โดยนายอุดม ต้นจาน

ยโสธร – ชาวบ้านเชียงเพ็งเผย คนริมลำน้ำเซบายต้องแบ่งปันน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรอยู่แล้ว หากตั้งโรงงานน้ำจะไม่พอใช้ ด้านชาวบ้านเซซ่งระบุ โรงงานขนาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบควรไปอยู่พื้นที่อื่น ไม่ใช่พื้นที่เกษตรอินทรีย์เช่นลำน้ำเซบาย

เมื่อวันที่ 22  กันยายน 2561 ผู้อบรมในโครงการอบรมนักข่าวอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด รุ่นที่ 3 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2561 ลงพื้นที่บ้านเชียงเพ็ง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร พื้นที่ซึ่งอยู่ตรงข้ามฝั่งลำน้ำกับพื้นที่ก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาดกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ที่อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อติดตามสถานการณ์ของลำน้ำเซบายที่ชุมชนใช้อุปโภคบริโภค โดยมีนายสะอาด เนินทราย ชาวบ้านเชียงเพ็ง ตำบลเชียงเพ็ง และนายสาธร ปั้นทอง ชาวบ้านเซซ่ง ตำบลเชียงเพ็ง ร่วมลงพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ นายสะอาด เนินทรายและนายสาธร ปั้นทองเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่และเป็นสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเนื่องจากกังวลว่า หากมีโรงงานในพื้นที่โรงงานจะมีการผันน้ำจากลำน้ำเซบายมาใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงาน จะทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำระหว่างประชาชนในพื้นที่กับโรงงานในอนาคต รวมถึงปัญหามลพิษที่เกิดจากโรงงาน เช่น ฝุ่นละอองสีดำจากกระบวนการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าชีวมวล

นายสะอาด เนินทราย ชาวบ้านเชียงเพ็ง ต.เชียงเพ็ง เผยก่อนมีโรงงานน้ำตาลปริมาณน้ำในลำน้ำเซบายก็แทบไม่พอใช้ทำการเกษตร

นายสะอาด เนินทราย ชาวบ้านเชียงเพ็ง ตำบลเชียงเพ็ง กล่าวว่า ตนกังวลว่าหากโรงงานทั้งสองแห่งมาตั้งในพื้นที่จะเกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำจากลำน้ำเซบายระหว่างประชาชนกับโรงงาน

“ผมและครอบครัวมีอาชีพทำนา มีที่นา 13 ไร่ ติดกับลำน้ำเซบาย ครอบครัวผมอาศัยน้ำจากลำน้ำเซบายมาใช้ในการปลูกข้าวตั้งแต่บรรพบุรุษ ผมและครอบครัวมีความผูกพันกับลำน้ำเซบายมายาวนาน” นายสะอาดกล่าว

นายสะอาดกล่าวอีกว่า คนในชุมชนที่ทำอาชีพเกษตรกรที่ต้องอาศัยน้ำจากลำน้ำเซบายมาใช้ในการเพาะปลูกมีปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอในการเพาะปลูกมาตั้งแต่ปี 2555 เพราะเกิดปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ และในปี 2558 การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดอำนาจเจริญได้มาตั้งสถานีสูบน้ำบริเวณริมฝังลำน้ำเซบาย เพื่อสูบน้ำจากลำน้ำไปผลิตน้ำประปาส่งให้กับประชาชนในจังหวัดอำนาจเจริญ และบางอำเภอในจังหวัดยโสธร ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำลดลง

ชาวบ้านเชียงเพ็งผู้นี้กล่าวอีกว่า ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ปี 2558 คนในชุมชนริมฝั่งลำน้ำเซบายสองฝั่ง ได้แก่ บ้านน้ำปลีก ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ และบ้านเชียงเพ็ง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ได้มาประชุมและทำสัญญาใจร่วมกันระหว่างสองชุมชนเกี่ยวกับแบ่งปันน้ำเพื่อทำการเกษตร เพื่อให้ประชาชนทั้งสองชุมชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ

“พี่น้องทั้งสองชุมชนที่ใช้น้ำจากลำน้ำเซบายตกลงร่วมกันว่าให้แต่ละครอบครัวที่ทำการเกษตรใช้น้ำจากลำน้ำเซบายครอบครัวละตั้งแต่ 4 ไร่ แต่ไม่เกิน 7 ไร่ ทำให้บรรเทาปัญหาน้ำไม่เพียงพอได้” นายสะอาดกล่าว

นายสะอาดกล่าวอีกว่า การสร้างโรงงานน้ำตาลต้องสร้างธนาคารน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในพื้นที่ 60 ไร่ เพื่อนำน้ำไว้ใช้ในโรงงาน ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้น้ำจากลำน้ำเซบายเนื่องจากปริมาณน้ำจะถูกดึงไปจากลำห้วย และยังต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน

นายสาธร ปั้นทอง ชาวบ้านเซซ่ง ตำบลเชียงเพ็ง เผยการสร้างโรงงานทำให้ต้องใช้น้ำจากลำน้ำเซบายปริมาณมาก สร้างความไม่ยุติธรรมต่อเกษตรกรที่ต้องใช้น้ำอย่างประหยัด

นายสาธร ปั้นทอง ชาวบ้านเซซ่ง ตำบลเชียงเพ็ง เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบเรื่องน้ำปลูกข้าว กล่าวว่า ตนมีที่นาจำนวน 16 ไร่ การปลูกข้าวนาปีแต่ละปีจะสร้างรายได้หลังจากหักต้นทุนจำนวน 30,000 บาท ส่วนนาปัง (ทำนาช่วงหน้าแล้ง) จะสร้างรายได้หลังจากหักต้นทุนจำนวน 50,000 บาท

นายสาธรกล่าวอีกว่า ตนกังวลว่าการเกิดขึ้นของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจะซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยตามลุ่มลำน้ำเซบาย เพราะโรงงานจำเป็นต้องใช้น้ำตลอดทั้งปี ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอใช้ ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อชาวนา เพราะรัฐบาลมีนโยบายว่าให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด ให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย แต่กลับอนุญาตให้โรงงานขนาดใหญ่ตั้งในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งจังหวัดยโสธรได้ทำข้อตกลงกับเกษตรกรให้พื้นที่ดังกล่าวทำเกษตรอินทรีย์

นายสาธรกล่าวต่อว่า โรงงานน้ำตาลต้องใช้น้ำจำนวนมากเพราะตนได้พบเห็นกับตาตัวเองว่า มีการวางระบบน้ำในโรงงานโดยจะมีการสูบน้ำจากลำน้ำเซบายไปใช้ในระบบของโรงงาน

“แรกๆ ก็ไม่อยากจะเชื่อ แต่เมื่อมาเห็นด้วยตนเองแทบใจหาย” นายสาธรกล่าว

ป้ายข้อมูลการผันน้ำจากลำน้ำเซบาย ที่นายสาธร ปั้นทอง เป็นผู้ถ่ายภาพไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่โรงงานน้ำตาลยังอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปในโรงงานได้ แต่ขณะนี้โรงงานไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปในพื้นที่ของโรงงาน

สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายผู้นี้กล่าวว่า อยากจะฝากถึงผู้มีอำนาจว่าให้ยกเลิกการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยไม่ต้องมาตั้งอยู่ในบริเวณนี้ ขอให้ย้ายโรงงานไปตั้งที่อื่นให้ไกลๆ บริเวณนี้ไม่ใช่พื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะเป็นพื้นที่การเกษตร และเป็นเกษตรอินทรีย์ประมาณ 3-4 หมื่นไร่ ถ้ามีโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร

“โรงงานจะปล่อยฝุ่นละอองสีดำจากการเผาไหม้ของโรงงานกระจายไปทั่วบริเวณการทำการเกษตร ทำให้มีสารพิษตกค้างในการผลิตข้าว” นายสาธรกล่าว

นายสาธรกล่าวทิ้งท้ายว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเล็งเห็นว่า “น้ำคือชีวิต” น้ำเป็นปัจจัยต้นทุนของวิถีชีวิต จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการอนุญาตให้ใช้น้ำ ผันน้ำ และสูบน้ำ จากลำเซบายไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพราะจะส่งผลกระทบต่อวงจรการพัฒนาทางสังคมเศรษฐกิจของเกษตรกร และส่งผลกระทบระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

นายอุดม ต้นจาน เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2561

 

image_pdfimage_print