กรุงเทพฯ​ – สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเปิดรายงานเรื่อง “รายงานข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี” (Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPP) หรือ กฎหมายฟ้องปิดปาก) ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลต้ังแต่ปี 2540 ถึงเดือนพฤษภาคม 2562 

รายงานฉบับนี้มีใจความสำคัญว่า จำนวนคดีการฟ้องปิดปาก SLAPP ในไทยเพิ่มสูงขึ้นและเป็นแนวโน้มที่น่ากังวล เพราะไม่ใช่แค่ความพยายามปิดปากเฉพาะประชาชนที่ถูกฟ้องร้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดที่ขยายวงไปทั่วโลกและพบว่า 1 ใน 4 ของการฟ้องคดีปิดปากคือ การโพสต์ข้อความแสดงความเห็นออนไลน์ รองลงมาคือ การชุมนุมสาธารณะ 

 

“ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา มีคดีปิดปากอย่างน้อย 212 คดี และปี 2556 เริ่มมีการฟ้องร้องปิดมากขึ้น หลังการรัฐประหารปี 2557 คณะรัฐประหารใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และทำให้สถานการณ์แย่ลง” รายงานระบุ 

ทั้งนี้ยังปรากฏอีกว่า ในจำนวน 212 กรณี มีคดีแพ่ง 9 กรณี คดีแพ่งพ่วงคดีอาญา 7 คดี และคดีอาญา 196 คดี โดยผู้ตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องร้องมากที่สุด คือ กลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองร้อยละ 27 รองลงมาคือ กลุ่มที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนร้อยละ 22 เช่น กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ที่คัดค้านเหมืองแร่ทองคำจนถูกฟ้องกว่า 20 คดีและเรียกค่าเสียหายทางแพ่งมากถึง 320 ล้านบาท 

“การเก็บรวมรวมข้อมูลพบว่าร้อยละ 95 ของคดีฟ้องปิดปากในไทยเป็นคดีอาญาและผู้ที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่ คือ ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และอาสาสมัคร ร้อยละ 27 ตัวแทนชุมชนและแรงงาน ร้อยละ 23 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร้อยละ 16 นักข่าว ร้อยละ 9” รายงานระบุ 

รายงานฉบับนี้ยังรวบรวมข้อมูลอีกว่า กฎหมายที่ใช้ในการฟ้องปิดปากมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 ที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ประมวลกฎหมายมาตรา 116 พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นต้น 

 “หน่วยงานรัฐควรหยุดดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้ทางการไทยปฏิบัติตามคำมั่นที่จะยึดถือมติของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยให้การรับรองไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2560 ที่จะป้องกันไม่ให้ใครถูกฟ้องร้องด้วยคดีความที่ไม่จริงและมีจุดประสงค์เพื่อปิดกั้นเสรีภาพการพูด” ผู้วิจัยเสนอแนวทางออก

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่ 

SLAPP คืออะไร 

 

 

image_pdfimage_print