โดย สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์

“แม่น้ำสงคราม” คุณค่าและความสำคัญ

ลุ่มน้ำสงคราม เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขง มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 6,472 ตารางกิโลเมตร อยู่ใน 5 จังหวัดของภาคอีสานตอนบน คือ สกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม มีต้นกำเนิดจากภูผาเหล็ก อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร และอำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี ลำห้วยสาขาต่างๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ไหลรวมกันกลายเป็นห้วยสงคราม

แม่น้ำสงครามมีความยาวประมาณ 420 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุดในภาคอีสานตอนบน มีความหลากหลายของระบบนิเวศย่อยหลายลักษณะ เช่น กุด หลง แก้ง ดง ดอน ท่ง ทาม บุ่ง โพน วัง ฯลฯ

ที่นี่ถือเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่หลายแสนไร่ในช่วงฤดูน้ำหลาก จึงเป็นแหล่งผลผลิตประมงธรรมชาติที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ แม่น้ำสงคราม ยังอุดมไปด้วย “ป่าบุ่งป่าทาม” (Flood Forest) ผืนใหญ่และมีพื้นที่หลงเหลือมากที่สุดในภาคอีสาน

ต้นบัวในแม่น้ำสงครามขยายพันธุ์จำนวนมาก (ภาพโดย : สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์)

นอกจากนี้ แม่น้ำสงครามยังเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ยังคงไหลเป็นอิสระ (ยังไม่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ตอนบนของแม่น้ำและยังไม่มีการสร้างประตูน้ำปิดปากแม่น้ำ) ส่งผลให้แม่น้ำมีความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์พืชและสัตว์น้ำสูงมาก

ข้อมูลจากเครือข่ายนักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง เมื่อปี 2548 พบว่า มีชนิดพันธุ์พืชธรรมชาติที่ชาวบ้านรู้จักและใช้ประโยชน์ได้ 204 ชนิด พืชที่เป็นอาหาร 139 ชนิด สมุนไพร 83 ชนิด เป็นพืชเศรษฐกิจที่ขายได้ 61 ชนิด สัตว์น้ำ 153 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นจำพวกปลา 124 ชนิด

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย พบปลาเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นชนิดพันธุ์ที่หายากในแม่น้ำสงคราม อาทิ ปลาบึก (Pangasianodon gigas) ปลากระเบนแม่น้ำโขง (Dasyatis laosensis) เป็นต้น

นอกจากนี้ แม่น้ำแห่งนี้ยังมีน้ำท่วมหลากในฤดูฝน เพราะเกิดจากเมื่อน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น น้ำจากแม่น้ำโขงจะหนุนเข้ามาในแม่น้ำสงครามเกือบครึ่งหนึ่งของความยาวแม่น้ำ หรือประมาณ 200 กิโลเมตร ทำให้น้ำหลากท่วมต่อเนื่องไปประมาณ 3-4 เดือน (มิ.ย.-ก.ย.) มีพื้นที่น้ำท่วมขังประมาณ 960 ตารางกิโลเมตร

เหตุผลนี้จึงทำให้ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างเป็นพื้นที่น้ำหลากที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง โดยเฉพาะผลผลิตสัตว์น้ำจากธรรมชาติอย่างมาก รวมถึงมีตะกอนปุ๋ยที่หลากมากับน้ำ ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรในพื้นที่สามารถเพาะปลูกพืชได้ผลผลิตดี

ชาวบ้านในพื้นที่จะใช้เรือหางยาวลำเล็กออกหาปลาแถวลุ่มน้ำสงคราม (ภาพโดย: สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์)

วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำสงคราม

ด้วยเพราะแม่น้ำสงครามมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีความอุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำและบริเวณรอบๆ แม่น้ำ ทำให้ลักษณะจำเพาะทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ (แม่น้ำ ป่าบุ่งป่าทาม ปลา และชุมชน) มีความหลากหลายไปด้วย

ป่าบุ่งป่าทาม เป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร แหล่งขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ จึงทำให้ชุมชนที่อยู่ริมน้ำมีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ ปลาหลายชนิดจากแม่น้ำโขงอพยพมาหากิน ผสมพันธุ์ และวางไข่ในลุ่มน้ำสงคราม ลูกปลาวัยอ่อนเหล่านี้ได้อาศัยหลบภัยและหากินในป่าบุ่งป่าทามที่ถูกน้ำท่วม ก่อนที่จะเจริญเติบโตและออกสู่แม่น้ำโขง

ทำให้ชุมชนลุ่มน้ำมีความมั่นคงด้านอาหาร ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงลักษณะสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นของที่นี่จึงลักษณะเฉพาะ จะเห็นได้จากที่นี่จะมีเทศกาลประเพณี “กินปลาน้ำสงคราม” ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วงปลายฤดูฝน

นี่คือวิถีชุมชนที่เชื่อมโยงกับฐานทรัพยากรท้องถิ่น แม่น้ำสงครามจึงมีความสำคัญต่อประชาชนนับล้าน สร้างรายได้มากมายจากการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการบริการของระบบนิเวศ (Ecosystem services)

พื้นที่ชุ่มน้ำที่แม่น้ำสงคราม สะท้อนว่าระบบนิเวศในแม่น้ำยังคงอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะ (ภาพโดย : สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์)

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย ได้จัดทำข้อมูลบ่งชี้ถึงความสำคัญของระบบนิเวศและคุณค่าของลุ่มน้ำสงคราม ตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Convention) จึงเสนอให้พื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site)

ปัจจุบัน ลุ่มน้ำสงครามเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (International Wetland) และอยู่ระหว่างการเตรียมการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) แห่งที่ 15 ของไทย ซึ่งในภาคอีสานมี Ramsar Site อยู่ 2 แห่ง ได้แก่ บึงโขงหลง และ กุดทิง จังหวัดบึงกาฬ  

แผนการจัดการน้ำของรัฐคุกคามแม่น้ำสงคราม

ในช่วงปี 2538 ลุ่มน้ำสงคราม ถูกนำเสนอให้มีการพัฒนาระบบชลประทานขนาดใหญ่ภายใต้ โครงการเขื่อนแม่น้ำสงคราม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำหลากจากแม่น้ำโขงและเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่โครงการไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำสงครามคัดค้าน โดยทางกลุ่มเห็นว่าการสร้างเขื่อนจะทำให้การไหลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นการฝืนระบบนิเวศ และจะส่งผลกระทบมากมายต่อระบบนิเวศน้ำท่วมหลากที่เป็นแหล่งที่มาของผลผลิตประมงธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบวิถีชีวิตของคนในลุ่มน้ำอย่างมหาศาล

รวมถึงปัญหาความบกพร่องทางวิชาการในการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ระบุในโครงการฯ ว่า “ป่าบุ่งป่าทาม” เป็นเพียงป่าละเมาะที่ไม่มีคุณค่าอันใด ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงและคุณค่าในเชิงนิเวศวิทยาอย่างมาก สุดท้ายโครงการนี้ก็ถูกคณะรัฐมนตรีระงับไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 กรมชลประทานเตรียมดำเนินการก่อสร้าง ประตูระบายน้ำ (ปตร.) บ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ โดยจะสร้างกั้นลำน้ำยาม ใน อ.วานรนิวาส สำหรับแผนพัฒนาลุ่มน้ำสงครามนั้น กรมชลประทานจะก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมระบบส่งทั้งหมด 9 แห่ง โดยก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว 3 แห่ง เพื่อหวังแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก

ความพยายามในการจัดการน้ำของรัฐเปลี่ยนไป มีการซอยย่อยเป็นโครงการขนาดเล็กหลายๆ โครงการ ซึ่งบางโครงการก็ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขขนาดและประเภทโครงการที่ต้องทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จากนี้ไปสภาพของลุ่มน้ำสงครามตอนล่างคงจะเปลี่ยนไปอีกมาก ทั้งในแง่การเปลี่ยนแปลงใช้ที่ดิน การที่แม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขาถูกตัดขาดการเชื่อมต่อกันตามธรรมชาติ และที่น่าห่วงกังวลมากที่สุด คือ การสร้างประตูน้ำที่ปากแม่น้ำสงครามกับแม่น้ำโขง นี่อาจจะเป็นหายนะซ้ำรอยกับกรณีเขื่อนปากมูนและเขื่อนราษีไศล นั่นคือหายนะทางนิเวศวิทยาและความล่มสลายของชุมชนจนถึงปัจจุบัน

ผลกระทบจากการให้สิทธิถือครองที่ดินลุ่มน้ำสงคราม

นอกจากนี้ในพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ยังมีความขัดแย้งเรื่องการใช้ที่ดิน ซึ่งเกิดมาเกือบ 20 ปี โดยก่อนหน้านี้สภาพของป่าบุ่งป่าทามที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำท่วมในหน้าฝน แต่หน้าแล้งกลายเป็นป่าบก ทำให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันในรูปแบบป่าสาธารณะประโยชน์ ชาวบ้านก็ใช้ป่าร่วมกันโดยระบบสิทธิชุมชน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ บางพื้นที่เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ บางพื้นที่เป็นพื้นที่ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนคุ้มครองตามกฎหมายที่ดิน

แต่ช่วงก่อนปี 2540 ได้มีกลุ่มทุนนำที่ดินดังกล่าวในหลายพื้นที่ไปออกโฉนดที่ดินและนำเข้าค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารก่อนเกิดวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง และหลังจากนั้นสถาบันการเงินหลายแห่งล้มละลาย ที่ดินดังกล่าวไปอยู่ในบริษัทบริหารสินทรัพย์และถูกขายทอดตลาด กลายเป็นคดีความระหว่างชาวบ้านที่เรียกร้องที่ดินสาธารณะกลับคืนมา ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นคดีความในศาล   

ในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเร่งรัดการออกหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ สปก. 4-01 ตามนโยบายของรัฐ ทำให้ที่ดินที่เป็นป่าบก ป่าบุ่งป่าทาม และนาทาม จำนวนมากมายถูกจัดสรรเป็น สปก. ให้กับชาวบ้านจำนวนมาก และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้สิทธิชุมชนที่เคยเป็นเรื่องของการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น ถูกแปรเปลี่ยนเป็นสิทธิของปัจเจก

สภาพตอนนี้ ที่ดินดังกล่าวได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน ยางพารา พื้นที่นา และอื่นๆ ไปมากมาย ป่าบุ่งป่าทามและป่าบกในลุ่มน้ำสงครามลดลงไปเป็นจำนวนมาก การทำประมงพื้นบ้านก็มีสภาพไม่คึกคักเหมือนเช่นอดีต ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น สัตว์น้ำลดปริมาณลงทั้งชนิดและปริมาณ ป่าบุ่งป่าทามที่ลดพื้นที่ลงมาก  โอกาสที่จะฟื้นสภาพกลับมาเป็นป่าเช่นเดิมคงยาก

ทางเลือกการฟื้นฟูและพัฒนาแม่น้ำสงครามที่ยั่งยืน

ต้องยุติโครงการสร้างเขื่อนและประตูน้ำในแม่น้ำสงครามทุกรูปแบบ เพราะจะไปขวางกั้นเส้นทางอพยพของปลาจากแม่น้ำโขง และต้องมีมาตรการอย่างจริงจังในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบุ่งป่าทาม หรือป่าที่ลุ่มริมน้ำ เพราะเป็นแหล่งขยายพันธุ์และวางไข่ของสัตว์น้ำ

ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบประมงธรรมชาติ โดยอาศัยเก็บเกี่ยวผลผลิตสัตว์น้ำที่ระบบนิเวศเอื้ออำนวยให้ ในพื้นที่ของชาวบ้าน เช่น แบบขุดบ่อล่อปลา หรือคล้ายๆ กับการเลี้ยงกุ้งระบบธรรมชาติในบ่อที่มีการอนุรักษ์ป่าชายเลน เป็นต้น

อีกทั้งต้องพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างให้เป็นชุมชนแห่งการอยู่กับน้ำหลากได้ เช่น เพิ่มพื้นที่รับน้ำ พัฒนาพื้นที่ชุมชนที่จะต้องปรับตัวกับระดับน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ต้องนำเอาที่ดินซึ่งเคยเป็นที่ดินสาธารณะหลายแห่ง แต่ก่อนเป็นป่าบุ่งป่าทามที่ถูกนายทุนยึดไปจากกรณีออกโฉนดโดยมิชอบกลับมาเป็นของชุมชน เพื่อให้เป็นป่าบุ่งป่าทามหรือพื้นที่ชุ่มน้ำดังเดิม

ไม่ควรมุ่งเน้นสนับสนุนพืชเศรษฐกิจที่ต้องไปแปลงสภาพพื้นที่ทามมากเกินไป เช่น ปาล์มน้ำมัน ที่ต้องไปทำลายป่าบุ่งป่าทาม และต้องใช้น้ำปริมาณมากในหน้าแล้ง

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

 

image_pdfimage_print