ยโสธร/อำนาจเจริญ – คณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีฯ ยโสธร พบผู้เจ็บป่วยโรคเนื้อเน่าและผู้เสียชีวิตจากการสัมผัสน้ำบริเวณใช้สารพาราควอต ส่วนชาวนาอำนาจเจิรญ ระบุใช้สารอินทรีย์ทำเกษตรได้ ชี้สารเคมีมาพร้อมกับพืชเชิงเดี่ยว  

ความเหมาะสมของการใช้สารพาราควอตหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 แล้วมีมติไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แต่ให้จำกัดการใช้แทน โดยให้เหตุผลว่า หลังพิจารณาข้อมูลที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายเสนอ ทั้งข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เห็นว่ายังไม่มีเหตุผลมากพอที่จะประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว

ข้อมูลจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN) ซึ่งคัดค้านการใช้สารพาราควอตและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีก 2 ชนิด ระบุว่า

พาราควอตเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีพิษร้ายแรงฆ่าหญ้าประเภทเผาไหม้ คิดค้นโดยไอซีไอประเทศอังกฤษ เจ้าของตลาดคือซินเจนทา (Syngenta) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ส่วนผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่คือประเทศจีน แต่ทั้งประเทศอังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ และจีน ต่างยกเลิกการใช้แล้ว

การเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่ยโสธร

ผลกระทบการใช้สารพาราควอตในภาคอีสาน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 นางสาววสุธิดา ไชยสำแดง คณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า ตนลงพื้นที่เก็บข้อมูลผู้เจ็บป่วยจากการฉีด พ่น และสัมผัสกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ยังไม่เจอกรณีที่สัมผัสกับสารแล้วเกิดอาการเจ็บป่วยทันที กรณีส่วนมากที่พบ ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยมาก่อน อาทิ เป็นโรคเบาหวาน

“ยังไม่มีคนรับรองว่าเขาได้รับสารแล้วป่วยเลย ยังไม่เจอ” นางสาววสุธิดากล่าว

น.ส.วสุธิดา ไชยสำแดง คณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจังหวัดยโสธร พบผู้เจ็บป่วยจำนวนมากในพื้นที่ที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

นางสาววสุธิดากล่าวอีกว่า มีข้อมูลการเจ็บป่วยหลายกรณีแต่ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่สามารถบ่งชี้ว่าอาการเจ็บป่วยดังกล่าวเกิดจากการสัมผัสสารพาราควอตโดยตรง

ส่วนมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ยกเลิกวัตถุอันตราย 3 รายการ รวมถึงสารพาราควอต นางสาววสุธิดาระบุว่า ควรจะแบน (ยกเลิก) เพราะมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบตามมา กรณีแรกเหตุเกิดที่ตำบลห้องแซง อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร นายแเดง สิงหาพรม อายุ 56 ปี ไปนั่งต่อนก แล้วก้นมีแผล มีอาการหนังเน่า ต้องเข้าผ่าตัด สุดท้ายต้องตัดขาขวา ขณะที่นางหมา สิงหาพรม ภรรยา ไปถอนต้นกล้าในที่นาของตัวเองถูกน้ำกระเด็นเข้าตาแล้วตาบอด โดยพื้นที่รอบที่นาเป็นไร่อ้อย พื้นที่ตำบลห้องแซงมีการปลูกอ้อยจำนวนมาก และมีการใช้สารพาราควอต  

นางหมา สิงหาพรม และนายแดง สิงหาพรม ภรรยาและสามี ชาวต.ห้องแซง อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ต้องตาบอด และถูกตัดขา จากการอาศัยอยู่ในที่นาของตัวเองที่แวดล้อมด้วยไร่อ้อยซึ่งใช้สารพาราควอต

กรณีที่สอง คณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีฯ ผู้นี้ เล่าว่า นายนิคม ขวานทอง อายุ 44 ปี ชาวตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร มีแผลถลอกที่หัวเข่า แล้วไปหาปลาในหนองน้ำในที่นาของตัวเอง ช่วงกลางคืนมีอาการบวมแดงที่ขาทั้งสองข้าง ต้องรักษาด้วยการลอกผิวหนังที่ขาออก แล้วต้องนอนรักษาอาการหลายเดือน ส่วนพื้นที่บริเวณด้านที่นาของนายนิคมเป็นไร่อ้อยมีการฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืช แล้วยาไหลมารวมที่หนองน้ำ

นางสาววสุธิดากล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ตนไปพบภรรยาที่สามีเสียชีวิต ที่อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร สาเหตุที่สามีเสียชีวิต คือ สามีไปทำนาในที่นาของตัวเอง ซึ่งเป็นที่นาเกษตรอินทรีย์ แต่พื้นที่ด้านบนปลูกมันสำปะหลัง แล้วฉีดพ่นสารเคมี เมื่อฝนตกหนักน้ำไหลลงมายังหนองน้ำบริเวณที่ทำนาอยู่ เมื่อสามีลงไปอาบน้ำทำให้เป็นไข้เป็นเวลา 5 วัน จากนั้นอีกวันสามีก็เสียชีวิต

นายนิคม ขวานทอง ชาวต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร ต้องลอกผิวหนังที่ขาทั้งสองข้างหลังลงไปหาปลาในหนองน้ำที่แวดล้อมด้วยไร่อ้อยซึ่งใช้สารเคมี

สารอันตรายที่ไม่ถูกพูดถึง

นางสาววสุธิดากล่าวว่า อันตรายจากการสัมผัสน้ำในพื้นที่ที่มีการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ค่อยมีการพูดถึงเท่าไหร่ เหมือนราวกับว่าคนในพื้นที่ไม่กล้าบอกว่าความเจ็บป่วยเกิดจากสารเคมี

“เขาก็จะไม่กล้าพูด เวลาพูดคนที่ฉีดคนที่พ่นก็จะไม่พอใจ มันก็จะมีการขัดแย้งกันในพื้นที่แบบนี้” นางสาววสุธิดากล่าว

คณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีฯ ผู้นี้ บอกด้วยว่า เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ที่ใช้สารเคมีกับผู้ที่ไม่ใช้สารเคมี ผู้ที่ใช้สารเคมีก็ไม่อยากใช้แต่ก็ยังไม่มีสารทดแทน แต่การใช้สารเคมีก็ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

“แทบทุกหมู่บ้านแล้ว จะพูดถึงเรื่องเนื้อเน่า เรื่องติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดินหรือโรคเมลิออยด์” คณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีฯ ผู้นี้ กล่าว

นางสาววสุธิดาเล่าอีกว่า อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเรียกว่าโรคเนื้อเน่า หรือ โรคเมลิออยด์ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดิน ในบริเวณที่มีการใช้ฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืช ส่วนความเชื่อมโยงระหว่างแบคทีเรียกับสารพาราควอตอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย

งานวิจัยพบแบคทีเรียเนื้อเน่าคู่กับพาราควอต

ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง สกว. จับมือ สสจ.หนองบัวลำภู แก้ปัญหาพาราควอตตกค้าง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 รายงานว่า รศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิจัย สกว. จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการวิจัยเพื่อหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู และความสัมพันธ์ของสารเคมีเหล่านี้กับการเกิดโรคเนื้อเน่า

ผลของงานวิจัยในส่วนของการเจ็บป่วยของเกษตรกร พบว่าพื้นที่ของจังหวัดหนองบัวลำภูมีผู้ป่วยด้วยโรคเนื้อเน่าเป็นอันดับ 1 โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามักสัมผัสกับน้ำในลำน้ำ นาข้าว หรืออ่างเก็บน้ำเป็นเวลานาน หลายรายมีบาดแผลในบริเวณแขน ขา จากสถิติทางแพทย์ได้วินิจฉัยว่า เป็นโรคมาจากแบคทีเรียเป็นสาเหตุหลัก โดยพบแบคทีเรียในแหล่งน้ำจืด ซึ่งผลการวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมโดยคณะนักวิจัย ได้ยืนยันว่า ตัวอย่างสิ่งแวดล้อมมีการตกค้างของสารพาราควอตในทุกตัวอย่าง และอยู่ในระดับความเข้มข้นที่สูง ในขณะที่สารเคมีทางการเกษตรชนิดอื่นๆ มีปริมาณต่ำมาก

จึงมีแนวโน้มว่า แหล่งน้ำทั้งอ่างเก็บน้ำและลำน้ำในพื้นที่มีทั้งสารเคมีพาราควอตและเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ร่วมกัน แต่ทั้งนี้ต้องมีงานวิจัยทางการแพทย์ระบุถึงความเชื่อมโยงของปัจจัยในการเกิดโรคทั้งสองส่วนต่อไป

อำนาจเจริญก็ได้รับผลกระทบจากสารเคมี

ความเห็นจากฝั่งเกษตรต่อการไม่แบนสารพาราควอตและสารเคมีอีก 2 รายการ  นายพรณรงค์ ปั้นทอง เกษตรกรนาข้าวอินทรีย์ จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ว่า สารเคมีทั้ง 3 รายการไม่จำเป็นต้องใช้เพราะสามารถใช้สารอินทรีย์ซึ่งมาจากธรรมชาติ อีกส่วนคือการกำจัดวัชพืชหากทำจำนวนมากจะเป็นการทำลายระบบนิเวศน์

นายพรณรงค์ ปั้นทอง (ที่ 3 จากซ้าย) ชาวนา จ.อำนาจเจริญ ระบุว่า การใช้สารเคมีทางการเกษตรส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้สารและผู้ที่ไม่ได้ใช้สาร

“วิธีการของผมคือใช้ธรรมชาติจัดการธรรมชาติ ถ้าตรงไหนไม่ไหวจริงๆ จะใช้น้ำหมักจัดการกับวัชพืช” นายพรณรงค์กล่าว

เกษตรกรนาข้าวอินทรีย์ผู้นี้กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญมีการสนับสนุนการสร้างโรงงานเพื่อรองรับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาทิ อ้อยและมันสำปะหลัง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หลังจากใช้สารเคมีไปนานๆ ดินจะไม่สามารถซึมซับสารเคมีไว้ได้ สารเคมีในดินจึงไหลปนเปื้อนกับน้ำลงสู่ที่ต่ำลงไปสู่แหล่งน้ำ ทำให้สัตว์น้ำได้รับสารเคมี เมื่อเกษตรกรที่จับสัตว์น้ำมาบริโภคจึงเกิดโรคภัยที่มาจากสารเคมี

นายพรณรงค์กล่าวด้วยว่า มีคนเก็บเห็ดที่รับประทานได้ เช่น เห็ดปลวก เห็ดโคน มารับประทานแล้วเสียชีวิต โดยที่จังหวัดอำนาจเจริญมีผู้เสียชีวิต 2 คน ขณะที่เกษตรกรที่เดินทางผ่านพื้นที่ซึ่งใช้สารเคมีฯ บางคนเกิดอาการแพ้เป็นผื่นแดง และบางคนที่เป็นแผลอยู่แล้วก็จะเกิดอาการแผลเรื้อรัง

“มันเห็นผลกระทบตรงนี้ จึงต้องพากันมาต่อสู้กันหน่อย ได้แค่ไหนก็ต้องเอา” นายพรณรงค์กล่าว

เกษตรกรนาข้าวอินทรีย์ผู้นี้ระบุด้วยว่า ทีมงานจังหวัดอำนาจเจริญกำลังติดตามธรรมนูญสุขภาพตำบลว่า มีการบังคับใช้จริงหรือไม่ เพราะมีข้อห้ามใช้ยาฆ่าหญ้าก่อนได้รับอนุญาต การใช้สารเคมีส่งผลกระทบทั้งตัวผู้ใช้ซึ่งจะป่วย และผู้ที่ไม่ได้ใช้ซึ่งได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ปนเปื้อนมาทางน้ำและอากาศ ทำให้สองฝ่ายเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน

“ข้างล่างทำ[เกษตร]อินทรีย์ แต่ข้างบนทำเคมี น้ำไหลลงมากระทบคนข้างล่าง เกิดทะเลาะสร้างความรุนแรง” เกษตรกรนาข้าวอินทรีย์ผู้นี้ระบุ

ปลูกพืชเชิงเดี่ยวตัวการใช้สารเคมี

นายพรณรงค์เปิดเผยว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยวต้องเพาะปลูกในที่ดินแปลงใหญ่ ทำให้การกำจัดวัชพืชด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การใช้สารเคมี อาทิ การใช้รถไถ มีต้นทุนสูง จึงทำให้ต้องมีการใช้สารเคมี แต่ถ้าเพาะปลูกในพื้นที่ 5-10 ไร่ เกษตกรมีวิธีกำจัดวัชพืชอยู่แล้ว

เกษตรกรนาข้าวอินทรีย์ผู้นี้กล่าวว่า การปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาลไม่สามารถใช้วิธีแบบเกษตรอินทรีย์ได้ วิธีการเพาะปลูกเริ่มจากการใส่ปุ๋ยและใส่ยาลงไปในดิน และมีการฉีดยาเคมีกำจัดวัชพืชเวลากลางคืน เนื่องจากกลัวผู้พบเห็นหากทำในเวลากลางวัน

“เกษตรไร่อ้อยต้องใช้สารเคมีเพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ตกลงไว้กับโรงงาน เพราะถ้าได้ไม่ครบจะถูกปรับ” นายพรณรงค์กล่าวว่า

เกษตรกรนาข้าวอินทรีย์ผู้นี้กล่าวด้วยว่า จังหวัดอำนาจเจริญมีพื้นที่ทำการเกษตร 4 แสนกว่าไร่ โรงงานน้ำตาลที่จะมาสร้างใหม่ต้องการพื้นที่ปลูกอ้อย 2 แสน 4 หมื่นไร่ แต่ปีนี้จังหวัดอำนาจเจริญต้องการทำเกษตรอินทรีย์ 1 แสน 2 หมื่นไร่ ส่วนปี 2564 ต้องการพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1 แสน 6 หมื่นไร่  

“มันจึงเป็นการแย่งพื้นที่กันระหว่างเกษตรอินทรีย์กับเกษตรเคมี คงต้องมีการต่อสู้และยอมไม่ได้ที่จะนำสารนี้ [สารเคมีกำจัดศัตรูพืช] เข้ามา” นายพรณรงค์กล่าวทิ้งท้าย

image_pdfimage_print