อุบลราชธานี – เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบายยื่นหนังสือถึงสำนักงาน คณะกรรการ กกพ. จ.อุบลราชธานี เพื่อให้ส่งหนังสือต่อไปยังคณะกรรมการ กกพ. ที่กรุงเทพฯ ให้ระงับการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.อำนาจเจริญ ในวันพรุ่งนี้ (17 ต.ค. 61) เนื่องจากการจัดทำรายงานอีไอเอขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

นายปฏิภาณ แก้วรินขวา ผอ. ฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการ กกพ. ประจำเขต 5 จ.อุบลราชธานี (เสื้อสีเหลือง) รับแถลงการณ์จากตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบายและให้เจ้าหน้าที่สำนักงานส่งโทรสารถึงสำนักงาน กกพ. ที่กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 ที่บริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประจำเขต 5 (อุบลราชธานี) เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จากพื้นที่ ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และพื้นที่ ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ กว่า 300 คน เข้ายื่นหนังสือแถลงการณ์ถึงนายปฏิภาณ แก้วรินขวา ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงาน คณะกรรมการ กกพ. ประจำเขต 5 (อุบลราชธานี) เพื่อขอให้ส่งหนังสือแถลงการณ์ของเครือข่าย เรื่องขอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานระดับประเทศพิจารณายกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกกะวัตต์ ที่คณะกรรมการ กกพ. ระดับประเทศจะประชุมพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตในวันที่ 17 ตุลาคม 2561

นายปฏิภาณเป็นผู้รับหนังสือแถลงการณ์ด้วยตนเองและได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานส่งหนังสือแถลงการณ์ของเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบายไปให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่กรุงเทพมหานคร ผ่านทางเครื่องโทรสารตามที่เครือข่ายฯ เรียกร้อง

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ คือผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกกะวัตต์ของ บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงงานน้ำตาลขนาดกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อยต่อวัน ของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ซึ่งโรงงานทั้งสองแห่งอยู่บริเวณริมลำน้ำเซบาย ซึ่งเป็นลำน้ำที่ประชาชนในพื้นที่ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ใช้บริโภคและทำการเกษตร

นางมะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย พื้นที่ ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เรียกร้องให้สำนักงานใหญ่ กกพ. ที่กรุงเทพฯ เลื่อนการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.อำนาจเจริญ ออกไปก่อน

นางมะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย พื้นที่ ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร กล่าวว่า เหตุผลที่เครือข่ายฯ ยื่นหนังสือแถลงการณ์ เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ ที่บริษัทที่ปรึกษาจัดทำเพื่อนำไปประกอบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งส่งให้สำนักงาน กกพ. เขต 5 แล้วสำนักงาน กกพ. เขต 5 ส่งต่อไปยัง คณะกรรมการ กกพ. ที่กรุงเทพฯ ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ชี้แจงรายละเอียดของโครงการโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะข้อเสียที่อาจเกิดขึ้น ให้คนในพื้นที่รับรู้ก่อนเปิดเวทีรับฟังความเห็น

“ทำให้ กกพ. เขต 5 อุบลฯ ได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง ก่อนส่งให้คณะกรรมการ กกพ. ระดับประเทศพิจารณา” นางมะลิจิตรกล่าว

นางมะลิจิตรกล่าวอีกว่า เวทีรับฟังความเห็นประกอบการทำรายงานอีไอเอครั้งที่ 1 ช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2559 และครั้งที่ 2 ช่วงเดือนมีนาคม ปี 2560 บริษัทที่ปรึกษาไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้ามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น โดยประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการมีความกังวลว่า ถ้าโรงไฟฟ้าเข้ามาตั้งในพื้นที่จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเสียจากโรงไฟฟ้าอาจไหลลงลำน้ำเซบายและลำน้ำสาขา ซึ่งจะทำให้คนในพื้นที่ไม่สามารถใช้น้ำจากลำน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรได้ และอาจเกิดปัญหาการแย่งน้ำระหว่างโรงไฟฟ้ากับคนในพื้นที่ รวมถึงปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ เช่น กลิ่นและฝุ่นละออง จากกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าต่อประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงงาน

“อยากให้ คณะกรรมการ กกพ. ระดับประเทศ ยกเลิกการพิจารณาออกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าในวันพรุ่งนี้ก่อน และให้ กกพ.ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพื้นที่อีกครั้งว่า เหมาะสมกับการสร้างโรงไฟฟ้าหรือไม่” นางมะลิจิตรกล่าว

กรรมการเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบายผู้นี้กล่าวอีกว่า ที่ดินในตำบลเซียงเพ็งที่ตนอาศัยอยู่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว และประชาชนในพื้นที่ก็ทำเกษตรแบบอินทรีย์ ปลอดสารเคมีตามนโยบายของจังหวัดยโสธร หากมีโรงไฟฟ้ามาตั้งในพื้นที่ ตนกังวลว่า หน่วยงานที่รับรองมาตรฐานผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์จะไม่รับรองมาตรฐานผลผลิตให้ และจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์เพื่อค้าขาย

นายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายกล่าวว่า หากคณะกรรมการ กกพ. พิจารณาอนุมัติใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้า เครือข่าย ฯ จะยกระดับการคัดค้านเป็นการใช้สิทธิทางกฎหมายโดยฟ้องร้องบริษัทต่อไป

นายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบายกล่าวว่า เครือข่ายเห็นว่าข้อมูลหลายส่วนเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ที่สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 5 จัดทำขึ้นไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ เช่น ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าใกล้ชุมชน ใกล้แหล่งอาหารของชุมชน รวมถึงใกล้แม่น้ำที่ประชาชนใช้อุปโภค บริโภค ซึ่งตามหลักแล้ว ไม่เหมาะสมต่อการสร้างโรงงานทุกชนิด

ที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบายผู้นี้กล่าวอีกว่า หลังจากยื่นหนังสือแถลงการณ์ที่สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 5 แล้ว ตนและเครือข่ายบางส่วนจะเดินทางไปที่คณะกรรมการ กกพ. ที่กรุงเทพฯ เพื่อกดดันให้ยกเลิกการพิจารณาใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้า และหากในวันพรุ่งนี้ (17 ต.ค. 2561) คณะกรรมการ กกพ. ที่กรุงเทพฯ พิจารณาออกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ เครือข่ายก็จะยกระดับการเคลื่อนไหวคัดค้านเป็นการใช้สิทธิทางกฎหมายในการฟ้องร้องบริษัทต่อไป

สมาชิกเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยผู้ชายสวมใส่ชุดขาวและโกนศีรษะ ส่วนผู้หญิงสวมชุดขาว เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลโดยสันติวิธี

 

image_pdfimage_print