โดย ศตานนท์ ชื่นตา

สกลนคร – ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศน์ศึกษาระบุ ชาววานรนิวาสได้เอกสารเหมืองแร่โปแตชยังไม่ครบ ชี้กฎหมายใหม่ห้ามทำเหมืองแร่ในที่ป่าและที่สาธารณะ ทนายความเอ็นลอว์แฉ ภาครัฐใช้กฎหมายปิดปากชาวบ้านนักปกป้องสิทธิ

ที่สวนสาธารณะเทศบาลตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จัดเวที “อนาคตไทยวานรฯ คำถามต่อการสำรวจแร่โปแตช” มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน

สาเหตุในการจัดงานเกิดจาก กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสซึ่งประกอบด้วยประชาชนในอำเภอวานรนิวาส ได้ติดตามโครงการสำรวจแร่โปแตชที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชแก่บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มาตลอด 3 ปี นับจากปี 2558 โดยกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสได้ไปยื่นหนังสือขอข้อมูล อาทิ การเจาะสำรวจ การอนุมัติโครงการ และเอกสารแนบท้ายตามอาชญาบัตรพิเศษ จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร จนได้รับข้อมูลเมื่อเดือน กรกฎาคมที่ผ่านมา

แต่ยังมีการตั้งคำถามว่า เอกสารแนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษ คืออะไร ผลกระทบหากมีการทำเหมืองฯ จะมากขนาดไหน ตลอดจนผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการสำรวจแร่โปแตชชองชาววานรนิวาสจนถูกดำเนินคดี ที่เรียกว่า ฟ้องปิดปาก หรือ SLAPP LAW คืออะไร จึงเป็นที่มาของเวทีที่เกิดขึ้น

ผู้ร่วมเสวนา (จากซ้ายไปขวา) น.ส.กิติมา ขุมทอง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้ดำเนินรายการ นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศศึกษา นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และน.ส.บำเพ็ญ ไชยรักษ์ นักวิจัยอิสระ

บนเวทีเสวนา นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศน์ศึกษา และหัวหน้าพรรคสามัญชน กล่าวว่า ตนเห็นถึงความตั้งใจของชาวบ้านที่อยากจัดเวที และเห็นถึงความยากลำบากกว่าจะได้เอกสารเกี่ยวกับเหมืองแร่โปแตชมา แต่ตนพบว่า เอกสารที่ได้รับมายังไม่ครบรอบด้าน แต่ก็ยังดีที่ได้เอกสารมาแล้วส่วนหนึ่ง

หลังลงจากเวที นายเลิศศักดิ์ระบุว่า ความยากของการได้มาซึ่งเอกสารของชาวบ้าน อาจเป็นเพราะภาครัฐไม่อยากให้ชาวบ้านทราบข้อมูลหรือไม่ ว่าแต่ละแปลงมีผลประโยชน์เท่าไหร่ เท่าที่ตนเห็นค่าภาคหลวงแปลงละ 6 ล้านบาท

“อยากฝากไปถึงภาครัฐว่า ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับ สมควรที่จะให้ประชาชนในพื้นที่รู้ รู้เยอะๆ ยังจะดีกว่า เพราะพวกเขาต้องอยู่กับผลกระทบเหล่านั้น” นายเลิศศักดิ์กล่าว

นายเลิศศักดิ์กล่าวอีกว่า อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตชมีความพิเศษในเรื่องผลประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ความผูกพันจากการสำรวจแร่ ผู้ที่สำรวจแร่มีสิทธิต้นๆ ในการขอประทานบัตร (ใบอนุญาตทำเหมืองแร่) การเข้ามาสำรวจแร่เพื่อการประเมินศักยภาพแร่ในการทำเหมือง และขอสิทธิพิเศษในการขอประทานบัตรในการทำเหมืองก่อนใคร หลังจากเจาะสำรวจแล้วประเมินว่าคุ้มทุน

ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศน์ศึกษาเปิดเผยว่า พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 (ฉบับใหม่) มาตรา 17 วรรค 4 กำหนดว่า พื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ซับซึมน้ำ ทางน้ำชุมชน ทางน้ำสาธารณะ ห้วยหนอง พื้นป่าชุมชน หรือแม้แต่พื้นที่สาธารณะ จะต้องถูกกันออกหรือเว้นไว้ ห้ามทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และต้องแจ้งให้ชาวบ้านทราบ แต่พื้นที่จำนวน 12 แปลง เนื้อที่รวม 116,875 ไร่ ที่มีอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตช ที่อำเภอวานรนิวาส เป็นพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมด เช่น แปลงที่ 1/2558 มีพื้นที่ป่าสาธารณะและป่าชุมชนประกบ ตนถือว่าประเด็นนี้สำคัญมาก ตนเลยเสนอให้รื้ออาชญาบัตรพิเศษทั้ง 12 แปลงนี้ใหม่

ขณะที่บนเวทีเสวนา นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวถึงขั้นตอนการทำเหมือง และผลกระทบหากมีการทำเหมืองแร่โปแตชบริเวณอื่นทั่วโลก

ส่วนนางสาวบำเพ็ญ ไชยรักษ์ นักวิจัยอิสระ กล่าวถึงความหลากหลายทางชีวภาพของลุ่มน้ำสงคราม ลุ่มน้ำยาม และห้วยลำปลาหาง ที่อยู่ในพื้นที่สำรวจแร่โปแตชจังหวัดสกลนคร รวมกันแล้วมากกว่า 6 แสน 4 หมื่นไร่ และกล่าวถึงข้อมูลวิจัยการทำนาเกลือ ที่บ้านหนองกวั่ง บ้านโนนแสบง ตำบลกุดเรือคำ ตำบลอินแปลง อำเภอวานรนิวาส ที่มีการตั้งคำถามว่า ถ้ามีอุตสาหกรรมเกลือขนาดใหญ่เกิดขึ้นจริง ลุ่มน้ำต่างๆ ที่กล่าวมาจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

นายสักกพล ไชยแสงราช (คนกลาง) ทนายความที่ปรึกษาด้านกฎหมายของชาวบ้านกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส และนายสุทธิเกียรติ คชโส ทนายความจาก มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW (คนขวา)

บทเวทีเสวนา นายสุทธิเกียรติ คชโส ทนายความ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW (เอ็นลอว์) กล่าวถึงการดำเนินคดีที่เรียกว่า การฟ้องปิดปาก หรือ SLAPP LAW (สแลป ลอว์) ซึ่งในภาษาอังกฤษมีคำว่า Slap กับ SLAPP โดย Slap หมายถึงการตบ ส่วน SLAPP ย่อมาจาก Strategic Lawsuit Against Public Participation แปลว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน” คำสองคำนี้เกี่ยวโยงกันมากกว่าเสียงที่เหมือนกัน โดย SLAPP เป็นการฟ้องคดีโดยมีจุดมุ่งหมายให้เสียงของการเรียกร้องสิทธิและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงต่อสาธารณะอ่อนแรงและเงียบลงไป หรือ อาจจะเปรียบเปรยให้เห็นภาพว่า SLAPP ก็คือการตบปากคน (Slap) ด้วยกฎหมาย เมื่อผู้มีอำนาจไม่อยากจะฟัง หรือไม่อยากให้คนอื่นได้ฟัง

นายสุทธิเกียรติเปิดเผยว่า โดยปกติการฟ้องคดีมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ หรือเรียกร้องความเป็นธรรม และประชาชนทุกคนมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่จะฟ้องร้องผู้ที่ทำให้ประชาชนเสียหายได้ แต่ทว่า ปฏิบัติการตบปากด้วยกฎหมายกลับมีจุดมุ่งหมายที่ต่างออกไป โดยการฟ้องคนในลักษณะที่เป็น SLAPP ไม่ได้ต้องการความเป็นธรรม แต่ต้องการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือหยุดกลุ่มคนหรือบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้คนดังกล่าวมีภาระทางกฎหมาย ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายพอสมควรในการต่อสู้คดี ทั้งนี้ ฐานความผิดที่นิยมฟ้อง คือ หมิ่นฐานประมาท แต่ในบางประเทศ หรือประเทศไทยในยุคนี้ มีการนำกฎหมายประเภทอื่นมาฟ้อง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือต่อรองอย่างหนึ่งที่มีอำนาจ และมีผลกระทบต่อนักปกป้องสิทธิ

นายสุทธิเกียรติกล่าวต่อว่า ในประเทศไทยแต่ก่อน เอกชนมักฟ้องปิดปากชาวบ้าน แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นภาครัฐที่ผันตัวมาฟ้องปิดปากชาวบ้านเอง และมีแนวโน้มจะมีคดีความเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

“ถ้าภาครัฐหรือเอกชน มีความจริงใจมีความสุจริตในโครงการต่างๆ แล้วจะมาอาศัยสแลป ในการฟ้องปิดปากชาวบ้านทำไม” นายสุทธิเกียรติกล่าวทิ้งท้าย

นายสักกพล ไชยแสงราช ทนายความและที่ปรึกษาด้านกฎหมายกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส สรุปสถานการณ์การฟ้องร้องดำเนินคดีชาวบ้านตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2561 หลังมีโครงการสำรวจแร่โปแตชว่า มีชาวบ้านถูกดำเนินคดีแล้ว 14 คนคดีหลักมีอยู่ 3 คดี คือ คดีหมิ่นประมาท คดีผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และคดีร่วมกันข่มขืนจิตใจผู้อื่น ชาวบ้านบางคนถูกกล่าวหาเกิน 1 ครั้ง คดีของชาวบ้านรวมกันแล้วมีทั้งหมดกว่า 20 คดี

นางมะลิ แสนบุญศิริ (คนยืน) ชาวบ้านหินกอง ต้องการให้รักษาทรัพยากรธรรมชาติของอำเภอวานรนิวาสเอาไว้

เวทีเสวนาของกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส นางมะลิ แสนบุญศิริ ชาวบ้านหินกอง ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส ตัวแทนชาวบ้านที่ได้นำเสนอเรื่องฐานทรัพยากรของคนในพื้นที่ว่า อำเภอวานรนิวาสมีป่าโคกมีโนนไว้หากินและเป็นป่าต้นน้ำ มีห้วย ฮอง (ร่องน้ำ) ฮอม (ลำราง) ทางน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ซับซึมน้ำและเป็นที่อยู่อาศัยของปลา ในฤดูฝนน้ำไหลลงสู่ที่ราบลุ่มที่เราเรียกว่า ทาม ลงสู่แม่น้ำสายหลักคือ แม่น้ำยาม ที่เป็นสายเลือดหลักของคนหลายอำเภอ ได้แก่ วานรนิวาส เจริญศิลป์ สว่างแดนดิน และอากาศอำนวย ไปบรรจบกับแม่น้ำสงครามที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม แต่ละพื้นที่จากจุดที่สูงที่สุดจนถึงที่ราบลุ่มต่ำที่สุด มีการทำมาหากินที่แตกต่างและหลากหลาย เช่น การทำนา นาโคกปลูกข้าวดอ (ข้าวเบาไม่ไวแสง) นาดอนระหว่างโคกและที่ลุ่มปลูกข้าวกลาง (ข้าวนาปีไวต่อช่วงแสง) และนาลุ่มปลูกข้าวงั้น (ข้าวนาปีไวต่อแสง)

แผนผังพื้นที่บริเวณอ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ที่อยู่ในเขตสัมปทานเหมืองแร่โปแตช

นางมะลิกล่าวด้วยว่า พื้นที่บริเวณอ่าวโนนนากาฬ บ้านนากาฬ ตำบลธาตุ อำเภอวานรนิวาส ซึ่งเป็นรอยต่อ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านนากาฬ บ้านวังบง และบ้านหินกอง เป็นพื้นที่สูงกว่าพื้นที่อื่นที่อยู่ในเขตสัมปทานเหมืองแร่โปแตช ถ้ามีเหมืองแร่ในบริเวณนี้ ทรัพยากรและระบบนิเวศน์ต่างๆ ที่ตนกล่าวมาจะคงสภาพเดิมหรือเปลี่ยนไป

“ทุกวันนี้บ้านเรามีความอุดมสมบรูณ์ที่สุดแล้ว แล้วเราจะเอาเหมืองมาทำลายความอุดมสมบรูณ์ของเราทำไม” นางมะลิกล่าวยืนยันทิ้งท้าย

นอกจากการเสวนาบนเวทีแล้ว นางสีฟอง ชันถาวร ชาวบ้านวังบง กล่าวถึงความหลากหลายของพันธ์ุปลาต่างๆ และความสำคัญของน้ำ นายนงค์ชัย พันธ์ดา ยังได้พูดถึงแผนที่ระบบนิเวศน์โดยภาพรวมของวานรนิวาส

นางบุญเรียบ คำมา ชาวบ้านหินเหิบ มาร่วมงานเพราะต้องการทราบถึงพิษภัยของเหมืองแร่โปแตช

นางบุญเรียบ คำมา ชาวบ้านหินเหิบ วัย 77 ปี กล่าวถึงหลังร่วมรับฟังการเสวนาว่า หลังจากได้ยินข่าวจากเพื่อนบ้านว่าจะมีเวทีเกี่ยวกับเหมืองแร่โปแตช โดยจะมีอาจารย์มาเล่าถึงพิษภัยของเหมืองโปแตช ตนจึงบังคับให้ลูกมาส่งยังสถานที่จัดงาน แต่ก็ไม่ลืมนำตระกร้าหมากติดมือมาด้วย ส่วนสาเหตุที่มาร่วมงานเนื่องจากตนอยากรู้ถึงพิษภัยของเหมืองแร่ และมาให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

“ตั้งแต่ได้ยินครั้งแรกว่าเขาจะมาทำเหมืองโปแตชที่วานรฯ แม่ใหญ่ก็กลัวแล้ว ยิ่งมาเห็นภาพและได้ยินพิษภัยมันจริง แม่ใหญ่ก็ยิ่งกลัวมากกว่าเดิม”

นางบุญเรียบกล่าวว่า ตนกลัวจะต้องย้ายบ้านหนีผลกระทบจากเหมืองแร่ ตนไม่ต้องการย้ายบ้าน แต่อยากรักษาบ้านและที่ทำกินไว้ให้ลูกหลาน ตนจึงต้องออกมาต่อสู้คัดค้านเหมือโปแตชร่วมกับชาววานรนิวาสคนอื่น

นางบุญเรียบเล่าให้ฟังว่า ตนเคี้ยวหมากมาตั้งแต่อายุ 28 ปี และจะเคี้ยวไปจนตายโน้นละลูก นี่แหละ “นักสู้คำหมาก” นางบุญเรียบกล่าวทิ้งท้ายพร้อมหัวเราะอย่างภูมิใจที่ได้ลุกออกมาต่อสู้ในตอนแก่

ศตานนท์ ชื่นตา เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560  

image_pdfimage_print