โดย อบิเกล ฮอร์เนอร์

ผดุงวิทย์ พิมนิสัย หรือ คิม คบกับ พงศธร จันทะคาม มาเป็นเวลาเจ็ดปี

เจ้าของร้านอาหารวัย 34 ปีดังกล่าวมักจะฝันถึงวันที่เขาจะได้แต่งงานกับคู่ชีวิตของเขา ซึ่งเป็นคนที่เขาใช้ชีวิตอยู่ด้วยตั้งแต่คบกันแรกๆ

ชายทั้งสองวาดฝันไว้ว่าจะจัดงานแต่งงานเล็กๆ ที่ผู้ร่วมงานมีเพียงเพื่อนสนิทและญาติที่สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันของทั้งสองคน งานแต่งงานดังกล่าวจะจัดที่บ้านเกิดของคิมที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยเป็นพิธีแต่งงานแบบประเพณีอีสานภูไท เพื่อสะท้อนถึงชาติพันธุ์ของคิม

“ครั้งหนึ่งในชีวิต ผมอยากจะมีช่วงเวลาแบบนั้น” คิมกล่าว เมื่อถูกถามว่า เพราะอะไรถึงอยากแต่งงาน

คู่ชายรักชายวัยหนุ่มดังกล่าว ทำได้เพียงแค่หวัง และความฝันของเขาที่จะแต่งงานก็เป็นได้แค่เพียงความฝันเช่นกัน

แต่การเสนอกฎหมายคู่ชีวิตอาจทำให้ไทยได้เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันได้แต่งงานกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย

คิมหวังว่ากฎหมายใหม่จะให้สิทธิ์เขาและคู่ชีวิตของเขาที่เท่าเทียมกับคู่รักเพศเดียวกันที่แต่งงานกัน

คิม (ขวา) ทำงานหกวันต่อสัปดาห์ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ส่วน พงศธร คู่ชีวิตของเขา ทำงานเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวันที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัด ทั้งคู่ชอบเดินทาง โดยการเดินทางล่าสุดคือประเทศสิงคโปร์ในเดือน พ.ย. 2561 (ภาพถ่ายโดย คิม)

ก้าวสู่ความเท่าเทียม

คณะรัฐมนตรีรักษาการได้ผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิตในปี 2561 แต่กฎหมายใด ๆ จะไม่สามารถผ่านได้จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังจากการเลือกตั้งในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

รัฐบาลไทยที่ผ่านมาได้ดำเนินการให้สิทธิ์กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และกฎหมายคู่ชีวิตอย่างเรื่อยมา ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งสู่ความเท่าเทียมทางเพศ

ในปี 2545 ไทยได้ประกาศว่า คนรักเพศเดียวกันไม่ได้เป็นโรคทางจิตเภทอีกต่อไป ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นของการลดตราบาปของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

ในปี 2548 ได้มีการจัดงานประชุมนานาชาติด้านกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในเอเชียเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ

ในปี 2555 ศาลปกครองได้ตัดสินให้เปลี่ยนชื่อเรียกกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ผ่านการเกณฑ์ทหาร ซึ่งแต่เดิมได้รับการยกเว้นจากการเข้ารับราชการทหารกองเกิน โดยให้เหตุผลว่าเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตถาวร

ปัจจุบันพวกเขาไม่ต้องรับราชการทหารกองเกินเนื่องจาก “เพศสถานะไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของพวกเขาน้อยกว่าการเรียกแบบเดิม

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยได้ผ่านกฎหมายรับรองเพศสถานะที่คำนึงถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนั้นยังลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยสหประชาชาติ พร้อมกันกับประเทศสมาชิกอีก 85 ประเทศ

แม้ว่าไทยจะดำเนินการที่เป็นบวกเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่บางเรื่องก็ยังคงถูกละเลย ยกตัวอย่างเช่น “การบำบัดแก้เพศวิถี” ที่ยังคงเป็นที่แพร่หลาย และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงถูกห้ามไม่ให้บริจาคเลือด

กฎหมายคู่ชีวิตและมุมมองสังคม

สังคมไทยมักถูกมองว่าเปิดกว้างต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ สุรศักดิ์ กล้าหาญ บรรณาธิการบทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวกับเดอะอีสานเรคคอร์ดว่า ความเปิดกว้างนี้เป็นคนละเรื่องกับการยอมรับ  

“เราอาจจะปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างดี แต่เมื่อมีการเรียกร้องให้พวกเขามีสิทธิที่เท่าเทียม คนจะลังเล” สุรศักดิ์กล่าว

สุรศักดิ์บอกว่า นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับประโยชน์ของกฎหมายคู่ชีวิต โดยกลุ่มหนึ่งสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว แต่อีกกลุ่มวิจารณ์ว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวเสริมสร้างแนวคิดที่ว่า กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นพลเมืองชั้นสอง  

เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิ์แก่คู่ชีวิตเพศเดียวกันในแบบเดียวกันกับที่คู่สมรสต่างเพศได้รับ นักกิจกรรมจึงมีความกังวลว่าการออกกฎหมายดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม

“กฎหมายคู่ชีวิตไม่ใช่สิ่งที่นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศได้เสนอและต้องการทั้งหมด” สุรศักดิ์ กล่าว “สิ่งที่พวกเขาขอมันต่างจากในนั้น พวกเขาขอสิทธิ์ที่เหมือนกันกับคู่สมรสต่างเพศ”

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส. ข้ามเพศคนแรกของรัฐสภาไทย มีข้อทิ้งติงเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน

“[ความเท่าเทียมทางเพศ] เป็นสิ่งหนึ่งที่ [กฎหมาย] จะไม่บรรลุเป้าอย่างแน่นอน” เธอกล่าว “ทำไมต้องมีกฎหมายแยกออกมาต่างหากให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในเมื่อเราสามารถแก้ไขกฎหมายสมรสปัจจุบันเพื่อให้ครอบคลุมถึงทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม”

กฎหมายดังกล่าวให้สิทธิ์การให้และรับมรดกแก่คู่ชีวิต รวมถึงสิทธิ์ในกองทุนประกันสังคมของคู่สมรส แต่กฎหมายคู่ชีวิตไม่ได้ให้สิทธิ์ที่สำคัญประการหนึ่งที่นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศได้ผลักดันมาเป็นเวลานาน นั่นคือ สิทธิ์ในการมีบุตร ไม่ว่าคู่รักเพศเดียวกันจะมีบุตรด้วยกัน รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม หรือรับบุตรบุญธรรมร่วมกันและปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกัน ก็ตาม

ธัญญ์วารินและ ส.ส. ร่วมพรรคอนาคตใหม่ของเธอ มีความพยายามที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ซึ่งระบุว่าการสมรสจะทำได้ก็ต่อเมื่อหญิงและชายยินยอมเป็นสามีภรรยากัน

พวกเขามองว่ากฎหมายปัจจุบันขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญระบุว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันตามกฎหมาย

ความเป็นจริงของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

คิมและคู่ชีวิตของเขาพร้อมที่จะเริ่มต้นบทต่อไปของชีวิตด้วยการแต่งงาน แต่ไม่ใช่ว่ากลุ่มชายรักชายจะอยากแต่งงานหรือคิดที่จะแต่งงานทุกคน

การตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมา ความเป็นจริงในปัจจุบัน ความเชื่อต่อความสัมพันธ์ และมุมมองกว้าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของคู่แต่งงานเพศเดียวกัน

เทพฤทธิ์ อุประ ชาว จ.อุดรธานี ที่มีชื่อเล่นว่า “แดน” อายุ 16 ปีตอนที่เพื่อนของเขาได้ร่วมรับประทางอาหารเช้ากับครอบครัวก่อนไปโรงเรียน

“เพื่อนเหรอ แดน” แม่ของเขาถาม

ด้วยความตกตะลึงของทุกคนที่ร่วมทานอาหาร เพื่อนของเขาตอบว่า “ไม่ครับ ผมเป็นแฟน”

ความเงียบได้เกิดขึ้นท่ามกลางการชะงักของทุกคน ความลับของแดนได้ถูกเปิดเผย

พ่อของเขา ซึ่ง ณ ตอนนั้นเป็นครูผู้ฝึกทหารใหม่ เดินออกไปที่สวนหลังบ้าน

แดนจำได้ว่าพ่อของเขาตัดอะไรบางอย่างอยู่ที่สวนด้วยความโกรธเคือง และต่อมาก็ “หลบสายตาผมด้วยความละอายใจ”

ปัจจุบัน ด้วยวัย 20 ปี และกำลังเรียนภาษาอังกฤษอยู่ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น แดนนึกถึงค่ำคืนหนึ่งที่เขาได้รับโทรศัพท์จากพ่อ ซึ่งกำลังดื่มอยู่กับเพื่อนร่วมงาน

“แดน” พ่อของเขากล่าว “พ่อมีคนหนึ่งที่ลูกอาจจะสนใจ เขานิสัยดี แล้วก็หล่อด้วยนะ”

พ่อของแดนส่งมือถือให้ชายหนุ่มคนนั้น และทั้งสองคนก็ได้สนทนากันสักพัก

สำหรับแดน มันเป็นหนึ่งในวันที่เขามีความสุขมากที่สุดในชีวิต พ่อของเขาไม่เพียงแต่หายโกรธและเจ็บปวด แต่ดูเหมือนว่าจะยอมรับในตัวตนจริง ๆ ของลูกชาย

แดนนั่งอยู่ด้านนอกหอพักที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ซึ่งเขาพักอาศัยร่วมกับนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากสหรัฐอเมริกา

แม่ของแดน ซึ่งเป็นตำรวจ ได้แสดงออกถึงความรักและเข้าใจแดนและตัวตนของเขา

ครั้งแรกที่แดนเปิดเผยตัวเอง เธอกังวลว่าเขาจะถูกรังแกที่โรงเรียน หรือไม่เจอกับความรักเลย แต่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เธอได้เห็นว่าการที่แดนเปิดเผยตัวเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับเขา เพราะเขารู้สึกเป็นตัวเองอย่างแท้จริง และรู้สึกมีพลังในเพศภาวะของตัวเอง

แต่สำหรับอีกหลายคนในไทย แดนและคิมดูเหมือนจะเป็นผู้ที่โชคดี

ตูน (นามสมมุติ) เกิดที่ จ.หนองคายก่อนที่จะย้ายไป จ.ขอนแก่น เขารู้ว่าเขาเป็นเกย์ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา แต่เขาพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้คนอื่นมองเขาว่าเป็นคน “ปกติ”

“ผมรู้ว่าผมต่างจากคนอื่น แต่ผมไม่อยากเป็นแบบนั้น” เขากล่าว

ปัจจุบัน ในวัย 36 ปี ตูนยังไม่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองกับครอบครัวหรือเพื่อน

เขากังวลว่าความหวาดกลัวอันยิ่งใหญ่ของเขาจะเป็นจริง นั่นคือ คนอื่นจะคิดว่าเขาแตกต่างและปฏิบัติตัวกับเขาอย่างแตกต่าง

เขาเปิดเผยตัวตนต่อเพื่อนที่สนิทไม่กี่คนที่เปรียบเสมือนครอบครัวของเขาตั้งแต่เขาจบจากมหาวิทยาลัย

ตูนเชื่อว่าคนไทยไม่ได้เปิดกว้างต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง โดยสังคมมักจะยอมรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีทักษะด้านอาชีพที่ดี โดยเฉพาะดารา ตลก และ ศิลปิน นักร้อง เสมือนว่าพวกเขาต้องหาอะไรมาทดแทนการเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อแสดงว่าพวกเขาสมควรมีชีวิตอยู่

พวกเขาจะไม่ได้รับการยอมรับในตำแหน่งทางด้านผู้นำหรือบทบาทที่สำคัญอื่น ๆ ในสังคม

ตูนมีความตื่นเต้นในกฎหมายคู่ชีวิตที่มีการนำเสนอ โดยมองว่าเป็นการก้าวไปข้างหน้าของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในไทย แต่โดยส่วนตัวแล้ว เขาไม่อยากอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ หรือแต่งงาน

“ผมไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าผมมีคู่” ตูนกล่าว “หรือให้คนอื่นรู้ว่าผมเป็นเกย์เพราะผมมีคู่ที่เป็นผู้ชาย ผมคิดว่ามันคงปวดหัวมาก”

ณ อีกฝากฝั่งของสายรุ้ง

แดนฝันถึงวันที่เขาจะได้แต่งงานกับคู่ชีวิต มีบ้านพร้อมสวน และมีเด็ก ๆ เล่นอยู่ด้านนอก

คิมและคู่ของเขาอยากจะครองคู่แบบที่กฎหมายรับรอง ซึ่งก็จะได้รับสิทธิตามกฎหมายจากการเป็นคู่อีกด้วย

หลังจากอยู่ด้วยกันมาเป็นเวลาเจ็ดปี นอกจากชายหนุ่มทั้งสองคนปรารถนาที่จะแต่งงานกันเพราะความรักแล้ว แต่ก็ยังมีเหตุผลในทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริง เช่น การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพจากการเป็นคู่ครอง

ชะตากรรมของ พ.ร.บ.คู่ชีวิตอยู่ในมือของรัฐบาลใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่หลายคนที่อยู่ในแวดวงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และคนที่สนับสนุนพวกเขา มีความหวังว่ากฎหมายคู่ชีวิตจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยเปิดกว้างและมีความเท่าเทียมมากกว่านี้

แม้ว่าจะข้อท้วงติงเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ดังกล่าว ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์อย่าง ธัญญ์วาริน ยังคงมองความพยายามดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดี

“ขั้นตอนที่นำไปสู่ พ.ร.บ.คู่ชีวิตได้แสดงให้เห็นว่าพวกเรามีเพื่อนเป็นจำนวนมากในทุกภาคส่วนของสังคม รวมถึงคนที่ทำงานในรัฐบาล ที่มองเห็นถึงปัญหา” เธอกล่าว

“พวกเขาพยายามที่จะทำให้ทุกอย่างมีความเสมอภาคมากขึ้น แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ตาม ซึ่งเป็นที่น่าชื่นใจมาก”

อบิเกล ฮอร์เนอร์ เป็นนักศึกษา Community and Nonprofit Leadership ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ภาคการศึกษาที่ผ่านมา เธอศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาใน จ.ขอนแก่น

image_pdfimage_print