที่มีราษฎรมากกว่า 1,000 ครอบครัว ต้องอพยพขึ้นมาอาศัยอยู่ในป่าตามแนวเขตชายแดนไทย – สปป.ลาว และทำการเกษตรอย่างพอเพียงเรื่อยมา

นางสมปองกล่าวด้วยว่า ต่อมาในปี 2517 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ  รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในสมัยนั้น ได้ลงนามออกกฎกระทรวงที่ 707 (พ.ศ.2517) ประกาศให้ป่าที่มีราษฎรอาศัยอยู่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่มีการสำรวจและประกาศให้ราษฎรทราบ จึงทำให้ราษฎรขาดสิทธิที่จะครอบครองที่ดิน ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

ทั้งนี้ มาตรา12 ระบุว่า “บุคคลใดอ้างว่ามีสิทธิหรือทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติใดอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ ให้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนั้นใช้บังคับ ถ้าไม่ยื่นคำร้องภายในเก้าสิบวันดังกล่าวให้ถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น”

“ในเมื่ออำเภอไม่ได้ประกาศแจ้งให้ราษฎรทราบ ราษฎรจึงไม่ได้ไปยื่นคำร้อง จึงทำให้ขาดสิทธิตามกฎหมาย” นางสมปองกล่าว

นางสมปองเปิดเผยว่า ในปี 2519 อ.อ.ป. ได้ก่อตั้งสวนป่าพิบูลมังสาหาร และเข้าปลูกไม้ยูคาลิปตัสตามเงื่อนไขสัมปทาน อ.อ.ป.จึงได้เริ่มขับไล่ราษฎรออกจากที่ดิน เจ้าหน้าที่ของ อ.อ.ป.ในขณะนั้นได้ข่มขู่ให้ราษฎรสมัครเข้าเป็นสมาชิกปลูกป่าถึงจะมีสิทธิทำกินต่อไปได้

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติยอดมนผู้นี้กล่าวว่า เมื่อปี 2525 รัฐบาลของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ได้ประกาศให้ราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อเสียภาษี หรือ แบบ ภ.บ.ท.5 ซึ่งมีราษฎรจำนวนมากได้ไปยื่นแบบ ภ.บ.ท.5 และทำประโยชน์ที่ดินเรื่อยมา โดยในปี 2535 อ.อ.ป. ขยายพื้นที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสจนเต็มพื้นที่กว่า 8,602 ไร่ ตามเนื้อที่ที่ได้สัมปทานมาตั้งแต่ครั้งแรก ทำให้ราษฎรที่เหลือถูกขับไล่ออกจากที่ดิน มีการรวมตัวเรียกร้องให้ อ.อ.ป.คืนที่ดินให้ราษฎรในช่วงต้นปี 2543 และผ่านมากว่า 18 ปี ปัญหานี้ไม่มีความชัดเจนว่าจะแก้ไขอย่างไร

นายโอชิ อรุณราม ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน – ห้วยสำราญ จ.สุรินทร์

นายโอชิ อรุณราม อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 26 ม.11 ต.กาบเชิง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน – ห้วยสำราญ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า มีการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ในปี 2536 ทับที่ดินของราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อน ราษฎรมีเอกสารใบแจ้งการครอบครองที่ดิน หรือ สค.1 เป็นหลักฐานยืนยัน แต่เมื่อราษฎรนำเอกสารไปขอออกโฉนดที่ดิน กลับถูกเจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ คัดค้านจึงทำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินไม่กล้าที่จะออกโฉนดให้กับราษฎร

นายโอชิกล่าวอีกว่า เมื่อเกิดเป็นปัญหาข้อพิพาทขึ้นมา ราษฎรที่ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายจึงได้ไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่ปี 2540 แต่ก็เป็นเพียงการรับเรื่องร้องเรียน ไม่มีความชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาข้อพิพาทนี้อย่างไร เมื่อปี 2556 ราษฎรได้มายื่นเรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้เดินทางมาติดตามความคืบหน้ามาตลอดจนปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจน

“การประกาศป่าทับที่ชาวบ้าน จะให้ชาวบ้านไปอยู่ตรงไหน แล้วเราจะพึ่งใคร จากการเดินทางติดตามเรื่องจากรัฐบาลก็มีความหวังน้อย” นายโอชิกล่าว

ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน – ห้วยสำราญ จ.สุรินทร์ ผู้นี้ กล่าวอีกว่า การเดินทางมาติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่กรุงเทพฯ เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากราษฎรเป็นผู้มีรายได้น้อยไม่มีทุนทรัพย์ ตนจึงขอร้องให้รัฐบาลดูและประชาชนชาวรากหญ้าบ้าง เพราะตราบจนถึงทุกวันนี้ พวกตนยังไม่ได้รับความเป็นธรรมใดๆ ตนขอให้คณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของสมัชชาเกษตรกร เร่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อเรียกร้องของราษฎร

ภานุภพ ยุตกิจ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

image_pdfimage_print