โดย ถนอม ชาภักดี

ปฏิบัติการศิลปะในพื้นที่กับบริบทบ้านนาบัว

นักปฏิบัติการทางศิลปะในยุคปัจจุบันคงมีน้อยคนที่จะนั่งทางในจินตนาการ แล้ววาดฝันลงหน้ากระดาษหรือวัสดุเพื่ออุปโลกน์ผลงานของตัวเอง นอกเสียจากว่าผู้คนเหล่านั้นจะหลงละเมออยู่กับความดีงามอันเลิศลอยที่ปลดปล่อยไม่ไปหรือไม่ก็อยู่ในกรงขังของอำนาจหรือคำสั่งที่ทำให้เรื่องราวกับผูกพันธนาการอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แห่งดาวดึงส์ที่ถูกตรึงไว้ด้วยฝุ่นฝ้าละอองดาว มองไม่เห็นเงาของมนุษย์สามัญที่เผชิญกับปัญหานานาชนิดที่ถั่งโถมทับถมเข้ามาไม่เว้นแต่ละโมงยาม

ปัจจุบันสมัยระอุร้อนด้วยเภทภัยที่มนุษย์ในฐานะผู้ก่อการปัญหา ทั้งสิ่งแวดล้อม ข้าวยากหมากแพง เชื้อชาติ ชนชั้นวรรณะ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองได้ทำให้ทุกหย่อมย่านในภูมิภาคของโลกต้องการผู้นำเสนอ เปิดเผยเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่ใช่ในมิติของข่าวสารเพียงอย่างเดียว รวมทั้งกระบวนการนำเสนอทางด้านศิลปะแขนงต่างๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ศิลปินในฐานะคนของสังคมอันหมายถึง ศิลปินในฐานะนักปฏิบัติการในพื้นที่สนามของศิลปวัฒนธรรม ที่ไม่ใช่เพียงแค่รับความรู้จากตัวบทในตำราหรือหนังสือแล้วมาตีความเพื่อผลิตงานของตนออกมาสร้างความอภิรมย์ในห้องสีขาวเพียงอย่างเดียว 

แต่นักปฏิบัติการศิลปะในสภาวะสมัย anthropocene ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในปฏิบัติการพื้นที่สนามที่มีลักษณะของสังคม ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ชาติพันธุ์ รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่แตกกระสานซ่านเซ็นเป็นซีกเล็กซีกน้อย ที่มีลักษณะเฉพาะในพรมแดนแห่งความรู้แอ่งนั้นๆ อย่าไปเหมารวมว่า ความรู้ที่ไหนๆ ก็เหมือนกันหมด ซึ่งไม่จริงอย่างแน่นอน 

เช่นเดียวกันกับคำกล่าวที่ว่า ศิลปะเป็นสิ่งสากล ศิลปะไม่ใช่เรื่องของความเป็นสากล แต่มันเป็นสิ่งเฉพาะที่รับรู้เสพชมรื่นรมย์กันในกลุ่มสังคม ชุมชนหนึ่งๆ แต่ที่มันเข้าไปสู่วงจรสากลนั้นได้ ก็เพราะการต่อรองอันเข้มแข็งของผู้กุมอำนาจและมันก็หมดยุคการเพ้อพกความเป็นสากลนั้นไปนานแล้ว 

จนกระทั่งมาถึงยุคนานาชาติที่กำลังจะตายไปอีกไม่กี่วันและวิถีของประชาคม ชุมชนจึงได้เข้ามาอยู่วงจรชีวิตอย่างปัจจุบันเช่นนี้ อันรวมไปถึงบทบาทของศิลปินที่มีต่อการนำเสนอเรื่องราวของสังคม ชุมชนนั้นๆ ด้วยสภาวะการกระแดะและความเป็นสากลหรือนานาชาติ วงการศิลปะประเทศนี้จึงเป็นเพียงการหลงเงาตัวเองในมหาสมุทรเท่านั้นเอง

ที่กล่าวมาในเบื้องต้นนี้ก็เพื่อที่จะนำเสนอเรื่องราวของพนมแดนแห่งความรู้หมู่บ้านเล็กๆ อยู่ในหลืบป่าหลืบดง แถบเทือกภูพาน บ้านนาบัว ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางศิลปะและการวิจัยทางสังคม-มานุษยวิทยามานานนับทศวรรษ

บ้านนาบัว: ทำนาข้าวเข้าป่าหาสหายร่วมเป็นร่วมตายใต้ธงแดงกับประวัติศาสตร์การแตกกระจัดกระจายตายไปไม่ได้บันทึก

อีสานแห่งเฉียงเหนือในช่วงทศวรรษ 2400 เจือด้วยกลิ่นสงครามเย็น แต่กลับร้อนระอุไปทุกหย่อมหญ้า เมื่อมหามิตรอเมริกาพันธมิตรรัฐไทยกรีฑาทัพเพื่อยับยั้งการรุกรานของคอมมิวนิสต์ที่เริ่มยกพลเข้ามาจ่อคอหอย มิหนำซ้ำยังขยายไพล่พลไปทั่วแคว้นแดนอีสานจนเกือบกลายเป็นพื้นที่สีแดงทั้งดินแดน 

ยิ่งเริ่มศักราชทศวรรษใหม่ (2500) ภัยคอมมิวนิสต์กลายเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของรัฐไทยและโลกเสรี พื้นที่อันเปราะบางอย่างภาคอีสานกลายเป็นสมรภูมิรบทั้งกองกำลังทหาร ตำรวจและการรุกรานทางด้านศิลปวัฒนธรรม การเมือง ศาสนา ราวกับว่า แผนที่ราบสูงนั้นเต็มไปด้วยภยันตรายและไร้อารยะในสายตาของชนชั้นนำ จึงได้กระหน่ำด้วยยาตราทัพและ Soft Power จนป่าราบ เมืองเจริญด้วยนโยบายต่างๆ ตั้งแต่หมอลำยันคำสั่งของรัฐบาลที่ 66/2523

ด้วยพื้นที่ที่ราบสูงอันไพศาลมีประชากรมากกว่าภาคอื่นๆ แต่ดินแดนแถบนี้กลับทุรกันดาร ผู้คนยากจน ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากรัฐ ไม่มีทรัพยากรใดๆ ที่จะให้ใครมาตักตวง นอกจากการขายแรงงานราคาถูกในเมือง ซึ่งก็ต้องมุ่งหน้าลงไปไทยเท่านั้นถึงจะชุบชีวิตให้เป็นคนเมืองได้ 

ช่วงกลางทศวรรษ 2510 เมื่อสหรัฐอเมริกามหามิตรมาตั้งฐานทัพที่โคราช อุบลฯ อุดรฯ ขอนแก่น กลายเป็นว่า คนอีสานได้สัมผัสใกล้ชิดกับ “ฝรั่งดังโมโตใหญ่” แต่หารู้ไม่ว่า มหามิตรจมูกโด่งเหล่านั้นมาขับจรวดทิ้งระเบิดใส่ประเทศลาว เขมร เวียตนาม ไม่เว้นแต่ละวัน ที่สำคัญมหามิตรอเมริกา ก็คือ ผู้สนับสนุนรายใหญ่ในการปราบปรามเข่นฆ่าคอมมิวนิสต์ ด้วยกลัวว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยคอมมิวนิสต์เหมือนอย่างประเทศกลุ่มอินโดนจีน

เรื่องราวของบ้านนาบัว ต.โคกหินแห่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม อย่างน้อยก็ถูกเผยแพร่เป็นข่าวคราวให้ผู้คนได้รับรู้มากกว่า 5 ทศวรรษ ในแง่มุมต่างๆ อย่างหลากหลาย สามารถสืบค้นได้อย่างสะดวกรวดเร็วในยุคปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็นข่าวจากเว็บไซต์หรืองานวิจัยต่างๆ เช่น หมู่บ้านเสียงปืนแตก : ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางการเมืองและการสร้างอัตลักษณ์ของท้องถิ่นบ้านนาบัว (2560) ทิฆัมพร สิงโตมาศ, 8 สิงหา 2508 (8-8-08) วันเสียงปืนแตก (1)(2009) ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, วันเสียงปืนแตกและพลวัตทางสังคมของชุมชนแห่งการปฏิวัติประชาชาติ ประชาธิปไตยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย (2544) ของธันวา ใจเที่ยง

รวมทั้งบทรายงานในเดอะอีสานเรคคอร์ดเรื่องงานรำลึกความขัดแย้งแบบ “ไม่ขัดแย้งกับรัฐบาล” ณ บ้านนาบัว (2560) โดยจิรสุดา สายโสมและวารีรักษ์ รักคำมูล, งานรำลึกประวัติศาสตร์  “วันเสียงปืนแตก” จะครึกครื้นถ้ามีรัฐบาลเลือกตั้ง (2560) รายงานโดย ธิดารัตน์ นันตรีและรสสุคนธ์ หงส์ทอง, เรื่องเมื่อประวัติศาสตร์ (ไม่ได้) กลายเป็นความทรงจำ: ซุ้มประตู “ภปร.” และ “สนามเด็กเล่นหน้าใจป๋าเปรม” ที่บ้านนาบัว โดยเศรษฐศาสตร์ วัตรโศก และพีระ ส่องคืนอธรรม

นาบัวจากสมรภูมิแดงเดือดมาสู่การตีความทางศิลปะ

แม้จะมีการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์สมรภูมิบ้านนาบัวในรูปแบบต่างๆ อันรวมไปถึงการสถาปนาวัฒนธรรมประดิษฐ์จากรัฐเพื่อกลบเกลื่อนบาดแผลให้นาบัว แต่ความเจ็บปวด ขมขื่น ความทรงจำอันโหดร้ายในลานวัด ชายป่ากลางนา ริมห้วยน้ำ ยังมิเคยจางหายไปจากภาคจำของวีรชนนักสู้รุ่นราวคราวอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เคยผ่านชะตากรรมอันโหดร้ายมาตั้งแต่ 7-8 ขวบ 

เรื่องราวและเรื่องเล่าราวกับนิยายได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ปากต่อปาก ปะติดปะต่อถึงแม้จะร่อยหรอไปตามกาลเวลากว่าครึ่งศตวรรษก็ตาม ถึงทศวรรษนี้เหตุการณ์บ้านนาบัว จักไม่ได้ถูกบันทึกในฐานะตำนานผ่านตัวบททางอักษรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีนักปฏิบัติการทางศิลปะได้พยายามนำเสนอภาพลักษณ์บ้านนาบัวในฐานะ ปฏิบัติการทางศิลปะ (artistic practice) อย่างน้อยสองแขนง ทั้งภาพยนตร์และสื่อเชิงจิตรกรรมในพื้นที่

เมื่อปี 2551 อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (เจ้ย) ได้ลงพื้นที่บ้านนาบัวนานกว่าสองเดือนเพื่อขุดค้นต้นเรื่องศึกษาปฏิบัติการในโครงการ Primitive Project : ปลุกผี โดยนำนัยยะบริบทของความเป็นนาบัวมาตีความใหม่ ผ่านความทรงจำของลูกหลานของนักสู้บ้านนาบัว เข้าได้สร้างยานอวกาศ (Spaceship) โดยอาศัยแรงพลังของชุมชนคนนาบัวมาร่วมกันเชื่อมต่อจนกลายเป็นวัตถุทรงกลมๆ รีๆ ขนาดที่สามารถเข้าไปสุมรวมกันได้คราวละ 5-6 คน เสมือนเป็นแหล่งพบปะแลกเปลี่ยนนักรบอวกาศรุ่นลูกหลาน ผลงานชุดนี้มีความยาว 29:34 นาที แต่เป็นนาทีที่เต็มไปด้วยภาพจำและการสูญสลายท้ายวัดบัวขาว แห่งบ้านนาบัว

อีก 10 ปีต่อมา พชร ปิยะทรงสุทธิ์ ศิลปินนักปฏิบัติการเชิงจิตรกรรมที่สนใจศึกษาเรื่องราวทางสังคม การเมือง และการต่อสู้ของประชาชน กระทั่งตัดสินใจไปตามรอยเส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านนาบัวเมื่อช่วงปลายปี 2560 จนถึง 2561 ได้พบปะพูดคุยกับต้นหนของนักรบนาบัว ปู่ชม แสนมิตร หรือสหายตั้ง วัย 90 ปี ซึ่งปู่ชมได้พาเขาตระเวนไปตามจุดเกิดเหตุต่างๆ ทั้งจุดปืนแตกนัดแรกวันที่ 20 สิงหาคม 2504 ใต้ต้นฉำฉา และจุดปะทะ 8 สิงหาคม 2508 พร้อมกับเรื่องราวอื่นๆที่เขานำมาตีความในผลงานจิตรกรรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้

ระนาบของศิลปะได้ลงสู่พื้นที่หรือสมรภูมิของข้อมูล ไม่ต่างจากนักปฏิบัติการวิจัยทางสังคม-มานุษยวิทยา เพียงแต่แหล่งขุมความรู้เหล่านั้นถูกนำมาตีความตามบริบทของสื่อศิลปะแต่ละแขนงที่มีอรรถรสแตกต่างกัน

ดังจะได้นำเสนอในพื้นที่แห่งนี้ทั้งในเรื่อง ปลุกผีที่นาบัว ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ Anatomy of Silence (กายวิภาคแห่งความเงียบงัน) ของ พชร ปิยะทรงสุทธิ์ ในตอนต่อๆ ไปในพื้นที่ The Isaan Record แห่งนี้

image_pdfimage_print