Tanwarin Sukkhapisit

 

ในขณะที่ประเทศไต้หวันได้แซงหน้าประเทศไทยและสร้างประวัติศาสตร์โดยการเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่ประกาศกฎหมาย ให้บุคคลเพศใดก็ตามสามารถสมรสกันได้ ประเทศไทยก็ยังมีโอกาสที่จะได้เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียวใต้ที่จะประกาศใช้กฎหมายเช่นนั้น

ในการสนทนากับ เดอะอีสานเรคคอร์ด กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ — ผู้กำกับภาพยนตร์จากนครราชสีมาที่ได้ผันตัวมาเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคอนาคตใหม่ — เล่าถึง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่กำลังรอการลงมติขั้นสุดท้ายจากรัฐบาลที่ประชาชนกำลังเฝ้ารอให้ตกผลึกอยู่เช่นกัน พร้อมกับพูดถึงปัจจัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติของสังคมไทยต่อประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ

IR:  คิดว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิต จะทำให้เกิดความเท่าเทียมสำหรับ LGBT+ ได้จริงไหม?

ธัญญ์วาริน : ไม่ค่ะ ไม่ทำให้เกิดความเท่าเทียมแน่นอน เพราะ พ.ร.บ. คู่ชีวิตจะยิ่งทำให้เราแปลกและแตกต่างจากสังคมอื่นไปอีก มันย้อนแย้งกับหลักการที่ว่าทุกคนเป็นคนเท่ากัน

IR: ช่วยอธิบายประเด็นนี้หน่อยได้ไหม?

ธัญญ์วาริน : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448 ที่ว่าด้วยการจดทะเบียนสมรส  ซึ่งการจดทะเบียนสมรสตอนนี้เขาอนุญาตให้คนเพศชายและเพศหญิงจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้สิทธิต่างๆ ตามกฎหมายเท่านั้น

ตัวกอล์ฟและพรรคอนาคตใหม่เองก็มองว่ามันยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะว่ารัฐธรรมนูญไทยบอกว่าคนไทยทุกคนต้องมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน  แต่ปรากฏว่าถ้ากอล์ฟรักผู้ชายสักคนหนึ่ง แล้วอยากจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ากอล์ฟไปจดทะเบียนด้วย พ.ร.บ. คู่ชีวิตในการใช้ชีวิตคู่กัน กอล์ฟจะไม่ได้สิทธิ์เท่ากับผู้ชายผู้หญิงที่จดทะเบียนสมรสกันอย่างตามกฎหมาย

เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้เราเกิดความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง มันก็ต้องไปแก้ด้วยกฎหมาย 1448 ต้องเปลี่ยนจากเพศชายและเพศหญิงที่จดทะเบียนสมรสกัน เป็นเป็นการจดทะเบียนสมรสระหว่างบุคคลกับบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนที่มีรสนิยมทางเพศแบบใดก็ตาม จะต้องได้สิทธิ์เท่าเทียมกันตามกฎหมายหมด เราจะแก้กันตรงนี้ค่ะ

IR: แล้ว พ.ร.บ. คู่ชีวิต จะช่วยอะไรได้บ้างไหม?

ธัญญ์วาริน : คือกอล์ฟไม่ได้ปฏิเสธว่ามันมีประโยชน์ กอล์ฟแค่มองว่า [พ.ร.บ. คู่ชีวิต] มันแก้ปัญหาผิดจุด

แต่กอล์ฟต้องขอบคุณคณะทำงานต่างๆ ที่ช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น [นักเคลื่อนไหว] ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐบาล การพยายามที่จะผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. คู่ชีวิต ต้องถือว่าเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง ก็มีคนที่เห็นและมีความพยายามที่จะเข้าใจในความหลากหลายของมนุษย์ แล้วพยายามที่จะให้มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต เกิดขึ้น  ซึ่งแน่นอนถ้ามันเกิดขึ้นมา มันก็เป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญ

เพียงแต่ว่ามันอาจจะยังไม่ได้เข้าใจถึงที่สุด แต่มันก็ถือว่าเป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญ ที่ทำให้เห็นความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานรัฐบาล ที่ร่วมด้วยช่วยกันผลักดัน ที่ถามว่ามีข้อดีไหม ข้อดีคือตรงนี้เลยค่ะ เพราะมันทำให้สังคมเริ่มเห็นความสำคัญของประเด็นความหลากหลายทางเพศ

IR:  แล้วโอกาสที่จะไปแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่ว่ามีมากน้อยแค่ไหนครับ?

ธัญญ์วาริน :  มีมากค่ะ เพราะจริงๆ แล้วจำนวน ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ก็มีมากพอที่เราจะสามารถยื่นขอแก้ไขกฎหมายได้ ตั้งแต่ตอนที่เราออกหาเสียง เราก็เห็นว่ามีหลายพรรคมากที่บอกว่าเห็นความสำคัญเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งตรงนี้กอล์ฟว่ามันไม่น่าจะยากที่เราจะเข้านำเสนอการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิช มาตรา 1448  

กอล์ฟมั่นใจว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เราก็น่าจะเห็นด้วยกับความเป็นมนุษย์ของทุกคนของไทย ไม่ว่าคนนั้นจะมีรสนิยมทางเพศแบบใดก็ตาม

Tanwarin 2

 

IR: มีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือเปล่าครับ ที่กระตุ้นให้เกิดการร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต?

ธัญญ์วาริน :  จริงๆ แล้วมันน่าจะเป็นกระแสโลก หลายๆ ประเทศก็เริ่มเห็นความสำคัญของการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เราจะเห็นว่าหลายๆ ประเทศเริ่มมีกฎหมายที่รองรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน หรือการเปลี่ยนคำนำหน้าบุคคล ที่ทำให้คนที่แปลงเพศแล้วสามารถเป็นนาย เป็นนางสาวได้ ตามเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่ตนเองเป็นและตนเองต้องการ  

พอมีสื่อโซเชียลอย่างเช่น facebook เราจะเห็นชีวิตจริงของมนุษย์มากขึ้นผ่านที่เขาแชร์กันใน facebook เราจะเห็นชีวิตของคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่ได้ถูกสร้างภาพผ่านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อภาพยนตร์ หรือสื่อทีวี หรือสื่อหนังสือพิมพ์ เพลงก็ตาม ที่สร้างความเป็นมนุษย์ที่ไม่มีความหลากหลายอยู่ในนั้น ต้องขอบคุณ facebook ที่ให้เราสามารถเห็นชีวิตของคนจากทั่วโลกในหลายๆ รูปแบบ ที่สำคัญคือมันให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนและสามารถแสดงความคิดเห็น และติดต่อสื่อสารกระจายข่าวกันได้ง่ายขึ้น

[สื่อโสเชียล] นี่แหละค่ะ ที่เป็นปรากฏการณ์ทีทำให้การทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในโลกใบนี้ รวมถึงประเทศไทย เกิดความก้าวหน้าขึ้นอย่างที่เราเห็นอยู่

IR:  รัฐบาลที่กำลังถูกจัดตั้งขึ้นมาจะมีผลอย่างไรต่อ พ.ร.บ. คู่ชีวิต บ้าง?

ธัญญ์วาริน : ก็คิดว่ามีผลนะ เพราะจริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใหม่หรือรัฐบาลเก่า หรือรัฐบาลที่ยังเป็นนายกคนเดิมหรือเป็นนายกคนใหม่ ตอนนี้เราก็มองว่าทุกคนเริ่มเห็นความสำคัญ [ของประเด็นความหลากหลายทางเพศ]

และยิ่งที่มีข่าวเรื่องที่ [เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม] กอล์ฟไปขอยื่นหนังสือ เรื่องการแต่งตัวตามอัตลักษณ์ทางเพศของเรา ซึ่งตอนนี้ก็กำลังดังและมีคนกำลังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้เยอะมาก ซึ่งตรงนี้มันเป็นความต้องการของเราอยู่แล้ว เราต้องการให้เรื่องนี้ได้สปอตไลท์เพื่อให้เกิดความถกเถียงขึ้นในสังคม

เมื่อสปอตไลท์จับมาที่เราซึ่งอยู่ในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มแรกของพรรคอนาคตใหม่ที่ได้เป็น ส.ส. เป็นตัวแทนของประชาชนในสภา จากการที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับเสียงคะแนนจากประชาชนเพียงพอที่จะให้กอล์ฟเข้ามานั่งในสภาในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่อนั่นหมายความว่าประชาชนจำนวนมาก–เป็นล้านๆ คน–ให้ความสำคัญกับความเท่าเที่ยม ซึ่งเป็นเสาหลักของนโยบายพรรคอนาคตใหม่ และรัฐบาลก็ควรจะเคารพเสียงของประชาชน

เพราะฉะนั้นกอล์ฟก็มั่นใจว่า การที่เราจุดประเด็นเรื่องการที่เราจะมีอัตลักษณ์ทางเพศของเราเอง มันก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งข้อถกเถียงตรงนี้แหละ กอล์ฟว่ามันเกิดประโยชน์ เกิดวุฒิปัญญา เกิดทางการทำความเข้าใจ

แน่นอนว่าเราจะไปเปลี่ยนความคิดคนที่เห็นด้วยกับคนที่ไม่เห็นด้วยมันไม่ได้  แต่มันได้เห็นการเจอกัน ได้เห็นการชนกัน ได้เห็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มันแตกต่างกัน ซึ่งนี่แหละคือหัวใจของคำว่าประชาธิปไตยเราต้องอยู่กันด้วยความแตกต่างอยู่แล้ว ดังนั้นเราจะบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกันไม่ได้ นั่นไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย  

วิถีประชาธิปไตยคือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราโยนสิ่งที่เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมและคนในสังคมได้มาแลกเปลี่ยนและถกเถียงกัน ข้อสรุปอาจจะไม่มีอะไรถูกไม่มีอะไรผิด แต่เราได้ทัศนคติของทุกคนในสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน ดังนั้นกอล์ฟมองว่ารัฐบาลที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนได้เป็นก็ตาม ทุกคนเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางเพศและกอล์ฟก็มั่นใจว่าทุกคนน่าจะร่วมมือกันในการที่จะร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448 เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริงในประเทศไทยให้ได้ค่ะ

IR: คิดว่ารัฐบาลใหม่จะเพิ่มเติมหรือถอนอะไรออกจาก พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไหม?

ธัญญ์วาริน : เราไม่อาจคาดเดาท่าทีของเขาได้อยู่แล้ว เราไม่สามารถไปบอกว่าเขาควรจะคิดแบบไหน เราบอกไม่ได้อยู่แล้ว แต่เราก็มั่นใจว่า จำนวน ส.ว. ที่ถูกแต่งตั้งมา ต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

มันก็ต้องถกเถียงกันค่ะ ต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เราเชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาเป็นตัวแทนๆ ในสภาล้วนคิดว่าเขากำลังทำดีที่สุดสำหรับประเทศไทยตามระบบความคิดของเขา ก็น่าจะมีความคาดหวังว่า จะต้องทำทุกอย่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนคนไทยอยู่แล้ว กอล์ฟเป็นคนมองโลกในแง่ดีค่ะ กอล์ฟก็มั่นใจว่าท่าน ส.ว. ทั้งหลายก็น่าจะเข้าใจในสิ่งที่กอล์ฟกำลังพยายามอธิบายและกำลังพยายามทำให้เกิดขึ้น เรื่องความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมกันในสังคมไทย และอย่างไรก็ตามจำนวน ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งมามีมากกว่า ส.ว. อยู่แล้ว

IR: นอกจากการร่างกฎหมายหรือการแก้กฎหมาย มีอะไรอีกไหมที่ควรทำ?

ธัญญ์วาริน :แน่นอนนะคะว่าการที่เราจะทำความเข้าใจ  คือการที่กอล์ฟมาเป็น ส.ส. ที่มีความหลากหลายทางเพศคนแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็เพราะว่ากอล์ฟต้องการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศ

แน่นอนว่าเมื่อเรามี พ.ร.บ. การแก้กฎหมาย 1448 สมรสแล้ว เราก็จะต้องทำความเข้าใจกับสังคมในบริบทอื่นๆ เช่น การต้องเลิกตีตรา เลิกเหยียด เลิกมองเลิกตัดสินว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีความป่วยทางจิต

อย่างเช่นในการเกณฑ์ทหาร เราจะเห็นว่าคนที่เป็นกะเทยจะไปเกณฑ์ทหารต้องไปรับไปรับใบรับรองแพทย์กับจิตแพทย์ก่อน  นึกออกไหมคะว่า กระบวนการทางแพทย์และกระบวนการทางทหารยังไม่ยอมรับว่ากะเทยเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ยังต้องไปขอใบรับรองแพทย์เพื่อจะยืนยันว่าป่วยเป็นอาการทางจิต “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” เพื่อจะมางดเว้นการเป็นทหาร ซึ่งตรงนี้เรารู้สึกว่ามันเป็นการตีตรา ทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศยิ่งแปลกและแตกต่างจากคนอื่น  

ซึ่งความต้องการของเราก็คือ ต้องการให้ทุกคนในสังคมต้องมองคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นคนที่ปกติคนหนึ่ง

และสิ่งที่สำคัญคือ เรื่องของตำราเรียนตำราเรียนวิชาสุขศึกษาและวิชาเพศศึกษา ยังตีตราอยู่เลยว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังเป็นคนที่เบี่ยงเบนทางเพศ และหาว่ามีสาเหตุจากการเลี้ยงดูจากสังคม ฯลฯ  ยังไม่ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติ ว่านี่คือเป็นมนุษย์คนหนึ่งเพศสภาพและรสนิยมแบบนี้

เรายังถูกตีตราด้วยการเรียน การศึกษา การแพทย์ การทหารกันอยู่เลย เพราะฉะนั้นการสร้างความเข้าใจให้ทุกคนในสังคมเข้าใจและแก้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ เราก็ต้องทำความเข้าใจในด้านต่างๆกับสังคมด้วย

image_pdfimage_print