หมายเหตุ: ส่วนหนึ่งของการสรุปงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “ผู้หญิง : การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม การช่วงชิงพื้นที่และนโยบายทางการเมืองในท้องถิ่น” เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดย รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์

อยากจะเรียกขบวนการผู้หญิงอีสานบนถนนการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมในวิถีประชาธิปไตยโดยคำสั้นๆ ที่สร้างขึ้นมาว่า สตรีนิยมอีสาน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Isaan feminism 

คำว่า สตรีนิยมอีสานบนถนนการเมืองของการจัดการสิ่งแวดล้อม หมายความว่า กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของกลุ่มผู้หญิงในภาคอีสานเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้

หนึ่ง ตั้งคำถามต่อความไม่เป็นธรรม ความอยุติธรรม และความความไม่เท่าเทียม โดยมีบรรยากาศการกดทับการแสดงออกของผู้หญิงและภาคประชาชนในภาคอีสาน การใช้กองกำลังและพละกำลัง การใช้อำนาจของส่วนราชการในการกดทับสร้างการจัดการทรัพยากรแบบไม่เป็นธรรม

สอง เพื่อรักษาการดำรงชีวิตของผู้หญิงผู้ชายในภาคอีสาน เวลาพูดถึงผู้หญิงผู้ชายนั้น คนอีสานไม่สามารถพูดเพศไหนเพศหนึ่งได้ คือ เพื่อรักษาการดำรงชีวิต วิถีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับทรัพยากร การใช้ทรัพยากรเป็นฐานการดำเนินชีวิตที่สำคัญ ไม่ว่าทรัพยากรจะเป็นดิน น้ำ ป่าไม้แหล่งน้ำ สัตว์ป่า และพืชพันธุ์

สาม เพื่อตั้งคำถามต่อความไม่เป็นธรรม เพื่อรักษาวิถีการดำรงชีวิต เพื่อส่งต่อให้ภาคการเมือง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อทำให้ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคอีสานกลายเป็นวาระทางการเมือง กลายเป็นประเด็นทางการเมือง โดยที่การเมืองเป็นเครื่องมือและกลไกที่สำคัญ เป็นการเมืองที่เห็นหัวคนจน 

กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

วันก่อนที่สมัชชาคนจนทั้งประเทศไปรวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาล โดยใช้สโลแกนประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองต้องเห็นหัวคนจน

เป็นคำสำคัญอยากจะย้อนกลับไปว่า แล้วการออกมาเคลื่อนไหวของผู้หญิงต้องแลกด้วยอะไร ทำไมต้องออกมา แม่ พี่สาว น้องสาว คุณป้าหลายคนที่ฟังแล้วสะเทือนใจ โดยพูดว่า การที่เราออกมาเพราะว่า หัวเราชนฝาแล้ว หลังชนฝา หลังพิงฝา

คำเหล่านี้จะพรั่งพรูออกมาหลายๆ ครั้งที่เราเดือดร้อนนโยบายของรัฐทำให้เราเดือดร้อน เป็นภาวะเงื่อนไขอยู่ในสภาวการณ์ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ถ้าไม่ทำก็ตายแน่ๆ ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องลุกขึ้นมา

เมื่อออกมาจากบ้านแล้วแลกด้วยอะไร ต้องเผชิญกับอะไรบ้างต้องแหวกขนบธรรมเนียมในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ต้องแหกออกมาให้ได้ กว่าจะแหกออกมาได้ก็ยากมาก

ต้องผ่านกระบวนการท้าทายจนนำมาสู่คำพูดหนึ่งว่า มีนักศึกษาจะไปสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนแล้วก็จะไปสัมภาษณ์ สิมมลา หงษามนุษย์ ผู้ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจนครพนม แต่ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่บอกว่า ไม่ต้องไปสัมภาษณ์ เพราะแม่ลาเป็นคนหัวรุนแรงไม่ฟังใคร เป็นสิ่งที่ผู้หญิงที่ออกมาเคลื่อนไหว

ส่วนผู้ชายคุ้นชินกับการที่ผู้หญิงว่านอนสอนง่ายอยู่บ้าน เป็นผ้าพับไว้ เป็นกุลสตรี อยู่ๆ ผู้หญิงกลับลุกขึ้นมาแหวกขนบประเพณีเหล่านี้ แล้วออกมาสู้ ก็เลยถูกตราหน้าว่าเป็นคนหัวรุนแรง ซึ่งตามจริงไม่ใช่ 

แต่เป็นเพราะความจำเป็น ความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้หญิงต้องออกมาผู้หญิงต้องแบกรับความเสี่ยงถูกดำเนินคดี ถูก คุกคามใช่หรือไม่ กดดันทุกอย่าง มีความเสี่ยง ถูกละเมิดสิทธิ์ มีความทุกข์ที่อยู่ในใจตลอดเวลา สู้ไปหาเงิน ไปต่อรองกับผัว ไปร่วมมือกับผัวไป คือทำทุกอย่าง

เวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “ผู้หญิงอีสาน บทถนนการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมในวิถีประชาธิปไตย” วันที่ 25 ตุลาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

ถ้าไม่ใช่มนุษย์แม่ทำได้หรือไม่ สู้ไป มือหนึ่งก็ไกวเปล มือหนึ่งก็ถือดาบ ดาบซึ่งหมายถึงสติปัญญา ไม่ใช่อาวุธ คือมือหนึ่งก็ต่อสู้เรียกร้อง เป็นเรื่องที่แบกไว้บนบ่ามากๆ และการต่อสู้ยิ่งหนักขึ้นอีกภายใต้นโยบายประชาธิปไตยแบบถดถอย 

ภายใต้ประชาธิปไตยแบบนี้ 4-5 ปีที่ผ่านมา มันต่อสู้ยากมาก ชุมนุมทางการเมืองก็ไม่ได้ ล่าสุดทำได้ภายใต้ประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ อย่างน้อยก็ยังได้บรรลุข้อตกลงที่เซ็นเอ็มโอยูกับรัฐบาล เป็นสิ่งที่ผู้หญิงเผชิญแล้ว ผู้หญิงได้อะไรจากการเคลื่อนไหวเรื่องนี้เป็นประเด็นถัดมาผู้หญิงได้อะไร จากกระบวนการมาร่วมการเคลื่อนไหว

ประเด็นที่หนึ่ง ผู้หญิงกล้าตั้งคำถามต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในภาคอีสานแบบไม่เป็นธรรม

ประเด็นที่สอง ผู้หญิงสามารถเชื่อมเครือข่ายเพื่อสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของตัวเองได้ ไม่ใช่ทำด้วยตัวเองอย่างเดียว แต่เราสามารถหาพันธมิตร หาความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้ง ภาคการเมือง ผ่านองค์กรประชาสังคม ภาควิชาการและจากสื่อมวลชนที่เห็นอกเห็นใจชุมชน เราไม่ได้สู้อย่างเดียว แต่มีศักยภาพในการหาเครือข่าย

ประเด็นที่สาม ผู้หญิงได้พัฒนาศักยภาพในการพูด มีความสามารถในการจับประเด็นเก่งมาก มีทักษะในการจัดการ มีการคิดที่จะเคลื่อนไหวอย่างรัดกุม มีกลยุทธ์ มีกุศโลบายในการเคลื่อนไหว ไม่ได้เคลื่อนไหวแบบสุ่มสี่สุ่มห้า 

ที่สำคัญ คือ สามารถจัดการกับครัวเรือนได้ แม้ว่าจะต้องต่อสู้กับสามี ต่อสู้กับผู้ชายในบ้าน คือผ่านกระบวนการต่อรองขอออกมา

ในขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือ เราไม่ได้ว่า ผู้ชายปฏิเสธ แต่ได้ทั้งต่อรองด้วยและได้ร่วมมือด้วย กว่าจะผ่านบทเรียนร่วมกันมาคงใช้กระบวนการ กลยุทธ์หลากหลายเหมือนกัน จนกระทั่งได้รับการยอมรับและออกมาได้เป็นสิ่งที่ผู้หญิงได้จากกระบวนการและการเคลื่อนไหว และสิ่งที่ได้อีกคือ รัฐบาลเริ่มฟัง

อย่างกรณีเรื่องป่าไทรทอง จ.ชัยภูมิ ที่พรรคชาติไทยพัฒนาเข้ามาจัดการและบอกว่า ต้องแก้ปัญหา เรื่องนี้ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคการเมืองรับฟังปัญหาแล้วก็พยายามที่จะแก้ไข จะมากหรือน้อย มั่นใจหรือไม่มั่นใจ ค่อยว่ากันอีกที ค่อยสู้กันอีกที 

อย่างน้อยกระบวนการที่ผู้หญิงออกมาเคลื่อนไหวทำให้พรรคการเมืองสนใจ และยังมีพรรคการเมืองที่ใกล้ชิดกับคนท้องถิ่นด้วยคือ พรรคสามัญชน พรรคอนาคตใหม่ ก็เข้ามามีบทบาทช่วยส่งเสริมหนุนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงและภาคประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม 

ช่องทางก็คือ ผ่านพรรคการเมืองที่เป็นทางการเมืองของภาคประชาชน อาศัยการเชื่อมโยงกับเครือข่าย ก็ทำให้ปัญหาที่คิดว่าเป็นปัญหาในท้องถิ่น กลายเป็นปัญหาระดับชาติขึ้นมาได้

ประการสุดท้ายคิดว่า การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการจัดการสิ่งแวดล้อมจะไม่สิ้นสุด จะไม่ได้จบแค่วันนี้ยังมีเรื่องท้าทายหลายอย่าง ไม่ใช่ว่าได้เท่านี้แล้วมันจะจบ เพราะสิ่งแวดล้อมมีนัยยะเชิงการเมือง มีนัยยะของผลประโยชน์ มีผู้ได้และผู้เสีย ไม่มีความเป็นกลาง 

นโยบายจัดการทรัพยากรของรัฐวางเป้าหมายไว้ว่า ประเทศชาติจะต้องมีผลผลิตมวลรวมประชาชาติสูงขึ้น การทำให้ผลผลิตมวลรวมประชาชาติเพิ่มขึ้นก็ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลนั่นคือ สมมุติฐานของรัฐ 

การต่อสู้ของผู้หญิงไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่นี้ มันมีความท้าทายเชิงโครงสร้างที่เราจะต้องท้าทายอยู่ ดังนั้นจะต้องมีการสนับสนุนกลุ่มผู้หญิงให้มีกำลังใจ ไม่ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว จะต้องมีเครือข่ายภาคประชาชนหรือเครือข่ายองค์กรอะไรก็ตามที่จะทำให้ผู้หญิงมีพละมีกำลังในการต่อสู้เคลื่อนไหว ไม่ใช่สู้ไปแล้วก็ท้อแท้ ผิดหวัง 

เราเห็นพลังองค์กรเหล่านี้ที่จะเสริมหนุนสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิงต้องมีมากขึ้นในสังคม เพื่อที่จะรองรับกระบวนการเคลื่อนไหวที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ของภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง เพื่อทำความเข้าใจว่าผู้หญิงที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองทำไม

การเมืองในที่นี้หมายถึง การจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม ไม่ใช่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อตั้งพรรคการเมืองของตัวเองในนามพรรคของผู้หญิง แต่การเคลื่อนไหวแบบนี้ต้องการเครือข่ายเสริมหนุน

ประเด็นเหล่านี้เป็นโจทย์ท้าทายใหม่ๆ ที่จะติดอาวุธ ทั้งกลยุทธ์การเคลื่อนไหว เราต้องทำข้อมูลให้แน่นและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ

ผู้หญิงอีสาน บนถนนการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมบนวิถีประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าผู้หญิงไม่มีศักยภาพ ซึ่งผู้หญิงมีศักยภาพนาน ตั้งแต่เกิดมา แต่ว่าระบบสังคมแบบชาย

เป็นใหญ่กดทับศักยภาพของผู้หญิงเอาไว้ ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะสนับสนุนขบวนการการเคลื่อนไหวของผู้หญิงอีสานที่เรียกว่า สตรีนิยมในอีสาน หรือ Isaan Feminism ให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง

หมายความว่า การจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรมและมีความยั่งยืนในสังคมอีสานโดยเฉพาะสังคมท้องถิ่น

image_pdfimage_print