23

 

สนามเลือกตั้งภาคอีสานถือเป็นสนามที่พรรคการเมืองทุกพรรคพร้อมลงทุน ลงแรง ชูนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ เพราะถ้าพรรคไหนได้เสียงสนับสนุนจากคนอีสาน พรรคนั้นอาจได้จัดตั้งรัฐบาล

ภาคอีสานคาดว่ามีตัวเลขผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ 51,735,326 คน และจำนวน ส.ส. แบ่งเขตจากภาคอีสานในการเลือกตั้งรอบนี้ที่ กกต. กำหนด มีจำนวน 116 คน จากจำนวน ส.ส. แบ่งเขตทั่วประเทศ 350 คน ถือว่าสูงกว่าทุกภาคในประเทศ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทุกพรรคพร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้คะแนนจากคนอีสาน

ผลสำรวจความเห็นคนอีสานเกี่ยวกับ “พรรคการเมืองในฝันของคนอีสาน” ของอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ขอนแก่น ที่สำรวจไว้เมื่อ 22 มีนาคม 2561 เปิดเผยว่า คนอีสานที่ตอบผลสำรวจส่วนใหญ่ต้องการให้พรรคการเมืองที่มีผู้นำพรรคที่บริหารประเทศเก่ง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ สูงถึงร้อยละ 90.8

ประกอบกับผลสำรวจความเห็นคนอีสานของอีสานโพลที่เผยแพร่เมื่อ 13  กุมภาพันธ์ 2562 เรื่อง พรรคที่ชอบและนโยบายที่ใช่ของคนอีสาน พบว่า ชาวอีสานมีแนวโน้มเลือก “พรรคเพื่อไทย” มากที่สุด สืบเนื่องจากนโยบายประกันรายได้เพื่อชีวิตที่มั่นคงอยู่ที่ร้อยละ 42.2 รองลงมาคือนโยบายเกษตรกรก้าวหน้าปลดหนี้เกษตรกร ร้อยละ 41.1

เหตุผลใดคนอีสานจึงชอบนโยบายประชานิยมของเพื่อไทย ทั้งๆ ที่ปัจจุบัน พรรคการเมืองหลายพรรคมีนโยบายลักษณะประชานิยมเช่นกัน

ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจังหวัดอุดรธานีทั้ง 8 เขตกว่า 10,000 คน ร่วมฟังการปราศรัยหาเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ณ บริเวณศูนย์การค้า 168 แพลตินั่มอุดรธานี อ.เมือง จ.อุดรธานี

ปัญหาเศรษฐกิจเกิดจาก คสช. และ พท. จะเข้ามาแก้ไข

ปรากฎการณ์ความนิยมพรรคเพื่อไทยของคนอีสานที่สะท้อนผ่านการร่วมฟังปราศรัยใหญ่ในจังหวัดอุดรธานีเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์และที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อต้นเดือนมีนาคม ซึ่งมีจำนวนประชาชนผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยร่วมฟังปราศรัยครั้งละ 5,000 ถึง 10,000 คน ถือเป็นจำนวนคนที่มากเมื่อเปรียบเทียบกับบรรยากาศการปราศรัยของพรรคการเมืองอื่นในพื้นที่

อดีต ส.ส. และสมาชิกพรรคเพื่อไทยต่างหยิบประเด็นนโยบายเศรษฐกิจมาพูดบนเวที และใช้โอกาสนี้พูดถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนได้รับในยุครัฐบาล คสช. พร้อมทั้งเสนอนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพื่อหวังคะแนนเสียงจากผู้ที่ร่วมฟัง

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หนึ่งในทีมงานพรรคเพื่อไทยจากส่วนกลางที่ขึ้นเวทีปราศรัยที่จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า 4 ปี พรรคเพื่อไทยเฝ้าดูการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. อย่างต่อเนื่อง

“เรื่องการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐบาลกลับไม่ทำ” กิตติรัตน์กล่าว “เราจะจัดสรรงบประมาณของประเทศเพื่อประโยชน์เรื่องเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนเป็นหลัก”

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ชูนโยบายพักชำระหนี้ เพิ่มราคาสินค้าเกษตร ตั้งสถาบันการเงินสร้างรายได้ประชาชนประจำจังหวัด (ภาพโดย วิศรุต แสนคำ)

สำหรับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนที่พรรคเพื่อไทยจะทำหากได้เป็นรัฐบาลคือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน โดยเฉพาะหนี้สินเกษตรกรที่เกิดขึ้นช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เธอเชื่อว่าเกษตรกรหลายคนยิ่งทำงานมากยิ่งเป็นหนี้ ยิ่งขยันยิ่งจน เพราะฉะนั้น พรรคเพื่อไทยจะเสนอนโยบายพักชำระหนี้ 3 ปี เพื่อให้ทุกคนมีเงินเก็บมากขึ้น และจะกระตุ้นให้ราคาสินค้าเกษตรมีราคาดีขึ้นภายใน 6 เดือน

“เมื่อทุกคนลุกขึ้นยืนได้จากวิกฤตหนี้สิน พรรคเพื่อไทยจะพาทุกคนไปหาเงินเข้ากระเป๋า โดยขายสินค้าเกษตรให้ได้ราคาสูงขึ้น” สุดารัตน์กล่าว

อีกหนึ่งนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเสนอคือ โครงการสถาบันการเงินสร้างรายได้ประจำจังหวัด ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ประชาชนสามารถเข้ามากู้เงินไปลงทุนทำหรือใช้จ่ายในธุรกิจหรือกิจการขนาดเล็กได้

ประชานิยมเพื่อไทยยังกินใจคนอีสาน

สกุล สำราญบำรุง อายุ 67 ปี ชาวบ้านหนองกุง ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น หนึ่งในผู้ที่ร่วมฟังปราศรัยของพรรคเพื่อไทยที่จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เธอชอบพรรคเพื่อไทยก็เพราะนโยบายเศรษฐกิจที่ช่วยเหลือเกษตรกร คนรากหญ้า ส่วนตัวเธอชอบนโยบายจำนำข้าว เพราะเป็นนโยบายที่ทำให้ชาวนาได้ราคาข้าวที่สูงจากรัฐบาล ทำให้ตัวเธอและครอบครัวมีเงินไว้ใช้จ่ายในครัวเรือน

นอกจากนโยบายเศรษฐกิจที่ช่วยเหลือเกษตรกร สกุลยังชอบนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะเธอได้เข้ารับการผ่าตัดอาการปวดจากกระดูกทับเส้นประสาท โดยเสียค่าใช้จ่ายค่าผ่าตัดและค่ารักษาพยาบาลเพียง 30 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมาก จนทำให้เธอหายจากอาการปวด

ผู้คนกว่า 5,000 คน ร่วมฟังพรรคเพื่อไทยปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่น เขต 2 ที่บริเวณลานกว้างในชุมชนบ้านสงเปือย ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น (ภาพโดย วิศรุต แสนคำ)

สำหรับ มยุรี ชุมวงศ์ อายุ 45 ปี ชาวนาและชาวสวนดอกไม้ในหมู่บ้านศิลา ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น เธอชอบนโยบายเศรษฐกิจ เช่น นโยบายจำนำข้าว ที่ช่วยเหลือให้ชาวนาอย่างเธอขายข้าวได้ราคาที่สูง ซึ่งทำให้ตัวเธอและครอบครัวไม่ขัดสนเรื่องเงินเหมือนอย่างในปัจจุบันนี้

มยุรีมองว่านโยบายเศรษฐกิจของเพื่อไทยทำให้คนในสังคมมีเงิน เช่น เมื่อชาวนาขายข้าวได้ราคาดี ก็มีเงินไว้ใช้จ่าย เมื่อเอาเงินไปใช้จ่ายซื้อของในชุมชน พ่อค้าแม่ค้าก็มีเงิน ต่างคนต่างได้เงิน ทุกคนมีเงิน เธอคิดว่าพรรคเพื่อไทยบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจเก่ง

การเลือกตั้งครั้งนี้แม้ทุกพรรค แม้กระทั่งพรรคของรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ จะเสนอนโยบายคล้ายกับนโยบายพรรคเพื่อไทย มยุรีและสกุลก็ยังจะเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคนี้เคยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและช่วยเหลือคนยากจน เกษตรกร เหมือนตัวเธอได้สำเร็จมาแล้วในอดีต

หลายพรรคเสนอนโยบายประชานิยม

“นโยบายประชานิยม” คือนโยบายทางการเมืองนโยบายหนึ่ง ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สำหรับประเทศไทย นโยบายประชานิยมมุ่งช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยค่อนไปยากจน ที่มีจำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งนโยบายลักษณะนี้ พรรคไทยรักไทยถือเป็นพรรคแรกที่นำมาใช้หาเสียงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 จนได้รับชัยชนะถึง 2 สมัย เพราะนโยบายตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองมองว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนให้ความสนใจความต้องการของคนมีรายได้น้อยเหมือนเช่นพรรคไทยรักไทยมาก่อน

เมื่อนโยบายนี้เป็นที่นิยมในประชาชนหมู่มาก ทำให้การเลือกตั้งหลังจากนั้นเป็นต้นมา ตั้งแต่พรรคพลังประชาชนจนถึงพรรคเพื่อไทย พรรคที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง นำนโยบายนี้มาใช้หาเสียงก่อนการเลือกตั้งในทุกๆ ครั้ง

ผลจากความนิยมของประชาชนที่มีต่อนโยบายลักษณะประชานิยมของพรรคที่มีทักษิณ ชินวัตรอยู่เบื้องหลังนั้น ทำให้นักวิเคาะห์การเมืองมองว่า นโยบายนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองช่วงการเลือกตั้งเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยหวังได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีจำนวนมากในสังคม เป็นนโยบายเอาใจประชาชนมากกว่าจะเป็นนโยบายที่มุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกจุดและถูกต้องตามหลักเศรษฐศาสตร์  

สมชัย ภัทรธนานันท์ รองศาสตรจารย์และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม ผู้ศึกษาการเมืองในอีสาน กล่าวว่า รูปแบบการปราศรัยหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในภาคอีสานที่เน้นการพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจและเสนอนโยบายแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น คล้ายกับวิธีการปราศรัยหาเสียงของพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน ซึ่งจุดเด่นยังคงอยู่ที่การเสนอนโยบายประชานิยม อันเป็นนโยบายที่คนมีรายได้น้อย ตลอดจนเกษตรกรในภาคอีสานชื่นชอบ สมชัยถือว่าเป็นกลยุทธ์การหาเสียงหนึ่งที่มุ่งหาเสียงคนเฉพาะกลุ่มที่น่าสนใจมาก

“กรณีที่คนมาฟังปราศรัยเพื่อไทยเยอะ สะท้อนว่าฐานเสียงเพื่อไทยยังคงแข็งแรงอยู่ เหตุผลหนึ่งที่ฐานเสียงเพื่อไทยยังแน่น เพราะคนอีสานยังชอบนโยบายเศรษฐกิจของพรรคนี้” สมชัยกล่าว

เขายังวิเคราะห์อีกว่า ถึงแม้นโยบายประชานิยมของพรรคทักษิณจะถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีอย่างหนักว่าเป็นนโยบายที่มุ่งเอาใจประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก ซึ่งสร้างความเสียหายในระบบการเงินการคลังของประเทศมากกว่าการมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างถูกต้องและเป็นระบบ แต่ปัจจุบันพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคต่างนำเสนอนโยบายที่คล้ายกับนโยบายประชานิยมที่พรรคเพื่อไทยเคยทำมาตั้งแต่อดีตแทบทั้งสิ้น

“แม้แต่ฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทย คือ พรรคพลังประชารัฐ ยังชูนโยบายประชานิยมเช่นกัน เท่ากับว่าสังคมยอมรับว่านโยบายประชานิยมฝ่ายทักษิณคิดทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จริง” สมชัยกล่าว

คนอีสานเลือกตั้งเพราะนโยบาย

ปรากฎการณ์ที่คนอีสานนิยมพรรคเพื่อไทยเป็นเพราะนโยบายเศรษฐกิจสะท้อนความตื่นตัวทางการเมืองของคนในภูมิภาค

“ความเชื่อคนอีสานไม่รู้เรื่องการเมือง ถูกพรรคการเมืองซื้อเสียงได้ง่าย ผมคิดว่าใช้อธิบายการเมืองอีสานไม่ได้แล้ว” สมชัยกล่าว

กว่า 10 ปีที่ผ่านมาคนอีสาน คนในชนบทใช้ความรู้ ความคิด ในการวิเคราะห์นโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ว่าพรรคไหนจะเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์กับชีวิตเขามากที่สุด

สำหรับสมชัย คนอีสานรู้จักการใช้ประชาธิปไตยเพื่อเข้าถึงนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของพวกเขา เพราะคนอีสานรู้ว่า หากอยากได้นโยบายอะไร ต้องใช้การเลือกตั้งในการเข้าถึงมันและได้นโยบายนั้นมาก

“เลือกเพราะนโยบาย นโยบายไหนเข้าท่า คนอีสานก็จะเลือก เขาคิดว่าประชาธิปไตยคือหนทางหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น โดยเฉพาะการใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพื่อให้ได้นโยบายที่ต้องการ” สมชัยกล่าว

พรรคเพื่อไทยยังคงนำเสนอนโยบายลักษณะประชานิยมในการปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดขอนแก่นอยู่ (ภาพโดย วิศรุต แสนคำ)

นโยบายประชานิยมทำให้ทุกพรรคต้องขายนโยบายให้กับประชาชน

ปรากฏการณ์นี้ทำให้ทุกพรรคการเมืองจะต้องคิด วางแผน และออกแบบนโยบายที่ทำได้และเกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ เพราะการเมืองหลังจากที่ไทยรักไทยเสนอนโยบายประชานิยมที่ทำได้จริง และประชาชนได้ประโยชน์ ถือว่าเป็นมาตรฐานใหม่ให้พรรคการเมืองทุกพรรคว่าจะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายก่อนการเลือกตั้ง

“ต่อไปนี้ คนจะเลือกพรรคไหน เขาจะคิดว่า นโยบายนี้เป็นประโยชน์กับเขาหรือไม่ ทำได้จริง เป็นรูปธรรมหรือไม่” ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก สาขาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ม.เชียงใหม่ กล่าว

ชัยพงษ์วิเคราะห์ว่า ถึงแม้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทยจะเสนอนโยบายลักษณะประชานิยมเช่นกัน แต่นโยบายประชานิยมของเพื่อไทยถือว่ามีจุดเด่นกว่า เช่น การดำเนินนโยบายสองระนาบ ได้แก่ ระนาบแรกคือ นโยบายที่ให้ประชาชนระดับท้องถิ่น เช่น นโยบายที่ให้เงินประชาชนเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ผ่านกองทุนต่างๆ ในท้องถิ่น เสมือนเป็นการสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นนำเงินกองทุนมาใช้จ่ายทำธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็ก ระนาบที่สองคือ นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาหน่วยธุรกิจระดับประเทศเพื่อรองรับสินค้าหรือธุรกิจจากท้องถิ่น

“ถือเป็นแผนการดำเนินนโยบายประชานิยมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบไปพร้อมๆ กัน” ชัยพงษ์กล่าว

นโยบายประชานิยมควรคำนึงถึงความคุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หลายพรรคการเมืองจะพากันชูนโยบายลักษณะประชานิยมเพื่อหวังคะแนนเสียงจากประชาชนก่อนการเลือกตั้ง แต่สำหรับสถาพร เริงธรรม รองศาสตรจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวควรออกแบบให้สามารถทำได้จริง คุ้มค่า มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่มในสังคม ไม่ใช่แค่มุ่งใช้นโยบายเพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้น

“คำนึงถึงความคุ้มค่า ทำนโยบายนี้มันคุ้มค่าจริงหรือไม่ คนทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์หรือไม่ จึงอยากฝากให้แต่ละพรรคคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย” สถาพรกล่าว

image_pdfimage_print