ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่องและภาพ 

จิตวิญญาณของการรักษาป่า สวมทับอยู่ในหัวใจของผู้คนในเกือบทุกชุมชนที่พึ่งพิงทรัพยากรจากป่า ผู้คนในหมู่บ้านห้วยหินขาว หมู่ 6 ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ก็ไม่ต่างกัน โดยพวกเขาได้รวมกลุ่มกันเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ป่าโดยไม่คิดมูลค่า 

เหตุการณ์ที่ทำให้พวกเขาตระหนักในคุณค่าของป่ามากขึ้น เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2555 หลังเกิดไฟไหม้พื้นที่เขตป่าชุมชนบ้านห้วยหินขาวบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติพานพร้าวและป่าแก้งไก่ใกล้หมู่บ้านห้วยหินขาว ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง 

หลังได้ยินเสียงประกาศจากผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอกำลังชายฉกรรจ์ร่วมดับไฟป่าที่กำลังลุกลามเข้าใกล้หมู่บ้าน คนอง นาคชื่น ชายวัยกลางคน ชาวพิษณุโลก เขยในหมู่บ้าน ตัดสินใจวางจอบขุดดิน ขณะกำลังรับจ้างพรวนดินเพื่อเตรียมแปลงปลูกผักอยู่ในสวนนายจ้าง 

“ผมมารู้ตอนหลังว่า ไฟป่าตอนนั้นเกิดจากชาวบ้านแผ้วถางป่าเพื่อทำสวนยางพารา แล้วเผาเศษใบไม้ กิ่งไม้ ในช่วงมีลมหนาวทำให้ไฟลุกลามง่าย” คนองเล่าย้อนเหตุการณ์ในวันนั้น 

คนองและชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านผู้อาสาร่วมกันดับไฟป่าครั้งนั้นกว่า 20 ชีวิต ปัจจุบันกลายเป็นสมาชิกโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) บ้านห้วยหินขาว 

โครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2537 ภายใต้พระราชปณิธานและความห่วงใยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยมีพระราชประสงค์เปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชน จากผู้บุกรุกทำลายป่า มาเป็นผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่า

ผู้ที่จะเข้าร่วมฝึกอบรมโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่าต้องอาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบพื้นที่ป่า ซึ่งกรมป่าไม้และฝ่ายปกครองในพื้นที่จะเป็นผู้จัดการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้และการทำงานรักษาทรัพยากรป่า ปัจจุบันมีอาสาสมัครพิทักษ์ป่าทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 7,606 คน 

“พวกผมจะทำหน้าที่ลาดตะเวนผืนป่าในเขตที่รับผิดชอบ เพื่อสอดส่อง ดูแลไม่ให้ใครมาตัดไม้หวงห้ามและทำลายป่า นี่เป็นภารกิจหลัก” คนอง ซึ่งปัจจุบันได้รับมอบหมายตำแหน่งรองหัวหน้ากลุ่มอาสาผู้พิทักษ์ป่าชุมชนห้วยหินขาว กล่าว 

นอกจากภารกิจดูแลไม่ให้เกิดการลอบตัดไม้หวงห้ามในป่า เช่น ไม้ชิงชัน ไม้พยุง ไม้ประดู่ป่าและไม้ป่าหวงห้ามราคาสูงที่ตลาดค้าไม้หวงห้ามต้องการแล้ว เป้าหมายสูงสุดของการทำหน้าที่อาสาผู้พิทักษ์ป่าของชุมชนนี้คือ การรักษาไม่ให้ระบบนิเวศในป่า ซึ่งเป็นต้นน้ำและแหล่งอาหารให้กับคนในเขตอำเภอโพธิ์ตากและอำเภอสังคม ถูกทำลายจากการทำไร่มันสำปะหลัง สวนยางพารา และไร่สับปะรด

“ที่ตัดสินใจเข้าร่วมอาสาผู้พิทักษ์ป่า เพราะรักและหวงแหนป่าผืนนี้มากๆ ครอบครัวของแม่ได้อาหารจากป่าและมีรายได้จากการขายของป่าจากป่าแห่งนี้มากว่า 20 ปี” บุญธรรม ชาติมูลตรี อาสาสมัครพิทักษ์ป่าหญิง หนึ่งในสมาชิกอาสาผู้พิทักษ์ป่าชุมชนห้วยหินขาว กล่าว

แม้บุญธรรมจะไม่ได้ร่วมเดินป่าลาดตะเวนเหมือนสมาชิกพิทักษ์ป่าชาย แต่เธอก็ทำหน้าที่หุงหาอาหารให้แก่สมาชิกผู้ชายยามที่ต้องเดินป่าค้างคืนหลายวัน 

ส่วนภารกิจดูแลรักษาป่าที่บุญธรรมและสมาชิกพิทักษ์ป่าหญิงทำมาตลอดคือ การร่วมปลูกป่าในเขตพื้นที่ที่กลุ่มรับผิดชอบ

“นอกจากทำอาหาร แม่ก็เดินเข้าป่าร่วมกับกลุ่ม เพื่อนำกล้าไม้ พันธุ์ไม้ไปปลูกในป่า ส่วนงานลาดตะเวนค้างคืนเฝ้าจับผู้บุกรุกป่านั้นเป็นหน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่าชาย” บุญธรรมเล่า 

บุญศรี ชาติมูลตรี อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยหินขาว หมู่ 6 ผู้รวบรวมลูกบ้านตั้งกลุ่มอาสาพิทักษ์ป่า ปัจจุบันเป็นประธานเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า สภาพป่าเคยเป็นพื้นที่โล่งเตียน เพราะมีนายทุนนอกพื้นที่บุกรุกที่ดินแผ้วถางทำเกษตร ตั้งแต่มีอาสาพิทักษ์ป่าชุมชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองป้องกันไม่มีผู้เข้ามาบุกรุกผืนป่าและมีการตรวจสอบผู้ถือครองที่ดินทำกินผิดกฎหมาย ก็ทำให้ป่าอุดมสมบูรณ์ขึ้น 

“นอกจากวิธีทางกฎหมาย พวกเรายังนำความเชื่อท้องถิ่นมาใช้ในการดูแลรักษาป่า เช่น มีการทำพิธีกรรมการบวชป่าอีกด้วย” บุญศรีกล่าว

ทิ้งรายได้บางวันเพื่ออาสาพิทักษ์ป่า 

สมาชิกกลุ่มอาสาผู้พิทักษ์ป่าชุมชนห้วยหินขาวทั้งหมดเป็นคนจากในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างก่อสร้าง รับจ้างกรีดยางพารา

ทั้งคนองและบุญธรรมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากวันไหนได้รับภารกิจต้องออกลาดตะเวนป่า ทั้งคู่จะต้องทิ้งงานกรีดยาง 

“งานผู้พิทักษ์ป่าไม่มีค่าจ้างให้กับสมาชิก เป็นงานอาสาสมัครจริงๆ บางครั้งมีภารกิจ ผมต้องทิ้งงานกรีดยางตอนดึกเพื่อออกลาดตะเวน เท่ากับว่า วันนั้นครอบครัวผมขาดรายได้ไปกว่า 400 บาท ซึ่งเรื่องนี้สมาชิกหลายคนก็เป็นเหมือนผม” คนองกล่าว 

เขากล่าวอีกว่า ที่พูดแบบนี้ไม่ได้ร้องขอค่าจ้างในการออกลาดตะเวน เพราะเขารู้ตั้งแต่ตัดสินใจก้าวเข้ามาเป็นอาสาสมัครแล้วว่า งานนี้ไม่มีค่าจ้าง แต่ก็หวังค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ จากหน่วยงานรัฐ เพื่อให้ครอบครัวมีเงินไว้ใช้จ่ายในวันที่ไม่ได้ออกไปรับจ้าง

“พวกผมไม่ได้ต้องการค่าจ้างหรือค่าตอบแทนดูแลป่าเทียบเท่ากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ได้หลายหมื่น พวกผมต้องการเพียงรายได้ขั้นต่ำเพื่อให้มีเงินกลับไปให้ครอบครัว” คนองกล่าว

ปืน 1 กระบอก กระสุนเพียง 1 นัด 

กลุ่มอาสาพิทักษ์ป่าฯ ของคนองมีสมาชิกทั้งหมด 20 คน มีอาวุธปืนลูกซองเพียงแค่ 6 กระบอก ซึ่งสมาชิกได้รับมอบจากฝ่ายปกครองภายใต้คำสั่งของกรมป่าไม้ ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสมาชิก

แต่ละครั้งที่ออกลาดตะเวนและค้างคืนในป่า สมาชิกที่ถือปืนได้จะรับกระสุนเพียงแค่คนละ 1 นัดต่อวันเท่านั้น ซึ่งผมก็คิดในใจเสมอว่าหากพบผู้บุกรุกตัดไม้ ซึ่งส่วนมากมีอาวุธสงคราม ชะตากรรมพวกผมจะเป็นอย่างไร” คนองกล่าว

บุญศรี ชาติมูลตรี กล่าวว่า ช่วงก่อตั้งกลุ่มพวกเราเคยมีปืนลูกซอง 12 กระบอก แต่หลังจากตนหมดวาระตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครองได้ขอปืนคืนทั้งหมด แต่ตนได้ขอไว้ให้กลุ่ม 6 กระบอก เพราะเป็นสิ่งจำเป็นระหว่างปฏิบัติหน้าที่ 

“ทุกวันนี้ปืนก็น้อย ลูกปืนบางภารกิจก็ไม่มี หากมีภารกิจร่วมกับตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองเราจึงขอกระปืนจากเจ้าหน้าที่มา 1-2 กล่องเพื่อนำมาแบ่งกันคนละ 2 – 3 นัด” บุญศรีกล่าว 

สำหรับ บุญศรี ในฐานะผู้นำกลุ่มฯ เรื่องความปลอดภัยของสมาชิกในการออกลาดตะเวน ถือเป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะหากเกิดการปะทะแล้วลูกกระสุนไม่เพียงพอ อาจทำให้สมาชิกบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ 

“เมื่อมีการปะทะกับผู้ลักลอบตัดไม้แต่ละครั้ง ผมจะคิดถึงสมาชิกกลุ่มฯตลอดว่า หากเขาบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตมา ครอบครัวเขาจะอยู่อย่างไร ใครจะดูแลรับผิดชอบลูกเมียเขา” บุญศรีกล่าว “สวัสดิการในชีวิตก็ไม่มี ทุกวันนี้พวกเราต้องเสี่ยงตาย เพื่อรักษาป่าให้อุดมสมบูรณ์” 

อย่างไรก็ตาม ระเบียบกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืชว่าด้วยการรับ การเก็บรักษาและการจ่ายเงินกองทุนราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) พ.ศ. 2546 ระบุถึงการให้ความช่วยเหลืออาสาสมัครที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ไว้ว่า กรณีเสียชีวิต กองทุนจะจ่ายรายละ 10,000 บาท ส่วนกรณีบาดเจ็บจะได้รับรายละไม่เกิน 5,000 บาท 

นอกจากอาวุธประจำกาย เสื้อ กางเกง รองเท้า รวมถึงอุปกรณ์ภาคสนาม อย่าง เป้สนามและไฟส่องสว่างก็เป็นอุปกรณ์ที่อาสาพิทักษ์ป่ากลุ่มนี้ต้องใช้ระหว่างการปฏิบัติงาน

บุญศรี กล่าวว่า เมื่อปี 2559 เคยประสานไปยังฝ่ายปกครองที่มีตราสัญลักษณ์ของกรมป่าไม้เพื่อขอเครื่องแบบของอาสาสมัคร แต่ได้เพียงคนละชุดเท่านั้น ทำให้ต้องขอรับบริจาคเพิ่มจากทหารในพื้นที่ 

“จะเห็นว่าชุดปฏิบัติงานมีหลายสี หลายลาย เพราะว่าทหารนำเครื่องแบบสนามเก่าๆ มามอบให้ ตอนนี้สมาชิกหลายคนยังต้องการเครื่องแบบสนามเพิ่ม” บุญศรีกล่าว

ไม่ได้ทอดทิ้งแต่ต้องรอขั้นตอน

ความเดือดร้อนของกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ป่าชุมชนห้วยหินขาวนั้น สุทิน โคตรชมภู ผู้อำนวยการส่วนงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.หนองคาย กล่าวชี้แจงว่า ทางหน่วยงานได้ตั้งงบประมาณประจำปีเพื่อดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนการเบิกจ่ายหรือส่งมอบนั้นต้องเป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบราชการ 

แม้จะไร้สวัสดิการและต้องเสี่ยงชีวิต แต่ผู้พิทักษ์ป่าห้วยหินขาวก็พร้อมที่จะปกป้องผืนป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำและแหล่งอาหารให้ลูกหลาน รวมถึงผู้คนในชุมชนใกล้เคียง

image_pdfimage_print