โดย พีระ ส่องคืนอธรรม

วันรุ่งขึ้นหลังกษัตริย์ภูมิพลสวรรคตเมื่อปลายปี 2559 ผู้สื่อข่าวหกเจ็ดช่องโทรทัศน์มาปรากฏตัวอย่างพร้อมเพรียงกันโดยคล้ายจะมิได้นัดหมายที่บ้านคำปลาหลาย ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ ตรงรอยต่อระหว่างเขตจังหวัดขอนแก่นกับหนองบัวลำภู เพื่อมาเก็บถ้อยคำและฉากชีวิตของชายชื่อมาร์ติน วีลเลอร์

สรุปว่าวันนั้น ชายชุดดำผู้นี้ได้ซักผ้าหน้ากล้องถ่ายภาพของสื่อมวลชนไปทั้งหมดสี่เที่ยว

“มาถามความคิดเห็น รู้สึกจั่งใด๋คนต่างชาติ รัชกาลที่เก้าเสีย มันก็ง่ายๆ น้อ… เอ้อ ก็เสียใจเหมือนกัน แต่ว่าเราก็เบาๆ หนา เพราะว่าบ่อยากให้เชื่อมโยงกับ (เงียบ) เคยโดนว่าอยู่ว่าหากินกับ (เงียบ)”

เคยมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า มาร์ติน วีลเลอร์ เจตนา “จัดฉาก” สวมบทนักปราชญ์เพื่อจะได้โด่งดังขึ้นมาพร้อมกับกระแสความนิยมเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อกลางทศวรรษ 2540 จนได้อาชีพเสริมเป็นวิทยากรอบรม ได้เดินสายไปทั่วประเทศ แต่สำหรับเจ้าตัวแล้ว ทั้งหมดเป็นเรื่องบังเอิญ เป็นบทบาทที่สื่อและสังคมโยนมาให้ เสมือนร่างแหที่ร้อยรัดตัวเขา

เวลาสองชั่วโมงที่เราใช้พูดคุยสัมภาษณ์เขาเป็นภาษาอังกฤษบ้าง ภาษาไทยปนลาวบ้าง คำว่า “weird” [พิลึกพิลั่น] ปรากฏขึ้นหลายครั้งเมื่อเขาเอ่ยถึงสื่อมวลชนและคนในสังคมไทย เขาไม่ได้ตั้งใจอยากดัง และรู้สึกมาตลอดว่าการกลายเป็นบุคคลสาธารณะเป็นเรื่องพิลึกพิลั่นและอยู่เหนือการควบคุม

มาร์ติน วีลเลอร์ กับไร่อ้อยของเขา ภาพ: Genevieve Glatsky

“ผมคล้ายๆ ถูกล่อหลอกให้มาพัวพันกับเรื่องทั้งหมด เพราะว่าผมทำการเกษตรและใช้ชีวิตเรียบง่าย เหตุผลที่ผมใช้ชีวิตเรียบง่ายก็เพราะผมชอบใช้ชีวิตเรียบง่าย”
[“I got sort of roped into all this because I was doing the farming and I lived a simple life. The reason I lived a simple life is because I like to live a simple life.”]

สิบกว่าปีผ่านมาหลังการปรากฏตัวครั้งแรกบนหน้าสื่อ และสี่ปีหลังการเป็นดาราภาพยนตร์ ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ มาร์ตินในวัย 57 ปียังคงอยู่ในความรับรู้ของผู้คน เป็นตัวแทนที่แบกความหวังและคลั่งไคล้หลายๆ อย่างของสังคมไทยไว้ เป็นชาวต่างชาติผู้เป็นปูชนียบุคคลสำหรับคนไทย ด้วยสมญานามที่สังคมตั้งให้อย่าง “ปราชญ์ชาวบ้าน” “กูรูเกษตรพอเพียง” “ฝรั่งหัวใจไทย” “ฝรั่งหัวใจอีสาน” “พ่อใหญ่มาร์ติน” เว็บไซต์ชมรมคนไทยรักในหลวง ยกยอ “ความเป็นไทย” ของเขาไว้ว่า

“มาร์ติน วีลเลอร์แม้เติบโตจากระบบทุนนิยม แต่แนวคิดกลับแปลกแยกอย่างสิ้นเชิง แม้เป็นชาวอังกฤษ แต่มุมมอง “ความเป็นไทย” กลับเฉียบคมยิ่ง ๑๒ ปีในเมืองไทย [นับถึงตอนนี้ 23 ปี] หล่อหลอมฝรั่งคนนี้เป็นคนไทย เกือบสมบูรณ์ กว่าคนไทยอีกหลายคน”

เขาก็หาได้ขัดศรัทธา การได้เป็นวิทยากร เป็นตลกเดี่ยวไมโครโฟนหรือ stand-up comedian ผู้เผยแผ่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงก็ช่วยหารายได้ให้เขาไม่น้อย ทั้งความเชื่อในแนวคิดเรื่องความพออยู่พอกินก็ยังคงมีอยู่ดังเดิม

แม้ในปัจจุบัน เขาจะไม่ได้ปลูกผัก ไม่ได้ปลูกข้าว ไม่ได้เลี้ยงงัว ไม่ได้ปรับปรุงบำรุงดิน แต่มุ่งทำไร่อ้อยอย่างเดียวเพื่อหาเงิน และใช้เวลาไม่น้อยในชีวิตเทียวไป-กลับมุกดาหารเพื่อเยี่ยมลูกชายคนโตในเรือนจำก็ตาม

“Mister Organic Farmer”

คนที่ชื่นชอบมาร์ตินเพราะภาพ “มิสเตอร์ออร์แกนิกฟาร์มเมอร์” อาจรู้สึกแปลกใจเป็นล้นพ้น ภาพของบ้านเถียงนาน้อย ภาพของชีวิตแสนสุขที่ปฏิเสธอำนาจเงินตรา ภาพของพ่อแม่ลูกผู้เจริญรอยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หายไปไหนแล้วเล่า

แต่สำหรับเจ้าตัวแล้ว ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ตนเลิกปลูกข้าว แล้วหันมาปลูกอ้อยเมื่อหกปีที่แล้ว ก็ในเมื่อเขาอยู่ตัวคนเดียว ปักหลักอยู่บ้านนอกเพราะอยากอยู่กับคนธรรมดา และในเมื่อใครๆ ล้วนปลูกอ้อยกันหมด พอเขาหันมาปลูกอ้อยโดยใช้ปุ๋ยเคมีบ้าง ชาวบ้านรอบข้างย่อมเห็นเป็นเรื่องแสนธรรมดา

“ยังมีคนคิดอยู่เลยว่าผมชอบทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผัก กู้โลก เหี้ยไรเทือกนั้น ที่ผมออกมาอยู่นี่ก็แค่อยากอยู่กับคนธรรมดาเท่านั้นเอง”
[People still think nowadays that I’m into organic farming, growing vegetables, and saving the world, that kind of shite. I just came out here because I wanted to live with ordinary people.]

มาร์ตินประกาศว่า “I’m not Mister Green. I never was.” เขาเชื่อว่าไม่ใช่กงการอะไรของเกษตรกรที่ต้องมาอนุรักษ์โลกด้วยการไม่ใช้ปุ๋ยเคมี

และเขาเองก็กระดากที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร ตลอดระยะเวลาประมาณสามปีที่เขาและครอบครัวเคยปลูกข้าวอินทรีย์ส่งขายโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ก็อาศัยจ้างเพื่อนบ้านทำเป็นหลัก

“ต้นทุนสูงเพราะว่าต้องจ้างคนมาช่วยเยอะนะ เพราะว่าผมกับเมียก็ไม่ค่อยถนัด ลูกก็ตัวเล็กๆ ต้นทุนก็ค่าแรงอย่างเดียว… ทำนามันหลายขั้นตอนแหลว หลกกล้าแหน่ ดำนาแหน่ เกี่ยวเข้าแหน่ มันเกี่ยวไม่ทันดอก มันเกี่ยวเล่นๆ… แต่ก่อนมีไร่หนึ่งอยู่นั่นแล้วก็สองไร่ เดี๋ยวนี้ก็บ่เฮ็ดละ”

ทุกวันนี้มาร์ตินอยู่ที่บ้านตัวคนเดียวกับรถไถนาเดินตามหนึ่งคัน สมาชิกครอบครัวไม่มีใครทำการเกษตร และย้ายไปอยู่ที่อื่นกันหมด จะให้เขาดันทุรังปลูกข้าวต่อไปก็ต้องหมดเงินไปกับค่าจ้างแรงงานเท่านั้น และจะให้เขาเลี้ยงวัวได้อย่างไรถ้าต้องเดินสายทำอย่างอื่น จะจ้างคนเลี้ยงเป็นรายวันก็ไม่คุ้ม

เขาจึงบอกว่า ปราชญ์ด้านเกษตรพอเพียงที่แท้จริงไม่ใช่เขา แต่เป็นเพื่อนบ้านของเขานู่น

หากฟังเขาดีๆ ท่านจะพบว่าเขาไม่ได้พิศวาสการเกษตรเหนือสิ่งอื่นใด เขาพึงพอใจกับงานกรรมกรพอๆ กับงานกสิกรรมทำไร่ไถนา เขาพูดถึงตัวเองหลายครั้งว่าเป็นคนชอบทำงานหนัก ซึ่งตรงข้ามกับวิถีของชนชั้นกลางการศึกษาสูงที่พ่อแม่ปูทางให้เขามา

มาร์ตินเริ่มทำงานหนักมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีสาขาละตินที่อังกฤษ คอยหาโอกาสหลีกหนีจากสังคมอุดมศึกษาที่เขาสะอิดสะเอียนเพื่อไปทำงานกรรมกรอยู่เสมอ ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงที่เขาวางแผนเที่ยวรอบโลกแต่มาลงเอยกับภรรยาชาวไทยที่กรุงเทพฯ เมื่อภรรยาตั้งท้องลูกคนแรก เขาจึงย้ายมาอยู่อำเภออุบลรัตน์ นอกจากจะเรียนรู้เรื่องวิถีการเกษตรของชาวบ้าน เขายังได้เป็นกรรมกรก่อสร้างห้องน้ำที่ปั๊มน้ำมันอีกด้วย

จนถึงทุกวันนี้คนต่างสัญชาติอย่างเขาก็ยังทำ “อาชีพสงวนสำหรับคนไทย” อย่างงานกสิกรรมและงานกรรมกรต่อไป โดยอาศัยเส้นสายกับทางราชการต่ออายุวีซ่าไปปีต่อปี

งานกรรมกรมีข้อดีที่หาได้ยากในชีวิตของมาร์ติน นั่นก็คือความชัดเจนและความตรงไปตรงมา

“กรรมกรมันดีอย่างนึง มันชัดเจนเด้ คือถ้าเราเฮ็ดได้เขาก็จ่ายเรา ถ้าเราเฮ็ดบ่เป็นเขาก็ไล่หนี ผมชอบตลอด ผมชอบอะไรที่มันชัดเจน เพราะชีวิตมนุษย์มันไม่ชัดเจน แต่ว่ากรรมกรมันเป็นขาวกับดำไง ภายในสิบวินาทีเจ้าต้องแบกได้ เจ้าแบกไหวไหม ถ้าเจ้าแบกไหวเขาก็จ้าง ก็จบ แล้วเราก็เฮ็ด”

ปัจจุบันที่ทำไร่อ้อยนั้น มาร์ติน ไม่กระดากใจที่จะพูดว่า “ไม่ได้ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม ทำเพื่อหาเงินอย่างเดียว” เขาไม่ได้ยึดมั่นแต่แรกกับคำจำกัดความอย่างแคบของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พ่วงกับแนวทางแบ่งสัดส่วนพื้นที่ทำนองเกษตรทฤษฎีใหม่ เขายึดถือหลักเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะปรัชญากว้างๆ มากกว่า

ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่า การปลูกอ้อยจะสามารถทำได้อย่างยั่งยืนบนผืนดินภาคอีสานหรือไม่ การขยายตัวของอุตสาหกรรมอ้อยในภาคอีสานเป็นไปอย่างรวดเร็ว แผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาล 10 ปี (พ.ศ. 2558-2569) ของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีเป้าหมายคือการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 5.54 ล้านไร่ทั่วประเทศ ส่งผลให้ตัวแทนจากภาคประชาสังคมได้ออกแถลงการณ์ว่าระบบนิเวศอีสานไม่อาจรองรับพืชเชิงเดี่ยวได้อีกต่อไป

ด้าน “อาจารย์ยักษ์” วิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรฯ รัฐบาลปัจจุบัน มองว่าการปลูกอ้อยสามารถทำได้บนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยเสนอหลัก “5พอ” แบ่งพื้นที่อ้อยต่อป่า 70:30 และใช้ระบบเกษตรอินทรีย์

(อ่านเพิ่มเติมเรื่อง “ไร่อ้อยรุกนาข้าว เมืองราชินีข้าวเหนียวหนองบัวฯ” ได้ที่นี่)

ถึงจะเลิกปลูกผักมาเกินสิบปี และเลิกปลูกข้าวมาหกปี ความเป็น “กูรูเกษตรพอเพียง” จากตัวหนังสือและภาพถ่ายบนหนังสือพิมพ์ ไปสู่การออกรายการทอล์กโชว์ เจาะใจ ก็กลับยังไม่ยอมดับไป

สื่อบางสำนักมุ่งมาถ่ายกิจกรรมทำนาในหน้าแล้ง หรือมาหาภาพการปลูกผักในหน้าฝน บางรายถึงกับเขียนบทมาก่อนว่าต้องการให้ “ปราชญ์ชาวบ้าน” ผู้นี้ทำอะไรบ้าง

“แม้แต่เดี๋ยวนี้ ยังมีพวกสื่อมาหาแล้วบอกว่า “โอเคเราอยากให้คุณจูงวัวมาแถวนี้” ผมบอกวัวเหี้ยอะไรผมไม่มีซักตัว “งั้นคุณไปขอยืมมาก่อนได้ไหม?” งั้นก็เชิญไปไกลๆ ตีนกู! แต่ก่อนผมก็ทำตามอยู่นะ แบบใส่หมวกชาวนางี่เง่านั่น แล้วก็เครื่องแบบชาวนา ไอ้เสื้อทอมืออุบาทว์เหี้ยๆ นั่นน่ะ… มันพิลึกโคตรๆ”
[Even nowadays, I get media people come and say, “OK we want you to walk with your cows down here.” I said I ain’t got any fucking cows. “Can you go and borrow some?” Well, fuck off! I used to do it, you know, you put silly farmer’s hats on, you know, and farmer’s uniform, that fucking horrible handmade shirt… It was really weird.]

ภาพของชาวนาที่ถูกแช่แข็งอยู่ในจินตนาการของหลายคนในสังคม ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงของเกษตรกรรายย่อยที่จำเป็นต้องใช้เงินเลี้ยงลูก ใช้หนี้ และใช้จ่ายภาษีสังคมหมู่บ้าน

“คือเกษตรพอเพียงต้องเข้าใจว่ามันหลายระดับ ถ้าทำอยู่ทำกินนิดเดียวก็จบ ใช่มะ แต่ว่าทุกวันนี้ก็ต้องใช้เงิน ถ้าจะทำเกษตรผสมผสาน มันต้องมีกิจกรรมที่เป็นหลักๆ แหลมๆ ที่มันขายได้แน่นอน ผมประสบปัญหาตลอด ก็เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน มันก็ได้กินเยอะ แจกเยอะมากหนิ ขายยากนิ เพราะวัฒนธรรมบ้านเฮามันต้องมีแจกอยู่แล้ว ต้องมีฝากผู้นี้ฝากผู้นั้น ขอแหน่ บุญก็หล๊ายหลายเด้ แทบจะไม่เหลือขายอะน่า มันต้องยกระดับให้มีกิจกรรมที่เป็นเงินเป็นทองนำเด้อ ลูกก็กินเงินอย่างเดียวนั่นหละ”

มาร์ตินถือว่าตนเป็นคนโชคดี ไม่มีหนี้สินเหมือนชาวบ้านอีสานส่วนใหญ่ เนื่องจากมรดกก้อนใหญ่หลายล้านบาทจากบิดาผู้ล่วงลับ อำนวยให้มาร์ตินมีเงินซื้อที่ดินขยายจาก 6 ไร่แต่เดิมมาเป็น 40 กว่าไร่ในปัจจุบัน ส่วนที่ไม่ได้ใช้ปลูกอ้อยของตน ก็แบ่งให้เพื่อนบ้านปลูกอ้อยและมันสำปะหลังโดยไม่คิดค่าเช่า

ในปีที่อ้อยราคาดี เขาได้กำไรถึงหนึ่งหมื่นบาทต่อไร่ แต่เมื่อฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านมาราคาอ้อยตกต่ำ ขายไร่หนึ่งยังได้ไม่ถึงห้าพันบาท

แม้ราคาผลผลิตจะผันผวน แต่มาร์ติน ก็ยังคงทำไร่อ้อยต่อไปเพราะง่ายต่อการดูแลด้วยตัวคนเดียว ไร่อ้อยพื้นที่แปดไร่ ไม่ใหญ่เกินที่เขาจะเข้าไปถอนวัชพืชเองในวันว่าง เขาไม่ได้ใช้ยาฆ่าหญ้า ส่วนปุ๋ยเคมีนั้นใช้บ้าง

เขายังมี “กิจกรรมที่เป็นหลักๆ แหลมๆ” เป็นของตัวเองอีก นั่นก็คืออาชีพเสริมการเป็นตลกเดี่ยวไมโครโฟนหรือ stand-up comedian เดินสายทอล์กโชว์เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหารายได้ให้เขาเป็นกอบเป็นกำไม่แตกต่างจาก “กูรูพอเพียง” ทั้งหลายในสังคมไทย

“อย่าลืมผมโชคดี ผมมีอาชีพเสริมเยอะ เป็นวิทยากร เฮ็ดหนังแหน่ เฮ็ดรายการโทรทัศน์แหน่ ไปรับจ้างทางอื่นแหน่ คือถ้าเราอาศัยเงินจากอ้อยอย่างเดียวก็ตายมานานแล้ว”

[ป้ายศูนย์เรียนรู้หน้าหมู่บ้านคำปลาหลายที่มาร์ติน วีลเลอร์ อาศัยอยู่มากว่าสองทศวรรษ จนถึงทุกวันนี้ยังมีผู้คนแวะเวียนมาเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่นี่ และมาร์ตินก็มักจะได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากร ภาพ: Genevieve Glatsky]

“Stand-up Comedian”

บทบาทการเป็นตลกเดี่ยวไมค์ ได้พามาร์ตินไปหลายต่อหลายแห่งที่ท่านอาจคิดไม่ถึงมาก่อน ไม่เพียงแต่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน หรือตามศูนย์การประชุมและมหาวิทยาลัย แต่ยังรวมไปถึงเรือนจำและค่ายปรับทัศนคติชาวบ้านผู้เห็นต่างทางการเมือง

กระนั้น คำว่า “พอเพียง” สำหรับเขาก็ผิดแผกแตกต่างอยู่ทีเดียวจากคำว่า “พอเพียง” ที่ภาครัฐและภาคประชาสังคมพยายามนำเสนอผ่านการอบรม จุดแรกที่ต่างคือ “วิธีการพูด” หรือ “แนวเว้า” ที่เน้นภาษาชาวบ้าน ทำเรื่องหนักๆ ให้เป็นเรื่องเบาสมอง

“เอาพวกด็อกเตอร์ด็อกแต้วมาเว้า ก็เห็นมาหลายทีแล้ว อบรมอยู่ในโรงแรมเนาะ ห้องแอร์แหน่ ก็วินเหมิดเด้คนบ้านเฮา เบื่อก็หลอยไปสูบยาข้างนอกเหมิด บางคนก็ฮากแตกเน่อ บางครั้งมันเอาเป็นวิชาการโพด มันเห็นมาหลายทีแล้ว แล้วเขาไม่ได้เข้าถึงชาวบ้าน”

ใช่เพียงวิธีการจะต่าง “เนื้อหา” ก็เช่นเดียวกัน เขาแยกขาด “เกษตรทฤษฎีใหม่” จาก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ค่อนข้างชัดเจน

ใช่เพียงจะไม่สอนว่าคนต้องปลูกผักเลี้ยงวัว เขายังไม่ปฏิเสธว่าการได้เห็นโลกกว้างเป็นสิ่งดี เขาไม่ว่าอะไรหากคนอีสานต้องการออกไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต อย่างเช่นการหางานทำในโรงงานบริษัทพานาโซนิกขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใกล้อำเภออุบลรัตน์

“ถ้าอยากได้ดีกว่านี้ก็ไม่ว่าดอก คือหมู่ผมที่เฮ็ดเวียก เป็นช่างไม้ เพิ่นก็หารายได้วันละหลายร้อยนะ แต่เมียเพิ่นก็ไปพานาโซนิกเด๊ะ เงินเดือนของเมียก็แบบพอรถปิ๊กอัพ มีรถใช้ไปเฮ็ดเวียก ถ้าเราอยากได้แบบนั้น เอ้อ! มันต้องมีคนไปหาเงินหาทองตลอดเด้ ผมไม่ได้ว่า ไม่ได้บอกให้อยู่ เฮ็ดแต่อ้อยอยู่เลาะนี้หนา มันบ่แม่น แต่ว่าโดยพื้นฐานมันโอเคแล้วนะ”

เมื่อเป็นวิทยากรพูดถึงความพอเพียง เขาจึงไม่เน้นสร้างภาพอุดมคติให้เกษตรกร

“อันนี้เป็นสาเหตุนึงที่สิบ่ค่อยเว้าเรื่องการเกษตรเวลาไปเป็นวิทยากร เพราะว่าไม่ได้เป็นกุญแจสำคัญอะไร บางคนสิเข้าใจผิดแล้วถ้าเราเฮ็ดกบหมูหมาแมวไก่มันก็สบาย มันบ่แม่น”

สำหรับมาร์ติน กุญแจสำคัญของความพอเพียงก็คือการเห็นคุณค่าของชีวิตชาวบ้าน ว่าสามารถเป็นฐานรองรับเผื่อล้มเหลวและเหลือไว้ให้ลูกหลานได้ เพราะทุกวันนี้สภาพความเป็นอยู่ในชนบทก็ไม่ได้ลำบากเท่าแต่ก่อนแล้ว

ในเมื่อเส้นทางของการปลดหนี้ถูกปิดกั้นจากคนหมู่มาก จะเลือกปักหลักอยู่บ้าน หรือจะเลือกทิ้งหลักประกันทุกอย่างไป? มาร์ตินไม่ลังเลที่จะบอกว่าควรเลือกอย่างแรก

“มาอยู่แบบนี้ไคกว่าอยู่ในสลัมอยู่แถวรถไฟขอนแก่นแหน่แม่นบ่ เดี๋ยวนี้อยู่บ่ได้แล้ว ก็ไล่หนีเหมิดแล้ว ชุมชนเทพารักษ์อะหยังมันไปอยู่ไสบ่รู้ดอก นี่เนาะ จะอยู่อย่างซั่นไปรับจ้างบ่ หรือจะอยู่อย่างซี่ไปเลาะๆ เล่นๆ จั่งซี้แหละ แม่นบ่ มื้อนี่มันไคกว่าเยอะด้วย แม่นบ่”

ถึงจะเป็นวิทยากรที่พูดอะไรค่อนข้างฉีกแนว ค่าตอบแทนของการเป็น stand-up comedian ก็ไม่ใช่ขำๆ ค่าตัวสูงสุดเท่าที่เคยได้มาคือสองหมื่นบาท จากการเป็นวิทยากรชั่วโมงเดียว

“บางครั้งก็ไปเป็นวิทยากรที่เดียวก็ได้เป็นหมื่นเด๊ะ แต่ผมบ่ได้ไปทุกมื้อดอก บางครั้งก็ห้าร้อย บางครั้งก็ ขอบคุณค้าบ ได้ที่ระลึกมาได้หาบของพระแหน่ก็ได้ ได้กระเช้าหยังก็ได้ ไก่สะกั๊ตอะไรสักอย่างนึง เมื่อวานก็ไปเว้าอยู่นี่ ตอนเช้าก็มีกลุ่มเกษตรกรมาจากจังหวัดเลยไปเว้าอยู่ศูนย์เรียนรู้ก็ได้แปดร้อยบาทเด๊ พอดีฝนตกก็เว้าแป๊บเดียว สิบห้านาทีก็ได้แปดร้อยบาท บ่น้อยเล่าเว้ย ได้ค่าไฟฟ้าพอดีเลย”

ชีวิตของ “ตลกเดี่ยวไมโครโฟน” ชื่อมาร์ตินในวัยใกล้หกสิบนั้นดูเบาสบายเกือบทุกอย่าง ความห่วงกังวลสำคัญอย่างเดียวที่เหลืออยู่คือลูกชายซึ่งอยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีกลาย

“คนธรรมดา”

ทุกๆ สองสัปดาห์ เวลาใกล้เที่ยง ชายร่างผอมขี่มอเตอร์ไซค์คันเก่งจากบ้านคำปลาหลายไปกว่า 70-80 กิโลเมตรจนถึงสถานีขนส่งขอนแก่น จากนั้นนั่งรถบัสไปมุกดาหาร กว่าจะถึงก็ตกเย็น พักโรงแรมแถว บขส. มุกดาหาร เช้าวันรุ่งขึ้นจึงไปเยี่ยมลูกชายคนโตวัยยี่สิบกลางๆ ที่เป็นผู้ต้องขังรอศาลไต่สวนคดีลักลอบขนยาม้า 11,000 เม็ดข้ามฝั่งไทย-ลาว

ก่อนที่ลูกชายจะตกเป็นผู้ต้องหาคดีลักลอบขนยาเสพติด เขาเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาอยู่หลายสถาบัน แต่ไม่จบสักที ถูกพักการเรียนตลอด ผู้เป็นพ่อมองว่าลูกทำผิดไปโดยรู้ตัว

ผู้สื่อข่าว เดอะอีสานเรคคอร์ด ขอให้มาร์ติน วีลเลอร์ โชว์รอยสักชื่อลูกทั้งสามและแม่ของลูก ขณะยืนเคียงไร่อ้อยสูงท่วมหัว และสวมเสื้อสีเขียวขี้ม้าของลูกชายคนโตครั้งเป็นทหารเกณฑ์ เขาหยอดมุกตลกว่า ลูกชายผู้ภาคภูมิใจกับการรับราชการทหาร ตอนนี้ก็ได้รับราชการต่อในเรือนจำ ภาพ: พีระ ส่องคืนอธรรม

การนำเสนอ มาร์ติน วีลเลอร์ ในฐานะชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งที่มีดีมีเลว มีทุกข์มีสุข มีลุกมีล้ม อาจฉายให้เห็นมุมมองใหม่ที่แทงทะลุมายาคติที่ร้อยรัดตัวเขามาก่อน แต่ความ “ธรรมดา” “เรียบง่าย” “ปุถุชน” ก็อาจกลายเป็นภาพมายาที่ถูกสร้างให้เป็นธรรมชาติ ไร้ที่มาที่ไปได้อยู่นั่นเอง

มาร์ตินบอกว่า ทุกวันนี้ ยิ่งเขาพูดคำหยาบเวลาให้สัมภาษณ์มากเท่าไหร่ สื่อยิ่งชอบ บางทีเวลาถ่ายภาพ ช่างภาพก็จะขอให้ค้างท่าสูบยาเส้นอีกหน่อย เพื่อจะได้จับภาพเขาตอนพ่นควัน

“ชีวิตเรียบง่าย” สำหรับเขา อาจไม่ได้มีความหมายลึกล้ำมากไปกว่า “อยากมีชีวิตเรียบง่าย” แต่เมื่อปรากฏบนหน้าสื่อ ก็กลายเป็นต้องมีองค์ประกอบฉาก ไม่ว่าองค์ประกอบนั้นจะเป็นวัวในทุ่งสีเขียว ลูกเมียพร้อมหน้าล้อมวงกินข้าวบนเสื่อกก หรือควันจากยาเส้นราคาถูก

มาร์ตินค่อนข้างไม่ไว้ใจว่าสื่อจะถ่ายทอดเรื่องราวของเขาได้ถูกต้อง มีหลายครั้งที่ถ้อยคำเขาบนสื่อสร้างความยุ่งเหยิงให้แก่ชีวิตเขา เมื่อหลายปีก่อนมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงความเห็นทางการเมืองบางอย่างของเขา ทำให้เขาถูกผู้มีอำนาจเพ่งเล็ง และเมื่อเขาให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เกี่ยวกับเรื่องในครอบครัว ก็ทำให้คนรอบข้างได้รับผลกระทบ

ท่ามกลางความซับซ้อนยุ่งเหยิงของความสัมพันธ์ในชีวิต บวกกับความพิลึกพิลั่นของสื่อและสังคมไทย ความต้องการ “อยากมีชีวิตเรียบง่าย” ของชายชาวอังกฤษผู้นี้ ยังคงเหลือความหมายใด?

มาร์ตินกล่าวว่าทุกวันนี้ตนสบายแล้ว ติดอยู่แต่เรื่องลูกเท่านั้น ความหวังที่มีคือขอให้ลูกถูกพิพากษาจำคุกสัก 25 ปี หรืออย่างไรเสียก็ขอให้น้อยกว่า 28 ปี เพราะถ้าหากโทษสูงกว่านั้นแล้ว ลูกจะต้องถูกย้ายไปที่เรือนจำกลางคลองไผ่ จ.นครราชสีมา หรือไม่ก็เรือนจำกลางนครพนม ซึ่งนอกจากจะห่างไกลบ้านแล้ว ยังเป็นที่โจษจันกันอีกว่า สภาพความเป็นอยู่ยากลำบากและเสี่ยงต่อความรุนแรง

ถ้ามีคำตัดสินจำคุก 25 ปี อย่างน้อยผู้เป็นพ่อ ยังจะขอย้ายลูกมาที่เรือนจำที่ขอนแก่นได้ เพื่อจะได้ไปเยี่ยมอย่างสะดวกสบายมากขึ้น

ทุกวันนี้ ค่าใช้จ่ายเกินครึ่งหมดไปกับการไปเยี่ยมลูก มาร์ตินไล่เลียงให้ฟังว่าหมดเงินเดือนละ 7,000-8,000 บาท เพื่อไปเยี่ยมลูกชายที่มุกดาหาร ในขณะที่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมกันไม่ถึงเจ็ดพันบาท (ไฟฟ้า 500 ต่อเดือน, อินเทอร์เน็ต 750 ต่อเดือน, แนวกิน 100-150 ต่อวัน, ยาเส้น 10 บาทต่อวัน)

เมื่อถามเขาว่า คิดจะมีชีวิตอยู่ถึงอายุเท่าไหร่ หลังจากตอบทันทีว่า “ไม่เคยคิด” มาร์ตินคิดก่อนตอบอีกครั้งว่า อยากอยู่ไปถึงวันที่ลูกชายคนโตจะพ้นคุก

ตอนนี้มาร์ตินอายุ 57 ปี ถ้าลูกชายได้รับโทษ 25 ปี นับการลดหย่อนโทษในวโรกาสพิเศษต่างๆ แล้ว คงเหลือโทษจริงประมาณ 10 ปี กว่าจะมีหวังได้ออกมานอกกำแพงคุกอีกครั้ง ระหว่างที่เขารอ ก็ทำไร่อ้อยหาเงินเลี้ยงตัว และเก็บที่ดินไว้เป็นมูนมังมรดกเพื่อลูกต่อไป.

image_pdfimage_print