ขอนแก่น – งานวิจัยโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลพบว่า การผลักดันศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพในภาคอีสานไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากผลผลิตอ้อยไม่เพียงพอต่อการป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวลและการผลิตเอทานอล จะทำให้ต้องใช้ถ่านหินผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการตัดสินใจขยายกำลังการผลิตเป็นการรวมศูนย์

ไร่อ้อยสูงท่วมหัวติดพื้นที่ทำนาปีในเขตตำบลหัวนา อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ภาพโดย : ดลวรรฒ สุนสุข

เมื่อเดือนกันยายน ปี 2561 มีการเผยแพร่งานวิจัยผลกระทบจากการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ จัดทำโดยรศ.ดร.สถาพร เริงธรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และแม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา เป็นรายงานที่ศึกษาการขยายตัวของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนในภาคอีสาน จัดทำระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ปี 2561 โดยเป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ดำเนินการวิจัยโดยการวิจัยทางเอกสารและการวิจัยภาคสนาม รวมถึงมีกรณีศึกษาในจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดอำนาจเจริญ

งานวิจัยดังกล่าวเริ่มต้นจากการกล่าวถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมน้ำตาลในรอบหลายปีที่ผ่านมา ว่ามีการปรับตัวโดยมีการวางแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ การแก้ไขกฎหมาย และระเบียบของภาครัฐให้เอื้อต่อการลงทุนในรูปแบบของทุนประชารัฐ และมีการวางกรอบนโยบายไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อมุ่งสู่ “เศรษฐกิจชีวภาพ” ผ่านการผลักดันของคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบด้วย คณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ หัวหน้าทีมภาคเอกชน คือ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล และคณะทำงานด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หัวหน้าทีมภาคเอกชน คือ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน)

คณะทำงานทั้ง 2 คณะได้ร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมหลักๆ ต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ ผลักดันให้ประกาศ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก  (Eastern Economic Corridor – EEC) ผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมี และผลักดันให้เกิดศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ ไบโอฮับ โดยใช้อีสานเป็นฐานการผลิตวัตถุดิบป้อน EEC

สอดรับกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2555 – 2564 โดยคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติเมื่อปี 2556 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อสร้างรายได้ใหม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศเขตเหมาะสมในการปลูกอ้อยโรงงานในพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ในพื้นที่ 4 ล้านไร่ โดยเลือกพื้นที่ปลูกข้าวในเขตเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสมเป็นพื้นที่เป้าหมายในการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อสร้างรายได้ใหม่ ภายใต้นโยบาย “ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่” ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หรือย้าย หรือขยายกำลังผลิตไปตั้งยังที่แห่งใหม่ รวมแล้วในภาคอีสานจะมีไบโอฮับเป็นศูนย์กลางในพื้นที่ฐานการผลิต และจะมีโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น 29 โรงงาน

ส่วนแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2558 – 2569 วางเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 5.47 ล้านไร่ เพิ่มผลผลิตเอทานอล 2.88 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มการผลิตไฟฟ้าชีวมวล 2,458 เมกะวัตต์

จากการศึกษาข้อเท็จจริง การผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพของกลุ่มทุน โดยวางเป้าหมายฐานการผลิตในภาคอีสานนั้น เป็นการวางแผนที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ภูมินิเวศ วิถี และวัฒนธรรมท้องถิ่น อยู่ 3 ประการ ได้แก่

ปัจจุบันภาคอีสานมีโรงงานน้ำตาล 20 โรงงาน พื้นที่ปลูกอ้อย 5.54 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อย 58.612 ล้านตัน เชื้อเพลิงชานอ้อย 15.825 ล้านตัน ผลิตไฟฟ้าชีวมวล 631 เมกกะวัตต์ เอทานอล 1.4 ล้านลิตร/วัน แต่ผลผลิตอ้อยทั้งหมดในภาคอีสานยังไม่พอสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเดิม  

ฉะนั้น การเพิ่มขึ้นของโรงงานน้ำตาลจะต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอย่างน้อย 7  ล้านไร่ โดยไม่ได้นับรวมผลผลิตจากอ้อยที่ต้องใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวลที่พ่วงมากับโรงงานน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ

เป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทรายฯ ที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 4 ล้านไร่ ผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยเพิ่มขึ้น 2,458 เมกะวัตต์ ในปี 2569 แต่ข้อเท็จจริงคือจะต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่ แผนการพัฒนาไบโอฮับและแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2558 – 2569 จึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

ประการต่อมาคือ ภาคอีสานจะต้องปลูกอ้อยเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่ เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าชีวมวล 1,800 เมกะวัตต์ มีการประเมินถึงความคุ้มค่าแล้วหรือไม่ ซึ่งหากเชื้อเพลิงจากชานอ้อยหรือวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรในภาคอีสานไม่เพียงพอ ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าได้ตามแผนฯ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่อนุญาตให้ใช้ถ่านหินได้ร้อยละ 25 ก็เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในไบโอฮับที่มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและนำเข้าถ่านหินของประเทศไทย แนวโน้มการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน ก็คงเป็นทางเลือกที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในภาค เนื่องจากปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่ได้ออกแบบระบบกำจัดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์และสารโลหะหนักอื่น ๆ ที่อาจจะปนเปื้อนในอากาศ และยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ในกรณีที่โรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงผิดประเภท

ประการสุดท้ายคือ การขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ หรือ เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยังมีแนวโน้มการประกาศเพิ่มขึ้นตามความสนใจของนักลงทุน ซึ่งอาจจะมีการประกาศให้ไบโอฮับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษครอบคลุมหลายจังหวัด ซึ่งหมายความว่า ภาคอีสานจะมีการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สังคม นิเวศวัฒนธรรมอย่างมากมายโดยการรวมศูนย์ตัดสินใจ ขณะที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลข่าวสารมา และยังไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชนในพื้นที่

image_pdfimage_print