ขอนแก่น- เช้าวันนี้ (10 พ.ค. 2562) ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นปล่อยตัว “ไผ่ ดาวดิน” หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ผู้ต้องโทษในคดีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณี การแบ่งปัน บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซีไทยผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559 

สาเหตุที่เขาได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากได้รับการอภัยโทษจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ตามพระราชกฎษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมกับนักโทษคนอื่นๆ ทั่วประเทศกว่า 50,000 คน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

วิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของไผ่ ดาวดิน (ใส่ภาพพันคอ) กล่าวว่า ดีใจที่ลูกได้รับอิสรภาพ หลังจากนี้คงยังไม่เคลื่อนไหว เพราะต้องให้ลูกพักผ่อน เพื่อปรับสภาพตัวเองหลังออกจากเรือนจำ คิดว่าอาจจะไปเที่ยวเกาหลี พาไผ่ไปดูรูปรางวัล กวางจู รางวัลนักสู้เพื่อประชาธิปไตยเกาหลีที่ไผ่ ได้รับ ถือโอกาสพักผ่อนไปในตัว

โดยคดีของ ไผ่ ดาวดิน เข้าข่ายการได้รับการอภัยโทษ เนื่องจากเหลือเวลาอยู่ในเรือนจำไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

เพื่อนนักกิจกรรมทางการเมืองทั้งไทยและต่างประเทศร่วมให้กำลังใจไผ่ ดาวดินหลังจากการได้รับการปล่อยตัว

กรณีที่ไผ่ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ นี้ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า ทำไมมีเพียงไผ่คนเดียวที่ถูกดำเนินคดี เพราะมีบุคคลอื่นๆ อีกกว่า 2,800 คนที่แบ่งปันรายงานดังกล่าวของสำนักข่าวบีบีซี รวมถึงสำนักข่าวบีบีซีไทยเจ้าของบทความก็ไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วย

พริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของไผ่ เข้าโอบกอดลูกชายหลังจากลูกชายถูกปล่อยจากเรือนจำ

 

ไผ่ ดาวดินเป็นหนึ่งนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ที่ชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐประหาร ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ขณะลงพื้นที่ทำภารกิจที่ศาลากลาง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 (ภาพจาก : มติชน)

ฟ้องร้องคดีเพื่อหยุดการต่อต้านรัฐบาล คสช.

บางคนตั้งคำถามว่า กรณีที่ไผ่ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการหยุดการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหาร คสช. หรือไม่

นอกจากนี้ คดีนี้สังคมยังตั้งคำถามถึงกระบวนการพิจารณาคดีว่าเป็นไปตามสิทธิ์ทางกฎหมายหรือไม่ เนื่องจาก ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งถอนประกันหลายครั้งนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559 รวมถึงไผ่ ไม่ได้รับสิทธิ์ปล่อยชั่วคราวเพื่อออกมาสู้คดีตามสิทธิ์ของผู้ต้องหาเหมือนผู้ต้องหาคนอื่นๆ อีกเลย ถึงแม้ว่าครอบครัวและทนายความจะยื่นขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสิ้นหลายสิบครั้งก็ตาม

รวมถึงกระบวนการพิจารณาคดีของไผ่ ศาลขอนแก่นยังสั่งให้พิจารณาลับ โดยห้ามไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีเข้าร่วมรับฟัง ซึ่งแตกต่างจากการพิจารณาคดีตามปกติที่ไม่ได้เป็นการพิจารณาเป็นการลับ เป็นต้น

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ความหวังในการจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีดูเหมือนจะเลื่อนลางไม่มีหวัง ทำให้ไผ่และครอบครัวตัดสินใจขอรับสารภาพว่ากระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริงในวันที่ศาลนัดสิบพยานโจทก์ครั้งที่ 3

ศาลจึงตัดสินจำคุก 5 ปี แต่ลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน เนื่องจากไผ่รับสารภาพ รวมเวลาที่ไผ่อยู่ในคุกในคดีนี้ทั้งสิ้น 870 วัน  

“ไผ่ ดาวดิน” ขณะถูกนำตัวขึ้นศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ศาลพิพากษาจำคุกข้อหากระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมฯ พ.ศ. 2550 เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน เหตุเผยแพร่ ประวัติ ร.10 (ภาพจากแฟ้ม)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกรายงานล่าสุด ระบุว่า เกิดความไม่เป็นปกติของกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ก็ปรากฏให้เห็นโดยตลอดการพิจารณาคดี สะท้อนถึงปัญหาที่ดำรงอยู่ในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งความไม่เป็นปกติดังกล่าวนำมาซึ่งความไม่เป็นธรรมต่อไผ่ ทำให้เกิดความกังวลต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในการปิดกั้นการแสดงความเห็น ตลอดจนสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวในสังคมไทย

ถูกยกย่องว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ทำให้ไผ่ ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwang Ju Prize for Human Rights) ประจำปี 2560 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเกาหลีใต้

ไผ่ถือเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ต่อจากนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้รับรับรางวัลเมื่อปี 2549

ไผ่ ดาวดิน ถ่ายภาพร่วมกับครอบครัว

วิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของไผ่ กล่าวว่าไม่อยากให้สังคมมองกรณีลูกชายตนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองจนต้องถูกจับกุมเป็นอุทาหรณ์สอนคนอื่นไม่อยากให้ใครทำตาม เพราะลูกชายไม่ได้ทำผิดอะไร แต่กรณีนี้ควรจะเป็นอุทาหรณ์ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมากกว่า ที่กล่าวหา ฟ้องร้อง จับกุมคนที่ไม่ได้ทำผิดกฏหมายและใช้กระบวนการทางกฎหมายที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมจับกุมประชาชนมากกว่า

“ถูกจับคนเดียว ทั้งที่คนแชร์ข่าวนั้นหลายพันคน มันสะท้อนว่า เจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายตีความการกระทำความผิดที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรม” วิบูลย์กล่าว

image_pdfimage_print