โดย เซนยา เลเดอร์แมนน์ นักเขียนรับเชิญ

ชุมชนคนเก็บขยะรีไซเคิลที่สถานีกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครขอนแก่น อาศัยทำมาหากิน ณ ที่แห่งนี้มานานหลายทศวรรษ ทว่านับตั้งแต่ที่เตาเริ่มเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ชาวบ้านเหล่านี้กลับต้องลำบากหนักกว่าเดิมในการทำมาหาเลี้ยงปากท้อง เชิญอ่านเรื่องราวของคนเก็บขยะรีไซเคิลสองคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ที่ชุมชนแห่งนี้ได้ที่นี่

23

นับตั้งแต่เปิดสถานีกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครขอนแก่นเมื่อปี 2508 ชาวบ้านหมู่บ้านคำบอนได้ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บขยะรีไซเคิลที่สถานีกำจัดขยะแห่งนี้เพื่อนำไปขายหารายได้ ในแต่ละวัน จะมีการขนขยะมาทิ้งที่พื้นที่ฝังกลบขยะดังกล่าวราว 450 ถึง 600 ตัน แต่เตาเผาขยะที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2559 กำลังเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านคำบอนกลุ่มนี้ และทำให้พวกเขามีชีวิตความอยู่อย่างยากลำบากเรื่อยมา

23

ตอนแรก กลุ่มบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นเจ้าของเตาเผาขยะ ตกลงว่าจะทิ้งขยะที่ขนเข้ามาลงในพื้นที่ฝังกลบเพื่อให้ชาวบ้านเข้าเก็บขยะรีไซเคิลได้ก่อนที่จะนำขยะส่วนที่เหลือไปเผา แต่ตามที่ชาวบ้านบอกกล่าว ทุกวันนี้รถขนขยะกลับขับตรงดิ่งเข้าเตาเผาเลย โดยไม่ยอมทิ้งขยะไว้ด้านนอกให้ชาวบ้านได้เข้าคุ้ยหาขยะก่อนแต่อย่างใด

23

โรงเผาขยะทำการเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามากว่าสองปีแล้ว โดยมีกำลังการผลิตสูงสุด 1.5 เมกาวัตต์ต่อวันสำหรับใช้ภายในโรงงานและอีก 4.5 เมกาวัตต์เพื่อขายให้แก่รัฐ

ราวสิบปีก่อน พื้นที่ฝังกลบขยะแห่งนี้มีชาวบ้านเข้ามาเก็บขยะรีไซเคิลประมาณ 60 ถึง 70 คน แต่เมื่อรายได้หดหายลงไปเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันยังมีคนที่เข้ามาเก็บขยะรีไซเคิลเหลืออยู่เพียง 20 คนเท่านั้น

โรงเผาขยะว่าจ้างชาวบ้านคำบอนจำนวนหนึ่งให้ทำงานที่โรงเผา โดยทั้งหมดทำหน้าที่เป็นยามรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ เจ้าของโรงเผาขยะแห่งนี้มีพื้นเพมาจากกรุงเทพและมักว่าจ้างพนักงานประจำโรงเผาที่มาจากกรุงเทพเสียส่วนใหญ่

23

ชาวบ้านหลายคนเลิกเข้ามาเก็บขยะรีไซเคิลแล้ว เพราะขยะมีไม่มากพอให้พวกเขาได้คุ้ยเก็บจึงไม่คุ้มกับการลงทุนลงแรงมาเก็บอีกต่อไป สองสามีภรรยา คำสอน (ขวา) และ เสิง (ซ้าย) เหลือเป็นคนเก็บขยะรีไซเคิลสองคนสุดท้ายที่ยังคงเข้ามาเก็บอยู่ทุกวันทั้งสองคนเคยทำงานเป็นคนใช้แรงงานมาก่อน ก่อนที่จะมาเก็บแยกขยะรีไซเคิลเมื่อกว่า 15 ปีที่แล้ว เสิงเกิดที่หมู่บ้านแห่งนี้ แต่ภรรยาของเขา คำสอน ย้ายจากจังหวัดใกล้เคียงมาอยู่ที่นี่เมื่อปี 2512 ปัจจุบันทั้งสองอายุหกสิบกว่าปีและแก่เกินไปที่จะไปหางานทำที่อื่น “ไม่มีอะไรให้ทำแล้ว ไม่มีใครเขาอยากจ้างงานเราหรอก เราไม่มีทางเลือกอื่น” คำสอนกล่าว

23

สองสามีภรรยาคู่นี้มีลูกด้วยกันทั้งหมดสามคน ลูกชายคนโตนั้นเสียชีวิตแล้วด้วยโรคเลือดเมื่อไม่กี่ปีก่อน ตอนนี้ทั้งสองเหลือลูกสาวสองคน คนหนึ่งย้ายไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ทิ้งหลานสองคนไว้ให้ตากับยายเลี้ยงเพราะพ่อของหลานตายตั้งแต่หลานยังเล็ก ตอนนี้ทั้งคู่ไม่ได้ติดต่อกับลูกสาวคนนี้แล้ว และเธอก็ไม่ได้ส่งเงินมาช่วยเหลือครอบครัวแต่อย่างใด

23

ลูกสาวอีกคนทำงานที่ร้านรับซื้อขยะรีไซเคิลอยู่นอกตัวเมืองขอนแก่น หากวันใดที่ลูกๆ ของเธอคนนี้ไม่ได้ไปโรงเรียน เธอก็จะพาลูกมาฝากให้ตากับยายช่วยดูแลเช่นกัน ลูกสาวคนนี้อยู่บ้านใกล้พ่อแม่จึงเจอกันบ่อย แต่เธอก็ไม่สามารถช่วยเหลือเรื่องเงินทองเพราะเธอมีรายได้เพียงวันละ 200 บาทเท่านั้น และยังต้องดูแลครอบครัวของตัวเองอีกด้วย

23

ทั้งสองเก็บขยะขวดแก้วตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงบ่ายโมงทุกวัน โดยแต่ละวันเก็บได้ประมาณสามถุง เฉลี่ยถุงละเจ็ดกิโลกรัม ขายได้ถุงละ 42 บาท ก่อนที่จะมีเตาเผาขยะ ทั้งสองเคยได้รายได้สูงสุดวันละ 215 บาท ตอนนี้สองสามีภรรยาต้องเก็บขยะจาก “กองขยะเก่า” ซึ่งทับถมอยู่ในพื้นฝังกลบมาหลายปี กองขยะนี้มักจะไม่ค่อยมีอะไรให้คุ้ยเก็บไปขายแล้ว ใน “กองขยะใหม่” นั้น ทั้งคู่เคยคุ้ยเจอเงิน เครื่องประดับ ของชิ้นใหญ่และของมีค่าอื่นๆ ที่สามารถนำไปขายเป็นรายได้ ครั้งหนึ่งทั้งคู่คุ้ยเจอแหวนทองคำ ซึ่งก็ไม่ได้เอาไปขาย แต่ได้เอาไปแลกเป็นสร้อยคอทองคำที่ร้านทองในตัวเมืองแทน

23

การเก็บขยะภายใต้แสงแดดที่แผดเผาก็ยากเย็นมากพอแล้ว แต่การขนขยะรีไซเคิลที่เก็บมาได้ก็ยากเย็นพอๆ กัน ถุงขยะมักร่วงลงมาจากรถเข็นหรือฉีกขาด ทำให้ของที่เพิ่งเก็บมาได้หล่นกระจัดกระจาย ทั้งคู่จะนำของที่เก็บได้มาที่เพิงพักเพื่อเทกองรวมกันแล้วแยกเป็นสัดส่วนอีกครั้งหนึ่ง โดยจะต้องจัดแยกตามประเภท รวบรวม และเก็บไว้เพื่อรอพ่อค้ารับซื้อของเก่าแวะมาซื้อ ซึ่งการมาแต่ละครั้งไม่มีความแน่นอน

23

การสร้างเตาเผาขยะได้นำพาปัญหาอย่างอื่นมาด้วย ชาวบ้านกล่าวว่า การเผาขยะทำให้อากาศเป็นพิษ หลายคนมีผื่นคันขึ้นตามตัว มีอาการปวดศีรษะและตาพร่ามัว

23

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชาวบ้านคนเก็บขยะรีไซเคิลและชาวบ้านคนอื่นๆ ได้รวมตัวกันประท้วง โดยปิดถนนไม่ให้รถขนขยะตรงเข้าไปเทขยะยังเตาเผาได้ แต่ตำรวจก็ได้เข้ามาบังคับให้ชาวบ้านหยุดการประท้วง “เราเคยมีความเป็นอยู่ดีกว่านี้ แต่ตอนนี้ลำบากมาก อยากให้เป็นเหมือนแต่ก่อน” เสิงกล่าว

23

“รู้สึกเศร้า แล้วก็ไม่พอใจ เขาโกหก แล้วฉันก็โกรธ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าเราไม่ฟังเขา เราก็จะถูกจับ” คำสอน (ซ้าย) กล่าว “ตอนแรกเขาบอกว่าจะให้พวกเราเก็บขยะได้ ตอนหลังก็บอกว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ แต่ก็ไม่จ่าย พวกเขาไม่สนใจพวกเราเลย”

23

เพื่อช่วยหารายได้มาจุนเจือครอบครัว หลานคนเล็ก (กลาง) ต้องทำงานเป็นเด็กส่งส่งน้ำหลังโรงเรียนเลิกทุกวัน โดยได้ค่าจ้างวันละ 100 บาท ทั้งนี้ เมื่อว่างจากการทำงานทั้งหมดมักจะนั่งพักผ่อนด้วยกันในบ้าน

23

ทั้งสองเป็นคนเก็บขยะรีไซเคิลสองคนสุดท้ายที่เหลืออยู่บ้านคำบอนแห่งนี้ เมื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างเฟื่องฟูได้ถูกเตาเผาขยะทำลายให้หายไป คนเก็บขยะที่เหลืออยู่เฉกเช่นทั้งคู่จึงกลายเป็นคนสิ้นหวัง แม้จะยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่คำสอนและเสิงก็จะยังเก็บรีไซเคิลขยะต่อไป และหากวันใดที่ทั้งสองสิ้นลมหายใจไป ชุมชนคำบอนแห่งนี้ก็อาจจะสูญสลายหายไปด้วยเช่นกัน

เซนยา เลเดอร์แมนน์ศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและมนุษยวิทยาที่เอกเกิร์ดคอลเลจ ในภาคการศึกษานี้เธอศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาในจังหวัดขอนแก่น

image_pdfimage_print