โดย จันจิรา ดิษเจริญ 

ข้าพเจ้าขอเริ่มต้นด้วยประโยคอันแสนมีนัยยะสำคัญที่ว่า “สาวอีสานพอใจที่จะมีชีวิตง่ายๆ เป็นผู้รับคำสั่ง ไม่ต้องคิดมาก ทำงานง่ายๆ เก่งที่จะบริการ อุปนิสัยเช่นนี้ คือ สิ่งที่ชี้ชะตากรรมชีวิตของพวกเธอ” ความตอนท้ายการจบบทความ โดย เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ชื่อ โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/อุปนิสัยที่ชี้ชะตากรรม 

เมื่อข้าพเจ้าอ่านบทความของคุณเพ็ญศรีจบลง ความคิดก็เริ่มทำงานให้ตั้งคำถามต่อทัศนะในบทความข้างต้นและประเด็นที่น่าสนใจที่ข้าพเจ้าเห็น ได้แก่ การเอาตัวรอดของผู้หญิงในสังคมที่มีหลากหลายวิธี แต่วิธีที่บทความนี้เลือกสะท้อนให้เห็นมี 2 แนวทาง คือ 1)การศึกษา และ 2) การแต่งงาน

ในบทความคุณเพ็ญศรีได้กล่าวว่า การเขียนบทความชิ้นนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านงานที่เกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานของลูกหลานของหญิงที่ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติและย้ายไปอยู่ต่างประเทศทำให้เกิดสภาวะว้าเหว่คิดถึงบ้านต้องห่างไกลกับผู้เลี้ยงดู (อาจจะเป็นตา ยาย พี่ ป้า น้า อา ที่มีความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู) และกล่าวว่า บางคนต้องห่างจากบ้านตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ 

จากสาเหตุนี้กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กที่แม่ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติที่ต้องเผชิญ

กระนั้นดีคุณเพ็ญศรีได้ตั้งคำถามต่อการเลือกเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมของผู้หญิงอีสาน ด้วยการแต่งงานและย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศและตั้งคำถามว่า ทำไมสาวอีสานจึงไม่เลือกเอาตัวรอดด้วยการศึกษา โดยการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องของ “โอกาส” หรือว่า “อุปนิสัย”

ข้าพเจ้าจึงอยากเสนอมุมมองที่ชวนให้ผู้อ่านได้ถกเถียงกับประเด็นที่ว่า ทำไมสาวอีสานที่ตั้งใจเรียนและสามารถเปลี่ยนสถานะทางสังคมของตนเองและครอบครัวจึงมีน้อย ทั้งที่การศึกษานำมาสู่การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต 

เมื่อสาวอีสานไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาจึงหันไปซบอกหนุ่มต่างชาติผ่านการแต่งงาน บางส่วนเลือกประกอบอาชีพตามโรงงาน ตามบ้าน เงินเดือนไม่เพียงพอต่อการจ่ายรัฐบาลและต้องพึ่งพา “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” 

คุณเพ็ญศรีวิจารณ์ว่า การกระทำของสาวอีสานมีแรงจูงใจจากวัฒนธรรมการพึ่งพาคนอื่นมากกว่าตนเอง เลือก “ทางรอด” มากกว่าการ “เลือกศักดิ์ศรี” ของตนเองและการกระทำเอาอย่างจนเกิดเป็นวัฒนธรรมและฝังลึกส่งผ่านดีเอ็นเอของสาวอีสาน

ในแง่นี้ข้าพเจ้าเห็นว่า สาวอีสานที่ตั้งใจศึกษาและสามารถเปลี่ยนสถานะของตนเองและครอบครัวมีอีกจำนวนมาก             

สาวอีสานมีสิทธิ์เลือกประกอบอาชีพที่ตนเองชอบ กล่าวคือ บางคนชอบงานบริการ ชอบทำงานบ้าน ชอบค้าขาย ชอบงานวิชาการและบางคนชอบงานศิลปะ 

จะเห็นได้ว่า ความชอบของสาวอีสานนั้นหลากหลาย ดังนั้นการเลือกในสิ่งที่แตกต่างกันจึงเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน 

ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกทำในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ เช่นเดียวกัน สาวอีสานที่ชอบการเรียนอาจจะมีน้อย ประเด็นนี้มิใช่เรื่องที่แปลกแต่อย่างใดเนื่องจากทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกทำในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบอย่างเท่าเทียมกัน

ข้าพเจ้าชวนคิดต่อว่า ด้วยเหตุอันใดสาวอีสานจึงไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองอันเป็นความคาดหวังของสังคม เช่น ค่าตอบแทนของแรงงานในแต่ละอาชีพมีความต่างกัน ดังนั้นค่าตอบแทนแรงงานที่ได้รับและภาระงานที่ต้องรับผิดชอบมีความสอดคล้องกันหรือเปล่า สวัสดิการแรงงานมีความเหมาะสมหรือไม่ ภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบอีก 

เมื่อพิจารณาร่วมกับค่าตอบแทนที่ได้รับอาจจะไม่เพียงพอต่อการจุนเจือให้สาวอีสานมีเวลาค้นคว้าพัฒนาตนเองมากเท่าใดนัก

การพึ่งพา “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” สาวอีสานที่จำเป็นในการพึ่งพานโยบายดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของตนเอง หวังแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย เนื่องจากรายได้จากการทำงานไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจะต้องพึ่งพานโยบายดังกล่าว 

นอกจากนี้อาจตั้งข้อสังเกตต่อนโยบายได้ว่า สามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของสาวอีสานได้มากน้อยเพียงใด จนทำให้สาวอีสานสามารถมีเวลาในการแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างที่ต้องการหรือไม่ อาจจะถามต่อว่า ในแง่ของต้นทุนการเข้าสู่ระบบการศึกษาของสาวอีสานมีมากน้อยเพียงใด

การจ่ายภาษี (ข้าพเจ้าไม่มีความรู้เรื่องภาษีเท่าไหร่นัก) ภาษีไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว แต่มีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ละรูปแบบมีเกณฑ์ในการจัดเก็บแตกต่างกัน 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% (Value Added Tax)  ทุกคนจะต้องจ่ายเมื่อซื้ออะไรสักอย่างที่เราต้อง การบริโภค เนื่องจากภาษีชนิดนี้รวมอยู่ในสินค้าที่เราบริโภค (ผู้จำหน่ายมักจะไม่บอกเรา จนอาจทำให้เราลืมไปว่าเราเองต้องจ่ายภาษี) ดังนั้น ผู้หญิงอีสานยังคงต้องบริโภคสินค้าตามห้างร้านต่างๆ และอาจกล่าวไม่ได้ว่า สาวอีสานเป็นกลุ่มที่ไม่มีส่วนร่วมในการจ่ายภาษีและรอแต่จะพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียวใช่หรือไม่

การเลือกแต่งงานกับชาวต่างชาติของสาวอีสานที่เหมือนจะสรุปว่าสาวอีสานแต่งงานกับชาวต่างชาติเพื่อมุ่งหวังปรับเปลี่ยนฐานะทางลัด หวังพึ่งพาผู้อื่นมากกว่าจะพึ่งพาตนเองผ่านการศึกษา การประกอบอาชีพต่างๆ ที่นำมาสู่ความมั่งคั่งและสามารถเปลี่ยนสถานะทางสังคมของตนเองได้

ข้อสรุปที่คุณเพ็ญศรีเห็นว่า การแต่งงานกับชาวต่างชาติเป็นการเอาอย่างรุ่นพี่ จนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมแฝงในสายเลือดของสาวอีสาน เพื่อเปลี่ยนฐานะโดยง่ายและรวดเร็ว มากกว่าการพึ่งพาตนเอง ใน บทความเรื่อง อุปนิสัยที่ชี้ชะตากรรม เรียกว่า marriage migration เป็นกระแสสังคมที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง และดังนั้นอุปนิสัยข้างต้นจึงเป็นมุมมองที่คุณเพ็ญศรีมีต่ออุปนิสัยของสาวอีสาน ทว่าข้าพเจ้ามิได้เห็นดีงามว่าเป็นเช่นนั้น

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การแต่งงานย่อมเกิดจากความรักของหญิงและชายที่สมัครใจ มีความรู้สึกชื่นชอบต่อกัน มีอนาคตความหวังดีต่อกัน (หรือเหตุผลอื่น ฯลฯ) ในแง่นี้ จำเป็นหรือไม่ที่สาวอีสานจะแต่งงานกับชาวต่างชาติเพื่อหวังเลื่อนฐานะทางสังคม? 

หากเป็นเช่นนั้นการแต่งงานของสาวอีสานกับชาวต่างชาติจะไม่ได้มีเพียงเป้าหมายเดียวอย่างที่คุณเพ็ญศรีได้สะท้อนไว้

ขณะเดียวกันอุปนิสัยที่มีลักษณะขยัน อดทน พากเพียร ใฝ่หาความรู้ ไม่ใช่ลักษณะของสาวอีสานทั่วไป (สาวอีสานทั่วไปเป็นอย่างไร?) 

ในทางตรงข้ามถ้าหากข้าพเจ้ามีความใฝ่ฝันอยากเป็นช่างศิลปะ ข้าพเจ้า ขยัน อดทน พากเพียร ใฝ่หาความรู้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของความฝัน แต่บิดาและมารดาของข้าพเจ้ากลับมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในอีสาน ในแง่นี้จะสามารถสรุปได้หรือไม่ว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่คนอีสาน

ดังนั้นการจะกล่าวว่าสิ่งใดเป็นอะไรและนิยามเพียงมุมมองเดียว ข้าพเจ้าเห็นว่าจะยากต่อการทำความเข้าใจสิ่งที่ดำรงอยู่ หากจะว่าไปแล้วการคิดเช่นนั้นคงจะไม่ต่างอะไรกับสังคมที่ไร้ซึ่งเสรีภาพ 

ข้าพเจ้าขอส่งท้ายบทความนี้ด้วยแนวคิดของนักคิดด้านภาษาศาสตร์ Norman Fairclough (อ่านเพิ่มเติมอ้างอิงที่ 1 2 และ 3)  ชวนให้พิเคราะห์ว่าวาทะกรรม หมายถึง สภาวะบทบาทที่ก่อเกิดความยินยอมพร้อมใจ วาทะกรรมถูกใช้โดยกลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมเพื่อถ่ายทอดอุดมการณ์วิถีการปฏิบัติ ความหมายหมายค่านิยม อัตลักษณ์อันสอดรับและผสานประโยชน์แก่ฝ่ายตน

อีกทั้ง Michel Foucault (อ่านเพิ่มเติมอ้างอิงที่ 4) นักปรัชญการเมืองยังอธิบายและวิเคราะห์วาทะกรรมไว้ว่า เป็นกระบวนการสร้างความหมายโดยภาษาและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมอันประกอบสร้างเป็นความรู้ความเข้าใจหนึ่งๆ 

ส่งผลต่อการกำหนดว่า อะไรคือ ความรู้ ความจริง และอะไรไม่ใช่ความจริง วาทะกรรมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยสังคมกลุ่มที่ครองอำนาจนำ จัดเป็นเทคโนโลยีทางอำนาจที่ถูกใช้อย่างเป็นทางการเก็บกดปิดกั้นเพื่อมุ่งจัดระเบียบวิถีชีวิตของคนในสังคม

อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าขอเชื้อเชิญให้ผู้อ่านลองคิดต่อจากบทความของคุณเพ็ญศรีและข้อเสนอของสองนักวิชาการ ได้แก่ นักภาษาศาสตร์ Norman Fairclough และ  Michel Foucault นักสังคมศาสตร์ คุณอาจจะพบทางแยกที่ต่างไปจากคุณเพ็ญศรีก็ได้

ผู้เขียนขอขอบพระคุณ อาจารย์ ดร.ธนเชษฐ วิสัยจร สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สำหรับการการถกเถียงและแลกเปลี่ยน ให้ข้อคิดแก่ผู้เขียนในบทความนี้

โปรดดูเพิ่มเติม

  • (1) Jorgensen, M. & Phillips, L.J. (2002). Discourse analysis as theory and method. London: SAGE Publications, Ltd.
  • (2) Fairclough, N. (1992). Discourse and social change. Cambridge: Polity Press.
  • (3) Fairclough, I. & Fairclough, N. (2012). Political discourse analysis: A method for advanced students. London & New York: Routledge.
  • (4) Foucault, M. (1980). Power/knowledge: Selected interviews and other writings 1972-1977. C. Gordon (Ed). C. Gordon, L. Marshall, J. Mepham & K. Soper (Trans). New York: Pantheon Books.

*จันจิรา ดิษเจริญ นิสิตปริญญาโท ภาควิชาการปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความสนใจการเมือง ปรัชญาการเมือง นโยบายสาธารณะ และการเมืองอีสาน Email: Jancjira.di@gmail.com

image_pdfimage_print