ขอนแก่น – อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ระบุ การเลือกตั้งมีความหมายต่อคนอีสานเพราะจะทำให้คนอีสานกลับมามีอำนาจในทางประชาธิปไตย ส่วนวันเลือกตั้งยังสามารถเลื่อนออกไปได้ตามความต้องการของผู้มีอำนาจ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเดอะอีสานเรคคอร์ดในโอกาสมาร่วมงานเสวนาที่จังหวัดขอนแก่นถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ว่า การเลือกตั้งมีความหมายสำหรับคนทุกคน แต่สำหรับภาคอีสานการเลือกตั้งที่จะถึงมีความหมายอย่างมาก เนื่องจากการยึดอำนาจครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ภาคอีสานเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากเป็นภาคที่มี ส.ส.มากที่สุด ฉะนั้นการกลับมาสู่การเลือกตั้งจึงมีความหมายอย่างมากสำหรับคนอีสาน เพราะจะทำให้คนอีสานกลับมามีสิทธิมีเสียงและมีอำนาจในทางประชาธิปไตยอีกครั้ง

นายพิชญ์กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้งมี 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยทางกฎหมายและปัจจัยทางการเมือง แต่ปัจจัยทางกฎหมายไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่กำหนดว่าวันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า เนื่องจากการกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจทางการเมือง ที่ประกาศตนเองเป็นนักการเมืองแล้ว [พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.] ที่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเมื่อไหร่ก็ได้ เช่น การห้ามพรรคการเมืองเก่าดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ฉะนั้นเมื่อพูดถึงวันเลือกตั้งจะพูดถึงปัจจัยทางกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งมีเจตจำนงทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง

ส่วนความหวังต่อพรรคการเมืองใหม่ นายพิชญ์กล่าวว่า ความหวังเดียวต่อพรรคการเมืองใหม่คือ การทำให้การเมืองอยู่ในกติกาจากพลังของทุกฝ่ายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นพลังก้าวหน้าหรือพลังอนุรักษ์นิยม ที่ต่างเลือกใช้การเลือกตั้งเป็นเกมเข้าสู่อำนาจ ต่างจาก ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาซึ่งกฎกติกาการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เนื่องจากมีการลดอำนาจของนักการเมืองแล้วแทนที่ด้วยอำนาจของ คสช. และกองทัพ

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์คนนี้กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้ามองในแง่บวกการมีพรรคการเมืองใหม่แสดงว่าการเลือกตั้งคือทางออก แต่ถ้ามองในแง่ลบ การตั้งพรรคใหม่หลายพรรคไม่ได้มีมุมมองในการเล่นการเมืองในแบบประนีประนอมหรืออยู่ร่วมกัน แต่เป็นมุมมองว่า ถ้าพรรคของตนเองชนะแล้วจะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ตนเองต้องการเท่านั้น  

image_pdfimage_print