ขอนแก่น – “ไผ่ ดาวดิน” เผยไม่ยอมปรับทัศนคติเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร เพราะไม่ยอมรับการรัฐประหารของ คสช. ด้านอาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ชี้การเข้าสู่อำนาจโดยการรัฐประหารไม่มีรัฐไหนในโลกยอมรับ และ คสช. ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น นัดสืบพยานจำเลยคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ที่อัยการศาลทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เป็นจำเลย ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ฐานร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น โดยนายจตุภัทร์และพวกรวม 7 คน ได้ชุมนุมชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร เนื่องจากเป็นวันครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เดินออกจากศาลทหาร มทบ.23 เพื่อกลับไปยังทัณฑสถานพิเศษขอนแก่น หลังจากเบิกความในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร โดยมีนางพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของนายจตุภัทร์ เดินมาส่ง เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2561

นายจตุภัทร์ จำเลยปากที่ 1 เบิกความว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ตนและเพื่อนกลุ่มดาวดินรวม 7 คน ได้วางแผนทำกิจกรรมที่บ้านพักกลุ่มดาวดิน โดยวางแผนว่าจะทำกิจกรรมในลักษณะการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งคิดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที

“การวางแผนทำกิจกรรมนี้ เป็นแค่การวางแผนว่าแต่ละคนทำหน้าที่อะไร และจะยืนอยู่จุดไหนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแค่นั้น” นายจตุภัทร์กล่าว

นายจตุภัทร์กล่าวอีกว่า ตนรับหน้าที่พูดถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 โดยตนจะพูดถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ว่า ให้อำนาจบุคคลเพียงคนเดียวอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถออกคำสั่งหัวหน้า คสช. หรือ คำสั่ง คสช. ซึ่งมีสถานะเท่ากับกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับประชาชนในสังคม

“พูดง่ายๆ คือ คำพูดของพลเอกประยุทธ์ก็คือกฎหมาย พูดหรือสั่งอะไรไปกลายเป็นกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งมีผลในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยไม่สามารถตรวจสอบได้” นายจตุภัทร์กล่าว

นายจตุภัทร์กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เวลา 13.00 น. ตนและเพื่อนสมาชิกกลุ่มดาวดิน เดินทางไปที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ตนและเพื่อนเตรียมตัวทำกิจกรรมชูป้าย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบเข้ามาห้าม ตนจึงได้บอกเจ้าหน้าที่ว่า พวกตนขอเวลาทำกิจกรรมเพียงแค่ 5 นาทีแล้วจะเดินทางกลับ

พยานจำเลยปากที่ 1 กล่าวอีกว่า ตนและเพื่อนเริ่มทำกิจกรรมโดยชูป้ายผ้าผืนใหญ่ที่เขียนข้อความว่า “คัดค้านรัฐประหาร” รวมถึงชูป้ายกระดาษขนาดเล็กอีกหลายแผ่นที่เขียนข้อความอธิบายเหตุผลคัดค้านรัฐประหาร พร้อมทั้งตะโกนคำว่า “คัดค้านรัฐประหาร”

“จากนั้นมีเจ้าหน้าที่เข้ามาแย่งป้าย ทำให้ป้ายผ้าเราเสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร แย่งป้ายผ้าจากพวกเรา แม้เราถูกแย่งป้าย เราก็ยังจะทำตามแผนเดิมที่พูดไว้” นายจตุภัทร์กล่าว

นายจตุภัทร์กล่าวอีกว่า จากนั้น พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง (หัวหน้ากองข่าว มทบ.23 เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมนายจตุภัทร์และพวก) เดินเข้ามาหาพวกตนแล้วบอกว่า จะขอใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อจับกุมตนและเพื่อน แต่ตนเห็นว่าพันเอกสุรศักดิ์ไม่ได้แสดงเอกสารทางราชการใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้า คสช. ให้เป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 44 จากนั้นทหารและตำรวจเข้ามาเก็บป้ายแล้วอุ้มตนกับเพื่อน

“มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่าเป็นตำรวจหรือทหารใช้กำปั้นชกไปที่อวัยวะเพศของนายภาณุพงศ์ [ศรีธนานุวัฒน์] เพื่อนที่ร่วมชูป้าย แล้วก็อุ้มพวกเราขึ้นรถพาไปค่าย มทบ.23” นายจตุภัทร์กล่าว

นายจตุภัทร์กล่าวอีกว่า เมื่อไปถึงค่ายทหารมีเจ้าหน้าที่ทหารคนหนึ่งบอกว่า ถ้าตนและเพื่อนยอมปรับทัศนคติจะไม่ถูกดำเนินคดี ตนและเพื่อนจึงบอกกับเจ้าหน้าที่ทหารว่า ไม่ยอมรับการปรับทัศนคติ เพราะถ้ายอมรับการปรับทัศนคติเท่ากับว่ายอมรับการทำรัฐประหาร ซึ่งขัดกับหลักการของประชาธิปไตย

“เมื่อผมและเพื่อนไม่ยอมปรับทัศนคติ ทหารจึงพาตัวไปสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ตำรวจได้แจ้งข้อหาขัดขืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แต่พวกเราปฏิเสธ” นายจตุภัทร์กล่าว

นายจตุภัทร์กล่าวว่า เหตุผลที่ตนและเพื่อนคัดค้านรัฐประหาร เพราะการทำรัฐประหารแต่ละครั้งไม่ได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคม ตนคิดว่าสิ่งที่พลเมืองควรต้องทำคือการต่อต้านการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม และตนยังเชื่ออีกว่ามีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารครั้งนี้ แต่พวกเขาไม่กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง

“เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การต่อต้านก็เป็นหน้าที่ ผมจึงทำหน้าที่นั้นในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง ผมจะได้พูดกับคนรุ่นต่อไปว่า ได้ทำหน้าที่แล้ว แม้สู้ไม่ชนะแต่ก็ได้สู้ สู้ทั้งที่รู้ว่าแพ้ ยังดีกว่าแพ้ทั้งที่ยังไม่สู้” นายจตุภัทร์กล่าว

อัยการศาลทหารถามค้านพยานจำเลยปากที่ 1 ว่า ขณะที่พ.อ.สุรศักดิ์ได้เข้ามาบอกและอ้างใช้การมาตรา 44 นั้น แม้จะไม่ได้แสดงบัตรหรือเอกสารใดๆ แต่พ.อ.สุรศักดิ์ก็ได้แต่งกายในเครื่องแบบใช่หรือไม่ และขณะทำกิจกรรมพยานทราบหรือไม่ว่า มีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แล้ว นายจตุภัทร์ตอบว่า ในวันเกิดเหตุพ.อ.สุรศักดิ์ได้แต่งเครื่องแบบทหารจริง และตนทราบว่ามีการประกาศใช้คำสั่งดังกล่าวแล้ว แต่ตนคิดว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย จึงยืนยันทำกิจกรรมทำต่อไป

นายชำนาญ จันทร์เรือง ข้าราชการบำนาญ ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์พิเศษประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า การกระทำของจำเลยไม่ใช่ความผิด เพราะเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ

นายชำนาญ จันทร์เรือง ข้าราชการบำนาญ อาจารย์พิเศษประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และผู้เชี่ยวชาญการเมืองการปกครองไทย ประจำมหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ในฐานะพยานจำเลยปากที่ 2 เบิกความต่อศาลทหารว่า การรัฐประหารโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในทางรัฐศาสตร์ไม่มีรัฐไหนในโลกยอมรับวิธีการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ แต่ในทางนิติศาสตร์ยังมีการถกเถียงกันว่า คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ (อำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของรัฐ) ซึ่งมีความชอบธรรมในการออกกฎหมายบังคับใช้หรือไม่

นายชำนาญบอกว่า เมื่อคณะรัฐประหารอ้างว่าตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์และมีอำนาจในการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในสังคม ก็หมายความว่า เมื่อ คสช. ออกกฎหมายหรือคำสั่งใดก็ตาม ถือว่าเป็นกฎหมายที่คนในสังคมต้องปฏิบัติตาม ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามก็ต้องได้รับโทษ

“แนวคิดนี้มักใช้ในประเทศเผด็จการทหาร ซึ่งสังคมสมัยใหม่ทั่วโลกไม่ยอมรับ” นายชำนาญกล่าว  

นายชำนาญกล่าวอีกว่า มีคนถามถึงว่าการยึดอำนาจรัฐประหารของ คสช. เป็นคณะรัฏฐาธิปัตย์หรือไม่ ตนมักตอบว่า คสช. ไม่ได้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เพราะรัฏฐาธิปัตย์หมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังใครหรือทำตามกฎหมายใด ในระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์รัฏฐาธิปัตย์คือ พระมหากษัตริย์ ส่วนในระบอบประชาธิปไตยรัฏฐาธิปัตย์คือประชาชน  

“คสช. จึงไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ เพราะยังมีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือ คสช. เห็นได้จากในหลวง [รัชกาลที่ 9] ยังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี” นายชำนาญกล่าว

นายชำนาญกล่าวอีกว่า ช่วงที่หัวหน้า คสช. ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 แล้ว ทำให้คำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ใช่กฎหมายสูงสุด และแม้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะให้อำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 แต่เจตนารมณ์ของมาตรานี้เป็นไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ

“การกระทำของจำเลยไม่ได้เข้าข่ายกระทำความผิดตามเจตนาของ ม.44 เพราะเป็นการกระทำโดยสงบ และไม่กระทบต่อความมั่นคงชาติแต่อย่างใดทั้งสิ้น” นายชำนาญกล่าว

อาจารย์พิเศษประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ คนนี้ กล่าวอีกว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 4 ยังระบุให้ประเทศไทยต้องผูกพันกับพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ ซึ่งพันธกรณีระหว่างประเทศนี้ได้รับรองสิทธิของประชาชนในประเทศ ในการชุมนุมโดยสงบและสิทธิในการแสดงออกไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกโดยการพูด การเขียน ในสังคมและในสื่อสังคมออนไลน์ ในรัฐธรรมนูญของไทยเกือบทุกฉบับได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นสากล จำเลยจึงใช้เสรีภาพในการแสดงออกอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทำได้

“วิธีการที่ คสช. จับกุมจำเลยเพียงเพราะชูป้าย ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนทำ ซึ่งเป็นการดีเสียอีกหาก คสช. ปล่อยให้จำเลยทำกิจกรรมเสร็จสิ้น อาจไม่ถูกประเทศต่างๆ ตำหนิติเตียน” นายชำนาญกล่าว

หลังจากนายชำนาญเบิกความเสร็จ อัยการศาลทหารได้ถามค้านพยานจำเลยว่า สิทธิเสรีภาพที่นายชำนาญกล่าวอ้างนั้นต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายหรือไม่ นายชำนาญตอบ ควรจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่กฎหมายดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่แท้จริง ที่มีที่มาจากประชาชน ผ่านกระบวนการออกกฎหมายแบบประชาธิปไตยสากล

ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 มีการนัดสืบพยานจำเลยปากที่ 3 คือ นางสาวจันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

image_pdfimage_print