ยศพนธ์  เกิดวิบูลย์ เรื่อง

หลังการเกิดขึ้นของเทศกาลศิลปะ ขอนแก่นแม่นอีหลี : เหลื่อม มาบ มาบ ครั้งที่ 1 (Khonkaen Manifesto) กลางเมืองขอนแก่น เมื่อช่วงเดือนตุลาคมปี 2561 ที่ผ่านมา 

ศิลปินทั้งรุ่นเก๋าจนถึงรุ่นเยาว์ต่างให้ฉายาว่าเป็นงานศิลปะที่ดิบ หยาบ เถื่อน ฉีกกฏ ฉีกกรอบการจัดเทศกาลงานศิลปะที่เคยมีมาในสังคมไทย เพราะแม้แต่สถานที่จัดแสดงงาน ภัณฑารักษ์ผู้จัดงานยังเลือกตึกร้าง สภาพไม่แข็งแรง เต็มไปด้วยเศษอิฐ หิน ดิน เหล็ก และเศษขยะ 

ด้วยแนวคิดทุกอย่างคือศิลปะ และคนธรรมดาสามัญรากหญ้าก็สามารถจัดแสดงงานศิลปะตามรสนิยมและความชอบของตัวเองได้ อีกทั้งศิลปะไม่ควรจำกัดพื้นที่การแสดงเพียงแค่พิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่แนวคิดดังกล่าวได้รับการผลักดันจนเกิดเป็นเทศกาลศิลปะได้ ก็ด้วยเพราะหนึ่งในศิลปินอาวุโสชื่อ ถนอม ชาภักดี อดีตอาจารย์สาขาวิชาศิลปะจินตทัศน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 

ถนอม ชาภักดี วงการศิลปะวิจารณ์ยกให้เขาเป็นหนึ่งในนักวิจารณ์ศิลปะที่ปากจัดคนหนึ่งในประเทศไทย เพราะด้วยวิชาที่เขาสอนมาตลอดชีวิตการเป็นอาจารย์ คือ ทฤษฎีและแนวคิดเชิงวิจารณ์ศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงการเมืองทั้งในและนอกประเทศ และการที่ตัวเขามีประสบการณ์เดินทางไปชมงานแสดงผลงานศิลปะทั่วโลก ทำให้เขาเห็นประเด็นต่างๆ ที่นำมาวิจารณ์งานศิลปะได้อย่างมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

สิ่งที่คนในวงการศิลปะต่างพากันพูดถึงเกี่ยวกับตัวเขาก็คือ หากมีการจัดแสดงงานศิลปะตามนิทรรศการหรือเทศกาลศิลปะทั้งใหญ่และเล็กแล้ว “ถนอม ชาภักดี” เดินเข้ามาดูงานของศิลปินคนไหน ศิลปินคนนั้นจะต้องได้คำถามจากถนอมเป็นรางวัล มิหนำซ้ำอาจจะได้คำวิจารณ์ไปหนึ่งตะกร้าใหญ่กลับไปด้วย 

ล่าสุดถนอมและเพื่อนศิลปินที่มีแนวคิดเดียวกันได้เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการศิลปะในนาม The MANIFESTO by MAIELIE ที่กลางเมืองขอนแก่น ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นที่ประสานงานเทศกาลศิลปะ Khonkaen Manifesto ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี รวมถึงจะเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะเชิงการเมืองและสังคม ห้องเก็บสะสมผลงานศิลปะ Manifesto ทุกแขนง และพื้นที่พักผ่อน กิน ดื่ม สังสรรค์ และเสวนา

ด้วยถนอมนั้นเกิดที่ศรีสะเกษ เขาจึงมักจะแนะนำตัวเองว่าเป็น “คนลาวอีสานชาติพันธุ์ส่วย ผู้มักโซ้ยลาบก้อยงัว” เดอะอีสานเรคคอร์ดมีโอกาสได้ร่วมโต๊ะกิน-ดื่ม-สนทนากับตัวเขามาหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงตัดสินใจข้อสัมภาษณ์เพื่อให้รู้ถึงตัวตนความเป็น “ถนอม ชาภักดี” รวมถึงความเห็นต่อวงการศิลปะในประเทศและโรงเรียนผลิตศิลปินในภาคอีสานมาให้ได้อ่านกัน 

ศูนย์ปฏิบัติการศิลปะในนาม The MANIFESTO by MAIELIE ที่เพิ่งเปิดตัวไปถือเป็นฐานประจำการของคณะศิลปินที่จะทำ Manifesto ในอนาคต ใช่ไหม เล่าที่มาให้ฟังหน่อย

คือหลังจากที่เราทำขอนแก่น Manifesto แล้ว เดือนตุลาคมปี 2561 เราก็เห็นว่า ส่วนหนึ่งการทำปฏิบัติการทางศิลปะในครั้งนี้ มันค่อนข้างสร้างผลสะเทือนให้กับตัวโครงสร้างของการจัดเทศการศิลปะในสังคมไทย อันที่สองก็คือ มันเริ่มทำให้ชุมชนตื่นตัว โดยเฉพาะการที่ชุมชน ชาวบ้านธรรมดาสามัญ มองงานศิลปะว่าเป็นงานที่ใกล้ตัว เข้าถึงง่ายมากขึ้น กำแพงของศิลปะที่หลายคนคิดว่าสูงส่ง เป็นของชนชั้นสูง มันถูกทลายลง ประเด็นที่สามก็คือ มองว่าสนามของศิลปะทุกวันนี้มันไม่ได้อยู่ในหอศิลป์ พิพิธภันณ์หรือแกลลอลี่ ที่ถูกจัดตกแต่งอย่างสวยงามในห้องแอร์แล้ว แต่มาอยู่พื้นที่จริง ที่ไหนก็ได้ จึงมีแนวคิดจะจัดศูนย์ปฏิบัติการศิลปะแนวนี้ขึ้นมาในขอนแก่น 

คณะผู้จัดทำมองว่า ศูนย์นี้จะเป็นการจัดเก็บมรดกทางศิลปะ (Archive) อย่างเป็นระบบ ตามแนวคิดทุกสิ่งคือศิลปะ ศิลปะของสามัญชนที่สัมพันธ์กับการเมือง สังคม และวัฒนธรรมคนในภาคอีสานทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ ภาพถ่าย เป็นต้น ไว้เพราะในประเทศไทยยังไม่มีวัฒนธรรมการเก็บผลงานทางศิลปะแบบนี้มากเท่าไหร่ ในต่างจังหวัดยิ่งแล้วใหญ่ หาไม่ค่อยเจอ เพราะว่าผู้มีอำนาจในประเทศนี้มันไม่เคยเข้าใจ และเขาไม่อยากให้ประชาชนเก็บประวัติศาสตร์ของตัวเองไว้ 

แต่สื่อมวลชนก็เก็บอยู่แล้ว ช่างภาพก็เก็บอยู่แล้ว เก็บเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ หอจดหมายเหตุก็ แล้วทำไมต้องมีหอศิลปะเก็บไว้อีก 

ผมมองว่า มุมมองของสื่อมวลชนก็ดี มุมมองของช่างภาพ มุมมองของคนเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ก็ดี มันต่างจากมุมมองของนักปฏิบัติการทางศิลปะอยู่แล้ว แต่หอศิลปะที่เป็นพื้นที่การจัดแสดงงานทางศิลปะนั้น มันเป็นสิ่งที่ห้องข่าวหรือหอจดหมายเหตุไม่มี หอศิลปะมันมีความเป็นเอกเทศ อิสระ (Autonomy)   ไม่ขึ้นตรงกับใคร ไม่มีใครควบคุมได้ ฉะนั้นเราจะเอาโถฉี่ เอาข้าว ผัดไทย ภาพคนทำนา อะไรก็ได้มาทำเป็นผลงานทางศิลปะ

มันเป็นการสถาปนาพื้นที่ขึ้น เอาอะไรที่คนในสังคมมองว่าธรรมดา ปกติ มาจัดแสดงเป็นงานศิลปะ นี่คือความอิสระของการเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามแบบศิลปะ มันจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกแบบ

แต่มันต้องสร้างสถาบันขึ้นมารองรับ รับรองว่าผลงานนี้เป็นศิลปะได้ด้วย น่นก็คือเหตุผลที่เราต้องตั้ง MANIFESTO ตั้งศูนย์ปฏิบัติการทางศิลปะของเราขึ้นมา

ถ้าจะพูดถึงศูนย์แสดงงานศิลปะ ศูนย์จัดเก็บงานศิลปะ ในขอนแก่นก็มีหลายที่นะ ที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้คนที่มีหัวคิดสร้างสรรค์มารวมกัน แล้วศูนย์ The MANIFESTO แตกต่างจากศูนย์เหล่านั้นอย่างไร

อันนี้ผมว่ามันเยอะก็ดี แต่ความแตกต่างของ Manifesto ก็คือ พื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ของการปฏิบัติการศิลปะทางเลือก ที่ไม่มีจำกัดว่าต้องเป็นแนวคิดศิลปะแบบใดเป็นหลัก อีกทั้งลักษณะพื้นที่ทางศิลปะของ Manifesto จะไม่ใช่พื้นที่ที่จะมาโชว์อย่างเดียว เราจะทำให้ศูนย์นี้เป็นพื้นที่ให้คนทุกวงการเข้ามา เป็นที่สังสรรค์ สันทนาการ พูดคุยได้ในทุกๆ เรื่องได้ เพราะพื้นที่มันเป็นศิลปะเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในชีวิตผู้คน ฉะนั้นคุณจะมาคุย จะคิดเรื่องอะไรก็ได้ในที่นี่ 

แล้วที่ว่างานศิลปะที่จะทำกันหรือจะโชว์กันส่วนใหญ่เป็นงานศิลปะที่เกี่ยวกับการเมือง ความมั่นคง มันเป็นศิลปะแบบไหน อย่างไร 

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ศิลปะมันอยู่ในทุกส่วนของทุกอณูของชีวิตมนุษย์ เกี่ยวข้องกับการเมือง วัตถุบางวัตถุยังไม่นัยยะเกี่ยวกับการเมืองหรือต่อต้านผู้มีอำนาจทางการเมืองเลย เคยเห็นข่าวเรื่องเจ้าหน้าที่ความมั่นคงห้ามคนใช้ขันตักน้ำสีแดง ถ้ามองมันเป็นขัน มันก็เป็นแค่ขันตักน้ำ แล้วคุณเอาอะไรเข้ามาห้าม แต่ถ้ามองว่ามันมีความหมายและนัยยะเกี่ยวกับการเมืองก็คือการเมือง ฉะนั้นถ้าเอาขันสีแดงมาจัดแสดงไว้ในงานนิทรรศการศิลปะ คิดว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงวิ่งมาห้ามจัดงานแน่นอน 

แล้วศิลปะควรจะรับใช้ใครและอุดมการณ์การเมืองแบบไหน

ผมมองว่า มันอาจจะเป็นคำถามที่แบบว่าค่อนข้างเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่ในความหมายของศิลปะในยุคปัจจุบัน ในวิธีคิดแบบเสรีนิยม เราควรที่จะเลือกทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องคิดว่า… สำหรับผมแล้วศิลปะมันควรจะเป็นสามัญ ให้ผู้คนโดยทั่วไปสามารถเข้าไปได้ แล้วความหมายสำคัญที่ต้องไปเขียนก็คือ ศิลปะมันควรที่จะตั้งคำถามกับปัญหาทางสังคม ปัญหาทางโลก ปัญหาทางการเมืองได้ 

ถ้าพูดถึงศิลปะกับประชาธิปไตย มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร

มันเกี่ยวข้องกันอย่างมาก เพราะพื้นที่ของการแสดงออก คือพื้นที่ของเสรีภาพ ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพแล้ว การแสดงออกทางศิลปะก็ไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะนี่คือกึ๋นของมนุษย์ที่จะขุดเอาความรู้สึกลึกๆ ที่ไม่สามารถพูดกับใครได้ ออกมาแสดงออกผ่านกระบวนการทางศิลปะ 

และมีตัวอย่างไหมครับว่าการใช้ศิลปะในทางการเมือง ในการเรียกร้องประชาธิปไตยในโลกนี้ที่ยึดถือเป็นตัวอย่าง

ผมว่าในแอฟริกา ในอเมริกาใต้ ประเทศในอเมริกาใต้ก็ใช้กระบวนการทางศิลปะ เพื่อขัดขืนอำนาจที่ไม่เป็นธรรมและเรียกร้องเพื่อแสดงออกทางเสรีภาพของตัวเองได้อย่างมีมรรคมีผลแล้ว รูปแบบปฏิบัติการศิลปะที่ใช้คือ กระบวนการกราฟฟิกตี้ แสดงในพื้นที่ตึก

เท่าที่รู้มา ชนชั้นสูงก็มีศิลปะเป็นเครื่องมือในการค้ำยันอำนาจเป็นเครื่องมือของชนชั้นตัวเอง 

คือรัฐมันใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือมาทุกสมัยอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ

แสดงว่าสามัญชนชนชั้นล่างก็สามารถสถาปนาอำนาจผ่านงานศิลปะได้ใช่หรือไม่

คิดว่าการสถาปนาอำนาจคงยาก แต่คิดว่าเป็นแค่กลไกหนึ่งเพื่อการต่อรองอำนาจหรือเข้าถึงอำนาจทางการเมืองบางอย่างได้เท่านั้น  

ทราบมาก่อนหรือไม่ ว่าในขอนแก่นมีประวัติศาสตร์ ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องความเท่าเทียมกันมาอย่างยาวนาน เห็นว่าอีสานนี้ก็มีการใช้วิธีต่อสู้ทุกรูปแบบแล้วในการเคลื่อนไหว ศิลปะมันจะเป็นเครื่องมือให้กับคนอีสานที่ต้องการความเท่าเทียม สิทธิ เสรีภาพและความยุติธรรมได้หรือไม่

ผมมองว่าศิลปะเป็นเครื่องมือสำหรับมวลมนุษย์ทุกคน แต่ทำไมผมมาเลือกอีสาน เพราะผมเกิดที่อีสาน ถึงแม้ปัจจุบันอีสานอาจจะถูกเมืองกลืนไปบ้าง แต่ผมก็ยอมรับและโอเคกับความเป็นเมือง แต่จริตกำพืดของคนลาวอีสานอย่างผม มันยังมีความอุกอั่ง(กังวลใจ)อยู่และความอุกอั่งอันนี้เนี่ย ในเมื่อเราเรียนทางศิลปะมา อาวุธอันเดียวที่เราสามารถที่จะทำได้ก็คือ ศิลปะ 

งั้นสรุป นักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีสานอาจจะใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ได้หรือไม่

คิดว่าได้ เพราะในอดีตเคยมีเหตุการณ์กบฏผู้มีบุญ กบฎเหล่านั้นก็ใช้หมอลำที่เป็นศิลปะวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ต่อรองอำนาจทางการเมืองกับรัฐ

เห็นพูดถึงศิลปะแห่งการต่อต้านและสุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้านบ่อย มันคืออะไร 

ภาษาอังกฤษคือ Aesthetic of Resistance ความหมายก็คือ เราสามารถสร้างตัวตนทางศิลปะของเราตามแบบรสนิยมและการรับรู้ของเราเองได้ ความคิด ตัวตนเราจะปราศจากการครอบงำจากกระแสหลัก ความเชื่อหลักของสังคม ของผู้ใหญ่ ของอาจารย์ ของโรงเรียน ฯลฯ

ขอย้อนกลับไปเรื่องทุกอย่างคือศิลปะหน่อย ในการรับรู้ของสังคมหรือพ่อแม่พี่น้อง คืองานวาดภาพงานจิตรกรรม งานสถาปัตยกรรมที่มันสวยงาม แต่ขอนแก่น Manifesto ที่ผ่านมา แม้แต่ขยะก็เป็นศิลปะ แม้แต่เศษเหล็กเศษลวดก็เป็นศิลปะ มันเป็นศิลปะได้อย่างไร

จริงๆ ไม่ควรจะบอกว่างานศิลปะมันมีแค่งานประเภทวิจิตรศิลป์ ที่มีแต่สิ่งสวยงามวิจิตรพิสดารอย่างไร ผมคิดว่าเราไม่ควรจำกัดความหมายของศิลปะแคบๆ แค่นี้ ผลงานของ Manifesto ก็คือศิลปะ ศิลปะจากกระบวนการใช้ชีวิต การมีวัฒนธรรมประเพณี การมีการแสดงออกทางการเมืองของผู้คนธรรมดาเช่นกัน เช่นวิถีของคนธรรมดาทั่วไปที่กินขี้ปี้นอน นั่นแหละมันก็คือกระบวนการทางศิลปะเช่นกัน

อยากให้อธิบายเพิ่มหน่อยว่า ศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่ในในโถแก้ว ในห้องกระจกทำไมต้องเป็นแบบนั้น

คือ ศิลปะมันไม่ได้อยู่ในพื้นที่หอศิลป์อีกต่อไป ศิลปะมันอยู่ในพื้นที่กับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน เพียงแต่ว่าเราจะไปจัดการกระบวนการสิ่งเหล่านี้ หาความ หาพื้นเพ หาบริบท หาความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม กับมันยังไงให้มันเกี่ยวข้องกัน

แสดงว่า Manifesto คือเทศกาลศิลปะของคนชนชั้นล่างหรือเปล่า

ขอเริ่มอย่างงี้ แน่นอนล่ะ ศิลปะมันมีชนชั้นของมันในตัวอยู่แล้ว บางชิ้นงานศิลปะก็มีแต่ความวิจิตร ซึ่งในสายตาของชนชั้นนำหรือพวกผู้ดีตีนแดงที่กระแดะ มักจะมองงานแบบที่ เทศกาล Manifesto ทำเป็นสิ่งที่น่าเกลียด ไม่สวยงาม แล้วไม่ใช่งานศิลปะ คำถามคือว่าแล้วทำไมศิลปะจะเป็นสิ่งที่น่าเกลียดไม่ได้ เพราะในเมื่อสุนทรียศาสตร์ไม่ได้แปลว่าความงาม สุนทรียศาสตร์คือเรื่องของอารมณ์การรับรู้ และใครก็สามารถที่จะเลือกรับรู้และอยากได้ความรู้สึกแบบไหนก็ได้ ฉะนั้นความเป็นปัจเจกในการยอมรับศิลปะมันถึงได้เกิดความหลากหลายได้ ซึ่งสถาบันศิลปะในประเทศไทยไม่เคยสอนให้รับรู้ว่า Aesthetic หรือสุนทรียศาสตร์ คือการรับรู้ทางอารมณ์ของปัจเจกเลย

แต่คนที่จะตีความผลงานศิลปะได้แต่ละชิ้น ต้องมีองค์ความรู้ในระดับหนึ่ง แล้วคนอย่างชาวบ้านทั่วไป คนที่ไม่ได้เรียนศิลปะมา ไม่รู้เรื่องรู้ราวการตีความ มันจะเสพงานแบบนี้ได้เข้าใจหรือ 

คิดว่าเรื่องนั้นไม่ใช่ปัญหา ปัญหามันอยู่ที่คำว่า “ศิลปะ” มันไม่เคยเป็นของสามัญชนคนธรรมดา เรามักจะพูดศิลปะในนามที่มันเข้าถึงยาก ก็เพราะความหมายศิลปะมันเกิดขึ้นจากคนชนชั้นสูง เจ้านาย คนรวย แต่หลังในศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ความหมายศิลปะแบบนั้นมันทลายลงแล้ว ศิลปะมันเข้าสู่บริบทของสังคม พูดถึงชาวบ้าน พูดถึงเรื่องราวของชีวิตของคนสามัญทั่วไปแล้ว คนสามัญสามารถที่จะ

เขียนภาพได้ วาดภาพได้ ทำงานประติมากรรมสวยงามได้ 

วิจารณ์วงการศิลปะในสังคมไทยหรือสถาบันการศึกษาศิลปะในไทยว่า ศิลปะของสถาบันไทยทุกวันนี้มันรับใช้ใคร ชนชั้นไหน

เดี๋ยวผมจะเล่าย่อๆ นะ หลักสูตรการเรียนการสอนศิลปะในทุกภูมิภาค ทั้งเหนือ อีสาน ใต้ ตะวันตก ตะวันออก อะไรที่มีคณะศิลปกรรมเนี่ย ผมว่ามันเป็นหลักสูตรที่ยึดโยงอยู่กับส่วนกลาง ส่วนศิลปะท้องถิ่นกลายเป็นเรื่องรอง คือมันเอาวิธีคิดส่วนกลางมาใช้ทั้งหมด มันไม่ยอมให้นักเรียนศิลปะ นักศึกษาศิลปะ สามารถที่จะเอากระบวนการคิดแบบท้องถิ่นของตัวเองมาใช้ มาสร้างงานศิลปะเลย อะไรสวยๆ อะไรงามๆ ก็ลอกแบบวัฒนธรรมสูงส่ง เอาความงดงามแบบว่าต้องมีความเป็นไทยนะ ท้องถิ่นบ้านตัวเอง ภูมิภาคอื่นก็มีความงามของตัวเอง มันจะเป็นอะไรกันนักหนา

แต่คิดว่าคนรักศิลปะในอีสานก็ควรจะศึกษาท้องถิ่น เอาความงามท้องถิ่นออกมาถูกต้องใช่ไหม

คือศิลปะลาวมีเยอะแยะ ลาวอีสานนะ โดยไม่ไปตีกรอบต้องเป็นเทคนิคนั่น เป็นรูปแบบนั้นแบบนี้ อย่างที่ผมบอก ทำไมเวลาบุญบั้งไฟ ทำไมชาวบ้านถึงสามารถทำลิงเด้า หำเด้า คนเด้ากันได้ นั่นคือการละเล่น จะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นศิลปะไหม ก็หาพื้นที่ทางศิลปะให้งานศิลปะแบบนี้ดูสิ

มีอะไรเพิ่มไหม ที่อยากจะฝากถึงวงการศิลปะไทย

ผมมองว่า วงการศิลปะไทยควรคิดถึงกระบวนการปฏิบัติการทางศิลปะมากกว่า มากกว่าการแสดงงานนิทรรศการ ควรจะเลิกได้แล้วนิทรรศการ ที่มักแสดงบอร์ดภาพถ่ายเพียงเท่านั้น ควรแสดงงานในเชิงกระบวน ศิลปินควรลงพื้นที่ทำงานกับชุมชน ทำงานกับประเด็นปัญหาสังคม การเมือง แล้วศิลปินก็ควรใช้ศิลปะในการสร้างสังคมที่ดี เท่าเทียมและเป็นธรรมด้วย 

image_pdfimage_print