บรรยากาศการเปิดอภิปรายประเด็นคำถามและความสงสัยต่างๆ จากสังคมในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ถือว่าเริ่มเข้มข้นมากขึ้น เพราะแม้ว่าวาระการประชุมในวันดังกล่าวจะเป็นวาระการพิจารณาให้สมาชิกสภาฯ ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม

โดยในสภาฯ มีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อให้สมาชิกสภาฯ ลงมติเลือก แต่ประธานสภาฯ ก็เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาฯ ใช้สิทธิ์เปิดอภิปรายประเด็นที่สมาชิกสภาฯ แต่ละฝ่ายเตรียมมา

ประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งที่สมาชิกสภาฯ แต่ละฝ่ายหยิบยกขึ้นมาอภิปรายคือประเด็นคุณสมบัติผู้ที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นตั้งต้นที่สมาชิกสภาฯ ทั้งสองฝ่ายได้ถือโอกาสนี้วิพากษ์วิจารณ์ความสามารถซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ที่ควรจะมี

ทำให้เป็นโอกาส ส.ส. อีสานสังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาล ก่อนจะถูก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะทหารทำการยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ยกมือขอสิทธิ์อภิปรายในประเด็นนี้อย่างเข้มข้น

เพราะที่ผ่านมา คนในสังคมรวมถึงนักการเมืองและพรรคการเมืองไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. และหัวหน้า คสช. ได้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา เนื่องจากรัฐบาลปิดกั้นการแสดงความเห็นทางการเมืองในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงก่อนการเลือกตั้ง

ส.ส.อีสานลุกขึ้นทำการอภิปรายมี 3 คน คือ ขจิตร ชัยนิคม ส.ส. อุดรธานี เขต 3 พรรคเพื่อไทย ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม เขต 4 พรรคเพื่อไทย และสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม เขต 5 พรรคเพื่อไทย

ขจิตร ชัยนิคม ส.ส. อุดรธานี เขต 3 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 98 วงเล็บ 15 ที่กำหนดว่าคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐ และพนักงานอื่นของรัฐ แต่พล.อ.ประยุทธ์ถือว่าเข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ฉะนั้นจึงขัดกับกฎหมาย

ขจิตร เริ่มต้นด้วยการยกข้อความในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 160 เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี วงเล็บ 4-6 มาอภิปรายคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ

ขจิตรกล่าวว่า กฎหมายมาตรานี้โดยเฉพาะในวงเล็บ 6 ที่ระบุว่า ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 98 วงเล็บ 15 ที่กำหนดว่าคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐ และพนักงานอื่นของรัฐ

“กรณีของ พล.อ.ประยุทธ ถือเป็นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพราะมีการรับเงินเดือนประจำจากงบประมาณของรัฐโดยมีพระราชกฤษฎีการับรอง” ขจิตรกล่าว

ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม เขต 4 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เคยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่งตั้งพล.อ. ประยุทธ เป็นหัวหน้า คสช. เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และได้รับเงินเดือนตามกฏหมาย ซึ่งถือว่าพล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งขัดกับกฎหมายว่าเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

ด้านชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม เขต 4 พรรคเพื่อไทย อภิปรายในประเด็นคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นกัน เขาวิเคราะห์ว่าพล.อ. ประยุทธ์เป็นเจ้าพนักงานของรัฐมีอำนาจดำเนินการตามกฏหมาย อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560 ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560 จากกรณีที่พล.อ. ประยุทธ์ใช้อำนาจออกคำสั่งให้ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนหนึ่งในฐานะจำเลยที่มีคดีความมารายงานตัวต่อหัวหน้า คสช.

“ศาลเคยชี้ว่าสถานะของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจดำเนินการตามกฏหมาย” ชวลิตกล่าว

ชวลิตยังอภิปรายว่า มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ เป็นหัวหน้า คสช. เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และได้รับเงินเดือนตามกฏหมาย

“กรณีฝ่ายกฏหมายเพื่อไทยตรวจสอบเงินเดือนค่าจ้างค่าตอบแทนตามกฏหมาย พบมีพระราชกฤษฏีกำหนดเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มรับเป็นรายเดือน พบว่าหัวหน้า คสช. ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 75,590 บาท และได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 50,000 บาท รวม 125,590 บาท” ชวลิตกล่าว

ชวลิตยังยกเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 เรื่องบรรทัดฐานการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มี 4 ประการ เช่น 1. การได้รับการแต่งตั้งตามกฏหมาย 2. มีเงินเดือนค่าตอบแทนตามกฏหมาย 3. มีอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายและปฏิบัติงานประจำ และ 4. การอยู่ในบังคับบัญชาหรือในการกำกับดูแลของรัฐ มายืนยันต่อประธานสภาฯว่าพล.อ.ประยุทธ์เป็นพนักงานของรัฐ ซึ่งขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม เขต 5 พรรคเพื่อไทย ชวนสังคมจับตามองพล.อ.ประยุทธ์อาจจะอ้างว่าใช้อำนาจในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐใช้ ม. 44 ปิดเหมืองทองพิจิตร และอาจนำงบประมาณแผ่นดินและภาษีไปชำระค่าเสียหายที่บริษัทเหมืองฟ้องร้องชดใช้กว่า 3,000 ล้านบาท (กรณีสมมุติ เพราะศาลยังไม่มีคำตัดสิน)ถ้าเป็นเช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ขัดกับกฎหมายว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

ในประเด็นนี้ สุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม เขต 5 พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ เป็นพนักงานของรัฐ ซึ่งขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

สุทินตั้งข้อสังเกตุถึงประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำที่ จ.พิจิตร ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จนเป็นเหตุให้รัฐบาลถูกฟ้องร้องอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเข้าข่ายการใช้อำนาจในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ

“หากรัฐบาลตกเป็นฝ่ายแพ้คดี การดำเนินการจ่ายค่าเสียหายให้แก่บริษัท พล.อ.ประยุทธ์อาจจะอ้างว่าตนใช้อำนาจในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ และอาจมีการนำเอางบประมาณแผ่นดินไปชำระค่าเสียหาย” สุทินกล่าว

สุดท้ายแล้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้มีการขอให้ประธานรัฐสภามีคำวินิจฉัยคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธว่ามีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ประธานรัฐสภามิได้มีคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด

สุดท้ายพล.อ.ประยุทธ์ได้รับคะแนนเสียงจากสมาชิกสภาฯ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. รวมกัน 500 เสียง แบ่งเป็นคะแนนจาก ส.ส. 251 เสียง และคะแนนจาก ส.ว. ที่ได้รับการเลือกสรรจากรัฐบาล คสช.ทั้งหมด 249 เสียง เอาชนะ ธนาธร ได้รับคะแนน 244 เสียง และไม่ได้รับคะแนนเสียงจาก ส.ว. ซักคะแนนเดียว

image_pdfimage_print