โดย มานะ เหนือโท

ร้อยเอ็ด – ชาวอำเภอปทุมรัตต์คัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เนื่องจากหวั่นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยทับพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ การใช้สารเคมีทางการเกษตร โรงงานก่อมลพิษทางอากาศ และการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้า ติงใช้เวลาฟังความเห็นประชาชนแค่ 1 วันสั้นจนเกินไป

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 เวลา 9.30 – 13.00 นาฬิกา ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ โครงการโรงงานน้ำตาลและโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) โดยมีประชาชนสนใจเข้าร่วมรับฟังเต็มหอประชุม ประมาณกว่า 800 คน

ตัวแทนบริษัทได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลให้ผู้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อกังวล

ประชาชนผู้เข้ารวมประชุมตั้งข้อสังเกตว่า การจัดเวทีเพียงวันเดียวในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่สามารถนำข้อมูลรายละเอียดมาอธิบายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้อย่างชัดเจน

ช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผศ.เตือนใจ ดุลจินดาชบาพร อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ข้อมูลที่บริษัทให้ไม่ชัดเจนไม่สามารถยืนยันได้ โรงงานไม่ได้บอกถึงความชัดเจนว่าจะไม่นำถ่านหินมาใช้ในโรงงาน ตนสงสัยว่าอ้อยที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบมีพื้นที่เพาะปลูกเพียงพอต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงงานหรือไม่ เพราะโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานขนาดใหญ่  

นายดำรง สีลา ผู้อำนวยการโรงเรียน อำเภอปทุมรัตต์ กล่าวว่า ตนเองเกิดและเติบโตที่อำเภอปทุมรัตต์ หลังจากเรียนได้จบมารับราชการเป็นครูสอนหนังสือที่นี่ พ่อกับแม่ของตนก็เป็นชาวนา ตนจึงอยากให้ประชาชนทบทวนผลกระทบที่จะตามมา และมลพิษสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากโรงงาน

นายสมเจต ไชยลาด นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า จากสำรวจโรงงานน้ำตาล ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พบปัญหาฝุ่นที่โรงานยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างถาวร รวมถึงเรื่องกลิ่นเหม็น ตนจึงกังวลถึงการตั้งโรงงานแห่งนี้จะสร้างมลภาวะ เนื่องจากโรงงานจะตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสวรรค์เป็นเนินสูงกลางท้องทุ่งนา ซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่รอบด้าน การตั้งโรงงานยังจะทำให้มีการคมนาคมขนส่งเพิ่มขึ้น เช่น การขนส่งอ้อย ซึ่งจะส่งกระทบต่อการเดินทางของประชาชน

นายประยม เสงี่ยมทรัพย์ ชาวบ้านตำบลโนนสวรค์ ประกาศจุดยืนไม่เอาโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล

นายประยม เสงี่ยมทรัพย์ ชาวบ้านตำบลโนนสวรค์ และแกนนำชุมชน เปิดเผยว่า ถ้าผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ก็ควรไปก่อตั้งโรงงานที่บริเวณบ้านเกิดของผู้ประกอบกิจการเอง

“ที่นี่คือแผ่นดินบ้านเกิดของเรา เราปลูกข้าวหอมมะลิจีไอ (มาตรฐานข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ส่งขายเลี้ยงครอบครัว ชุมชนบ้านเราไม่ต้องการโรงงาน กลุ่มเราแสดงเจตนาจุดยืนยันชัดเจน” นายประยมกล่าว

นางประมวล ไชยแสน อายุ 49 ปี ชาวบ้านหมู่ 1 ตำบลโนนสวรรค์ ระบุว่า กลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกข้าวอินทรีย์บ้านโนนสวรรค์ปลูกข้าวปลอดสารเคมีและข้าวอินทรีย์ส่งขายวิตกกังวลกลัวเรื่องสารเคมีเพราะเคยเห็นข่าวในโทรทัศน์ว่ามีชุมชนที่ได้กระทบจากสารเคมี อยากให้หน่วยงานราชการ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทบทวนการก่อตั้งโรงงานในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้

นายดิเรก สุริยะประภา อายุ 64 ปี ชาวบ้านหมู่ 3 ตำบลกำแพง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ยามแห้งแล้งก็แห้งไม่มีฝนไม่มีน้ำ โรงงานขนาดใหญ่และโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจะเอาน้ำมาจากไหน ตนจึงกังวลว่าโรงงานจะส่งผลกระทบด้านทรัพยากรน้ำ

นายแสนพิทักษ์ เกษตรเหล่าไชย แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า การทำเวทีอีไอเอไม่ชอบธรรม และไม่ได้ให้ความยุติธรรมกับชาวบ้านตำบลโนนสวรรค์

นายแสนพิทักษ์ เกษตรเหล่าไชย อายุ 41 ปี ชาวบ้าน หมู่ 1 ตำบลโนนสวรรค์ แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า การทำเวทีอีไอเอในครั้งนี้ไม่ชอบธรรม และไม่ได้ให้ความยุติธรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลโนนสวรรค์ เนื่องจากการจัดทำเวทีที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่ได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวบนเวที  

นายสมบูรณ์ ช่อรักษ์ อายุ 55 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ตำบลโนนสวรรค์ กล่าวว่า ครอบครัวของตนปลูกอ้อยในพื้นที่ 30 ไร่ มาแล้ว 4 ปี เพื่อขายส่งให้บริษัทน้ำตาลบ้านโป่งในตันละประมาณ 1,000 บาท มีรายได้ปีละ 320,000 บาทโดยลงทุนไป 170,000 บาท เหลือกำไร 150,000 บาท ทำให้มีรายได้เข้าสู่ครัวเรือน  

ภาพนอกหอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์มีองค์กรภาคประชาชนในนาม เครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์ จำนวน 500 กว่าคน ประกอบด้วย กลุ่มข้าวอินทรีย์ตำบลโนนสวรรค์ กลุ่มเกษตรกรชาวนาตำบลโนนสวรรค์ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอปทุมรัตต์ เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านอำเภอปทุมรัตต์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนปทุมรัตต์จำกัด สภาองค์กรชุมชนอำเภอปทุมรัตต์ และเครือข่ายครูอำเภอปทุมรัตต์ รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านการก่อตั้งโรงงานต่อนายธนิตย์ พันธ์หินกอง นายอำเภอปทุมรัตต์ เนื่องจากการทำอีไอเอในครั้งนี้จัดเวทีแค่ครั้งเดียว แต่ทำอีไอเอถึง 2 โรงงาน (โรงงานน้ำตาลและโรงไฟงานไฟฟ้า) แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์โกหกประชาชน ให้ข้อมูลไม่เพียงพอแก่ประชาชนในพื้นที่ และไม่เปิดโอกาสให้ประาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  

ที่บริเวณด้านนอกหอประชุมอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด สมาชิกเครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์ ยื่นหนังสือถึงนายธนิตย์ พันธ์หินกอง นายอำเภอปทุมรัตต์ (เสื้อฟ้า) เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

ตัวแทนเครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์อ่านแถลงการณ์มีเนื้อหาดังนี้ จากการที่บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด กำลังจะมีโครงการสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล ขนาด 24,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ขนาด 80 เม็กกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยบริษัทได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินจำนวน 586 ไร่ บริเวณตลาดนัดโค-กระบือตำบลโนนสวรรค์ และได้ส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอปทุมรัตต์ มาประมาณ 3 ปี แล้วนั้น  

จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2560 บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษามาจัดทำอีไอเอ ทำให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการได้ถูกเปิดเผยมากขึ้น จึงทำให้คนปทุมรัตต์หลายคน หลายกลุ่ม หลายเครือข่าย ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงการที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะเข้ามาในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งจากการคิดวิเคราะห์ร่วมกัน พบว่าคนปทุมรัตต์เกิดความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังต่อไปนี้  

การสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่ถึง 24,000 ตันอ้อยต่อวัน อาจต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 360,000 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่กว่าอำเภอปทุมรัตต์ ซึ่งมีพื้นที่ 356.9 ตารางกิโลเมตร หรือ 223,062.5 ไร่ ซึ่งอาจจะทำให้พื้นที่เกษตรกรรมที่ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวหอมมะลิ 105 คุณภาพสูง กลายเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่ใช้สารเคมีเข้มข้น   

การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดใหญ่ถึง 80 เมกกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในปริมาณมหาศาล (หลายแสนตัน) อาจทำให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็นและฝุ่นละอองจากชานอ้อยปลิวกระจายเข้าสู่ชุมชน อีกทั้งการใช้น้ำในโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมากอาจมีปัญหาการแย่งน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้โรงงาน  

ความกังวลต่อการทำไร่อ้อยที่มีการใช้สารฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี สารเคมีทางการเกษตรในปริมาณมากจะส่งผลต่อการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม  โดนเฉพาะไหลลงนาข้าว อาหารธรรมชาติในไร่นาไม่ว่าจะเป็นปลา ปู กบ เขียด แมลงต่างๆ พืชผักในนา อาจจะลดลงหรือหมดไป ทำให้กระทบความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่  

ความกังวลต่ออุบัติเหตุจากรถบรรทุกอ้อย ที่คาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 คันรถพ่วง ในช่วงที่โรงงานเปิดรับซื้ออ้อยเป็นเวลา 5-6 เดือนต่อปี ประกอบกับถนนในเขตอำเภอปทุมรัตต์เล็กไม่มีไหล่ทาง และไม่สามารถรองรับน้ำหนักรถบรรทุกอ้อย ทำให้ถนนอาจได้รับความเสียหายและเกิดอุบัติเหตุง่ายและมากขึ้นได้  

ความไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งตามแผนการส่งเสริมของจังหวัดร้อยเอ็ดได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญในการพัฒนาจังหวัด พ.ศ. 2561-2562 มีกลยุทธ์ที่สำคัญ อาทิ พัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้และพื้นที่ที่มีคุณภาพของจังหวัด เป็นเขตเศรษฐกิจข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง  

และจากการนำเสนอข้อมูลอุตสาหกรรมน้ำตาลของนักวิชาการ เมื่อ 25 ส.ค. 2561 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าชาวไร่อ้อยอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องราคารับซื้ออ้อย เป็นสาเหตุให้เกิดหนี้สินและที่ดินต้องหลุดมือไป

เครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์ขอเสนอข้อเรียกร้องต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้  

ขอให้บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ชะลอการดำเนินโครงการ โดยหยุดการทำอีไอเอไว้ก่อน เพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่

ขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องวางตัวเป็นกลาง ทำหน้าที่ให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและทั่วถึง และสร้างการมีส่วนร่วม โดยยึดหลักตามรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ มาตรา 43 และ 58 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 โดยจัดให้มีการประชาคมหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในอำเภอปทุมรัตต์ เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้ข้อมูลและมีสิทธิตัดสินใจว่าจะให้ดำเนินโครงการหรือไม่

มานะ เหนือโท เป็นผู้เข้าร่วมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ดประจำปี 2560

image_pdfimage_print