มหาสารคาม – อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ม.มหาสารคาม เปิดเผยว่า เคยเสนอให้อาจารย์นิเทศก์การฝึกงานของ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา กันนิสิตออกจากการทำผิดกฎหมาย กรณีปลอมลายมือชื่อ แต่ไม่มีการดำเนินการ พร้อมระบุว่า น.ส.ปณิดาถูกอาจารย์กดดันให้เปิดตัวว่าเป็นคนร้องเรียนทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ต่อ ป.ป.ท.

จากกรณี น.ส.ปณิดา ยศปัญญา นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นิสิตฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยการทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากไร้ กรณีถูกผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ของศูนย์คุ้มครอง ฯ บังคับให้ปลอมลายมือชื่อเพื่อเบิกเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และทุนประกอบอาชีพ เป็นจำนวนเงินกว่า 6,900,000 บาท ซึ่งทำให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขยายผลตรวจสอบการทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ จนพบมีการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ผิดปกติแล้ว 24 จังหวัด

การกระทำที่กล้าหาญของนิสิตผู้นี้ได้รับการชื่นชม พร้อมมีการมอบเกียรติบัตรและโล่ประกาศเกียรติคุณจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมากมาย

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ (คนที่ 2 จากซ้าย) อาจารย์สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม – ภาพจากแฟ้ม

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2561 นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาขาวิชาเดียวกับ น.ส.ปณิดา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2560 อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคนหนึ่งได้เรียกประชุมอาจารย์ในภาควิชาพร้อมกับน.ส.ปณิดาและนิสิตฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น รวม 4 คน เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการถูกบังคับให้ปลอมลายมือชื่อ ซึ่งตนเข้าร่วมประชุมด้วยและได้เห็นหลักฐานเกี่ยวกับการทุจริตจากนิสิต

นายไชยณรงค์กล่าวว่า หลักฐานที่นิสิตนำมาให้ที่ประชุมดูมีความชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตนจึงบอกต่อที่ประชุมว่า ต้องนำนิสิตทั้งหมดออกจากการทำผิดกฎหมายให้เร็วที่สุด ตนและอาจารย์อีกคนจึงแนะนำให้อาจารย์นิเทศก์การฝึกงาน (อาจารย์ที่ดูแลนิสิตช่วงการฝึกงาน) ของนิสิตทั้งหมดและอาจารย์ในภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคนหนึ่ง นำนิสิตไปปรึกษากับนิติกรของมหาวิทยาลัยเพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องกฎหมาย พานิสิตเข้าแจ้งความและลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ รวมถึงเปลี่ยนสถานที่ฝึกงานให้กับนิสิตทั้ง 4 คน

“หลังจากประชุมกันในวันนั้น เรื่องนี้ก็เงียบไป ผมได้ถามอาจารย์นิเทศก์ฝึกงานของปณิดา อาจารย์ท่านนั้นก็บอกว่าเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น ผมยังสอบถามนิสิตทั้ง 4 คนว่าเรื่องนี้ถึงไหนแล้ว นิสิตทั้ง 4 คนบอกว่าไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ผมก็ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้อีก” นายไชยณรงค์กล่าว

นายไชยณรงค์กล่าวอีกว่า จนกระทั่งช่วงเที่ยงวันที่ 8 ก.พ. 2561 น.ส.ปณิดาโทรศัพท์มาหาตนพร้อมบอกว่า ทนไม่ไหว เพราะถูกอาจารย์ในภาควิชาคนหนึ่งเรียกพบพร้อมกับนิสิตที่เหลือรวม 4 คน โดยมีการเรียกพบ 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2561 จากกรณีที่มีหนังสือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ส่งมาถึงมหาวิทยาลัย เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการฝึกงานของนิสิตที่ฝึกงานอยู่ที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น โดยอาจารย์คนดังกล่าวสอบถามนิสิตทั้งหมดว่าใครเป็นคนร้องเรียนเรื่องนี้

“ปณิดาเล่าให้ผมฟังอีกว่า อาจารย์คนดังกล่าวยังบอกว่าทำไมไม่เรียนให้จบก่อน ค่อยไปร้องเรียนเรื่องนี้ พร้อมทั้งบอกว่านิสิตทุกคนเป็นเด็กเลี้ยงแกะ โดยช่วงที่อาจารย์คนนั้นพูด ปณิดาบอกมีการมองมาที่ตน จากนั้นก็เดินมาตีที่หลังอีก 2 ครั้ง จนปณิดารู้สึกชา” นายไชยณรงค์กล่าว

นายไชยณรงค์กล่าวอีกว่า น.ส.ปณิดาเล่าให้ตนฟังต่อว่า ครั้งที่สองอาจารย์คนเดิมเรียกพบนิสิตทั้งหมดอีกครั้งในวันที่ 8 ม.ค. 2561 โดยสอบถามว่าใครเป็นคนร้องเรียนเรื่องนี้อีกครั้ง และครั้งที่สามคือ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2561 มีจดหมายจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่งถึง น.ส.ปณิดา เพื่อเรียกมาสอบสวนอีกครั้ง น.ส.ปณิดาจึงทนไม่ไหวและโทรศัพท์มาแจ้งตนในวันที่ 8 ก.พ. 2561

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชนผู้นี้เปิดเผยอีกว่า น.ส.ปณิดาบอกกับตนว่าเป็นคนร้องเรียนเรื่องนี้ถึง ป.ป.ท. เอง ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2560 แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ น.ส.ปณิดากำลังฝึกงานอยู่ โดยในหนังสือร้องเรียนนั้น น.ส.ปณิดายังขอให้ ป.ป.ท. ไม่เปิดเผยรายชื่อผู้ร้องเรียนเพื่อความปลอดภัยอีกด้วย ทำให้ตนเกิดคำถามว่า ทำไมคณะถึงเรียก น.ส.ปณิดาและนิสิตที่ฝึกงานไปสอบถามว่าใครเป็นคนร้องเรียนเรื่อง ทั้งๆ ที่ น.ส.ปณิดาขอให้ ป.ป.ท. ไม่เปิดเผยรายชื่อผู้ร้องเรียน ซึ่งเท่ากับว่ามีการไม่ปกป้องนิสิต ทั้งที่นิสิตทำในสิ่งที่ถูกต้อง

นายไชยณรงค์กล่าวอีกว่า น.ส.ปณิดายังเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ตนฟังอีกว่า ตั้งแต่อาจารย์ในภาควิชาประชุมกันเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2560 วันต่อมา อาจารย์ในภาควิชาคนหนึ่งได้เรียก น.ส.ปณิดาไปพบกับคู่กรณีที่เป็นผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ที่บังคับให้ปลอมลายมือชื่อ เพื่อไกล่เกลี่ยยอมความ แต่ น.ส.ปณิดาไม่ยอม อาจารย์คนดังกล่าวจึงบังคับให้ น.ส.ปณิดาก้มกราบขอขมาคู่กรณี และอาจารย์ยังบอกอีกว่าห้ามนำเรื่องนี้ไปบอกอาจารย์ไชยณรงค์ (เศรษฐเชื้อ)

“ผมเสียใจมาก ที่การประชุมอาจารย์ในภาควิชาในวันนั้นไม่ได้ทำตามสิ่งที่ผมแนะนำตั้งแต่แรก และยังปิดบังไม่ให้ผมรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ด้วย หากผมรู้ตั้งแต่แรก ผมจะปกป้องลูกศิษย์ ผมจะไม่ให้ลูกศิษย์กราบขอโทษคนที่กระทำผิดเด็ดขาด” นายไชยณรงค์กล่าว

นายไชยณรงค์กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2561 น.ส.ปณิดาโทรศัพท์มาหาตนอีกครั้งพร้อมบอกว่า มีบุคคลแปลกหน้าขับรถเก๋งวนเวียนอยู่บริเวณหน้าบ้านพักของ น.ส.ปณิดา ที่ จ.ขอนแก่น พร้อมทั้งสอบถามหาคนชื่อว่า “ปณิดา” โดยไม่แสดงตัวว่าเป็นใคร ซึ่งในขณะนั้นมีสื่อมวลชนอยู่ด้วย ตนจึงแนะนำให้ น.ส.ปณิดา ไปแจ้งความและลงบันทึกประจำพร้อมสื่อมวลชน ที่สถานีตำรวจภูธรบ้านเป็ด จ.ขอนแก่น น.ส.ปณิดายังขอให้ตนช่วยหาทนายความเพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายอีกด้วย

“ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็คอยให้กำลังใจ  และช่วยเหลือปณิดาเท่าที่จะทำได้ ในฐานะอาจารย์ในสาขาวิชาคนหนึ่งของปณิดา” นายไชยณรงค์กล่าว

image_pdfimage_print