โดย ศตานนท์ ชื่นตา

สกลนคร – ในห้วงบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 ที่จังหวัดสกลนคร หลายพรรคการเมืองปราศรัยหาเสียงและนำเสนอนโยบายต่างๆ มาอ้อนคนสกลนครให้เทคะแนนเสียงให้ แต่มีนโยบายหนึ่งที่พรรคการเมืองกว่า 3 พรรค ประกาศจุดยืนที่คล้ายกัน คือ ลดอำนาจรัฐส่วนกลาง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 6 เขต จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

พรรคอนาคตใหม่ ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค พร้อมผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 6 เขต จังหวัดสกลนคร ได้ประกาศบนเวทีปราศรัยใหญ่เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมาตอนหนึ่งว่า

“พี่น้องสกลนครรู้หรือไม่ พวกเราทำงานหนักมาทั้งชีวิต แต่ยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีไม่ได้ เพราะพวกเรา ประชาชนคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ โดนกดทับด้วยรัฐราชการรวมศูนย์” ธนาธรกล่าว

เขาอธิบายว่า การรวมศูนย์ของอำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ และบริหารประเทศด้วยคนเพียงไม่กี่คน มันมีปัญหา มันมีอุปสรรค เพราะโครงสร้างอำนาจการบริหารนั้นไม่เป็นธรรม เป็นโครงสร้างอำนาจที่กดทับและบั่นทอนศักยภาพของประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดไว้

“พรรคอนาคตใหม่ ขอประกาศเป็นกองหน้าประชาธิปไตย ขอเป็นพรรคแรกที่จะเข้าไปยุติโครงสร้างเหล่านั้น แล้วจะกระชากอำนาจเหล่านั้นมากระจายคืนให้ประชาชน” ธนาธรระบุ

ธนาธรกล่าวต่อว่า เขาต้องการให้ประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า รวมถึงภาษี โดยจะให้อำนาจในการบริหารทรัพยากรเหล่านี้อยู่กับประชาชนในท้องถิ่น เขาเชื่อว่าเมื่อประชาชนคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอีสาน กลาง เหนือ ใต้ หรือแม้แต่คนสกลนครเอง ได้ปลดปล่อยศักยภาพ ได้มีส่วนร่วมกันอย่างเต็มที่ ท้องถิ่นจะพัฒนาได้เร็ว ความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นจะดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน

“วันที่ 24 มีนานี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนสกลนคร มาร่วมมือกับพรรคอนาคตใหม่ ในการทำภารกิจหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. พอกันทีกับอำนาจชนชั้นปกครอง เราขอเอาอำนาจสูงสุดกลับมาอยู่ในมือประชาชน” ธนาธรกล่าวประกาศ

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ (เสื้อฟ้า) หัวหน้าพรรคสามัญชนกล่าวว่า การกระจายอำนาจคือหัวใจของประชาธิปไตย ยิ่งกระจายอำนาจมากเท่าไหร่ คุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นยิ่งจะดีขึ้น

สำหรับพรรคสามัญชนที่นำโดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กล่าวในประเด็นนี้ระหว่างลงพื้นที่หาเสียงช่วยผู้สมัคร ส.ส. เขต 5 และ 6 จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาว่า พรรคจะเปลี่ยนรัฐเผด็จการเป็นรัฐสวัสดิการ ซึ่งก่อนจะเปลี่ยนได้นั้นต้องเริ่มจากการกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลางสู่ท้องถิ่นที่เป็นการกระจายอำนาจจริงๆ

“เราจะยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคทั้งหมด เช่น ผู้ว่าฯ นายอำเภอ แล้วเอาแค่การปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อบจ. อบต. เทศบาล ที่มาจากการเลือกตั้งขึ้นมาแทน มันจะเป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่พวกเขาเลือกขึ้นมาเอง ที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ประชาชน” เลิศศักดิ์กล่าว

เขาต้องการให้ประชาชนเลิกเรียกข้าราชการจากส่วนกลางว่า “นาย” “นายท่าน” ซึ่งสำหรับเขามันเป็นคำเรียกในยุคศักดินา ส่วนกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานรัฐส่วนกลางก็ให้เปลี่ยนไปเป็นลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อย่าง อบต. แทน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของหน้าที่ เวลารายงานผลการปฏิบัติงานก็รายงานที่ อบต.หรือ อบจ. แทน

เลิศศักดิ์เชื่อว่า ใครจะที่เข้ามาแก้ปัญหาหรือพัฒนาท้องถิ่น จะต้องมีความเข้าใจและใกล้ชิดกับคนในท้องถิ่น เพราะความขัดแย้งของท้องถิ่นหลายๆ เรื่องทุกวันนี้มาจากรัฐส่วนกลาง ถ้าลดอำนาจจากรัฐส่วนกลางออกไปแล้ว ให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง จัดการปัญหาตัวเอง ความขัดแย้งต่างๆ จะลดลงแน่นอน

“การกระจายอำนาจคือหัวของประชาธิปไตย ยิ่งกระจายอำนาจมากเท่าไหร่ คุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นยิ่งจะดีขึ้น บ้านเมืองก็ยิ่งจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น” เลิศศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

สถาพร เริงธรรม รองศาสตรจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น เลขาธิการเครือข่ายกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น ผู้มีแนวคิดจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง อยากให้กระจายอำนาจถึงมือประชาชนจริงๆ ไม่อยากให้กระจายอำนาจแล้วไปกระจุกตัวอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง อบจ. อบต. เหมือนเดิม

“ที่ผ่านมา อำนาจที่กระจายไปประชาชนในท้องถิ่นไม่มีสิทธิ์ในการบริหารจัดการท้องถิ่นตัวเองอย่างเต็มที่ตามหลักการ” สถาพรกล่าวบนเวทีเสวนาเรื่อง พรรคการเมืองกับนโยบายสาธารณะกับการพัฒนาภาคอีสาน ที่ ม.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561 

สถาพรจึงเสนอว่า อำนาจที่กระจายไปให้ท้องถิ่นนั้นควรจะเป็นการกระจายอำนาจรัฐบาลกลางให้ท้องถิ่น ซึ่งต้องมีการถ่ายโอนภารกิจและบุคลากรจากส่วนกลางให้ท้องถิ่นด้วย ยกเว้น 4 ภารกิจหลัก เช่น ศาล กองทัพ การคลัง และการต่างประเทศ และส่วนกลางต้องยกเลิกการกำกับดูแลท้องถิ่น โดยเปลี่ยนมาเป็นการสนับสนุนและติดตามภาระหน้าที่ที่ท้องถิ่นทำ

“เป้าหมายคือ ต้องการสลายอำนาจที่เคยอยู่กับบุคคลากรที่มาจากรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และให้บุคคลากรเหล่านั้นต้องทำหน้าที่ตามที่ท้องถิ่นกำหนด” สถาพรกล่าว

เมื่อส่วนกลางกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแล้ว สถาพรกล่าวว่า ท้องถิ่นก็ควรจะต้องกระจายอำนาจให้ อบจ. อบต. และเทศบาล แบบแบ่งสันปันส่วนอำนาจให้ชัดเจนและตรงกับภาระหน้าที่เช่นกัน เพื่อป้องกันการทับซ้อนทางอำนาจและหน้าที่ รวมถึงไม่ให้เกิดความขัดแย้งในภาระหน้าที่กันอีกครั้ง ส่วนการกระจายงบประมาณจากส่วนกลางให้ท้องถิ่นหากมีงบฯ 100 บาท ควรแบ่งให้ท้องถิ่น 70 บาท อีก 30 ให้ส่วนกลาง 

สถาพรยังเสนออีกว่า นอกจากนั้นควรมีการกระจายอำนาจจาก อปท. ให้ประชาชน ในรูปแบบของสภาประชาชน เพื่อให้คนในท้องถิ่นสามารถเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโนบาย เสนอความต้องการของท้องถิ่นได้

ศตานนท์ ชื่นตา คือผู้ร่วมอบรมในโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานรุ่น 2 ประจำปี 2560 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print