โดย ปัญญา คำลาภ

การเรียกร้องของสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อเท็จจริง เรื่องชดเชยการสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งถือเป็นค่าชดเชยรูปแบบใหม่ จากแต่เดิมมีเฉพาะค่าชดเชยค่าที่ดินที่สูญเสียจากโครงการภาครัฐเท่านั้น

การลุกขึ้นมาต่อสู้กับการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ในนามเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน “สมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล” นำมาซึ่งการจ่ายค่าชดเชยที่ดินให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบช่วงปี 2540 โดยที่ดินดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่มีการสืบทอดตกทอดเป็นมรดกติดต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นตามจารีตประเพณีกว่า 250 ปี ต่อมาจึงได้เกิดข้อเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบทางสังคม (SIA) ระหว่างปี 2542 – 2552 โดยสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากการตื่นตัวในการลุกขึ้นมาปกป้องและรักษาสิทธิชุมชนของสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล นำมาซึ่งการเข้าร่วมกระบวนการศึกษาผลกระทบทางด้านสังคมแบบมีส่วนร่วม ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ ในช่วง ปี 2542- 2552 ข้อสรุปจากการศึกษาได้กลายเป็นแนวทางและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนราษีไศลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีแนวทางหลัก 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านแก้ไขและป้องกันผลกระทบทางกายภาพ  2) ด้านบริหารจัดการเขื่อนราษีไศลด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม 3) ด้านฟื้นฟูชีวิต ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติ 4) ด้านจัดการความรู้พื้นที่ชุ่มน้ำป่าทาม

วันที่ 29 มิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางสังคมของโครงการเขื่อนราษีไศล และแผนงานการป้องกันแก้ไขและฟื้นฟูผลกระทบของสถาบันวิจัยสังคม

คณะรัฐมนตรียังแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกัน แก้ไขและฟื้นฟูผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรวม 4 คณะ ได้แก่

1) คณะอนุกรรมการด้านแก้ไขและป้องกันผลกระทบทางกายภาพ  

2) คณะอนุกรรมการด้านบริหารจัดการเขื่อนราษีไศล  

3) คณะอนุกรรมการด้านฟื้นฟูชีวิต ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติ

4) คณะอนุกรรมการด้านจัดการความรู้พื้นที่ชุ่มน้ำป่าทาม

คณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดได้ร่างแผนปฏิบัติการจากปี 2553-2556 เสร็จเรียบร้อย และได้นำเข้าที่ประชุมโดยมีการรับรองหลักการแผนงานดังกล่าวแล้ว  

ปี 2560 มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดที่ 5 คือ คณะอนุกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องชดเชยการสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทาม มีกรอบระยะเวลาดำเนินงาน 12 เดือน เนื่องจากยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการประชุมและไม่สามารถเริ่มต้นการศึกษาได้ในปี 2560 ในช่วงยุคของพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการประทรวงเกษตรและสหกรณ์

ต่อมาเดือนธันวาคม ปี 2560 สมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลนำโดยนายประดิษฐ์ โกศล อุปนายกสมาคมคนทาม ได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าโดยยื่นหนังสือถึงนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมชลประทาน จากผลการติดตามดังกล่าวทำให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องชดเชยการสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทามขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อให้สามารถศึกษาแล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลา 12 เดือน

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ปี 2561 น.ส.จริยา สุทธิไชยา รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นประธานอนุกรรมการฯ จึงเกิดการประชุมครั้งที่ 1/2561 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงาน 1 ชุด จำนวน 11 คน เพื่อลงพื้นที่ศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องการสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทาม โดยมีนายศุภวิทย์ เปี่ยมพงศ์สานต์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะทำงาน ทำหน้าที่จัดทำร่างกรอบและดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องการชดเชยการสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทาม ระหว่างเดือนเมษายน ปี 2561 ถึงเดือนมีนาคม ปี 2562

น.ส.จริยา สุทธิไชยา รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (คนหัวโต๊ะ) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องชดเชยการสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทาม เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2561 ที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา น.ส.จริยาได้ลงพื้นที่สำรวจผลกระทบจริงที่เขื่อนราษีไศล และเป็นประธานการประชุมอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2561 ณ ห้องประชุม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ โดยมีผู้แทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้ง 10 กลุ่ม เข้าร่วมรับฟังการประชุม

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการตามร่างกรอบการศึกษา (TOR) ที่อาจารย์สดใส สร่างโศรก เป็นผู้ยกร่าง และได้เพิ่มเติมประเด็นการศึกษาเพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และทุกกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ยังได้วางกรอบแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดการศึกษาได้จริงตามกรอบระยะเวลา โดยนายศุภวิทย์ได้ให้ความเห็นถึงความเป็นกลางด้านวิชาการที่จะต้องทำให้ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยในระยะแรกของการศึกษาจะต้องเชิญคนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาให้ข้อมูล

น.ส.จริยาเน้นย้ำถึงความโปร่งใส สามารถตรวจสอบกระบวนการทำงานได้ทุกขั้นตอน โดยอาจจะกระทบต่อระยะเวลาการดำเนินการศึกษา รวมทั้งระยะเวลาได้ล่าช้ามาหลายเดือนจึงอาจจะต้องขยายระยะการศึกษาออกไปโดยยึดวันที่ลงนามในสัญญาเป็นหลัก เพื่อให้นักวิจัยได้มีเวลามากพอต่อการศึกษาให้สมบูรณ์ ก่อนที่จะนำเสนอผลการศึกษาต่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณา

นายแมนกล่าวอีกว่า โมเดลนี้อาจจะสามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มีผลกระทบต่อชุมชนในอนาคตได้ทุกโครงการ เพื่อให้สามารถดูแลการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้มากขึ้น และลดความขัดแย้งได้ในพื้นที่ดำเนินการได้ โดยมองในเรื่องของสวัสดิการที่ชุมชนได้รับจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งเพื่อยังชีพและสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน

นายแมนเปิดเผยว่า การศึกษาจะต้องละเอียด รอบครอบ และรอบด้าน ที่สำคัญจะต้องไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมเป็นคณะกรรมการทุกระดับ เพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้และเป็นกลางทางวิชาการเพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกันจากทุกฝ่ายในสังคม

นายแมน ปุโรทกานนท์ นักวิชาการอิสระ (คนกลางแถวหน้า) เห็นว่า การชดเชยการสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทามเป็นการแก้ไขปัญหารูปแบบใหม่ของของประเทศไทย

กรอบการศึกษาครั้งนี้ใช้แนวความคิดเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development) โดยให้ความสำคัญกับระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการคือ  

1) มนุษย์ ในฐานะที่เป็นทุนหรือปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม

2) ระบบต่างๆ ในสังคม เช่น ระบบเศรษฐกิจ ระบบการบริหาร และระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม เป็นต้น โดยระบบต้องเกื้อกูลและเอื้อโอกาสให้แต่ละบุคคล รวมทั้งต้องมีมาตรการที่ส่งเสริมสนับสนุนการกระทำและกิจกรรมที่เกื้อกูลแก่ธรรมชาติ  

3) ธรรมชาติ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่มนุษย์ต้องตระหนักและมองตนเองเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ

4) เทคโนโลยี ที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา การพัฒนา หรืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

เขื่อนราษีไศลเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ที่ต้องศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและ/หรือพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีทุนและ/หรือศักยภาพที่แตกต่างกัน จึงส่งผลต่อการปรับตัวที่แตกต่างกัน  

การกำหนดแนวทางการพัฒนาใหม่ ๆ (Intervention) เพื่อให้การดำรงชีพของชุมชนสามารถฟื้นฟูและดำรงชีพอย่างยั่งยืน (Sustainable Livelihood  Framework) จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ สามารถจัดกรอบการศึกษาได้

จากผลกระทบโครงการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลที่มีต่อชุมชนท้องถิ่น นำมาซึ่งการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชน และเรียกร้องให้ศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมย้อนหลังนับตั้งแต่เปิดใช้เขื่อนราษีไศลเมื่อกว่า 25 ปีที่ผ่านมาของเครือข่ายชาวองค์กรบ้าน “สมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล” นำมาซึ่งการยอมรับในกระบวนการแก้ไขปัญหาทั้งระบบร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน และมุ่งเน้นไปสู่การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดีขึ้นทั้งระบบทุกด้านโดยเริ่มจากข้อเสนอของชุมชนเอง

ดังนั้น การศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องชดเชยการสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทามจึงเป็นนวัตกรรมของสังคมไทยในการยอมรับการมีอยู่จริงของสวัสดิการที่เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ คือ ป่าบุ่งป่าทาม ที่ชุมชนต้องสูญเสียให้กับการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ไม่เป็นธรรม ไม่เคารพสิทธิชุมชนท้องถิ่น และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจก่อนดำเนินการ

การชดเชยเยียวยาจึงต้องมองทั้งด้านความยั่งยืนของวิถีชีวิตของคนเป็นศูนย์กลาง การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาทั้งปัจจุบันและอนาคต

ปัญญา คำลาภ กลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน

image_pdfimage_print