ขอนแก่น – นายนิธิ เอียวศรีวงค์ แนะการชูป้ายต้านรัฐประหารของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ไม่ควรผิดกฎหมาย และถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทย คล้ายกับกรณีนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 ด้านทนายความจำเลยยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ขัดรัฐธรรมนูญปี 2560

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น นัดสืบพยานจำเลยคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ที่อัยการศาลทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เป็นจำเลย ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ฐานร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น โดยนายจตุภัทร์และพวกรวม 7 คน ได้ชุมนุมชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร เนื่องจากเป็นวันครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” จำเลยคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร พร้อมกับนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดา (เสื้อขาว) และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดา (เสื้อลาย) และน้องสาว หลังฟังการสืบพยานจำเลย เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2561

พยานจำเลยที่ขึ้นเบิกความคือ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พยานจำเลยปากที่ 9 โดยนายจตุภัทร์ขออนุญาตศาลใช้สิทธิจำเลยซักถามความพยานจำเลยด้วยตนเอง นายจตุภัทร์ถามนายนิธิถึงการทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองรัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยกองทัพในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และบทบาทของคนหนุ่มสาวในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

นายนิธิกล่าวว่า ในประเทศไทย มีการรัฐประหารยึดอำนาจโดยคณะทหารทั้งหมด 13 ครั้ง ตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2475 จนถึงปัจจุบัน โดยการยึดอำนาจการปกครองโดยกองทัพที่มีนัยยะทางการเมืองที่สำคัญมีอยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรก คือการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ปี 2476 ผู้นำการรัฐประหารคือพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจการปกครองจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี สาเหตุมาจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2475 บางมาตรา ยกเว้นเพียงหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตามหลักแล้วนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจทำเช่นนั้นได้  

“การรัฐประหารของพระยาพหลฯ ครั้งนี้เป็นการทำรัฐประหารเพื่อรื้อฟื้นระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญคืนมา เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ากองทัพมีหน้าที่รักษารัฐธรรมนูญ เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งต่อมาไม่มีใคร [กองทัพ] ทำตามอีก” นายนิธิกล่าว

นายนิธิ เอียวศรีวงค์ พยานจำเลย กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คนหนุ่มสาว คนมีการศึกษามีบทบาทในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งถือเป็นเรื่องดีต่อประเทศไทย

นายนิธิกล่าวอีกว่า รัฐประหารที่มีนัยะทางการเมืองครั้งที่ 2 คือ การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหัวหน้าคสช. ตนคิดว่า การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการทำรัฐประหารหลังจากประเทศไทยมีการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 17 ปี นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2540 แม้จะมีการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ล้มรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ใช้เวลาเพียงปีเดียว ก็มีรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ตนคิดว่ามีโอกาสที่ประชาธิปไตยในประเทศไทยจะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง แต่กองทัพกลับทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นการตัดโอกาสอนาคตของประเทศไทย

“ผลจากการรัฐประหาร ปี 2557 ทำให้เกิดความทรุดโทรมทางเศรษฐกิจในประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การรัฐประหารเกิดขึ้นทำให้นายทุนในประเทศและต่างประเทศไม่กล้ามาลงทุน เพราะไม่รู้อนาคต” นายนิธิกล่าว

นักวิชาการด้านประวัติศาสตรผู้นี้กล่าวอีกว่า รัฐบาล คสช. ใช้อำนาจจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ทำให้โอกาสที่ประชาชนจะได้เรียนรู้การใช้สิทธิเสรีภาพหมดไปกับการรัฐประหารปี 2557 เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้ก็ริดลอนอำนาจประชาชนในการกำกับควบคุมการบริหารประเทศของรัฐบาลด้วย

“ข้ออ้างของการทำรัฐประหารปี 2557 นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตในระบบราชการ นักการเมือง และแก้ปัญหาความขัดแย้งและแตกแยกของประชาชน ผมเห็นว่าปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย” นายนิธิกล่าว

เมื่อนายจตุภัทร์ถามนายนิธิในฐานะพยานจำเลยว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย บทบาทของคนหนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาทางการเมืองเป็นอย่างไร นายนิธิกล่าวว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประชาชนพลเมืองได้เข้าไปมีบทบาททางการเมือง โดยเฉพาะเยาวชนและคนที่ได้รับการศึกษาได้มีบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในช่วงที่รัชกาลที่ 5 แย่งอำนาจการปกครองจากขุนนางก็อาศัยความร่วมมือจากคนที่ได้รับการศึกษา ในยุคต่อมามีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 คนหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาที่ต่างประเทศร่วมมือกับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตั้งกลุ่มเสรีไทยเพื่อต่อต้านและขับไล่กองทัพญี่ปุ่นที่ยึดประเทศไทยไว้ในขณะนั้น

“เสรีไทยทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามยอมรับประเทศไทยว่ายังเป็นประเทศเอกราช ไม่ได้เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม เพราะการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสรีไทย” นายนิธิกล่าว

นักวิชาการด้านประวัติศาสตรผู้นี้กล่าวอีกว่า บทบาทคนหนุ่มสาวในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่คนหนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาร่วมมือกับประชาชนขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี รวมถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2535 ก็อาศัยพลังของคนหนุ่มสาวเช่นกัน

“คนหนุ่มสาวมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองมาตลอด เพราะเป็นคนที่ได้รับการศึกษา ซึ่งไม่ยอมที่จะเห็นประเทศเดินถอยหลัง คนเหล่านี้มีสำนึกตลอดมาว่า นี่คือหน้าที่ที่จะต้องทำ สังคมที่นิ่งดูดายกับเรื่องนี้จะเป็นสังคมที่ไปไหนไม่รอด” นายนิธิกล่าว

นายนิธิกล่าวอีกว่า ตนเห็นว่าการออกมาทำหน้าที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารของจำเลยไม่ควรผิดกฎหมาย การเคลื่อนไหวของจำเลยถือว่าเป็นผลดีต่อประเทศไทย เสมือนในประวัติศาสตร์ที่มีกลุ่มคนหนุ่มสาวในนามขบวนการเสรีไทยเคลื่อนไหวไม่ให้ประเทศตกเป็นประเทศจำเลยสงคราม ทั้งที่รัฐบาลสมัยนั้นมองว่าขบวนการเสรีไทยเป็นกบฏ

“ผมคิดว่าคณะรัฐประหารทุกคณะสับสนระหว่างอำนาจของตนและอำนาจของรัฐ อย่างการคัดค้านการรัฐประหาร คสช. ของจำเลย ผมคิดว่ามันไปกระทบอำนาจของคสช. ไม่ใช่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ” นายนิธิกล่าว

หลังจากพยานจำเลยเบิกความต่อศาลเสร็จสิ้น ฝ่ายโจกท์ได้ถามค้านพยานจำเลยว่า ช่วงเกิดเหตุการณ์การจับกุมตัวจำเลย พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ในสถานที่เกิดเหตุใช่หรือไม่ นายนิธิตอบว่า ใช่ และก่อนการจับกุมจำเลย รัฐบาลมีการประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะข้อ 12 ที่ว่าด้วยเรื่อง ผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปต้องระวางโทษจําคุกทางสื่อต่างๆ ให้ประชาชนทราบกันทั่วประเทศใช่หรือไม่ นายนิธิตอบว่า ใช่

หลังจากนั้น นายอานนท์ นำภา ทนายความฝ่ายจำเลยได้ขออนุญาตแถลงต่อศาลว่า จะไม่ขอนำพยานจำเลยอีก 2 คน ที่เคยระบุในบัญชีระบุพยานเข้าเบิกความ เพราะฝ่ายจำเลยเบิกความต่อศาลครบทุกประเด็นแล้ว เช่น ประเด็นข้อกฎหมาย ประเด็นทางสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ จึงไม่ประสงค์จะนำพยานจำเลยที่เหลือเข้าสืบ ซึ่งศาลอนุญาต

นายอานนท์ นำภา ทนายความฝ่ายจำเลย ได้ยื่นคำร้องเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 44 หรือไม่ โดยถ้าคำสั่ง หัวหน้าคสช. ขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลต้องยกฟ้องจำเลย

นายอานนท์ ให้สัมภาษณ์หลังการพิจารณาคดีว่า วันนี้นอกจากจะนำพยานจำเลยคนสุดท้ายเข้าเบิกความต่อศาลแล้ว ตนในฐานะทนายความฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่ ให้ศาลทหาร มทบ. 23 ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

“เหตุผลที่ยื่นคำร้องนี้ เราหวังว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มันขัดกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายตามคำสั่งหัวหน้าคสช.นี้ ก็ไม่สามารถบังคับใช้กับจำเลยได้ แล้วต้องยกฟ้องจำเลย” นายอานนท์กล่าว

นายอานนท์กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ก็ต้องรอว่าฝ่ายโจทก์จะมีความเห็นอย่างไรต่อคำร้องที่ฝ่ายจำเลยยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากฝ่ายโจกท์ไม่คัดค้าน ก็ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ามีใครเคยยื่นคำร้องแบบเดียวกันหรือไม่ หากไม่มีก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องว่าจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่ร้องหรือไม่ต่อไป  

“พวกเราจึงจำเป็นต้องขอให้ศาลเลื่อนการพิพากษาคดีออกไป เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อคำร้องที่เรายื่นไป ซึ่งกำหนดการนัดมาศาลทหารครั้งหน้า ศาลยังไม่กำหนด” นายอานนท์กล่าว

image_pdfimage_print