ขอนแก่น – เวทีโสเหล่หัวข้อ “เสียงตอบจากแม่ญิงอีสานถึงเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง” กรณีเขียนบทความเรื่อง “อุปนิสัยที่ชี้ชะตากรรม” ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งวิจารณ์การแต่งงานของหญิงอีสานกับชาวต่างชาติในเชิงดูหมิ่น จัดขึ้นที่วิทยาลัยการปกครอง มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมร่วมแสดงความคิดเห็น 

พิณทอง เล่ห์กันต์ ผู้รณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์และเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ขอโทษคนอีสาน กล่าวว่า เป็นลูกค้ามติชนสุดสัปดาห์มาโดยตลอด พออ่านบทความแล้วรู้โกรธตั้งแต่เห็นชื่อบทความ ทำให้ต้องออกมาทำคลิปแสดงความไม่พอใจผ่านยูทูป เพื่อบอกสังคมว่าไม่เห็นด้วย  

“บทความของคุณเพ็ญศรีมีเนื้อหาเชิงตีตราว่า หญิงอีสานรักสบาย รับฟังคำสั่ง รักงานบริการ คำว่า สบาย มันบอกว่า ไม่อยากทำมาหากิน เลือกจะขยับฐานะของตัวเองที่เร็วที่สุดด้วยการแต่งงานกับชาวต่างชาติผิวขาว” พิณทอง กล่าวและว่า “ถือเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีทำให้สังคมอีสานเสียหายจึงคิดว่าจะฟ้องร้องในฐานะถูกกระทำ แต่จะศึกษาข้อกฎหมายก่อน และหากเครือข่ายอื่นเห็นว่า ควรฟ้องเอาผิดก็สามารถทำได้เลย ถ้าเป็นต่างประเทศจะถือว่า เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญมาก” 

ผู้รณรงค์เรื่องการดูหมิ่นหญิงอีสานยังกล่าวเรียกร้องอีกว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ขอโทษสังคมแล้ว แต่คุณเพ็ญศรียังไม่ได้ขอโทษคนอีสาน ทำเพียงแค่ขอโทษเจ้าของภาพที่นำอยู่ในบทความเท่านั้น 

“จึงขอเรียกร้องให้คุณเพ็ญศรีขอโทษคนอีสาน เพราะคุณยังไม่สำนึกว่า บทความนั้นได้ทำลายคนอีสาน ทั้งนี้จะนำรายชื่อที่ร่วมลงชื่อบนเว็บไซต์ขยับเป็นการนำเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง” พิณทองกล่าวและว่า “ผู้ที่เห็นด้วยสามารถร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ change.org ได้” 

“ไม่อยากให้มองว่า การที่ผู้หญิงแต่งงานกับชาวต่างชาติเพราะรักสบาย ถ้ามองแบบนี้อาจจะคับแคบ” พัชรินทร์ ลาภานันท์ ผู้ทำวิจัยเรื่องการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม (ขวาสุด)

ขณะที่ พัชรินทร์ ลาภานันท์ นักวิชาการจากศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้ทำวิจัยเรื่องการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการศึกษาที่จังหวัดอุดรธานีพบว่า ร้อยละ 60 ผู้หญิงที่แต่งงานข้ามชาติเคยแต่งงานมาแล้วและมีลูกกับสามีคนไทย เมื่อเลิกกันแล้ว ส่วนใหญ่ลูกจะอยู่กับแม่ แต่ชายไทยหายไปจากชีวิต ทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นต้องพยายามอยู่ให้รอด  

พัชรินทร์ กล่าวอีกว่า สังคมไทยเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ เมื่อเกิดการหย่าร้าง ปัญหาจึงเกิดอยู่กับฝ่ายหญิง เพราะระบบสังคมและกฎหมายไม่รองรับ ในต่างประเทศเมื่อหย่าร้าง พ่อและแม่ต้องส่งเสียลูกไม่ว่าลูกจะอยู่กับใคร 

“คนที่แต่งงานข้ามชาติ เค้าไม่ได้ดูมุมมองเศรษฐกิจอย่างเดียว ผู้หญิงชนบทการศึกษามีไม่เยอะ เมื่อเลิกกับชายไทย โอกาสแต่งงานใหม่แทบเป็นศูนย์ แต่วัฒนธรรมตะวันตกจะยืดหยุ่นเรื่องนี้” นักวิชาการผู้นี้กล่าวและว่า “ไม่อยากให้มองว่า การที่ผู้หญิงแต่งงานกับชาวต่างชาติเป็นเพราะรักสบาย ไม่อยากทำงานหนัก หลายคนก็มีความเป็นอยู่ที่ลำบาก ถ้ามองแบบนี้อาจจะคับแคบ ไม่เข้าใจบริบทสังคมและวัฒนธรรม” 

“บทความของคุณเพ็ญศรีเขียนด้วยอคติ ไม่แน่ใจว่า กองบก.ปล่อยให้ผ่านมาได้อย่างไร” สุมาลี สุวรรณกร บก.ศูนย์ข่าวเครือเนชั่นภาคอีสาน (ถือไมค์)

ส่วน สุมาลี สุวรรณกร บก.ศูนย์ข่าวเครือเนชั่นภาคอีสาน กล่าวว่า บทความของคุณเพ็ญศรีเป็นการทำลายตัวเอง เพราะเขียนด้วยอคติ ซึ่งไม่แน่ใจว่า กองบรรณาธิการปล่อยให้ผ่านมาได้อย่างไร หากมองด้วยความเข้าใจอาจเป็นได้ว่า บรรณาธิการคนนั้นไม่ได้อ่านบทความ เพราะถ้าอ่านก็คงไม่ทำให้เกิดความผิดพลาดใหญ่หลวงขนาดนี้ 

“บทความนี้ไม่เพียงฆ่าคุณเพ็ญศรี แต่ยังฆ่าบรรณาธิการด้วย ถ้า บก.อ่านแล้วปล่อยออกมาได้อย่างไร เพราะเป็นบทความที่มีทัศนคติอันตราย ไม่มีใครควรถูกดูถูกเหยียดหยาม” บก.ศูนย์ข่าวเครือเนชั่นภาคอีสานกล่าว 

สุมาลียังสรุปบทเรียนจากปรากฏการณ์คร้ังนี้ว่า สังคมควรเรียนรู้บทความนี้ด้วยการไม่นำไปสู่การชิงชังเหยียดหยาม และเป็นโอกาสดีที่สื่อควรจะสร้างความเข้าใจว่า ภาคอีสานไม่ได้แห้งแล้ง ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมโง่ จน เจ็บ และอยากให้คนอีสานสร้างมุมใหม่ๆ ต่อภูมิภาคผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อลดมายาคติเดิมๆ 

รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น กล่าวว่า แม้นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์จะถอดบทความออกจากสื่อออนไลน์แล้ว แต่บทความน้ันได้เผยแพร่ไปทั่วโลกและสร้างความเสียหายที่ยากจะประเมินค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ 

“การขอโทษและการถอดคุณเพ็ญศรีจากการเป็นคอลัมนิสต์ไม่สามารถเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ เพราะการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์มันกระจายไปทั่วโลก เสียหายไปทั่วโลก” รศ.ดร.ศุภวัฒนากร กล่าว 

 

image_pdfimage_print